Skip to main content
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว


สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร


ผู้เขียนเคยถูกสายลับพม่าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน แต่โชคดีรอดมาได้ทุกครั้ง เมื่อนึกถึงเหตุการณ์เมื่อถูกติดตามครั้งแรก ใจยังสั่นไม่หาย...


เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อแปดปีก่อน ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าไปในพม่าครั้งแรกในชีวิต เป้าหมายของการเดินทาง คือ การเก็บข้อมูลเรื่องการธำรงอัตลักษณ์ของคนไทยใหญ่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์*


ผู้เขียนเดินทางพร้อมกับเพื่อนรุ่นน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราทั้งสองยังไม่เคยเดินทางไปพม่ามาก่อนเลย การเดินทางครั้งนี้พึ่งพาคู่มือท่องเที่ยวที่มีขายทั่วไป (บางเรื่องก็เชื่อถือไม่ได้เพราะสถานการณ์การเมืองในพม่าเปลี่ยนแปลงบ่อย) เราเริ่มต้นเดินทางจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของพม่าขึ้นเหนือไปยังเมืองต่าง ๆ ของรัฐฉาน อาทิ สีป้อ ล่าเสี้ยว และตองยี เพื่อพูดคุยกับชาวไทยใหญ่ที่ทำงานด้านวัฒนธรรม อาทิ เจ้าของโรงพิมพ์หนังสือภาษาไทยใหญ่ ชมรมภาษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ซึ่งมีอยู่ทุกเมืองในรัฐฉาน เป็นต้น


ด้วยเหตุที่เมืองบางเมืองที่เราเดินทางไปไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก การเดินทางของสองสาวจากเมืองไทยจึงเป็นสิ่งที่น่าสงสัยยิ่งนัก เนื่องจากตอนนั้น ผู้เขียนยังไม่ได้เริ่มทำงานเรื่องพม่าอย่างจริงจังทำให้ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสายลับพม่ามากนักและผลจากการขาดข้อมูลทำให้เราประมาท ไม่ทันระวังตัวว่า "สายลับ" มีอยู่ทั่วทุกแห่งที่เราไป ตั้งแต่คนขับรถแท็กซี่ พนักงานเสิร์ฟอาหาร ไปจนถึงเจ้าหน้าที่โรงแรมที่เราเข้าพัก คนเหล่านี้จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลบุคคลที่น่าสงสัยแจ้งให้หน่วยข่าวกรองมาตรวจสอบ ซึ่งถ้าหากข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ก็จะได้รับค่าน้ำชาเล็กน้อยเป็นสินตอบแทน


เหตุการณ์ถูกสายลับพม่าสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองแห่งหนึ่งในรัฐฉาน (ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อบุคคลที่ไปพบและสถานที่เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข้อมูล) วันนั้น เราเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมเพื่อเดินทางไปพบผู้นำด้านวัฒนธรรมไทยใหญ่ท่านหนึ่ง ตามปกติ ทางโรงแรมจะให้นักท่องเที่ยวกรอกสถานที่ที่จะเดินทางต่อไปในเอกสารการเช็คเอาท์ของโรงแรม ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้นก็ได้ แต่เพื่อนร่วมเดินทางของผู้เขียนดันพาซื่อ...เจ้าหล่อนเล่นกรอกชื่อสถานที่ที่เรากำลังจะไปแบบลงรายละเอียด พอพนักงานโรงแรมเห็นชื่อสถานที่เท่านั้น "งานเข้า" ทันที เพราะนั่นมันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีคุณหมอชาวไทยใหญ่ผู้มีบทบาทสำคัญในชมรมอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ประจำอยู่ที่นี่


ไม่นานนัก...ชุดสืบสวนของหน่วยข่าวกรองก็เดินทางไปถึงโรงพยาบาลแห่งนั้น บรรดาพยาบาลและคนไข้ต่างพากันตื่นตกใจ ด้วยบุญเก่าที่สะสมไว้ทำให้จังหวะที่เจ้าหน้าที่มาถึงพวกเราไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่กำลังเดินเล่นชมความงดงามของวัดใกล้ ๆ ระหว่างรอคุณหมอซึ่งกำลังเดินทางมาจากบ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่พบตัวสองสาวจากเมืองไทยตามข้อมูลที่ได้รับจากโรงแรมก็เลยมุ่งหน้าไปยังบ้านของคุณหมอชาวไทยใหญ่ท่านนั้นทันที


หลังจากพวกเราเดินเล่นอย่างเบิกบานใจสักพักจึงเดินกลับไปรอคุณหมอที่โรงพยาบาล แล้วก็พบว่า พยาบาลและญาติผู้ป่วยที่เห็นพวกเราเดินกลับเข้ามาทำหน้าตื่นตกใจกันมาก พยาบาลคนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษได้รีบเข้ามาบอกกับเราว่า เมื่อกี้มีหน่วยข่าวกรองมาตามหาผู้หญิงไทยสองคน ตอนนี้กำลังมุ่งหน้าไปที่บ้านของคุณหมอชาวไทยใหญ่ !


ได้ยินเพียงเท่านั้น พวกเราก็เริ่มมือเท้าสั่นใจเต้นตึกตัก เพราะไม่คิดว่า จะถูกสายลับพม่าเล่นงานเข้าซะแล้ว ขณะที่กำลังสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รู้ได้อย่างไรว่าพวกเรามาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ น้องสาวหน้าใสที่มาด้วยกันก็เริ่มพาลจะร้องไห้แล้วสารภาพว่า "หนูเป็นคนเขียนบอกที่โรงแรมเองว่า พวกเราจะมาที่นี่...ฮือ ฮือ... ทำยังไงกันดี" เนื่องจากขณะนั้นคุณหมอยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล นางพยาบาลจึงบอกให้เราไปหลบอยู่ในป่ากล้วยข้างโรงพยาบาลก่อน แล้วจะหาทางติดต่อคุณหมอชาวไทยใหญ่ว่าจะต้องทำยังไงต่อไป


หลังจากพวกเราแอบอยู่ที่ป่ากล้วยด้วยใจระทึกประมาณครึ่งชั่วโมง คุณหมอก็โทรเข้ามาที่โรงพยาบาลแจ้งว่า หน่วยข่าวกรองตามมาพบคุณหมอที่บ้านแล้ว คุณหมอได้บอกไปว่า เราสองคนเป็นคนไข้ที่ต้องการมารักษา โดยคนหนึ่งปวดท้องประจำเดือนมาก และอีกคนหนึ่งปวดหัวไมเกรน คุณหมอได้สั่งให้พยาบาลจัดเตรียมห้องพักผู้ป่วยแบบสองเตียงและทำทะเบียนประวัติผู้ป่วยในของโรงพยาบาลตามอาการที่คุณหมอบอก


คืนนั้น พวกเราย้ายที่นอนจากโรงแรมเป็นโรงพยาบาล เป็นคืนแรกในพม่าที่นอนหลับไม่สนิทและอยากให้ถึงรุ่งเช้าเร็ว ๆ เพื่อเดินทางออกจากเมืองแห่งนั้นด้วยรถโดยสารเที่ยวแรกสุด

ก่อนจากลาคุณหมอชาวไทยใหญ่ผู้สามารถทำให้เรารอดพ้นคุกพม่ามาได้อย่างหวุดหวิด เราถามคุณหมอถึงเหตุผลที่หน่วยข่าวกรองติดตามพวกเรามาจนถึงโรงพยาบาลเพื่อให้หายข้องใจ


คุณหมออมยิ้มแล้วตอบว่า

"ช่วงนี้ ทหารไทยใหญ่กับทหารพม่ากำลังรบกันอยู่ที่ชายแดนไทย แล้วกองทัพพม่าเชื่อว่าทหารไทยแอบช่วยทหารไทยใหญ่รบ พวกเขาจึงสงสัยว่า พวกคุณสองคนเป็นสายลับไทยที่มาสืบข่าวเพื่อช่วยกองทัพไทยใหญ่รบกับพม่าน่ะสิ"


พอฟังจบ พวกเราได้แต่นั่งถอนหายใจ เพราะความจริง พวกเราต่างหากที่กลัวสายลับพม่าแทบหัวใจวาย แต่สุดท้าย พวกเขากลับหาว่า พวกเราเป็นสายลับเสียนี่ !

 

หมายเหตุ

* เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้มีการเดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอย่างเสรี การเดินทางเข้าไปในพม่าจำเป็นต้องเข้าไปในรูปแบบนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลจำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างระมัดระวังไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเรื่องราวที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

 

 

บล็อกของ บก.สาละวินโพสต์

บก.สาละวินโพสต์
ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)
บก.สาละวินโพสต์
 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว …
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล"   …
บก.สาละวินโพสต์
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
บก.สาละวินโพสต์
    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น