Skip to main content

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ที่จริงมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเช่นกันคือบทวิเคราะห์ภาพเขียนฝาผนังถ้ำลาสโก ว่าด้วยกำเนิดศิลปะ ซึ่งเป็นเล่มที่มีที่ห้องสมุดของคณะสังคมวิทยาฯ เสียดายที่ผมไม่ได่สั่งมาเก็บไว้เองคงเพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นผมว่ามันราคาแพงอยู่

ขอเล่าถึงงานบาไตล์สั้นๆ จากความทรงจำเร็วๆ ไว้ตรงนี้ครับ ตามคำชวนของพี่แป๊ด ร้านหนังสือก็องดิก

จอร์จ บาไตล์ (Georges Bataille) เป็นนักเรียนของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) เป็นคนที่พัฒนาด้านที่เป็นเซอร์เรียลลิสม์ของเดอร์ไคม์ ขณะที่ด้านที่เป็นค้านเที่ยน (Kantian) แถมค่อนข้างจะสุภาพแล้วจรรโลงกฎระเบียบของเดอร์ไคม์นั้น เป็นงานของหลานเดอร์ไคม์คือมาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss)

ผมเจองานบาไตล์จากการไล่อ่านหนังสือกลุ่มมานุษยวิทยาศาสนาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไล่มาตั้งแต่เดอร์ไคม์ (The Elementary Forms of the Religious Life, 1912) ซึ่งอธิบายว่ากำเนิดศาสนาคือกำเนิดสังคม สัญลักษณ์ในศาสนาอย่างโทเทม คือภาพแทนสังคม

แล้วผมก็ไปอ่านงานของเมอร์เซ อีเลียด (Mircea Eliade) (The Sacred and the Profane, 1957) ซึ่งอ้างอิงงานศึกษาความศักดิ์สิทธิ์ (the holy) ย้อนไปถึงงานของรูดอล์ฟ ออตโต (Rudolf Otto) ซึ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ออกจากสาธารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งนอกเหนือต่างหากจากสาธารณ์ คนที่เชื่อจะไม่เอามาปนกัน

จากนั้นผมไปอ่านงานของลูกศิษย์เดอร์ไคม์อีกคนคือ โคเช ไกลัว (Roger Caillois หนังสือ Man and the Sacred, 1939) ที่เสนออะไรคล้ายๆ เอเลียดและเดอร์ไคม์ปนๆ กัน แต่ผมว่ามันเป็นระบบลงตัวไปหน่อย อ่านแล้วเบื่อ จนมาเจองานของบาไตล์ที่ร่วมรุ่นกับไกลัว แต่พิลึกพิลั่นกว่ามาก ผมเลยตามอ่านมายืดยาวหลายเล่ม

บาไตล์พยายามเข้าใจความเป็น ความตาย กามารมณ์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ ศิลปะ กระทั่งพลังสร้างสรรค์และทำลายล้างของจักรวาล งานเขาจึงเป็นระบบปรัชญาขนาดใหญ่ ที่อธิบายแทบทุกเรื่อง  

บาไตล์ถอดรื้อระบบคิดแบบตะวันตกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล การมีอยู่และการสูญสลาย กฎเกณฑ์และการฝ่ากฎเกณฑ์ งานเขาจึงมีอิทธิพลต่อฌาค แดร์ริดา (Jacques Derrida) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และชอง โบริยาร์ด (Jean Baudrillard) ในแง่ของการวิพากษ์เหตุผล วิพากษ์ความเป็นระบบ วิพากษ์เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมาร์กซิสม์ที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผล  

นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจบาไตล์ เพราะเขาให้แนวทางการเดินออกมาจากระบบคิดแบบกำไร-ขาดทุนที่ผมเบื่อมากจากเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์  

เช่นว่า ข้อเสนอเรื่อง general economy ของบาไตล์ เสนอให้มองว่าการแลกเปลี่ยนของมนุษย์นั้นเป็นมากกว่า restricted economy ที่แค่คิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียอย่างสมดุลกันในเชิงวัตถุเท่านั้น หรือคิดแต่จะได้อย่างคิดคำนวนได้ หากแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนที่วางอยู่บนการทิ้ง ความสูญเสีย การทำลายล้าง มากกว่าการคิดถึงผลได้อย่างแคบแบบนักคิดสายทุนนิยม รวมทั้งมาร์กซิสม์อย่างแคบคิด  

การทุ่มเท การเสียสละ การ sacrifice ที่หมายถึงทั้งการสละและการบูชายัญ จึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจทั่วไป และถึงที่สุดแล้ว บาไตล์เสนอว่า พลังจักรวาล ความตาย และกามารมณ์ คือเศรษฐกิจทั่วไปที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจอย่างแคบ และสร้างสรรค์ความเป็นไปทั้งมวลอยู่

อีโรติก จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันมหึมานี้ ในหนังสือ Erotism บาไตล์เสนอว่า ภาวะคนใกล้ตายกับภาวะ orgasm หรือภาวะสุขสมทางเพศ เป็นอารมณ์เดียวกัน คือทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเจ็บปวดและรื่นรมย์ กึ่งเป็นกึ่งตาย เป็นภาวะก่อนเป็นและไม่เป็นอะไร หรือเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและไม่เป็นต่างๆ  

ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งจึงเป็นภาพนักบุญเทเรซ่า ซึ่งกำลังจะตาย แต่แสดงภาวะอารมณ์เดียวกับการถึงจุดสุขสมทางเพศ

สำหรับบาไตล์ ศาสนายุคใหม่ อย่างศาสนาคริสต์ จึงไม่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและมาร์กซิสม์ ที่เสนอให้จำกัดควบคุมการสูญเสีย หรือลดละภาวะสุขสมทางเพศ เพื่อเพ่งเล็งไปยังการผลิตที่เล็งผลได้ที่คิดคำนวณได้เท่านั้น  

นั่นต่างจากศาสนาและสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ความตาย การทำลาย (อย่างพิธี potlatch ของชาวอินเดียน) ความรุนแรง ความสุขทางเพศที่ไม่สามารถคิดคำนวณผลได้ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่วางอยู่บนเศรษฐกิจอย่างกว้าง  

งานบาไตล์อ่านสนุก ชวนให้คิดเชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่างอย่างเป็นระบบ แม้ไม่ช่วยให้สามารถนำไปปบใช้ทำวิจัยได้อย่างง่ายๆ ก็ช่วยให้เข้าใจระบบคิดที่แตกต่างออกไปได้ ช่วยให้อ่านงานหลังโครงสร้างนิยมได้ดีขึ้น ช่วยเชื่อมต่อปรัชญากับมานุษยวิทยาได้อีกวิธีหนึ่ง  

แต่ก็แปลกใจที่ทำไมคนเขียนบทซีรีส์บางคนถึงสนใจหยิบงานบาไตล์มาอ่านและใส่เข้าไปในบทละคร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง