Skip to main content

อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 

เมืองลอไม่ค่อยมีใครรู้จัก คนรู้จักกันแต่เมืองแถง ทั้งๆ ที่ทั้งในตำนานและในการส่งผีขึ้นเมืองฟ้า เมืองลอนี่แหละที่เป็นเมืองต้นกำเนิดของชาวไต/ไทในความรับรู้ของพวกไทดำ ปัจจุบันเมืองลอตั้งอยู่ในจังหวัดเอียนบ๋าย เป็นเมืองสวยงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตำนานเมืองลอเป็นอย่างไร จะให้เล่าที่นี่ก็ยืดยาวเกินไป  

 

รูปอาวเบี๋ยนกับผมเมื่อ 15 ปีก่อน ถ่ายที่บ้านท่านที่เมืองลอ

 

การเดินทางไปเมืองลอ แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ บนเขา กว่าจะถึงเมืองลอ กว่าจะได้เจออาวเบี๋ยนก็เหนื่อยยาก ชีวิตความเป็นอยู่ท่านก็เรียบง่าย อยู่แบบชาวบ้าน เรือนชานก็แค่พอเหมาะพออยู่กันสองผัวเมีย ท่านอยู่กับอาปอง ส่วนใหญ่ก็อยู่กันแค่สองคน  

 

ที่เรียกอาวและอานั้น ก็ด้วยเหตุว่าครูของผมคืออาจารย์คำจองบอกให้เรียกอย่างนั้น เพราะตามธรรมเนียมไทดำ หากจะเรียกใคร หลักแรกๆ ก็นับตั้งต้นที่ตัวเราว่าสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ครูผมนับเป็นอ้ายหรือเป็นพ่อของผม อาวเบี๋ยนแม้อายุเท่ากับครูผม ก็นับว่าเป็นน้องครูผมตามศักดิ์ของตระกูล ก็จึงนับเป็นอาวของผม  

 

คำว่าอาวนี่ก็เรียกตามคำของไทดำ ที่จะเรียกน้องผู้ชายของพ่อว่าอาว น้องผู้หญิงเรียกอา แต่นี่ก็ยังเป็นวิธีเรียกสำหรับคนที่ยังค่อนข้างห่างเหินกัน เพราะถ้าสนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกตามชื่อลูกคนโต เช่น ครูผมชื่อก๊ำจ่อง คนไม่รู้จักกันก็เรียกตามชื่อตัวคือชื่อจ่อง มีคำนำหน้าตามสมควร แต่ถ้ารู้จักกันดี เขาจะรู้ว่าลูกคนโตชื่อเนม ก็จะต้องเรียก อาวเนม หรืออ้ายลุงเนม ซึ่งสำหรับคนอื่นฟังก็จะงงมาก

 

กลับมาที่อาวเบี๋ยน หลังๆ มาท่านเรียกตัวเองกับผมว่า อ้าย หมายถึงพ่อ ก็นับว่าสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น เวลาเมาๆ ก็จะเรียกผมว่า สู ไม่ก็มึง แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ท่านก็จะเปลี่ยนสรรพนามเป็นข้อยบ้าง อ้ายบ้าง แล้วแต่บริบท  

 

เวลาไปเจอท่านที่เมืองลอแต่ละที ผมก็ไปรบกวนท่านให้ท่านทำข้าวปลาอาหารและเหล้ายามาเลี้ยงดูกัน พวกเราก็ช่วยเงินท่านบ้างนั่นแหละ แต่แน่นอนว่าก็จะเป็นการรบกวนทั้งแรงกายและเวลาส่วนตัวของท่านกับอาปอง แต่เมื่อไหร่ที่ไปกัน ท่านก็จะระดมลูกหลานสะใภ้คนเล็กคนโต มาช่วยทำอาหาร นั่งกินอาหารเป็นเพื่อนอย่างสนุกสนาน กับเก็บล้าง เมื่อ 3 ปีก่อนนี้  

 

คราวที่ผมพาอาจารย์นิธิไปเที่ยวถิ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พาอาจารย์นิธิไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านก็ทำอาหารเลี้ยงดู ผมร่ำสุรากับครอบครัวท่านพอสมควรก็ต้องขอตัวกลับไปพัก ความหนักหนาของสุรากับวิธิีการดื่ม และความพื้นบ้านของอาหารการกิน ทำให้เมื่อผละออกมาจากวงเหล้าแล้ว อาจารย์นิธิเอ่ยปากกับผมทันทีว่า "โชคดีชิบหายที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยา"  

 

เมื่อวาน (9 มีค. 62) เมื่อรู้ข่าวว่าท่านมาเยือนถิ่นไทดำถึงประเทศไทย ท่านไปร่วมงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทดำแห่งใหม่ที่วัดไผ่คอกเนื้อ บางเลน นครปฐม ผมก็รีบชวนฆัสรา ที่เพิ่งกลับจากงานที่ไต้หวันมาหมาดๆ เดินทางไปพบท่านทันที ตามธรรมเนียม คนไทดำพบกันก็ต้องกินเหล้าเป็นการคารวะกัน แสดงความรักใคร่กัน เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่จนได้มาดื่มเหล้าร่วมกันอีก (อันหลังนี่ผมเติมเอง)

 

เสียดายที่เมื่อวานไม่ได้ดื่มกินกันจนเมามาย ไม่ทันได้ถกเถียงกันดังแต่ก่อน เพราะต่างก็มีภารกิจรัดตัว เอาไว้การเดินทางรอบหน้าที่หากได้ไปพบท่านที่เรือนชานท่านอีก จะต้องดื่มกินอย่างเต็มที่เหมือนครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"