Skip to main content

พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)

ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้และยังไม่ได้อ่านฉบับแปล ซึ่งคิดว่าจะต้องอ่านแน่ๆ แต่ที่รู้จักหนังสือนี้เพราะได้อ่านหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000) ตั้งแต่ปี 2018 และใช้สอนมาตลอด เห็นอิทธิพลของงานคูฮาต่อจักรบาร์ตีสูงมาก แต่จักรบาร์ตีขยายประเด็นและยกระดับทางทฤษฎีให้งานของคูฮาไปไกลมาก
 
ผมก็เลยถามในห้องเสวนาว่า มีใครทราบหรือเปล่าว่าคูฮาได้อ่านงานของจักรบาร์ตีเล่มนี้ไหมแล้วคูฮามีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไร ปรากฏว่าทุกท่านไม่แน่ใจว่าคูฮาเคยมีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ไหม เรื่องนี้ผมคงจะค้นหาเองต่อไป
 
แต่จากคำตอบและความเห็นส่วนหนึ่ง เลยทำให้รู้ว่า เพื่อนนักวิชาการไทยยังอ่านงานหนังสือ Provincializing Europe กันน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่อิทธิพลทั่วโลก และนักวิชาการไทยก็ใช้กันอยู่บ้างเหมือนกัน  
 
ผมก็เลยนึกถึงบันทึกที่เคยเขียนหลังอ่านหนังสือเล่มนี้กับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่คณะ ที่ มธ. เมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2018) ขึ้นมาได้ ก็ขอเอามาแปะไว้ข้างล่าง มีสองตอน ผมไม่ได้เรียบเรียงใหม่ให้ต่อกัน ขอแปะไว้แกนๆ แบบนี้แล้วกันครับ เผื่อใครสนใจไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านต่อ 
 
==========
(21 มีนาคม 2018)
 
วันนี้ สอน Provincializing Europe ของ Dipesh Chakrabarty (2000) แล้วพบว่า นอกจากจะเห็นประเด็นมากขึ้นแล้ว ยังเห็นการเมืองไทยในหนังสือเล่มนี้มากขึ้นอีกด้วย ดังนี้
 
(1)
 
"โครงสร้างความคิดเรื่องเวลาของประวัติศาสตร์โลกแบบ 'แรกก็เกิดในยุโรป แล้วจึงเกิดขึ้นที่อื่นในโลก' เป็นแนวคิดแบบพวกลัทธิคลั่งประวัติศาสตร์ (historicist) ส่วนพวกนักชาตินิยมที่ไม่ใช่ตะวันตกภายหลังก็จะผลิตแบบฉบับท้องถิ่นของคำอธิบายเดียวกัน ด้วยการแทนที่ 'ยุโรป' ด้วยศูนย์กลางระดับท้องถิ่นที่สร้างกันขึ้นมา" 
 
"พวกประวัติศาสตร์นิยมจึงจัดวางเวลาทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นมาตรวัดความห่างทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยก็ในการพัฒนาเชิงสถาบัน) ที่ถูกทึกทักเอาว่ามีอยู่ระหว่างสังคมตะวันตกและสังคมไม่ตะวันตก" (p. 7)
นี่ชวนให้นึกถึง The Other Within และงานเรื่อง "อย่างไหนที่เรียกว่าศิวิไลซ์" ของธงชัย วินิจจะกูล 
 
(2) 
 
จักรบาร์ตีชี้ว่า ในงาน "On Liberty" ของ J.S. Mill "ชาวอินเดียและแอฟริกัน 'ยังไม่' ศิวิไลซ์พอที่จะปกครองตนเอง" (p. 7) คนเหล่านี้จึงต้อง "รอ" ไปก่อนจนกว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะปกครองตนเองได้ "มิลล์กล่าวไว้ในบทความ "On Representative Government" ว่า 'การศึกษาทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้" (p. 9) 
 
ขนาดนักเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ ยังพูดถึงพวก subaltern ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นนำในประเทศไทยที่พูดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คือรอให้คนมีการศึกษาก่อนจึงค่อยให้อำนาจทางการเมืองและจึงค่อยให้เลือกตั้ง
 
(3)
 
ทัศนะต่อการไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองของสังคมที่ถูก Eric Hobsbawm เรียกว่า "prepolitical" ในทัศนะของจักรบาร์ตี ก็ถือว่าเป็นแนวคิดแบบยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอีกแบบหนึ่ง เพราะ "กิจกรรมที่อาศัยพระเจ้าหลายองค์ วิญญาณต่างๆ และผีสางเทวดาต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางอำนาจและศักดิ์ศรีของทั้งคนเบี้ยล่างและชนชั้นนำในเอเชียใต้ สิ่งที่ปรากฏ [ทางศาสนา] นี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสิ่งที่ลึกกว่าหรือ "จริงกว่า" ในความจริงทางสาธารณ์ (secular reality)" (p. 14)
 
นี่ชวนให้นึกถึงการถกเถียงกันเรื่องศาสนาเมื่อสองสามวันก่อนที่มีการพยายามอธิบายกันว่าการเมืองต้องแยกจากศาสนา แต่น่าสงสัยว่าทัศนะแบบนี้ก็เป็นวิธีคิดแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอยู่อีกหรือเปล่า
 
(4) 
 
Provincializing Europe ไม่ใช่การทำยุโรปให้เป็นบ้านนอก ไม่ใช่การบอกว่ายุโรปเป็นแค่ถิ่นหนึ่ง และยิ่งไม่ใช่การปฏิเสธอิทธิพลของยุโรป และไม่ใช่ไม่ยอมรับวิธีคิดสากลของยุโรปแล้วยึดมั่นแต่สัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (p.42-43) แต่เป็นการยอมรับทั้งการมีอยู่ของอำนาจ "จักรวรรดินิยมยุโรป" และการที่พัฒนาการเป็นสัมยใหม่นั้น ไม่ได้เกิดจากยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลส่งกลับไปจากนอกยุโรปด้วย (p. 43)
 
จักรบาร์ตีจึงวิจารณ์ทั้งแนวคิดที่ถ่วงพัฒนาการประชาธิปไตยและแนวคิดที่ก้าวหน้าแบบส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะวิธีคิดที่ทั้งสองกลุ่มมีร่วมกันคือ ยึดเอายุโรปเป็นแกนกลางทั้งคู่ ยึดเอาประชาธิปไตยแบบสังคมที่มีกฎุมพีเป็นแกนกลางทั้งคู่ เชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบกฎุมพีมากกว่าทั้งคู่
แนวคิดแบบนี้มองข้ามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนเบี้ยล่างที่ถูกกดทับ (subaltern) ซึ่ง มีความสมัยใหม่ทางการเมือง (the political modernity) หากแต่อยู่ในโลกอีกแบบที่ยังไม่สมัยใหม่
 
===========
 
(29 มีนาคม 2018) 
 
Dipesh Chakrabarty ใน Provincializing Europe อ่านงานมาร์กซ์ได้อร่อยมาก
เอามาร์กซไปสนทนากับอริสโตเติลเรื่อง convention หรือ “ขนบ” แล้วโยงไปเรื่อง being-in-the-world ของไฮเดกเกอร์ แล้วชี้ให้เห็นว่า capitalism ด้านที่มาร์กซพูด คือส่วนที่ที่จริงมันหลุดไปจาก capitalism น่ะ มันมีอยู่ ซ้อนอยู่ในระบบทุนนิยมนี่แหละ แล้วมาร์กซเองก็พูดถึงด้วยนั่นแหละ เพียงแต่เขายังไม่ได้ทำอะไรต่อมากนัก
 
จักรบาร์ตีสร้างข้อถกเถียงผ่านมโนทัศน์เรื่อง "abstract labor" แรงงานนามธรรม ที่มาร์กซถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญของระบบทุนนิยม (ไม่ใช่เงินตราและสินค้า ซึ่งมีมาก่อนหน้าทุนนิยมอยู่แล้ว) เมื่อโยงกับอริสโตเติล แรงงานนามธรรมก็คือ “ขนบ” ของชุมชนชีวิตแบบทุนนิยมนั่นเอง เพียงแต่ในชุมชนทุนนิยม มันยังมีขนบอื่นๆ ซ้อนอยู่ด้วย
 
แรงงานนามธรรมคือสิ่งที่ทำให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนแบบทุนนิยมได้ คือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ต้องสนใจ "มูลค่า" (value) การใช้ของสิ่งของโดยสิ้นเชิงเลย แรงงานนามธรรมคือการทำให้แรงงานที่มีมูลค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสิ่งที่วัดค่าเทียบกันได้หมด ทำให้ของที่เกิดจากแรงงานที่แตกต่างกัน มีที่มาที่ไป มีประวัติศาสตร์ มีกรอบทางสังคม มีวิถีชีวิต ที่ห่อหุ้มแรงงานที่แตกต่างกัน กลายมาเป็นเพียงแรงงานที่วัดค่าเทียบกันได้ 
 
ผ่านการควบคุมด้วยวินัย แรงงานนามธรรมทำให้คนเป็นเครื่องจักรเพราะแรงงานคนถูกตีค่าเป็นแค่จังหวะสม่ำเสมอของกล้ามเนื้อ ทำให้แรงงานคนเทียบกับแรงงานเครื่องจักรได้ ทำให้เครื่องจักรกับคนทำงานร่วมกันได้ จักรบาร์ตีชี้ว่า มาร์กซพูดเรื่องวินัยไว้ไม่ต่างกับที่ฟูโกต์เอามาขยายใน Discipline and Punish 
 
จักรบาร์ตีเสนอให้อ่านหนังสือ Capital ของมาร์กซด้วยการหาประวัติศาสตร์สองด้าน History 1 คือประวัติศาสตร์สากลของระบบทุนนิยม History 2(s) คือการหาประวัติศาสตร์ที่ซ้อน แทรก ดำเนินควบคู่ ไม่อาจถูกลดทอน แล้วแถมยังบั่นทอนระบบทุนนิยม ซึ่งมาร์กซเองก็กล่าวถึงอยู่เป็นระยะๆ 
 
ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งคือเรื่อง life, vital forces (หมายรวมถึงจิตสำนึก เจตจำนง และสังคม/ชุมชน) ที่ให้กำเนิดแรงงานอีกทีหนึ่ง มันเป็นพลังที่ล้นพ้นเกินไปจากการกำกับควบคุมของทุน ในขณะที่ทุนพยายามลดทอนพลังชีวิตให้เหลือเพียงแรงงานนามธรรม แต่ก็ยังไม่สำเร็จง่ายๆ
 
บันทึกเอาไว้ก่อน กำลังคิดจะเอามาใช้เร็วๆ นี้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก