Skip to main content

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ที่จริงมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเช่นกันคือบทวิเคราะห์ภาพเขียนฝาผนังถ้ำลาสโก ว่าด้วยกำเนิดศิลปะ ซึ่งเป็นเล่มที่มีที่ห้องสมุดของคณะสังคมวิทยาฯ เสียดายที่ผมไม่ได่สั่งมาเก็บไว้เองคงเพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นผมว่ามันราคาแพงอยู่

ขอเล่าถึงงานบาไตล์สั้นๆ จากความทรงจำเร็วๆ ไว้ตรงนี้ครับ ตามคำชวนของพี่แป๊ด ร้านหนังสือก็องดิก

จอร์จ บาไตล์ (Georges Bataille) เป็นนักเรียนของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) เป็นคนที่พัฒนาด้านที่เป็นเซอร์เรียลลิสม์ของเดอร์ไคม์ ขณะที่ด้านที่เป็นค้านเที่ยน (Kantian) แถมค่อนข้างจะสุภาพแล้วจรรโลงกฎระเบียบของเดอร์ไคม์นั้น เป็นงานของหลานเดอร์ไคม์คือมาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss)

ผมเจองานบาไตล์จากการไล่อ่านหนังสือกลุ่มมานุษยวิทยาศาสนาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไล่มาตั้งแต่เดอร์ไคม์ (The Elementary Forms of the Religious Life, 1912) ซึ่งอธิบายว่ากำเนิดศาสนาคือกำเนิดสังคม สัญลักษณ์ในศาสนาอย่างโทเทม คือภาพแทนสังคม

แล้วผมก็ไปอ่านงานของเมอร์เซ อีเลียด (Mircea Eliade) (The Sacred and the Profane, 1957) ซึ่งอ้างอิงงานศึกษาความศักดิ์สิทธิ์ (the holy) ย้อนไปถึงงานของรูดอล์ฟ ออตโต (Rudolf Otto) ซึ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ออกจากสาธารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งนอกเหนือต่างหากจากสาธารณ์ คนที่เชื่อจะไม่เอามาปนกัน

จากนั้นผมไปอ่านงานของลูกศิษย์เดอร์ไคม์อีกคนคือ โคเช ไกลัว (Roger Caillois หนังสือ Man and the Sacred, 1939) ที่เสนออะไรคล้ายๆ เอเลียดและเดอร์ไคม์ปนๆ กัน แต่ผมว่ามันเป็นระบบลงตัวไปหน่อย อ่านแล้วเบื่อ จนมาเจองานของบาไตล์ที่ร่วมรุ่นกับไกลัว แต่พิลึกพิลั่นกว่ามาก ผมเลยตามอ่านมายืดยาวหลายเล่ม

บาไตล์พยายามเข้าใจความเป็น ความตาย กามารมณ์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ ศิลปะ กระทั่งพลังสร้างสรรค์และทำลายล้างของจักรวาล งานเขาจึงเป็นระบบปรัชญาขนาดใหญ่ ที่อธิบายแทบทุกเรื่อง  

บาไตล์ถอดรื้อระบบคิดแบบตะวันตกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล การมีอยู่และการสูญสลาย กฎเกณฑ์และการฝ่ากฎเกณฑ์ งานเขาจึงมีอิทธิพลต่อฌาค แดร์ริดา (Jacques Derrida) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และชอง โบริยาร์ด (Jean Baudrillard) ในแง่ของการวิพากษ์เหตุผล วิพากษ์ความเป็นระบบ วิพากษ์เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมาร์กซิสม์ที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผล  

นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจบาไตล์ เพราะเขาให้แนวทางการเดินออกมาจากระบบคิดแบบกำไร-ขาดทุนที่ผมเบื่อมากจากเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์  

เช่นว่า ข้อเสนอเรื่อง general economy ของบาไตล์ เสนอให้มองว่าการแลกเปลี่ยนของมนุษย์นั้นเป็นมากกว่า restricted economy ที่แค่คิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียอย่างสมดุลกันในเชิงวัตถุเท่านั้น หรือคิดแต่จะได้อย่างคิดคำนวนได้ หากแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนที่วางอยู่บนการทิ้ง ความสูญเสีย การทำลายล้าง มากกว่าการคิดถึงผลได้อย่างแคบแบบนักคิดสายทุนนิยม รวมทั้งมาร์กซิสม์อย่างแคบคิด  

การทุ่มเท การเสียสละ การ sacrifice ที่หมายถึงทั้งการสละและการบูชายัญ จึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจทั่วไป และถึงที่สุดแล้ว บาไตล์เสนอว่า พลังจักรวาล ความตาย และกามารมณ์ คือเศรษฐกิจทั่วไปที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจอย่างแคบ และสร้างสรรค์ความเป็นไปทั้งมวลอยู่

อีโรติก จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันมหึมานี้ ในหนังสือ Erotism บาไตล์เสนอว่า ภาวะคนใกล้ตายกับภาวะ orgasm หรือภาวะสุขสมทางเพศ เป็นอารมณ์เดียวกัน คือทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเจ็บปวดและรื่นรมย์ กึ่งเป็นกึ่งตาย เป็นภาวะก่อนเป็นและไม่เป็นอะไร หรือเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและไม่เป็นต่างๆ  

ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งจึงเป็นภาพนักบุญเทเรซ่า ซึ่งกำลังจะตาย แต่แสดงภาวะอารมณ์เดียวกับการถึงจุดสุขสมทางเพศ

สำหรับบาไตล์ ศาสนายุคใหม่ อย่างศาสนาคริสต์ จึงไม่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและมาร์กซิสม์ ที่เสนอให้จำกัดควบคุมการสูญเสีย หรือลดละภาวะสุขสมทางเพศ เพื่อเพ่งเล็งไปยังการผลิตที่เล็งผลได้ที่คิดคำนวณได้เท่านั้น  

นั่นต่างจากศาสนาและสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ความตาย การทำลาย (อย่างพิธี potlatch ของชาวอินเดียน) ความรุนแรง ความสุขทางเพศที่ไม่สามารถคิดคำนวณผลได้ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่วางอยู่บนเศรษฐกิจอย่างกว้าง  

งานบาไตล์อ่านสนุก ชวนให้คิดเชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่างอย่างเป็นระบบ แม้ไม่ช่วยให้สามารถนำไปปบใช้ทำวิจัยได้อย่างง่ายๆ ก็ช่วยให้เข้าใจระบบคิดที่แตกต่างออกไปได้ ช่วยให้อ่านงานหลังโครงสร้างนิยมได้ดีขึ้น ช่วยเชื่อมต่อปรัชญากับมานุษยวิทยาได้อีกวิธีหนึ่ง  

แต่ก็แปลกใจที่ทำไมคนเขียนบทซีรีส์บางคนถึงสนใจหยิบงานบาไตล์มาอ่านและใส่เข้าไปในบทละคร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี