Skip to main content

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ที่จริงมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเช่นกันคือบทวิเคราะห์ภาพเขียนฝาผนังถ้ำลาสโก ว่าด้วยกำเนิดศิลปะ ซึ่งเป็นเล่มที่มีที่ห้องสมุดของคณะสังคมวิทยาฯ เสียดายที่ผมไม่ได่สั่งมาเก็บไว้เองคงเพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นผมว่ามันราคาแพงอยู่

ขอเล่าถึงงานบาไตล์สั้นๆ จากความทรงจำเร็วๆ ไว้ตรงนี้ครับ ตามคำชวนของพี่แป๊ด ร้านหนังสือก็องดิก

จอร์จ บาไตล์ (Georges Bataille) เป็นนักเรียนของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) เป็นคนที่พัฒนาด้านที่เป็นเซอร์เรียลลิสม์ของเดอร์ไคม์ ขณะที่ด้านที่เป็นค้านเที่ยน (Kantian) แถมค่อนข้างจะสุภาพแล้วจรรโลงกฎระเบียบของเดอร์ไคม์นั้น เป็นงานของหลานเดอร์ไคม์คือมาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss)

ผมเจองานบาไตล์จากการไล่อ่านหนังสือกลุ่มมานุษยวิทยาศาสนาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไล่มาตั้งแต่เดอร์ไคม์ (The Elementary Forms of the Religious Life, 1912) ซึ่งอธิบายว่ากำเนิดศาสนาคือกำเนิดสังคม สัญลักษณ์ในศาสนาอย่างโทเทม คือภาพแทนสังคม

แล้วผมก็ไปอ่านงานของเมอร์เซ อีเลียด (Mircea Eliade) (The Sacred and the Profane, 1957) ซึ่งอ้างอิงงานศึกษาความศักดิ์สิทธิ์ (the holy) ย้อนไปถึงงานของรูดอล์ฟ ออตโต (Rudolf Otto) ซึ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ออกจากสาธารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งนอกเหนือต่างหากจากสาธารณ์ คนที่เชื่อจะไม่เอามาปนกัน

จากนั้นผมไปอ่านงานของลูกศิษย์เดอร์ไคม์อีกคนคือ โคเช ไกลัว (Roger Caillois หนังสือ Man and the Sacred, 1939) ที่เสนออะไรคล้ายๆ เอเลียดและเดอร์ไคม์ปนๆ กัน แต่ผมว่ามันเป็นระบบลงตัวไปหน่อย อ่านแล้วเบื่อ จนมาเจองานของบาไตล์ที่ร่วมรุ่นกับไกลัว แต่พิลึกพิลั่นกว่ามาก ผมเลยตามอ่านมายืดยาวหลายเล่ม

บาไตล์พยายามเข้าใจความเป็น ความตาย กามารมณ์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ ศิลปะ กระทั่งพลังสร้างสรรค์และทำลายล้างของจักรวาล งานเขาจึงเป็นระบบปรัชญาขนาดใหญ่ ที่อธิบายแทบทุกเรื่อง  

บาไตล์ถอดรื้อระบบคิดแบบตะวันตกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล การมีอยู่และการสูญสลาย กฎเกณฑ์และการฝ่ากฎเกณฑ์ งานเขาจึงมีอิทธิพลต่อฌาค แดร์ริดา (Jacques Derrida) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และชอง โบริยาร์ด (Jean Baudrillard) ในแง่ของการวิพากษ์เหตุผล วิพากษ์ความเป็นระบบ วิพากษ์เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมาร์กซิสม์ที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผล  

นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจบาไตล์ เพราะเขาให้แนวทางการเดินออกมาจากระบบคิดแบบกำไร-ขาดทุนที่ผมเบื่อมากจากเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์  

เช่นว่า ข้อเสนอเรื่อง general economy ของบาไตล์ เสนอให้มองว่าการแลกเปลี่ยนของมนุษย์นั้นเป็นมากกว่า restricted economy ที่แค่คิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียอย่างสมดุลกันในเชิงวัตถุเท่านั้น หรือคิดแต่จะได้อย่างคิดคำนวนได้ หากแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนที่วางอยู่บนการทิ้ง ความสูญเสีย การทำลายล้าง มากกว่าการคิดถึงผลได้อย่างแคบแบบนักคิดสายทุนนิยม รวมทั้งมาร์กซิสม์อย่างแคบคิด  

การทุ่มเท การเสียสละ การ sacrifice ที่หมายถึงทั้งการสละและการบูชายัญ จึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจทั่วไป และถึงที่สุดแล้ว บาไตล์เสนอว่า พลังจักรวาล ความตาย และกามารมณ์ คือเศรษฐกิจทั่วไปที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจอย่างแคบ และสร้างสรรค์ความเป็นไปทั้งมวลอยู่

อีโรติก จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันมหึมานี้ ในหนังสือ Erotism บาไตล์เสนอว่า ภาวะคนใกล้ตายกับภาวะ orgasm หรือภาวะสุขสมทางเพศ เป็นอารมณ์เดียวกัน คือทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเจ็บปวดและรื่นรมย์ กึ่งเป็นกึ่งตาย เป็นภาวะก่อนเป็นและไม่เป็นอะไร หรือเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและไม่เป็นต่างๆ  

ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งจึงเป็นภาพนักบุญเทเรซ่า ซึ่งกำลังจะตาย แต่แสดงภาวะอารมณ์เดียวกับการถึงจุดสุขสมทางเพศ

สำหรับบาไตล์ ศาสนายุคใหม่ อย่างศาสนาคริสต์ จึงไม่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและมาร์กซิสม์ ที่เสนอให้จำกัดควบคุมการสูญเสีย หรือลดละภาวะสุขสมทางเพศ เพื่อเพ่งเล็งไปยังการผลิตที่เล็งผลได้ที่คิดคำนวณได้เท่านั้น  

นั่นต่างจากศาสนาและสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ความตาย การทำลาย (อย่างพิธี potlatch ของชาวอินเดียน) ความรุนแรง ความสุขทางเพศที่ไม่สามารถคิดคำนวณผลได้ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่วางอยู่บนเศรษฐกิจอย่างกว้าง  

งานบาไตล์อ่านสนุก ชวนให้คิดเชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่างอย่างเป็นระบบ แม้ไม่ช่วยให้สามารถนำไปปบใช้ทำวิจัยได้อย่างง่ายๆ ก็ช่วยให้เข้าใจระบบคิดที่แตกต่างออกไปได้ ช่วยให้อ่านงานหลังโครงสร้างนิยมได้ดีขึ้น ช่วยเชื่อมต่อปรัชญากับมานุษยวิทยาได้อีกวิธีหนึ่ง  

แต่ก็แปลกใจที่ทำไมคนเขียนบทซีรีส์บางคนถึงสนใจหยิบงานบาไตล์มาอ่านและใส่เข้าไปในบทละคร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน