Skip to main content

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

 

 

 
 
เช้าตรู่ของวันที่  6  ตุลาคม  2519  กำลังทหาร  ตำรวจ บุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้อาวุธสงครามหนักนานาชนิดยิงถล่มนิสิตนักศึกษา ซึ่งชุมนุมกันดดยสงบล้มตายเป็นใบไม้ร่วม ผู้คนวิ่งหนีความตาย แต่ถูกกลุ่มอันธพาลการเมืองรุมทำร้ายทุบตี สังหารด้วยความโหนดเหี้ยม อำมหิต ผิดมนุษย์ด้วยการจับแขวนคอ เผาศพทั้งเป็น ข่มขืน ฆ่า ลิ่มตอกอกอย่างป่าเถื่อนทารุณ  ด้วยความสะใจและกระหยิ่มยิ้มย่องของกลุ่มคนไทยที่คลั่งไคล้ในอุดมการณ์ ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์
 
เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เป็นความต่อเนื่องมาจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งสองเหตุการณ์แยกไม่ออกจากเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ซึ่งทำการปฏิวัติประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
 
เจตนารมณ์ของคณะราษฎรระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยกำหนดให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่ปรากฏว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่ได้มีการรื้อถอนโครงสร้างทางการเมืองแบบเก่าออกไป  รัฐจารีตนิยมจึงฟื้นตัวขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองจนสามารถกำจัดคณะราษฎรจนหมดสิ้นไปจากสังคมไทย
 
80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจึงมีการรัฐประหาร 11 ครั้ง  กบฏ  11 ครั้ง  มีรัฐบาล  60  ชุด ได้นายกมาจากทหาร หรือได้รับการสนับสนุนจากทหารอยู่ในอำนาจเป็นเวลา  50  ปี และที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจไม่ถึง 30 ปี ประเทศไทยจึงเป็นประชาธิปไตยกันแค่เปลือก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยใต้ส้นตีนที่ถูกควบคุมโดยรัฐจารีตนิยมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
 
รัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์  ธนรัชต์ในปี 2500 นำพาประเทศไทยสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ จากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้ามาสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภายใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ด้วยการปราบปราม เข่นฆ่าประชาชนอย่างทารุณโหดร้าย ต่อเนื่องด้วยจอมพลถนอม – ประภาส – ณรงค์ สืบทอดเผด็จการทหารจนประชาชนคนไทยลุกขึ้นสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 
หลัง 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษา กรรมกร ชาวนา มีความตื่นตัวในสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย ความคิดลัทธิสังคมนิยมเป็นไปอย่างกว้างขวาง ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่านิยมเจ้า (ULTRA  ROYALISTS) ได้แก่กลุ่มอำมาตย์ ข้าราชการ ทหาร ตุลาการ นักวิชาการ กลุ่มอันธพาลการเมือง หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง ได้ใช้ความรุนแรงลอบสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกร ชาวนา จนกระทั่งร่วมกันก่อการรัฐประหารหฤโหด 6 ตุลาคม 2519
 
การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา ประชาชนไปไกลเกินกว่าที่รัฐจารีตนิยมจะควบคุมได้อีกต่อไป ความหวั่นวิตกที่จะต้องสูญเสียความเป็นอภิสิทธิ์ชน และผลประโยชน์ของชนชั้นผู้กดขี่ ทำให้มีการวางแผนก่อการรัฐประหารเริ่มในวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม เดินทางกลับมาบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ นักศึกษาออกมาชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม  ในขณะนั้น มรว.เสนีย์   ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ปล่อยให้ฝ่ายนิยมเจ้า ทั้งนักวิชาการ  สื่อมวลชน  นักการเมือง  ปลุกระดมประชาชนด้วยอุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์  กล่าวหานักศึกษาเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ต้องการโค่นล้มกษัตริย์ หรือเป็นขบวนการล้มเจ้า ในที่สุดกำลังทหาร ตำรวจ กลุ่มอันธพาลการเมือง ลูกเสือชาวบ้านได้ร่วมกันสังหารโหดนิสิต นักศึกษา ประชาชน เสียชีวิตนับร้อยคนด้วยความป่าเถื่อน อำมหิต ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลางท้องสนามหลวง
 
ในตอนเย็นวันที่  6  ตุลาคม  2519  ทหารก่อการรัฐประหาร หนึ่งในคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังมีบทบาททางการเมือง การทหาร อยู่จนถึงทุกวันนี้ก็คือ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ทหารที่ก่อการรัฐประหารครั้งนี้ใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีนายธานินทร์  กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศด้วยเผด็จการเต็มรูปแบบ จนนักศึกษา ประชาชนพากันหลบหนีในเขตป่าเขาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ  บาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก จนต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม หลังจากนี้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธสิ้นสุดลงราวปี 2524
 
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือบาดแผลร้าวลึกในสังคมไทยไม่ใช่เพียงการสูญเสียชีวิตในแง่บุคคล และครอบครัวเท่านั้น หากเป็นการสูญเสียของสังคมครั้งยิ่งใหญ่ เหตุการณ์ครั้งนั้นฆาตรกรลอยนวล เป็นอาชญากรรมของรัฐที่ไม่มีการดำเนินคดี เอาผิด ไม่มีการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น กลายเป็นเหตุการณ์ดำมืด ซึ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัย และคำถามมากมายว่าใคร หรือกลุ่มคนใดที่บงการวางแผน หรือสั่งการให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
 
หลังเหตุการณ์สยดสยอง 6 ตุลาคม 2519 มีการคาดหวังกันว่าจะไม่มีความรุนแรง ป่าเถื่อนทางการเมืองเกิดจึ้นอีก แต่แล้ว 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกสุจินดา  คราประยูร ก่อการรัฐประหารขึ้นอีก จบลงด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เช่นกัน  ผู้ก่อการรัฐประหารและผู้สั่งการสังหารประชาชนทั้งหมดลอยนวล และยังคงดำรงตำแหน่งเกียรติยศเช่นเดิม ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฎกรรมครั้งนี้ จนถึงขณะนี้ผู้เสียชีวิตยังไม่มีแม้แต่อนุสาวรีย์รำลึกถึง

แม้ว่าหลังเหตุการณ์นี้จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 มีนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร บริหารงานได้ 6 ปี แต่ก็ต้องถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีส่วนที่เหมือนกับการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นั่นคือการปลุกระดมด้วยอุดมการณ์คลั่งเจ้าที่มีการผลิตซ้ำ (Roproduction) ในสังคมไทยด้วยการกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ว่ามีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึงขนาดให้ร้ายป้ายสีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นผู้นิยมการปกครองประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีเหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา
 
ประชาชนคนไทยต่อต้านการรัฐประการ 19 กันยายน 2549 แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากการรัฐประหาร แต่การเลือกตั้ง 2 ครั้งในปี 2550 และ 2554 พรรคไทยรักไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเพื่อไทย ก็ยังชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ขับเคี่ยวของกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ เป็นไปอย่างเข้มข้น สังคมไทยแตกแยกเป็น 2 กลุ่มสี ต่อสู้ห้ำหั่นกันถึงเลือดถึงเนื้อ จนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้แบบแผนเดียวกันกับการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการใช้กำลังทหารปราบปรรม เข่นฆ่าประชาชน กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเข้า เข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมด้วยกระสุนสงครามถึง 98 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน
 
การรัฐประหาร 3 ครั้ง  หลังสุดนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างน้อยที่สุดมีการพัฒนาการจากการตั้งคำถาม และข้อสงสัยที่เคยถูกปิดหูปิดตามาช้านาน มาสู่การรับรู้ และความจริงที่ชัดเจน มองเห็นรากเหง้า สาเหตุความรุนแรง ป่าเถื่อนทางการเมืองที่ผ่านมานั้นมาจากกลุ่มคน หรือขบวนการเดียวกัน
 
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เปิดเผยโฉมหน้าทางการเมืองของกลุ่มอำมาตย์ – พวกคลั่งเจ้า – กลุ่มคนเสื้อเหลือง – หลากสี ซึ่งเป็นพลังล้าหลังทางการเมือง ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ผ่านการต่อสู้ เรียกร้องประชาธิปไตย ขนเกิดปรากฎการณ์ตาสว่าง (Clear - Sighted) ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงกลายเป็นขบวนการต่อสู้ เพื่อสิทธิ เสรีภาพ  ความเสมอภาค และประชาธิปไตยที่มีคุณค่าความหมายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจาก 6 ตุลาคม 2519 ถึง 19 กันยายน 2549
 
ปรากฎการณ์ตาสว่างแห่งชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ประชาชนได้ใช้สติปัญญาที่ชึกซึ้ง มองทะลุเมฆหมอกบังตา ไปสู่การเข้าใจที่ทะลุปรุโปร่งในโครงสร้างการเมืองรัฐจารีตนิยม ซึ่งนับวันความคิด ความเชื่อ และความหลงใหลในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือที่เคยมีกันมาได้ลดน้อยถอยลงอยู่ทุกวัน
 
ผู้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ต่อจากนี้ไปไม่ได้ผูกขาดไว้กับกลุ่มชนชั้นนำ และกลุ่มคนที่ซื่อสัตย์อย่างงมงายต่อโครงสร้างอำนาจเก่าอีกต่อไป ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ และผู้อยู่ริมขอบแห่งศูนย์กลางอำนาจที่เคยซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบ  บัดนี้ได้เคลื่อนตัวออกมาอย่างมีพลัง การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงอยู่ในมือของพวกเขา และนี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
 
วันที่  2  ตุลาคม  2555
 

 

 

 

 

ที่มาภาพ : Prainn Rakthai


บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”