Skip to main content

 
\\/--break--\>










 

ผมไม่รู้ว่าในชีวิตของคนเรานั้นต้องเดินทางไกลและใช้เวลานานเพียงใด ถึงจะค้นพบดินแดนสงบและสันติสุข แต่ผมพอรู้ว่ามีพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง'หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ปะหล่อง' นั้นต้องระเหเร่ร่อนเดินทางมาไกลและยาวนาน กว่าจะค้นหาดินแดนนั้นพบ 

สัปดาห์ก่อนผมได้ไปเยือนชุมชนดาระอั้งบ้านปางแดง ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ค่ำคืนนั้นมีการแสดงวัฒนธรรมบนลานดิน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างสนุกสนาน  พากันร้องเพลง เต้นรำ ก่อกองไฟเผาข้าวหลาม ผิงข้าวจี่กันท่ามกลางลมหนาว นานๆ ผมจะมีโอกาสเห็นความสุขของพี่น้องดาระอั้ง อบอวลหอมกรุ่นอย่างนี้ หลังจากก่อนหน้านั้น ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำยอมและจำนนมาโดยตลอด ในงานบุญงานรื่นเริงนั้น ผมยินเสียงเพลงภาษาดาระอั้งในท่วงทำนองเศร้าสร้อย ชาวบ้านบอกว่าเนื้อหานั้นพร่ำพรรณนาบอกเล่าถึงวิถีชีวิตทุกข์ยากลำบากและการเดินทางมาไกลแสนไกล ในห้วงนั้น ผมมองเห็นแววตาคู่หนึ่งของผู้เฒ่าสะท้อนกับแสงไฟฟืน เป็นแววตาที่ดูแล้วเหมือนฉาบความเศร้าเอาไว้ข้างในยังไงยังงั้น

ในงานวิจัยเรื่อง กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า ของ สกุณี ณัฐพูลวัฒน์' ได้ศึกษาเรื่องราวของชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในงานศึกษาเรื่อง Shans at Home ของ Lesline milne ในปี 1910 บอกว่า ชนเผ่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนรักสงบ และพยายามหลบหนีภัยจากปัญหาสงครามอยู่เสมอ แน่นอน เมื่อเอ่ยชื่อดาระอั้ง หรือปะหล่อง เราจึงมักเห็นภาพของการตกเป็นเหยื่อในภาวะสงครามเสียมากกว่า และเป็นฝ่ายที่ต้องหลบเลี่ยงหนีการรุกรานของชนเผ่าอื่นอยู่เรื่อยมา

ทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของลุงคำ จองตาน ผู้เฒ่าดาระอั้งบ้านปางแดงใน เคยพูดคุยกับผมไว้
"พวกเราดาระอั้งไม่เคยสู้กับใคร มีแต่หลบหนีอย่างเดียว เราไม่ชอบการต่อสู้ ไม่ชอบความรุนแรง"

นอกจากนั้น ยังมีงานศึกษาที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งในพม่า ซึ่งได้บันทึกไว้ใน  "Gazetteer of Upper Burma and the shan states" ตั้งแต่ปี คศ.1900 โดยได้เขียนถึงตำนานการเกิดของชนเผ่าดาระอั้ง หรือ ปะหล่องเอาไว้ว่า เป็นลูกหลานของกษัตริย์พระอาทิตย์ เลือกที่จะอยู่บนที่สูง บริเวณทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า และถือว่าเป็นกลุ่มคนนักเดินทางชั้นเยี่ยม ซึ่งต่อมา ลูกหลานได้เติบโตย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นในทางตอนใต้ของรัฐฉาน แถบเมืองเชียงตุง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน กระทั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามเขามาอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของไทย มีรายงานว่า ปัจจุบัน มีจำนวนประชากรชาวดาระอั้ง หรือชาวปะหล่องที่อาศัยอยู่ในไทย ทั้งหมดราว 5,000-7,000 คน

หากใครมีโอกาสผ่านมาทางเขตอำเภอแม่อาย ฝาง และเชียงดาว ก็จะเห็นคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวด้วยสีสันแปลกใหม่ ผู้ชายนุ่งกางเกงคล้ายทรงไทยใหญ่สีดำ น้ำเงิน สวมใส่เสื้อคอกลมแขนยาว ส่วนผู้หญิงสวมผ้าซิ่นทอสีแดงสด ใส่เสื้อแขนยาว มีพู่ไหมพรมห้อยล้อมรอบต้นแขนเสื้อทั้งสองข้าง ผ้าเคียนศีรษะ และที่แปลกตาต่อผู้พบเห็นมากที่สุด ก็คือ น่องกฺ' เป็นบ่วงทำด้วยเงิน หรือหวายคล้องรอบเอว นั่นละ คือพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง

และเมื่อใครเห็น น่องกฺ' หรือบ่วงทำด้วยเงิน หรือหวายคล้องรอบเอวแม่หญิงดาระอั้ง เชื่อว่าหลายคนคงอดจะถามไม่ได้ว่ามันคืออะไร และมันสื่อความหมายถึงอะไร

มีตำนานเล่าไว้ว่า  เดิมทีมีนางฟ้ามีปีกได้บินลงมาจากฟ้าจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ แล้วต้องมนต์เสน่ห์ของป่าเขาและสายน้ำ จึงตัดสินใจถอดเครื่องแต่งกายรวมทั้งปีกนั้นไว้ริมฝั่งแม่น้ำ ก่อนลงไปเล่นน้ำ ต่อมา มีพรานป่าคนหนึ่งออกล่าสัตว์ มาพบเห็นปีกนางฟ้าเข้าก็ขโมยเอาไป ครั้นพอนางฟ้าขึ้นมาจากน้ำ ก็ตกใจที่เห็นปีกหายไป จึงวิ่งลนลานเสาะหา กระทั่งไปติดบ่วงแร้วหวายของนายพราน ยิ่งดิ้นยิ่งถูกรัดแน่น  กระทั่งมีชายหนุ่มกำพร้าคนหนึ่งนั่งแพไม้ไผ่ไหลล่องมาตามแม่น้ำ ได้ยินเสียงนางฟ้าร้องไห้ จึงเข้าไปช่วยเธอหลุดพ้นจากบ่วงแร้วนายพราน และทั้งสองก็เกิดรักใคร่กันจนกลายเป็นคู่ผัวเมีย อยู่กินด้วยกัน จนกำเนิดลูกหลานออกมาเป็นเผ่าพันธุ์ดาระอั้ง นับแต่นั้นมา

ทุกครั้งที่ผมเห็นผู้หญิงดาระอั้งที่คล้อง น่องกฺ' ไว้รอบเอว ทำให้ผมนึกไปถึงตำนานอันเก่าแก่เรื่องนี้ และพลอยทำให้นึกไปถึงภาพเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มาไปด้วย

นึกไปถึงภาพการเดินทางระเหเร่ร่อนหนีตายจากสงครามความขัดแย้งในพม่า ภาพการหลบหนีการไล่ล่า ภาพความอดอยากจนต้องเด็ดกินใบไม้แทนข้าว ภาพผู้คนลอยคอข้ามแม่น้ำสาละวิน ภาพผู้คนเดินข้ามดอยมาอาศัยอยู่บนดอยนอแล ดอยอ่างขาง ก่อนเคลื่อนย้ายมาอยู่ปางแดง ที่เชียงดาว รวมทั้งภาพการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน จับกุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ คนพิการเข้าห้องขัง แม้กระทั่งจนบัดนี้ คดียังไม่สิ้นสุด ยังรอคำพิพากษาจากศาล

ใครบางคนบอกว่า บางทีวิถีชีวิตของพี่น้องดาระอั้งกลุ่มนี้นั้นถูกกำหนดด้วยอำนาจลึกลับที่มองไม่เห็น ให้พวกเขาเหมือนถูกบ่วงชะตากรรมรัดรึงเอาไว้อยู่อย่างนั้น ตลอดการเดินทางไกล จนกว่าพวกเขาจะค้นพบดินแดนสงบและสันติสุขอย่างแท้จริง.


ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เผ่าชนคนเดินทาง เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม 2552

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
        ผมมองเห็นพลังในตัวผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่เขาเปิดประตูลงจากรถ หลังจากเรายืนทักทายกัน เขาเอื้อมไปหยิบกล้องถ่ายรูปขนาดกะทัดรัดที่วางบนเบาะหน้ารถ มากดเก็บภาพหลายมุมรอบๆ สวนและบ้านปีกไม้ ในขณะที่ผมกำลังถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดใบสักแห้งหล่นกองเต็มลานดินรอบโคนต้น ผมหอบใส่ตะกร้าไม้ไผ่ยัดๆ ไปเทไว้หลังบ้าน ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเก็บเศษใบไม้ใบหญ้าได้มากพอ จะทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ พอหันไปมองเขาอีกที ผมเห็นเขาจัดแจงลงมือทำในสิ่งที่รักและชอบเรียบร้อยแล้ว เขานั่งหลบมุมอยู่ระหว่างโรงรถกับต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ข้างกายเขามีอุปกรณ์เขียนรูป กระดาษ กระดาน จาน สีน้ำ พู่กัน น้ำ…
ภู เชียงดาว
    เมื่อเอ่ยชื่อ...คนมากมายต่างรู้จักเขา… จริงสิ, ใครต่อใครบอกไว้ว่า เขากลายเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาว ของความรัก ความหวัง และความฝันของใครหลายคน กระทั่งมีคนให้สมญานามแด่เขา ‘เจ้าชายโรแมนติก’
ภู เชียงดาว
  กี่ครั้งที่เราทุกข์ กี่ครั้งที่เราล้ม กี่ครั้งที่เราจม อยู่ในท้องทะเลน้ำตา…
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/fontree/2008/08/20/     อีกคืนค่ำ,ผมถวิลหาคำปลอบโยนของอา “เป็นไงบ้าง อยู่ได้ไหม...ชีวิต” นั่นคือถ้อยคำของอาเคยไถ่ถาม น้ำเสียงยังกังวานหากอุ่นอ่อนโยน อาเหมือนดอกไม้กลางป่าอวลกลิ่นหอม อาคงรับรู้ว่างานข่าว งานเขียน มันยากหนักเพียงใด “ที่ถามเพราะอาเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน...” ผมได้แต่พยักหน้าบอกไป “อยู่ได้ครับอา...” ในขณะหัวใจผมตื้นตันในถ้อยคำห่วงใยนั้น
ภู เชียงดาว
ใกล้สิ้นปีทีไร เชื่อว่าหลายคนคงแอบบ่นกับตัวเองอยู่เงียบๆ ลำพัง “ชีวิตเราเดินทางมาไกลจังเลย” “ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสอย่างนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป...” “สิ่งไหนเล่าที่เราต้องการ...” “แล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริง...”
ภู เชียงดาว
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า             โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง               แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า   ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ                                        …
ภู เชียงดาว
        ที่มาภาพ : โอ ไม้จัตวา http://blogazine.prachatai.com/user/omaijattava/post/2171
ภู เชียงดาว
ยามหมอกขาวห่มคลุมดอย และลมหนาวพัดมาเยือนเมืองเหนือคราใด ทำให้ผมอดครุ่นคำนึงถึงวิถีเก่าๆ เมื่อครั้งเที่ยวท่องไปตามภูเขา ทุ่งไร่ สายน้ำ และชุมชนของพี่น้องชนเผ่านั้นไม่ได้ แน่ละ ในเส้นทางที่ย่ำไปนั้น มักเจอทั้งเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้ พานพบ และหยุดทบทวนดูภาพผ่านในบางสิ่ง และละทิ้งภาพผ่านในบางอย่าง แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์สุข สดชื่นรื่นรมย์ หรือปวดปร่าในห้วงลึก เราไม่อาจเกลี่ยทิ้งไปได้ เพราะนั่นล้วนคือวิถีแห่งความจริงทั้งสิ้น...