Skip to main content

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลงถูกกระหน่ำโจมตีอย่างรุนแรงในทุกทิศทางจากพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง โดยอ้างว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอนและการตั้งราคารับจำนำสูงกว่าตลาด ทำให้ข้าวไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ยังใช้วิธีการสกปรกทุกชนิดที่จะต้องล้มโครงการนี้ให้ได้

โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยเพื่อประกันราคาข้าวให้ได้ตันละ 15,000-20,000 บาท ตามที่เคยหาเสียงไว้ เมื่อได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทันที นี่คือ ความโดดเด่นของพรรคเพื่อไทย อย่างน้อยที่สุดมีความมุ่งมั่นทำตามสัญญาประชาคมอย่างเต็มที่ ผิดกับพรรคการเมืองอื่นๆ เคยสัญญาหาเสียงไว้ เมื่อทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำมักเฉไฉ กลบเกลื่อน ปกปิดความไม่เอาไหนและความล้มเหลวของตนเอง โดยคิดแต่ว่าไม่มีใครรู้เท่าทันในเล่ห์เหลี่ยมการสร้างภาพของตนเองให้ดูดีอยู่ตลอดเวลา

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวส่งออกมายาวนานแล้ว  แต่ชาวนาไทกลับมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่ก็ล้มละลายต้องมาขายแรงงานเป็นกรรมกร หรือไม่ก็กลายเป็นโสเภณี ส่วนหนึ่งของความยากจนเกิดมาจากถูกเอารัดเอาเปรียบจากการขายผลผลิตได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน จากการกดราคารับซื้อมาโดยตลอด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำโครงการประกันรายได้ โดยการตั้งราคากลางหรือราคาอ้างอิงในแต่ละช่วงการผลิต หากชาวนาขายได้ต่ำกว่าราคาอ้างอิง ส่วนต่างนี้รัฐบาลเอาเงินมาจ่ายให้ชาวนา เช่น ราคาอ้างอิงอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท ชาวนาขายได้ 8,000 บาท ดังนั้นอีก 2,000 บาทรัฐบาลเป็นคนจ่ายให้ชาวนา วิธีการแบบนี้ พ่อค้ารับซื้อราคาต่ำ รัฐบาลควักเงินจ่ายส่วนต่างให้ พ่อค้าส่งออก ซึ่งผูกขาดการค้าข้าวมีไม่ถึง 10 ตระกูลของเมืองไทย ย่อมได้ประโยชน์เต็มที่จากโครงการประกันรายได้ชาวนาของพรรคประชาธิปัตย์

ในความเป็นจริง การประกันรายได้ชาวนาของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหาการโกงความชื้นและสิ่งเจือปน การสวมสิทธิชาวนา การขึ้นทะเบียนเกษตรกรเช่นกัน รัฐบาลสูญเสียรายได้ในโครงการนี้ปีละ 90,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีแนวคิดอยู่ที่ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกถึงร้อยละ 30 ในตลาดการค้าข้าวของโลก การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวมาเก็บไว้เท่ากับเป็นการทำให้กลไกตลาดต้องรับซื้อข้าวไทยในราคาสูงไปด้วย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เวียดนามและอินเดียขยับราคาสูงขึ้น

ขณะนี้รัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินในการรับจำนำข้าวไปแล้วกว่า 21.22 ล้านตัน หรือราว 10-11 ล้านต้นข้าวสาร ใช้งบประมาณไปกว่า 260,000 ล้านบาท ส่วนรอบที่ 2 รัฐบาลเดินหน้ารับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555-15 กันยายน 2556 ต้องใช้งบประมาณอีก 405,000 ล้านบาท สำหรับข้าวเปลือกราว 25 ล้านตัน

แต่ไหนแต่ไรมาเจ้าของโรงสี พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออก นายหน้าและนายทุนขุนนางได้ประโยชน์ในการขูดรีดชาวนา เพราะกดราคารับซื้อให้ต่ำ ชาวนาไม่มีสต๊อกเก็บรักษาข้าว จึงต้องรีบขายให้พ่อค้ายอมถูกกดราคา แต่วันนี้รัฐบาลทำหน้าที่ซื้อไปเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยนำออกมาขายภายหลัง แต่การที่รัฐรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด ชาวนาจึงไม่ไปไถ่ถอนคืน เท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ บีบให้พ่อค้ารับซื้อสูงตามไปด้วย ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดเอกชน ปรับตัวสูงขึ้นตันละ 9,000-10,800 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ที่ตันละ 7,600-8,700 บาท 

กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า การรับจำนำข้าวเปลือกปี 54/55 แลนาปรับ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 200,000 ล้านบาท มีเกษตรกรได้ประโยชน์โดยตรง 2.6 ล้านครอบครัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มอีก2%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจ พบว่าส่วนใหญ่ 86.5% เห็นควรให้รัฐบาลมีมาตรการจำนำข้าวต่อไปในระยะยาว โดยเกษตรกร 35.4% พอใจกับโครงการจำนำข้าวเพราะราคาดี ไถ่ถอนสะดวก ได้เงินเร็ว ส่วนโครงการประกันราคาข้าว เกษตรกรพอใจ 28.29% เพราะให้ผลตอบแทนสูงแต่รัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า ผลสำรวจยังระบุอีกว่า มองในมุมเกษตรกรถือว่าทำรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระบบ 100,000-180,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวทำให้เกิดการหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-2.5 เท่า

การที่รัฐบาลเอาใจเกษตรกรด้านหนึ่งเป็นเพราะฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยมาจาชาวนาชาวไร่ อีกด้านหนึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนระดับล่าง เช่นเดียวกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า พ่อค้าส่งออกซึ่งผูกขาดการค้าข้างใน นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีสมาชิกกว่า 200 บริษัทย่อมไม่พอใจนโยบายรับจำนำข้าว เช่นเดียวกับบรรดานายจ้างโรงงานต่างๆ ไม่พอใจการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเรียงหน้ากระดานออกมาโจมตีนโยบายกระทั่งพยายามจะล้มโครงการเหล่านี้ให้ได้

ในปี 2540 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลสมัยนั้นใช้งบประมาณพยุงค่าเงินบาทและเมื่อสถาบันการเงินจำนวนมากล้มละลาย รัฐบาลสมัยนั้นเอาเงินไปอุดหนุนสถาบันการเงิน ในเวลาต่อมาขายทรัพย์สินได้ราคาต่ำมาก แต่พวกนักการเมืองสวะและนักวิชาการเมื่อวานซืนทั้งหลายไม่ได้ออกมาคัดค้านโจมตีแต่อย่างใด ก็แล้วทำไมเมื่อรัฐบาลนำเงินพยุงราคาสินค้าเกษตรช่วยชาวนา จึงต้องออกมาโวยวายและขัดขวางอย่างออกหน้าออกตากันด้วยเล่า?

ปัจจัยเสี่ยงของโครงการรับจำนำข้าวที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ รัฐบาลรับซื้อราคาสูง ชาวนาจะหันมาเพิ่มผลผลิตมากขึ้น กระทั่งนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ทำให้รัฐบาลมีสต๊อกข้าวมากขึ้น คาดว่าจะมีถึง 30 ล้านตันในปี 2555-2556 จึงต้องพิจารณาว่ากระทรวงพาณิชย์มีศักยภาพการบริหารจัดการสต๊อกและการระบายข้าวสู่ตลาดในราคาที่รับซื้อมาได้หรือไม่ แม้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีความมั่นใจว่า ในปลายปี 2556 จะคืนเงินจำนำข้าวได้ 260,000 ล้านบาท แต่ทว่ายังไม่เห็นผลงานรูปธรรมในการระบายข้าวโดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีในปี 2555 ยังต่ำอยู่มาก เมื่อพิจารณาจากการประมาณการณ์ตัวเลขการส่งออกข้าวในปี 2555 ไทยจะส่งออกในปริมาณ 6.5 ล้านตัน ต่ำกว่าปี 2554 ส่งออกได้ราว 10 ล้านตัน

จุดอ่อนของกระทรวงพาณิชย์ก็คือ ไม่ได้แถลงถึงตัวเลขที่แท้จริงตั้งแต่ตัวเลขการรับจำนำข้าว จำนวนชาวนาในโครงการและนอกโครงการ การจำหน่วยในประเทศและต่างประเทศ การส่งมอบข้าวตามสัญญาจีทูจีไม่โปร่งใสชัดเจน ทำให้สาธารณชนขาดความมั่นใจในการบริหารจัดการของรัฐบาลบนปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองสำหรับฝ่ายค้านที่จ้องจะล้มรัฐบาล

ในขณะที่ราคาในตลาดโลกยังผันผวนอยู่มาก การแข่งขันตัดราคาทำให้เกิดการเสียเปรียบ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงต้องขยายความร่วมมือในกลุ่มผู้ผลิตข้างในอาเซียน เช่น พม่า ลาว เขมร เพื่อร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองกลไกราคา แต่ตอนนี้รัฐบาลทำไม่สำเร็จโอกาสพลาดท่าหรือล้มเหลว มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งหมายถึง เดิมพันความอยู่รอดของรัฐบาลทีเดียว

การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ มีความสำคัญอย่างมาก รัฐบาลอาจส่งเสริมสหกรณ์ชาวนา และสหกรณ์ผู้บริโภคเพื่อระบายข้าวแบบประชาชนถึงประชาชนภายในประเทศ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม นอกจากนี้อาจให้หน่วยงานของรัฐ เช่น กองทัพ กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลศูนย์เลี้ยงเด็ก สถาบันการศึกษา ฯลฯ ใช้งบประมาณซื้อข้าวมาจัดสวัสดิการอาหารฟรีเป็นการช่วยการครองชีพ หรือการจัดสวัสดิการข้าวถุงให้กับข้าราชการ และลูกจ้างของรัฐทั่วประเทศ รวมไปถึงการใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสังคมจัดสวัสดิการข้าวถุงให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคม เป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

แต่ทว่าการพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่เพียงพอต่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีขึ้น รัฐจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวนา หากบูรณาการได้ทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะแก้ปัญหาชาวนาได้มากยิ่งขึ้น

 

20  ตุลาคม  2555

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง