Skip to main content

การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 

20 ปีที่ผ่านมา คนหน้าใหม่ทางการเมืองเหล่านี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาในวังวนของการเลือกตั้งและการรัฐประหาร ช่วงเวลานี้การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายต่อหลายมิติด้วยกัน และปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนใน 20 ปีนี้อย่างหนึ่งก็คือ การตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาในขนาดและความหลากหลายอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยสาเหตุเชิงโครงสร้างหลายประการด้วยกัน

1) เงื่อนไขเชิงประชากร คนรุ่นเก่ามีอายุยืนยาวขึ้น คนรุ่นเขาจึงไม่อาจปล่อยวางทางการเมือง ไม่อาจปล่อยวางอนาคตในแบบที่พวกเขาไม่ชอบ ไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น การเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ พลังอนุรักษนิยมไม่จำเป็นต้องหรือที่จริงก็ไม่สามารถจะจัดตั้งคนรุ่นใหม่มาสานต่อความอนุรักษนิยมอีกต่อไป เพราะพวกเขาคนรุ่นเก่ายังจะมีชีวิตอยู่กับคนรุ่นใหม่ไปอีกนานแสนนาน พวกเขาจะยังคงประวิงอำนาจไว้ให้นานที่สุด ดังนั้น ที่ว่ากันว่า "เวลาอยู่ข้างเรา" น่ะ อาจจะไม่จริง เพราะ "เทคโนโลยีการแพทย์และอำนาจเงินในการยืดอายุอยู่ข้างเขา"

2) เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม เงื่อนไขนี้สืบเนื่องกับเงื่อนไขแรก การเกิดช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม 2.0 และ 3.5 (คือยังไม่ 4.0 ดีนัก) ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดการเห็นอนาคตที่แตกต่างกัน เกิดทางเลือกที่แตกต่างกัน ข้อนี้แทบไม่ต้องอธิบายก็เห็นกันอยู่ เช่นว่า โลกของพวกเขาไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าจอทีวีที่ยังควบคุมโดยรัฐ ไม่ได้อยู่เฉพาะในขอบเขตประเทศไทย แต่เป็นโลกก้าวที่จะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาสร้างตัวตนจากความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นพ่อแม่พวกเขาส่วนใหญ่พูดได้อย่างมาก 2 ภาษา แต่คนรุ่นหลังค่อยๆ เรียนภาษาที่ 3 กันมากขึ้น 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมบริโภคที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เติบโตมาเลย พวกเขามองความรักต่างออกไป พวกเขามองความงามต่างออกไป พวกเขามองศาสนา (ถ้าจะยังสนใจกันอยู่) ต่างออกไป

การยืดยาวขยายอายุและจึงนำไปสู่การพยายามรักษาอำนาจของคนรุ่นเก่า จึงยิ่งส่งผลให้เกิดช่องว่างของความคิด อุดมการณ์ ความใฝ่ฝันของคนต่างช่วงวัยที่ขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น โลกเก่าอันงดงามของสังคมพ่อปกครองลูกที่เมื่อลูกๆ ทะเลาะกันก็ให้พ่อตัดสินคดีความนั้น ได้หมดพลังไปจากจินตนาการของคนรุ่นใหม่แล้ว หรือหากพวกเขาจะถูกปลูกฝังมา พวกเขาก็ไม่มีวัน "อิน" กับจินตนาการแบบนั้นอีกต่อไป โลกของคนหน้าใหม่ทางการเมืองไทยเหล่านี้ยึดมั่นในการตัดสินใจของตนเอง การเป็นตัวของตัวเอง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

3) เงื่อนไขทางการเมือง ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ที่สร้าง "ชนชั้นใหม่" ซึ่งเป็นชนชั้นกลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้เติบโตขยายตัว กระจายตัว และหยั่งรากลงลึกในท้องถิ่นต่างๆ ในเขตเมืองของจังหวัดและอำเภอต่างๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นเกิดขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น และแผ่กระจายมากขึ้น แม้จะเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งติดกันใน 20 ปีที่ผ่านมา แต่พลังเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ 

ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 และการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 57 ที่พรรคการเมืองฝ่าย "ก้าวหน้า" ที่เป็นตัวแทนของ "คนนอกกรุงเทพฯ" ก็ยังมีพลังในการท้าทายอำนาจรวมศูนย์ และแม้ในกรุงเทพฯ เอง ก็เกิดการแทรกเข้ามาของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ที่มีที่นั่งถึง 2 ใน 3 ของพรรคการเมืองฝ่านอนุรักษนิยม 

คนหน้าใหม่ที่ออกมาแสดงความเห็นในขณะนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของพลังชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองนั่นเอง พวกเขาคือลูกหลานของชนชั้นกลางใหม่ทั้งในเมืองและในชนบท ที่ต่อสู้กับพลังอนุรักษนิยมและชนชั้นกลางเก่ามาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงกระจายอยู่ทั่วไปไม่ต่างจากชนชั้นใหม่ หากแต่พวกเขามีเครื่องมือสื่อสาร มีความสามารถทางปัญญา และมีเทคโนโลยีทางการเมืองที่ทรงพลังต่างไปจากพ่อแม่ของพวกเขา

4) เงื่อนไขทางเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงไม่เฉพาะคนในพื้นที่ออนไลน์ แต่ยังเชื่อมออกมายังคนในพื้นที่ออฟไลน์ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชุมชนที่สร้างโดยอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ผู้คนจมจ่อมหรือก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือ แต่ยังดึงให้พวกเขาออกมาร่วมไม้ร่วมมือกันแสดงพลังให้คนเห็นตัวตนของพวกเขาในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่บรรลุผลทางการเมืองของพวกเขาได้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า

เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเมืองซึ่งไร้การจัดตั้งขึ้นโดยง่าย ไร้การนำโดยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยง่าย การรีทวีต การติดแฮชแทก การสร้างแฮชแทก เป็นทั้งการแสดงความเห็นทางการเมืองการทดสอบตรวจสอบวิพากษ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง และการสร้างชุมชนทางการเมือง ความแหลมคมของแฮชแทกจำนวนมากสร้างความเห็นทางการเมืองที่ไม่สามารถสร้างได้ก่อนหน้าเทคโนโลยีนี้ นี่ยังไม่นับเครื่องมืออื่นๆ อย่างมีม และการถ่ายทอดสด ที่ทั้งยอกย้อน พลิกอำนาจ และทันท่วงที 

ถึงที่สุดแล้ว ที่สำคัญคือ ในแง่ของความเป็นอิสระทางการเมือง การที่พวกเขาตัดสินใจก้าวออกมาจากโลก "ในจอ" สู่โลกการเมือง "นอกจอ" ออกมาแสดงตัวให้เห็นกันตัวเป็นๆ แสดงถึงการตัดสินใจอย่างที่การสร้างเครือข่ายทางการเมืองด้วยระบบอุปถัมภ์และอุดมการณ์แบบเก่าไม่สามารถทำได้ คุณจะไม่สามารถดูถูกว่าพวกเขาถูกซื้อ ถูกจ้าง ถูกชักจูงมา ถูกสั่งมา ได้ง่ายๆ อีกต่อไป 

ถึงแม้ใครจะปรามาสว่าการแสดงออกของคนหน้าใหม่ของการเมืองไทยยังอยู่เพียงในระดับของอารมณ์โกรธแค้น แต่อารมณ์ทางการเมืองนี่แหละที่จะก่อตัวขึ้นเป็น "โครงสร้างอารมณ์" ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุดมการณ์ โครงสร้างสังคม และโครงสร้างการเมืองในระยะยาวได้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน