"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
เกษียร เตชะพีระ
เหนืออำนาจรัฐ ยังมีอำนาจทุน: อองซานซูจี วีรสตรีผู้ยืนหยัดต้านอำนาจรัฐเผด็จการทหารพม่า อ่อนข้อให้อำนาจทุนจีน
นายกรุ้มกริ่ม
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
Hit & Run
Ko We Kyaw ไร่ปลูกสบู่ดำริมทางบนถนนระหว่างเมืองเจ้าปะต่าวกับมิตทีลา ภาคมัณฑะเลย์ ภาพถ่ายในเดือนพฤษภาคม 2551 (ที่มา: Kowekyaw/Prachataiburma) พฤษภาคม 25511. ผมอยู่บนรถโดยสารเก่าๆ แล่นออกจากเมืองเจ้าปะต่าว (Kyaukpadaung) มุ่งสู่มิตทีลา (Meiktila) ภาคมัณฑะเลย์ ใจกลางเขตแล้งฝน (dry zone) ของสหภาพพม่า สองข้างทางซึ่งเป็นดินแดงๆ จึงเหมาะจะปลูกเฉพาะพืชทนแล้ง โดยเมืองเจ้าปะต่าวถือเป็นแหล่งปลูกตาล ส่วนเนินแห้งแล้งรอบทะเลสาบมิตทีลาก็เป็นแหล่งปลูกฝ้าย แต่สองข้างทางของถนนที่ผมกำลังเดินทางกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าด้วยโครงการปลูกพืชพลังงานชนิดใหม่ “สบู่ดำ” ป้ายโครงการปลูกสบู่ดำและไร่สบู่ดำหรือที่ภาษาพม่าออกเสียงว่า “แจ๊ตซู่” (Kyet-Suu) พบเห็นทั่วไปสองข้างทาง ปลูกทั้งที่ดินชาวบ้าน ทั้งที่ดินรัฐบาล ปลูกทั้งที่โล่ง และแม้แต่ปลูกบนอาคาร เช่นที่ว่างริมระเบียงในอพาร์ทเมนท์หรือยอดตึกในเมืองก็ไม่เว้น 2. บทรายงานในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับ 1 เม.ย. – 15 พ.ค. 2551 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำพม่า ได้ประกาศรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นสบู่ดำเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยตั้งเป้าว่า ภายในสามปีจะต้องขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ให้ได้ 20 ล้านไร่ รัฐบาลแบ่งโควตาเพาะปลูกอย่างน้อย 1.25 ล้านไร่ ในเขตรัฐหรือภาคต่างๆ แม้ว่าแต่ละรัฐหรือภาคจะมีพื้นที่มากน้อยต่างกันก็ตาม ทำให้รัฐคะเรนนีซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุด จะต้องสูญเสียพื้นที่ให้กับพืชพลังงานชนิดนี้ถึงร้อยละ 17 และชาวบ้านทุกคนจะต้องปลูกต้นไม้เฉลี่ยคนละ 177 ต้นภายใน 3 ปี เพื่อให้ได้ตามจำนวนโควตาที่กำหนดไว้ ประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้โดยไม่ถามความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน พยาบาล และหน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้พื้นที่ว่างในหน่วยงานของตนปลูกพืชชนิดนี้ ดังนั้นจึงมีการปลูกต้นสบู่ดำรอบๆ บริเวณบ้าน ตามถนน ในสวน หรือแม้แต่ในไร่ที่ติดทางหลวง แม้แต่ในเมืองหลวง ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามอพาทเม้นท์ก็ต้องปลูกสบู่ดำ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ โดยประชาชนต้องซื้อเมล็ดมาปลูกเอง ไม่เว้นแม้แต่ปลูกตามระเบียงหน้าต่างของที่พัก หลังจากโครงการผ่านไปสองปี กระทรวงเกษตรและชลประทานได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกต้นสบู่ดำไปแล้ว 2.5 ล้านไร่ โดยจะปลูกเพิ่มอีกประมาณปีละ 6 ล้านไร่ในปี 2550 ถึง 2551 โดยในปี 2552 นี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในแผนงานจะต้องปลูกเพิ่มอีกเกือบ 8.5 ล้านไร่ เพื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 20 ล้านไร่ทั่วประเทศพม่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีแผนพัฒนาพลังงานชนิดนี้อย่างชัดเจน เช่นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย รับประกันราคาผลผลิต ไปจนถึงการแปรรูปเป็นพลังงานไบโอดีเซล ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์ของโครงการคือการยึดที่นาของชาวบ้านมาเป็นของกองทัพและบังคับให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดนี้ทั้งที่ดินของตนเอง และของกองทัพ รวมถึงการเรียกเก็บเงินทดแทนสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินปลูกพืชโดยรัฐบาล ได้ออกคำสั่งเป็นเอกสารไปยังหน่วยทหารทุกหน่วยให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมชาวบ้านในพื้นที่ของตนเองปลูกต้นสบู่ดำให้ได้ตามโควตาที่กำหนด นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารในพม่า อันเนื่องจากแหล่งปลูกข้าวสำคัญคือที่ราบบริเวณปากแม่น้ำอิระวดีได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กีส ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ ส่วนหนึ่งก็นำมาปลูกพืชพลังงานที่ว่า โดยการที่ชาวนาต้องใช้ที่ดินในการปลูกต้นสบู่ดำแทนพืชเพื่อยังชีพ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะได้ผลผลิตรอบแรก อีกทั้งประชาชนยังถูกบังคับให้ไปปลูกพืชชนิดนี้ในที่ดินของกองทัพ จนไม่มีเวลาทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากพากันอพยพออกไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากรายงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 เรื่อง "Biofuel By Decree: Unmasking Burma's bio-energy fiasco" โดยกลุ่ม Ethnic Community Development Forum (ECDF) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้อย่างน้อย 800 คน อพยพมาทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และนับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่รัฐบาลเริ่มโครงการทำไร่สบู่ดำ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าที่เชื่อมโยงกับโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น รายงานของกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทยใหญ่ ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการยึดที่ดินเกือบ 30 รายในช่วงเวลา 2 ปี โดยประชาชนเหล่านี้ต้องถูกยึดที่ดินทำกินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เช่นเดียวกับประชาชนในเขตชายแดนพม่า - จีนเปิดเผยว่า กองทัพพม่าประจำทางตอนเหนือของรัฐฉานได้ยึดที่ทำกินชาวบ้านไปแล้วกว่า 2,500 ไร่ในเมืองหมู่เจ้เมื่อต้นปี 2550 ชาวบ้านส่วนใหญ่จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ หรือหากได้รับก็เป็นเงินจำนวนน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับที่ดินที่สูญเสีย ไป โดยอัตราค่าชดเชยที่ได้รับคือ 10,000 - 50,000 จั๊ต (300 บาท - 1,500 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือ 1 - 5 แสนจั๊ต (3,000 บาท - 15,000 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ไร่ชา หรือ ไร่ส้มทั้งไร่ 3. ล่าสุด บริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น (Japan Bio Energy Development Corp) หรือ JBEDC ประกาศวันที่ 27 ก.พ. 52 เกี่ยวกับแผนการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นของพม่า เพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า Japan-Myanmar Green Energy เป็นการร่วมระหว่างเอกชนดังกล่าว 60% กับเอกชนพม่า 40% ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทนี้ตั้งเป้าส่งออกเมล็ดละหุ่ง 5,000 ตันในปี 2552 นี้ก่อนจะตั้งโรงงานสกัดน้ำมันแห่งที่หนึ่งในปี 2553 และยังมีแผนการจะส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำ ในปีหน้าอีกด้วย รายงานของบริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันพม่าเป็นประเทศผลิตสบู่ดำรายใหญ่ที่สุดของโลก รัฐบาลพม่าได้ส่งเสริมให้เกษตรปลูกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 พื้นที่ปลูกขยายออกไปเป็น 2 ล้านเฮกตาร์ หรือ 12.5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นปี 2551 หรือเท่ากับว่าพม่าปลูกสบู่ดำคิดเป็นร้อยละ 90 ของเนื้อที่ปลูกสบู่ดำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกัน! 4. นอกจากนี้ ข่าวลืออีกด้านเกี่ยวกับโครงการปลูกต้นสบู่ดำ หรือ “แจ๊ตซู่” ก็คือ เหตุผลที่รัฐบาลผลักดันให้ประชาชนปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไปทั่วอาจไม่ใช่เป้าหมายด้านพลังงาน แต่เป็นเพราะความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ว่า ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาพม่ามีความหมายตรงกับความต้องการของผู้นำพม่า นั่นเอง คำว่า “แจ๊ตซู่” หรือ Kyet Suu มีความหมายในภาษาพม่าว่า ไก่ขันเสียงดัง และเมื่อไหร่ที่ไก่จำนวนมากรวมตัวกันส่งเสียงดัง คนเราก็ไม่สามารถจะส่งเสียงร้องสู้กับไก่ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทางการพม่าบังคับให้ประชาชนปลูกพืชสบู่ดำเพิ่มขึ้นทุกวันเพื่อกลบเสียงของประชาชน อีกความเชื่อหนึ่ง คือ คำว่า Kyet Suu ยังมีตัวอักษรแรกของแต่ละคำ คือ K และ S สลับกับอักษรนำหน้าของนางออง ซาน ซูจี (Suu Kyi) คือ S และ K ซึ่งหากมีการปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็หมายความว่า เงาของต้นสบู่ดำจะปกคลุมเหนือผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่าผู้นี้ นอกจากนี้ คำว่า Kyet Suu ในภาษาพม่า ถ้าแปลตามหลักโหรศาสตร์แล้วคำว่า Kyet ขึ้นต้นด้วยตัว K มีความหมายว่า วันจันทร์ ส่วนคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วยตัว S มีความหมายว่า วันอังคาร ดังนั้น Kyet Suu จึงมีความหมายว่า วันจันทร์ วันอังคาร เช่นเดียวกับชื่อของนางอองซาน ซูจี หรือ Suu Kyi ในภาษาพม่า โดยคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วย S มีความหมายตามหลักโหรศาสตร์ว่า วันอังคาร และคำว่า Kyi ขึ้นต้นด้วย K มีความหมายว่าวันจันทร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นชื่อของซูจี หรือ Suu Kyi อาจมีความหมายตามหลักโหราศาสตร์ว่า วันอังคาร วันจันทร์ การปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็จะทำให้วันจันทร์ต้องนำหน้าวันอังคารมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้อำนาจของนางซูจีพ่ายแพ้ต่อผู้นำพม่าวันยังค่ำ ไม่ว่าการปลูกสบู่ดำจะเป็นไปด้วยเหตุผลใด ที่แน่นอนที่สุดทั้งประชาชนพม่า และอองซาน ซู จี ได้รับผลกระทบจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการที่ยาวนานเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยนายพลเนวิน (Ne Win) ใน พ.ศ. 2505 (ที่มาของภาพ: www.pbase.com/dassk) พฤษภาคม 2552 5. และไม่ว่าการรณรงค์ปลูกสบู่ดำจะเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ของรัฐบาลทหารเพื่อข่มนางอองซาน ซูจีหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ชะตากรรมของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) นั้น ในรอบ 19 ปีนี้ ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา เมืองย่างกุ้ง กินเวลารวมถึง 13 ปี โดยการกักบริเวณรอบแรกกินเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2533 – 2538 และการกักบริเวณรอบสองเกิดขึ้นนับตั้งแต่หลังกรณีที่สมาชิกสมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association – USDA) โจมตีขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี และผู้สนับสนุนที่หมู่บ้านเดปายิน (Depayin) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ระหว่างที่นางและแกนนำพรรค NLD กำลังอยู่ระหว่างตระเวนพบปะผู้สนับสนุนพรรคในภูมิภาคสะกาย (Sagaing Division) ทางเหนือของพม่า โดยการโจมตีขบวนรถดังกล่าวทำให้สมาชิกพรรค NLD เสียชีวิตกว่า 70 คน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นางออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักนับจากนั้น โดยรัฐบาลทหารพม่าต่ออายุการกักบริเวณไปเรื่อยๆ ตามมาตรา 10 ของกฎหมายคุ้มครองรัฐ อนุญาตให้รัฐบาลกักบริเวณบุคคลโดยปราศจากข้อหาหรือการพิจารณาคดีได้เพียงไม่เกิน 5 ปี และขยายเวลากักบริเวณได้ครั้งละ 1 ปีไปเรื่อยๆ โดยการขยายเวลากักบริเวณนางซูจีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน และจะครบกำหนดการกักบริเวณในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไม่ทันที่รัฐบาลพม่าจะมีคำสั่งปล่อยตัวหรือขยายเวลากักบริเวณต่อไปอีก 1 ปี หรือไม่ ก็เกิดเหตุนายจอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ (John William Yettaw) ลอบเข้าบ้านพักของนางซูจี โดยหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อะลีน (หนังสือพิมพ์แสงพม่า) หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่ารายงานว่า นายยิตตอว์ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและเข้าไปในบ้านนางซู จี ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค. จากนั้นก็ว่ายน้ำกลับมาในกลางดึกคืนวันที่ 5 พ.ค. ก่อนจะถูกตำรวจจับได้เมื่อเช้ามืดที่ 6 พ.ค. ชาวอเมริกันผู้นี้ว่ายน้ำโดยใช้กระป๋องน้ำ 5 ลิตร ช่วยพยุงตัวขณะว่ายน้ำ เมื่อตำรวจตรวจค้นสิ่งของติดตัว พบเป้สะพายหลังสีดำ 1 ใบ หนังสือเดินทางสหรัฐ 1 เล่ม คีม 2 อัน กล้องถ่ายภาพ 1 ตัว ธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ 2 ใบ รวมทั้งเงินจ๊าตอีกจำนวนหนึ่ง โดยทางการสอบปากคำถึงแรงจูงใจว่าเหตุใดชายผู้นี้จึงว่ายน้ำไปยังพื้นที่ต้องห้าม ไม่เพียงแต่ยิตทอว์จะถูกดำเนินคดี แต่ออง ซาน ซูจี และผู้ช่วยประจำตัวอีก 2 คน คือนางขิ่น ขิ่น วิน, ลูกสาวของนางขิ่น ขิ่น วิน คือนางสาววิน มะ มะ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎการควบคุมตัวด้วย ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ระวางโทษของคนทั้ง 4 คือจำคุกระหว่าง 3-5 ปี มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะใช้โอกาสดังกล่าวเป็นเหตุขยายเวลากักบริเวณนางออง ซาน ซูจี และผู้ช่วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจถูกกักบริเวณในบ้าน หรือไปที่ “เรือนจำอินเส่ง” อันลือชื่อ! 6. 18 พฤษภาคม 2552 ที่เรือนจำอินเส่ง เขตอินเส่ง เมืองย่างกุ้ง วันพิจารณาคดีละเมิดคำสั่งกักบริเวณเริ่มต้นเป็นวันแรก ภายนอกเรือนจำ กลุ่มเยาวชนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี มาชุมนุมกันอยู่บริเวณหน้าเรือนจำอินเส่ง อู วิน ติ่น (U Win Tin) กรรมการกลางของพรรคเอ็นแอลดีและอดีตนักโทษการเมืองวัย 80 ปี เดินทางมาพร้อมกับประชาชนหลายร้อยคนเพื่อมารอฟังการพิจารณาคดี แต่พวกเขาไม่สามารถฝ่าแนวรั้วลวดหนามไฟฟ้าเข้าไปได้ ผู้ชุมนุมหลายคนรวมทั้งพระสงฆ์ผูกผ้าคาดหัวและชูป้ายที่เขียนข้อความว่า “ออง ซาน ซูจี ไม่มีความผิด” … 000 อ้างอิง เรื่องนโยบายการปลูกต้นสบู่ดำในพม่า สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ KAWN LEOW, จับกระแส: โครงการปลูกต้นสบู่ดำ พลังงานทางเลือกหรือความอดอยากหิว, ใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 46 1 เม.ย. - 15 พ.ค. 51. เผยแพร่ออนไลน์ 20 พ.ค. 51 Chiho Matsuda, Nikkei Monozukuri, Japan-Myanmar JV Established to Produce Biofuel from Tropical Plant, Techon, Mar 3, 2009 เรื่องก่อนหน้านี้ 'เหตุวิวาทในร้านน้ำชา' สู่ 'วันสิทธิมนุษยชนพม่า', Ko We Kyaw, 14/3/2009 ‘ตลกพม่า’ ประชัน ‘ตลก.ไทย’ ใครขำกว่า, Ko We Kyaw, 4/10/2008 หมายเหตุ ติดตามข่าว บทความ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ในสหภาพพม่าและชายแดนได้ที่ www.prachatai.com/burma
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล" สายลับประเภทนี้จะแต่งกายแบบชาวบ้านทั่วไปเพื่อไม่ให้เป็นที่จับตามอง สิ่งที่สังเกตได้ว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็คือ "พฤติกรรมแปลก ๆ" เช่น การเดินตามผู้เขียนในรัศมีที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีใครบางคน (บางทีก็หลายคน) ติดตามอยู่ การยืนจับกลุ่มกันจ้องมองมาทางผู้เขียนในทิศทางเดียวกันหมด หรือการนั่งจับกลุ่มกันเงียบ ๆ ในรัศมีใกล้ชิดกับผู้เขียนเพื่อแอบฟังบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและเพื่อนร่วมเดินทาง เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง (เมาะลำไย) ทางภาคใต้ของพม่า ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางรวมห้าคนถูกสันติบาลพม่าสามคนตามมาที่โรงแรมสิ่งที่สังเกตได้คือ ชายทั้งสามคนแต่งกายด้วยชุดโสร่ง ไม่มีกระเป๋าเดินทางเหมือนแขกทั่วไป และคอยจ้องมองมาทางพวกเราตลอดเวลา ถ้าพวกเราไปนั่งกินข้าวเช้าในห้องอาหารของโรงแรม พวกเขาก็จะมานั่งโต๊ะติดกันแบบเงียบสนิท ไม่มีใครพูดอะไรเลย เหมือนกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเราคุยกัน พวกเราจึงสันนิษฐานว่าชายกลุ่มนี้น่าจะเป็นสันติบาลที่คอยติดตามนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกรุ๊ปทัวร์ โดยทางโรงแรมคงทำหน้าที่ "ส่งข่าว" ให้เหมือนที่เคยเจอเมื่อครั้งไปรัฐฉานครั้งแรก และเพื่อความปลอดภัย พวกเราจึงใช้ "รหัสลับ" ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ในการพูดคุยกันเวลาอยู่ต่อหน้าสันติบาลพม่า เช่น ใช้คำว่า "สัปปะรด" เวลาต้องการพูดถึง "สันติบาล" หรือใช้คำว่า "พ่อหลวง" แทน "รัฐบาลทหารพม่า" เป็นต้น อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมต้องใช้รหัสลับในการพูดคุย เพราะสันติบาลพม่าจะเข้าใจภาษาไทยได้อย่างไร คำตอบก็คือ สันติบาลจะต้องเรียนภาษาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ เช่น เมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยก็มักจะมีสันติบาลพม่าที่ฟังภาษาไทยออก หรือเมืองที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ สันติบาลที่อยู่ประจำพื้นที่นั้นก็จะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหากสามารถฟังภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ หรือบางครั้งสันติบาลก็อาจเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เองก็มี เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปรัฐฉานครั้งแรก ผู้เขียนเคยคุยกับครูสอนภาษาไทยใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งถูกบังคับให้เป็นครูสอนภาษาไทยใหญ่ให้กับทหารพม่าที่มาประจำเมืองนั้น เนื่องจากเวลาที่คนไทยใหญ่มีประชุมทางวัฒนธรรมเกินกว่า 5 คนจะต้องยื่นขออนุญาตทางการพม่าก่อนและจะมีสันติบาลเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง จากประสบการณ์ของผู้เขียน หากสันติบาลเป็นชาวพม่าแท้ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น คนที่ถูกติดตามจะสังเกตได้ง่ายเพราะมีความแตกต่างกันทางสีผิวและสำเนียงพูด แต่ในกรณีที่สันติบาลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เลย อันนี้น่ากลัว...เพราะหลายคนอาจเผลอไว้ใจ ไม่ทันระวังคำพูด และอาจถูกจับได้ง่ายกว่าผู้เขียนเคยรู้สึกเสียวสันหลังวาบหลังจากที่พูดคุยกับคุณลุงชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งและเผลอไปซักถามเกี่ยวกับเสรีภาพของชาวไทยใหญ่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ชาวไทยใหญ่ท่านนั้นหันมาทำหน้าขรึมและพูดว่า "คุณรู้ไหมว่าถ้าอยู่ในพม่า อย่าถามคำถามประเภทนี้กับใคร ไม่ว่าคุณจะสนิทกับคนนั้นหรือไม่ เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่า คนนั้นเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าหรือเปล่า และคุณรู้ไหมว่า ถ้าผมเกิดเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าขึ้นมา คุณจะเป็นอย่างไร...."ฟังจบ ผู้เขียนรู้สึกใจเต้นตึกตักพาลจะเป็นลม เพราะหากชายตรงหน้าเป็นสายลับพม่าเข้าจริง ๆ คงถูกส่งเข้าซังเตพม่าแน่ ๆ ผู้เขียนยกมือไหว้ขอบคุณที่ได้รับคำตักเตือนและขอบคุณสวรรค์ที่ยังเมตตาให้คุณลุงไทยใหญ่ท่านนี้ไม่ใช่สายลับของทางการพม่า เฮ้อ...หวิดเข้าคุกพม่าอีกแล้วสิเรา
บก.สาละวินโพสต์
วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น
หัวไม้ story
วันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 เป็นวันแห่งการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และการปราบปรามนั้นได้ดำเนินไปหลายวันในย่างกุ้ง หัวไม้สัปดาห์นี้ ขอเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการต่อสู้ของเพื่อนมิตรชาวพม่าในครั้งนั้น ด้วยบทเพลงพม่าที่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น คือเพลง วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 และ เพลงไม่มีวันลืม (Kabar Ma Kyay Bu Heyt!) ทั้งสองเพลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ทุกรอบปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้นเราหวังว่าสักวันหนึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นในขอบฟ้าฟากตะวันตก เพลง วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ที่มา: ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ DVB)เพลงไม่มีวันลืม (ที่มา: ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ DVB)