Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

คนไม่มีอะไร
  พืชน้ำมันในผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และนาข้าว ศยามล   ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา            กระแสการส่งเสริมปลูกพืชน้ำมันทดแทนการนำเข้าเริ่มจางหายไป เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ   ในขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันโดยภาครัฐยังดำเนินการต่อไป มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน   เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตเพื่อเป็นพืชน้ำมันตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพลังงาน  ในแผน ๕ ปี ของกระทรวงเกษตรฯ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๔) กำหนดให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ๖ ล้านไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกภายในประเทศ ๕ ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอีก ๑ ล้านไร่   เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซลทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล ๑๐%  ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๕               สำหรับพืชมันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลไม่มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูก  แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มผลผลิต โดยให้ได้มันสำปะหลัง ๔.๕ - ๕ ตันต่อไร่  คิดเป็นผลผลิต ๓๕ ล้านตันในปี พ.ศ.๒๕๕๔  และตั้งเป้าหมายของผลผลิตของอ้อยต่อไร่ เป็น ๑๒ - ๑๕ ตันต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อย ๘๕ ล้านตัน   ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ เพิ่มโรงงานเอทานอลอีก ๘ โรงงาน กำลังการผลิต ๑.๙๕ ล้านลิตร/วัน  ซึ่งต้องใช้หัวมันสำปะหลังสดประมาณ ๔.๒ ล้านตัน/ปี             สมบัติ  เหสกุล นักวิจัยอิสระได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงานมีความเห็นว่า "ปี ค.ศ.๒๐๑๑ มีความต้องการเอทานอล  ๒.๔ ล้านลิตรต่อวัน แต่ประเทศไทยผลิตได้ ๑ ล้านลิตร/วัน  สำหรับไบโอดีเซลมีความต้องการ ๓ ล้านลิตร/วัน  แต่ประเทศไทยผลิตได้ ๑.๔๔ ล้านลิตร/วัน  กรณีของอ้อยต้องใช้น้ำอ้อยและกากอ้อย ซึ่งบริษัทมิตรผล มีการทำพันธะสัญญากับเกษตรกร  โดยโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกและขายในประเทศ     กากของอ้อยผลิตเอทานอล  ใย (ชานอ้อย) ทำเป็นไม้   เกษตรกรจึงทำหน้าที่ผู้ผลิตอ้อยป้อนอุตสาหกรรมอ้อย ในการผลิตผลผลิตต่างๆป้อนโรงงาน                  สำหรับมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมอาหารต้องการปีละ ๒๖ ล้านตัน แต่ประเทศไทยผลิตแป้งมันได้เพียงพอกับอาหาร แต่ไม่พอกับการนำมาใช้เป็นพลังงาน              การใช้ปาล์มน้ำมันกับน้ำมัน อยู่ที่ 22% แต่อุตสาหกรรมอาหารยังต้องใช้น้ำมันปาล์มอยู่มาก แสดงว่าเรามีปาล์มไม่เพียงพอ นโยบายขยายพื้นที่ปลูกใหม่ 2.5 ล้านไร่ และปรับปรุงพื้นที่เดิม 3 แสนไร่ และเพิ่มผลผลิตต่อไปจาก 2.8 เป็น 3.5 - 5 ตันต่อไร่   แต่ต้องอยู่บนฐานว่า ราคาน้ำมันต้องสูงกว่า 100 เหรียญดอลลาร์   เกษตรกรต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น ต้องวางระบบใหม่ ต้องใช้พันธุ์ใหม่    ต้องไม่มีการแย่งชิงพืชน้ำมันระหว่างประเทศ                   พื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มได้ ในพื้นที่นาข้าว พื้นที่ถั่วเหลือง (รุกพื้นที่พืชไร่อื่นๆ) ส่วนมันสำปะหลังขยายพื้นที่ได้ แต่เข้าไปอยู่ในไร่อ้อย และรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ส่วนการเพิ่มพื้นที่ปาล์มน้ำมัน   พบว่าขยายพื้นที่ได้ไม่เกิน 3 แสนไร่เท่านั้น   และส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้แสนสามไร่ อีสานได้หมื่นห้าพันกว่าไร่ คือ กาฬสินธุ์ รองลงมาคือโคราช ภาคเหนือ   เนื่องจากมีข้อจำกัดของการปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งต้องมีน้ำ 2,000 ลิตร ปริมาณน้ำฝนอย่างน้อย 100 มม./เดือน แล้งไม่เกิน 3 เดือน  ต้นทุน ในช่วง 30 เดือนเฉลี่ยไร่ละ 13,000 บาท  ค่าติดตั้งระบบน้ำ 7,000 บาท/ไร่   โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มควรอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร   เกษตรกรต้องมีทักษะการปลูก   พื้นที่เหมาะสม รายได้สูงขึ้น โดยพืชเดิมราคาตกต่ำ   โดยเกษตรกรต้องเข้าถึงข้อมูล   สำหรับต้นทุนการปรับพื้นที่ (เช่น จากยูคา มาปลูกปาล์ม ใช้ต้นทุนสูง  ถ้าราคาปาล์มน้ำมันต่ำกว่า 3.5 เกษตรกรจะเริ่มขาดทุน               ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ ลดการส่งออกอ้อย และน้ำตาล  เพิ่มพื้นที่ พัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมทักษะการผลิต อนาคต อาจได้เอทานอล 8 ล้านลิตร  แต่ต้องมีมันสำประหลังเพียงพอ   ต้นทุนการผลิตเอทานอลแต่ละประเภท และ ราคา เปรียบเทียบกัน เห็นว่า น้ำอ้อย มีราคาวัตถุดิบต่ำ (บาท/กก) และมีต้นทุนการผลิต (บาท/ลิตร) พอๆ กับกากน้ำตาล   ในขณะที่การปลูกปาล์มน้ำมัน ไม่ควรพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ควรพัฒนาเป็นระดับชุมชนแล้วใช้ในครัวเรือน เช่น ปลูกหัวไร่ปลายนาแล้วใช้ในครัวเรือน หรือโรงงานขนาดเล็กๆ ประมาณ 8,000 ไร่ต่อชุมชน และส่วนที่เหลือจะแปรรูปได้อีกหลายอย่าง"              จากกรณีศึกษาปาล์มน้ำมันในภาคอีสานที่บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย บ้านโคกเจริญ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ  บ้านนิคมแปลง ๑ ตำบลชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ของมาลี สุพันตี  จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน   มีข้อสรุปว่าเกษตรกรในภาคอีสานที่ปลูกปาล์มน้ำมันยังประสบปัญหาไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนในการปลูกปาล์มน้ำมัน  ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าพื้นที่ปลูกเหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่  เนื่องจากยังอยู่ในระยะทดลองปลูก  ยังไม่มีความแน่นอนของตลาดที่มารองรับ  การซื้อขายมีพียงลานเทรับซื้อในกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ อ.เชียงคาน จ.เลยรวมกลุ่มเพื่อขายปาล์มผ่านบริษัทเมืองเลยปาล์ม  ราคาผลผลิตได้เพียง กก.ละ ๒ บาท  ซึ่งยังถือว่าไม่มีโรงสกัดปาล์มน้ำมันที่อยู่ใกล้รัศมีของพื้นที่ปลูก  ราคาต้นพันธุ์มีราคาแพง  มีความเสี่ยงต่อการได้รับต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพไม่ตรงตามสายพันธุ์                 นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันในภาคอีสานโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันยังเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ  และอยู่ในระยะทดลองความเป็นไปได้ในการปลูก     ในขณะที่อ้อยและมันสำปะหลังซึ่งมิใช่พืชชนิดใหม่ของภาคอีสาน  แต่เกษตรกรเป็นเพียงลูกไล่ในการผลิตป้อนโรงงานอุตสาหกรรม  โดยที่ยังกำหนดราคาไม่ได้   ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกมีมากน้อยขนาดไหน   การขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมันทั้ง ๓ ชนิดจึงมีความเสี่ยงที่จะขยายเข้าไปในพื้นที่ป่า พื้นที่นา และพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อราคาผลผลิตดี   ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารถูกทำลายจากการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม  ในขณะที่เกษตรกรยังยากจนเหมือนเดิม  ประเทศชาติได้ประโยชน์เพียงมีพืชน้ำมันทดแทนนำเข้าน้อยนิด  นโยบายลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่โปรดคิดกันให้ดี
คนไม่มีอะไร
   แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต้องถูกกำหนดโดยคนใต้   ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา               การโฆษณาประชาสัมพันธ์กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้มีอย่างต่อเนื่อง จากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับการขานรับจากนักเศรษฐศาสตร์กันถ้วนหน้า เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล   และนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน                  ประเด็นน่าสนใจว่ามุมมองด้านเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ประชาชาติประการเดียวนั้น ทำให้ประเทศชาติอยู่รอดได้จริงหรือไม่   เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียระบบนิเวศทรัพยากรชายฝั่งทะเลของภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน  การเกิดมลพิษทางทะเล บนบก และอากาศ สร้างภาวะโลกร้อน  รวมถึงอุบัติภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้  การพัฒนาแบบเดียวกับภาคตะวันออกเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาภูมิภาคที่คนใต้พึงปรารถนาหรือไม่  หรือเป็นเพียงความต้องการของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมกับนักการเมือง และข้าราชการประจำที่หวังผลประโยชน์มหาศาลจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชาติ  โดยคนไทยได้เพียงเศษเงินเท่านั้น              เหตุผลสำคัญของการขยายตัวพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ในภาคใต้ภายใน 3 ปีข้างหน้า สืบเนื่องจากพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกถึงจุดอิ่มตัว  เพราะความหนาแน่นของมลภาวะในอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพิ่มขึ้นจนมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว หลังจากการสร้างโรงงานของโครงการปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และพลังงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ 11 โครงการ   เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับความไม่ปลอดภัยและภยันตรายมาถึงคนไทยทุกเวลา  เพราะแม้แต่ปัญหาของภาคตะวันออกซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนระยองปีละแปดหมื่นล้านบาท  แต่สุขภาพของคนระยองกลับมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูงสุด   โดยที่ปัจจุบันนี้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ สุขภาพของความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ยังไม่มีคำตอบว่ารัฐบาลและนักลงทุนเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบประการใด                 ความเสี่ยงต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากภาคตะวันออก กำลังถูกผลักภาระมาขยายผลที่ภาคใต้  จากการเล็งหาพื้นที่ใหม่ของนักลงทุน ซึ่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์อย่างไม่สิ้นสุด  โดยไม่พิจารณาศักยภาพของพื้นที่และระบบนิเวศน์ของภาคใต้รองรับได้มากน้อยเพียงใด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางการพัฒนามาจากส่วนกลางคือนักลงทุนและรัฐบาลนั้น   มีความชอบธรรมหรือไม่สำหรับคนในท้องถิ่นที่เป็นคนใต้ควรสังวรณ์                 คำว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน"  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดการพัฒนาระดับโลก และถูกกำหนดไว้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10  ไม่ได้พิจารณารายได้ทางเศรษฐกิจประการเดียว แต่ต้องอยู่บนฐานของการมีสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน    การพิจารณาตัดสินใจอนุมัติโครงการของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องศึกษาประเมินผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งในระดับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับภูมิภาคที่มาจากเสียงของคนใต้อย่างแท้จริง  การประเมินผลกระทบรายโครงการที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคใต้ว่ามีการกระจายรายได้ให้กับคนใต้อย่างเป็นธรรมหรือไม่และมีความยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตของคนใต้ และคนไทยทั้งประเทศอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาพื้นที่อาหารและระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของภาคใต้ ทั้งพื้นที่บนบก ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ที่จะดำรงอยู่ให้กับลูกหลานในวันข้างหน้าอย่างยั่งยืน                โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้บริเวณพื้นที่ตอนบน (จ.ประจวบคีรีขันธ์-ระนอง) ตอนกลาง   (อำเภอสิชลและอำเภอขนอม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปถึงทับละมุ จ.พังงา)  และตอนล่าง (อ.จะนะ จ.สงขลา- อ.ละงู จ.สตูล) มีเป้าหมายเพื่อสร้างเส้นทางเศรษฐกิจลำเลียงน้ำมัน และสินค้าต่างๆ เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง คือ ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ซึ่งเรียกว่า "Land Bridge"  และยังประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน (Logistic) ได้แก่ ถนน รถไฟ และท่อลำเลียงน้ำมันระหว่างท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง    พร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมพลังงาน  บริเวณพื้นที่หลายหมื่นไร่  ในลักษณะเดียวกับการตั้งอุตสาหกรรมภาคตะวันออก                  แรงจูงใจที่นักลงทุนพูดเสมอต่อประโยชน์ของโครงการ คือ การมีอุตสาหกรรมต้นน้ำแบบอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ  การมีเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของไทย ทำให้ลดต้นทุนการส่งสินค้าได้อย่างมหาศาล  การโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ยังขาดรายงานการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านดังที่กล่าวข้างต้น   ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นหลงเชื่อว่าโครงการลักษณะนี้สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น เหมือนที่คนภาคตะวันออกถูกหลอกมาแล้ว  แต่ผลประโยชน์อยู่ที่ใครกันแน่  และผลกระทบตกอยู่กับใคร เป็นประเด็นที่คนใต้ต้องตั้งคำถาม และเรียนรู้บทเรียนจากภาคตะวันออก                 จากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของ สศช. (๒๕๕๑) ต่อศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นความเป็นไปได้ของการพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดแข็งของฐานทรัพยากรและทางกายภาพของพื้นที่ภาคใต้  ซึ่งสามารถเปิดประตูสู่ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีพื้นที่ ๔๔.๒ ล้านไร่ โดยวิเคราะห์ว่าขนาดเศรษฐกิจของภาคใต้ค่อนข้างเล็กและมีฐานการผลิตแคบ จากผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ คือประมาณร้อยละ ๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี  ในขณะที่การวิเคราะห์ด้านสังคมนำเสนอว่ากำลังแรงงานนอกพื้นที่ภาคการเกษตรสูงขึ้น  เหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ สำหรับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรากฏความเป็นจริงว่า พื้นที่ป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ  ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง  ปัญหาการกัดเซาะเป็นแนวยาวทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย  ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียรุนแรงขึ้นในเมืองใหญ่                  จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของ สศช. แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มาจากผลพวงของการพัฒนาที่ผ่านมา  แต่ สศช.ได้นำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์โน้มเอียงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคง และความยากจนของสังคม  และีกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีได้   โดยที่การวิเคราะห์ดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลเชิงมหภาคเท่านั้น  ไม่ได้เชื่อมโยงจากฐานข้อมูลระดับจุลภาคที่เป็นข้อมูลของชุมชน ซึ่งมีกลุ่มคนที่มีบทบาทในสังคม และเป็นปัจจัยเงื่อนไขต่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้น                     เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ สศช. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคต   เพื่อศึกษารายละเอียดพิจารณาพื้นที่ใหม่สำหรับรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานในอนาคตให้สอดคล้องกับศักยภาพและภูมิสังคมของพื้นที่     และให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและเกิดการยอมรับจากประชาชนก่อนดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ใหม่  และเน้นการดูแลสุขภาวะของประชาชนเป็นสำคัญ                  จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ยากที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนาเชิงพื้นที่  เนื่องจากได้ถูกกำหนดโดย สศช.และรัฐบาลแล้ว   การมีส่วนร่วมคือการสร้างการยอมรับต่อการพัฒนาโครงการ  และไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง  การแก้ไขปัญหาคือการเยียวยาความเสียหายและการฟื้นฟูสุขภาวะจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนา    การจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ (Strategic Environmental Assessment/SEA) โดยภาครัฐคือการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคในการดำเนินการโครงการ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหา ภายในกรอบของกฎหมายและแผนพัฒนาดังกล่าว   การมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนา  และการตัดสินใจว่าพื้นที่ของชุมชนควรถูกพัฒนาในทิศทางใดไม่ใช่ประเด็นของการจัดทำ SEA                เมื่อเป็นเช่นนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนต้องเริ่มต้นวันนี้ด้วยการกำหนดด้วยตนเองว่าชุมชนของตนเองจะไปทิศทางใด วิสัยทัศน์การพัฒนาในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าต้องการแบบไหน  มิใช่ปล่อยให้ผู้กำหนดนโยบายเช่นรัฐบาล และสภาพัฒน์ฯเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด   และอ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วม   การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนเป็นแบบใด คนใต้ควรปฏิบัติการด้วยตนเองจากการร่วมกำหนดว่าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ควรเป็นอย่างไร
คนไม่มีอะไร
  ทางออกของชาวสวนยางเมื่อราคายางพาราตกต่ำ ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา               ยางพาราถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนใต้ที่ผูกพันทั้งทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจมานานถึง ๑๐๘ ปี  ระบบการผลิตแบบพืชเชิงเดี่ยวได้เข้ามาแทนที่ป่ายางที่เติบโตพร้อมกับสวนผลไม้และป่าธรรมชาติซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบสวนสมรม  หรือสวนพ่อเฒ่า   เงื่อนไขส่งเสริมการปลูกสวนยางโดยใช้กลยุทธ์ของเงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูก  ประกอบกับราคายางที่พุ่งขึ้นสูง  และในตลาดโลกยังมีความต้องการยางพาราธรรมชาติเพื่อมาทำอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราได้หลากหลายชนิด  ทำให้พื้นที่การปลูกยางพาราขยายเพิ่มขึ้นและรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าของภาคใต้ และป่าหัวไร่ปลายนาของภาคอีสาน  ป่าธรรมชาติของภาคตะวันออก  ยางพาราจึงเป็นพืชชนิดใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริม  และเป็นสวนป่าที่กรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีเป้าหมายสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรจากสวนป่าเชิงพาณิชย์ของยางพารา                อย่างไรก็ตามปัจจัยการกำหนดราคายางนอกจากถูกกำหนดโดยความต้องการและปริมาณของตลาดโลกแล้ว  แต่ยังถูกกำหนดด้วยมือที่มองไม่เห็น จากการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้า  และการผูกขาดของกลุ่มทุนที่เป็นผู้กำหนดราคา    ตลาดยางพาราในไทยถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนสิงคโปร์และมาเลเซีย  ต่อมาเป็นกลุ่มทุนไทย   ในด้านอุตสาหกรรมยางพาราถูกควบคุมโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ และอเมริกา และมีสายป่านต่อกันกับพ่อค้าอุตสาหกรรมยางในไทย    ประกอบกับราคายางพาราที่ผันแปรไปตามราคาขึ้นลงของน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตยางสังเคราะห์    ทำให้ปัจจัยในการควบคุมราคายางพาราขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศทั้งด้านความต้องการ ปริมาณ สถานการณ์โลก สถานการณ์ของราคาน้ำมันที่สัมพันธ์กับการผลิตยางสังเคราะห์    ในช่วงที่น้ำมันมีราคาสูง จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคายางสังเคราะห์สูงขึ้นด้วย เป็นผลให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากยางพารามีราคาสูงเกินไปผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องกลับมาใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคายางพาราต้องปรับตัวลดลง                ปัจจัยด้านราคาของยางพารายังถูกแทรกแซงด้วยมือที่มองไม่เห็นจากการสต็อคยางพาราโลก   หากมียางพาราสะสมในโกดังสูงเกินไป ประเทศต่างๆ จะรีบระบายยางคงค้างแก่บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และรับซื้อยางที่ผลิตในปีปัจจุบันลดน้อยลง   ซึ่งส่งผลให้ราคายางตกต่ำลง   หากเกิดภาวะความต้องการยางพาราส่วนเกินเป็นเวลานาน    ประเทศผู้ผลิตยางจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ที่ผลิตยางลดปริมาณการผลิตลง                การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นปัจจัยต่อราคายาง   ตลาดที่มีอิทธิพลมากคือ ตลาดญี่ปุ่นและตลาดสิงคโปร์ โดยตลาดญี่ปุ่น(โตเกียวและโกเบ)  เป็นตลาดที่มีการซื้อเพื่อเก็งกำไรกว่าร้อยละ 90   ที่เหลือเป็นการซื้อขายของผู้นำเข้าและพ่อค้าคนกลาง ยางพาราที่ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากไทย ตลาดญี่ปุ่นจึงมีอิทธิพลต่อไทยมาก ส่วนตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การเงิน การธนาคาร และอื่นๆ    อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    ได้แก่  ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศดังกล่าวมีผลผลิตประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก การซื้อขายในตลาดสิงคโปร์ร้อยละ 80 เป็นการซื้อขายล่วงหน้า ที่เหลือเป็นการส่งมอบจริง               ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกยางพารามากที่สุดของโลก   แต่การกำหนดราคากลับถูกกำหนดโดยตลาดของสิงคโปร์  โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยวางแผนในการพัฒนาให้ไทยเป็นมีบทบาทของการกำหนดราคาตลาดยางพาราในระดับโลก     รัฐบาลบริหารจัดการและควบคุมราคายางแบบฝ่ายรับจากการกดดันของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ    รัฐบาลใช้วิธีแทรกแซงราคายางเป็นระยะๆเพื่อให้ราคายางคงที่  ในเวลาที่ราคายางตกต่ำลง  เพื่อหาเสียงกับชาวสวนยางมาโดยตลอด  ดังเช่น ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้มีการแทรกแซงราคายาง  6 ระยะ รวม 1.3 ล้านตัน รวมงบประมาณ 25,394 ล้านบาท  ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้รัฐบาลขาดทุน 6,267 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการทุจริตของรัฐมนตรี    โดยใช้วิธีการล็อบบี้ กักตุน ยักยอก และทุบราคา เช่น การทำสัญญาขายยางพารากว่า 50 สัญญา  แต่หลายสัญญาไม่มีการส่งมอบยางจริง  (พ.ศ.2536 - 2537)                นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมราคายาง กำหนดเขตพื้นที่การปลูกยาง ควบคุมพันธุ์ยางในการปลูก  โดยไม่ให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตยางพาราด้วยตนเอง  ทั้งนี้เพื่อให้อยู่กายใต้การผลิตยางพาราที่แข่งขันกับตลาดโลก   แต่จากโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนในการควบคุมการผลิตและการตลาดของยางพารา ในขณะที่เกษตรกรเป็นลูกไล่ในการผลิตยางพาราป้อนตลาดภายในและภายนอกประเทศ                 เมื่อมาพิจารณาปัจจัยที่กำหนดการผลิตและราคายางพารา  จะเห็นได้ชัดว่าชาวสวนยางเป็นเพียงผู้ป้อนผลผลิตยางพาราที่กระบวนการต้นน้ำ  โดยไม่มีสิทธิในการกำหนดราคายางพารา   ปีพ.ศ.2550 ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบและน้ำยางสดของชาวสวนยางในไทย กรณีที่ไม่ต้องจ้างแรงงานและไม่นับรวมราคาที่ดิน อยู่ในอัตราเฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 35 บาท ขณะที่ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 50-100 บาท นับว่าชาวสวนยางมีรายได้ค่อนข้างดี  แต่เมื่อเปรียบเทียบราคายางแผ่นดิบในท้องตลาดที่เป็นราคาท้องถิ่น ราคาประมูล จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งแตกต่างกันไป     ราคาตลาดกลางยางพาราของแต่ละจังหวัดที่มีการซื้อขายกัน เช่นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 47.138  บาท ในขณะที่ราคาท้องถิ่น กก.ละ 73.05 บาท แต่ราคาประมูล กก.ละ 74.67 บาท              คำถามจึงมีอยู่ว่าราคายางตกต่ำลงในครั้งนี้  รัฐบาลยังคงใช้วิธีเดิมๆหรือไม่  เพื่อแก้ไขปัญหาปลายเหตุและใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนอันเป็นวัฐจักรแบบพายเรือในอ่าง   ในขณะที่ชาวสวนยางได้พยายามหาทางออกด้วยตนเอง   ดังเช่น  กรณีชุมชนไม้เรียง  ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงพัฒนาเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมชุมชนแปรรูปยางพารา ๑๑ ชุมชน  ในขณะเดียวกันชาวสวนยางยังต้องทำการเกษตรกรรมที่หลากหลาย ทั้งการทำสวนยาง สวนผลไม้ ทำนา และทำธุรกิจขนาดเล็กอย่างหลากหลาย  เพื่อมิให้เผชิญกับปัญหาการพึ่งพืชเงินตราของยางพาราอย่างเดียว  สำหรับพื้นที่ปลูกยาง  การปลูกพืชร่วมยางเป็นทางออกสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของผืนดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมี  เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดทั้งการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว  และมีอาหารกินที่หลากหลาย   ซึ่งเป็นทางออกที่ผสมผสานของครอบครัวที่ต้องพึ่งตนเอง และยังต้องพึ่งพิงกับระบบทุนนิยม  
Cinemania
  จันทร์ ในบ่อ 20th Century Boys หรือเด็กในศตวรรษที่ 20 เป็นภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวจากการ์ตูนชื่อเดียวกันมาสร้าง (การ์ตูนชื่อไทยว่า แกงค์นี้มีป่วน) เป็นผลงานเรื่องเด่นจากค่าย Shogakukan แต่งโดย Naoki Urasawa คนเดียวกับผู้เขียน Monster (คนปีศาจ)  20th Century Boys ยังคว้ารางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมครั้งที่ 48 จาก Shogakukan  รางวัลชนะเลิศในงาน Media Art ครั้งที่ 6 ของทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่น และรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยม ครั้งที่ 25 จาก Kodansha คอการ์ตูนเองคงรู้ดีถึงความยอดเยี่ยม ส่วนฉบับภาพยนตร์ดูแล้วก็คิดว่าว่าไม่เสียรสชาติครับ ด้วยข้อจำกัดของหนังด้านเวลาเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหา แม้ 20th Century Boys ฉบับภาพยนตร์จะไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้เท่าต้นฉบับที่เป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาที่ซับซ้อนสูง แต่การเรียบเรียงและดำเนินเรื่องที่ระบุช่วงเวลาชัดเจนทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ง่าย แม้แต่คนที่ยังไม่เคยอ่านฉบับการ์ตูนมาก่อนก็ตามก็เข้าใจได้ไม่ยาก ทีมงานยังตั้งใจที่จะคงอรรถรสแบบการ์ตูนไว้ด้วยคาแรกเตอร์ของตัวละคร เนื้อหาที่ควรจะเครียดจึงดูสนุกน่าติดตาม 20th Century Boys เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องขึ้นมาได้ มันเริ่มต้นในราวปีโชวะที่ 40 ด้วยการที่ ‘เกนจิ' กับเพื่อนๆ มีความฝันถึงศตวรรษที่ 21 ด้วยจินตนาการแบบเด็กๆ ว่า ในอนาคตจะมีองค์กรก่อการร้ายมาทำลายล้างโลก และพวกเขาสัญญากันว่าจะเป็นฮีโร่ผู้ปกป้องความยุติธรรมและจะทำลายแผนการร้ายนั้นแล้วเรื่องราวไร้สาระเหล่านี้ก็ถูกบันทึกขึ้นในฐานลับของเด็กๆ ที่สร้างขึ้นกลางทุ่งหญ้า พวกเกนจิเรียกมันว่า ‘บันทึกคำทำนาย' และฝังมันไว้ จนกระทั่งปี 1997 เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จินตนาการและความฝันถูกทิ้งไว้ระหว่างทางของโลกความจริง เกนจิวัยเด็กผู้ชื่นชอบดนตรีร็อคและฝันไว้ว่าจะใช้มันเปลี่ยนแปลงโลกกลายเป็นผู้จัดการร้าน ‘King Mart' ธรรมดาคนหนึ่งและเลิกเล่นดนตรีเพื่อทำงานที่มั่นคงกว่าเพื่อหาเงินดูแลแม่กับ ‘คันนะ' ลูกสาวของพี่สาวที่หายตัวไปทิ้งไว้ให้เลี้ยง ส่วนเพื่อนๆ ก็เป็นพนักงานออฟฟิศบ้าง เปิดร้านกิฟท์ช็อปบ้าง เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบ้าง หรือบางคนก็ขาดการติดต่อกันไป ในขณะที่ชีวิตกำลังดำเนินไปแบบธรรมดาๆ เกนจิและเพื่อนๆ กลับเริ่มพบว่ามีปรากฏการณ์ประหลาดๆ รอบตัวที่กำลังดำเนินไปตาม ‘บันทึกคำนาย' ในวัยเด็กที่พวกเขาเกือบลืมกันไปแล้ว  นั่นคือ มีองค์กรทำลายล้างโลกเกิดขึ้นจริงๆ โดยเริ่มต้นด้วยการปล่อยโรคระบาดไปตามเมืองต่างๆ จากซานฟรานซิสโก ไปลอนดอน จนกระทั่งมีการวางระเบิดสนามบินในประเทศญี่ปุ่น ทุกอย่างดำเนินไปตามคำทำนายพร้อมๆ กับการปรากฏตัวของลัทธิแปลกๆ ที่มีชื่อว่า ‘เพื่อน' ซึ่งใช้รูปดวงตากลางมือที่มีนิ้วชี้ขึ้นฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์องค์กร  แต่คงไม่น่าแปลกอะไรหากสัญลักษณ์นั้นไม่ใช่สัญลักษณ์ที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มเกนจิตอนเด็กๆ นั่นเองจึงนำมาซึ่งความสงสัยในเบื้องหลังของลัทธิ ‘เพื่อน' ว่าอาจเป็นใครคนหนึ่งในเพื่อนสมัยวัยเด็กของเกนจิความสนุกของและความน่าสนใจอย่างมากของ  20th Century Boys ก็คือความลึกลับขององค์กรที่ชื่อว่า ‘เพื่อน' กับการต้องลุ้นไปกับพวกเกนจิว่าจะสามารถคืนความปกติของโลกมนุษย์มาจากองค์กรลับนี้ได้หรือไม่ ซึ่งบทความนี้จะขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ‘เพื่อน' เป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่แปลกใจเลยสักนิดว่าบางทีจินตนาการก็อาจกลายเป็นจริงได้ในโลกใบนี้ที่เราอยู่ องค์กร ‘เพื่อน' เติบโตมาจากการเป็นลัทธิแปลกๆ ลัทธิหนึ่งในสายตาของคนทั่วๆ ไปอย่างเกนจิ แต่เป็นการนำการเล่นของเด็กที่ไม่ยอมจบมาทำให้กลายเป็นเรื่องจริงและคร่าชีวิตผู้คนได้อย่างน่าสะพึงกลัว   ตัวตนของ ‘เพื่อน' มีการคิดอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายในการก้าวไปสู่อำนาจสูงสุดของโลก ‘เพื่อน'มีจิตวิทยามวลชนที่สูงมากนำมาซึ่งความเชื่อถือ เขาลอยได้เหมือนมีพลังจิต มีเรื่องราวทำให้ผู้คนติดตาม ตอบคำถามที่คนสงสัยได้อย่างชาญฉลาด ใช้ความกลัวร่วมกันของสังคมและความอ่อนแอในจิตใจมนุษย์เป็นเครื่องมือในการชักจูงและนำไปสู่การควบคุมถึงระดับจิตใจ จากนั้นก็แปรความรู้สึกที่มีต่อบุคคลไปเป็นรูปธรรมของเหตุผล และนำไปสู่การกวาดล้างคนที่เห็นแตกต่างอย่างมีเหตุผลเช่นกัน ‘เพื่อน' เริ่มต้นหาแนวร่วมด้วยการปลุกระดมความเชื่อที่เชื่อในตัวบุคคลโดยไม่ตั้งคำถาม จากลัทธิเล็กๆ ก็เริ่มเปิดเผยมากขึ้นและขยายความคิดแบบแทรกซึมทางจิตวิญญาณผ่านกระบวนการต่างๆ แม้แต่ดนตรีที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นก็ถูกนำมาใช้ปลุกระดมเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว จนทำให้การฟังดนตรีถูกสวมด้วย ‘รูปแบบ' ที่แม้แต่การโบกมือหรือร้องรับส่งก็เป็นแบบเดียวกันไปหมด  สมาชิกในองค์กรเพื่อนยังแทรกซึมไปตามหน่วยงานต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในกรมตำรวจ ใช้เส้นสายภายในและก่อตั้งหน่วยงานกำจัดผู้ที่จะเปิดโปงแผนการของเพื่อน ส่วนผู้ที่คลั่งไคล้มากๆ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือลอบสังหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำให้ไม่อาจสาวถึงผู้บงการได้   การไม่เลือกวิธีใช้ของ ‘เพื่อน' ทำให้สามารถแทรกซึมเข้าไปได้ในระบบการเมืองของญี่ปุ่น เมื่อเกิดการก่อวินาศกรรมที่สนามบินแห่งหนึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจต่อคนญี่ปุ่น ขณะนั้น ‘เพื่อน'ได้ตั้งพรรคยูมินขึ้นมาเป็นทั้งตัวเลือกทางการเมืองและที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ภายในไม่กี่ปีก็สามารถชนะการเลือกตั้งในญี่ปุ่น  จนในที่สุด ‘เพื่อน' ก็ดำเนินมาถึงแผนการสุดท้ายที่จะปูทางไปสู่อำนาจสูงสุด นั่นคือการสร้างสถานการณ์ ‘นองเลือด' ด้วยวิธีการแพร่ไวรัสที่ทำให้เลือดออกจากตัวอย่างน่าสยดสยองและตายในเฉียบพลัน  20th Century Boys  ภาคแรกจบลงด้วยสถานการณ์ไวรัสระบาดล้างโลกในวันสิ้นปี 2000 การหายตัวไปของเกนจิและคันนะที่โตเป็นสาว แต่สิ่งที่ 20th Century Boys ยังไม่จบลงก็คือการเป็นกระจกสะท้อนภาพความจริงที่กำลังเตือนสติเราว่า คนที่เราเชื่อ กลุ่มองค์กรที่เราเชื่อ หรือแม้แต่ศาสนาที่เราเชื่อ มันอาจไม่ได้ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างที่เห็นและอาจมีเบื้องหลังที่เปื้อนเลือดอย่างที่คาดไม่ถึง และความเชื่ออย่างขาดสติคุ้มคลั่งก็อาจสร้างความหายนะได้อย่างสุดจะบรรยาย  อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เลวร้าย 20th Century Boys ได้สร้างเกนจิและเพื่อนๆ ขึ้นมาเป็นภาพตัวแทนของกลุ่มคนที่แสวงหาความจริงอย่างท้าทาย แม้ว่าในที่สุดสังคมที่ถูกการชี้นำของ ‘เพื่อน' จะทำให้เกนจิกลายเป็นผู้ก่อการร้ายอย่างเป็น ‘ขบวนการ' เป็น ‘ขบวนการเกนจิ' ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในวันสิ้นปี 2000  แต่การต่อสู้เพื่อบอกความจริงแม้จะสวนทางกับความเชื่อกระแสหลักก็คือภาพสะท้อนทางจิตวิญญาณแห่งเสรีของปัจเจกชน ซึ่งความเป็นเสรีชนของเกนจิได้สื่อออกมาผ่านเพลงร็อค นักดนตรีเปิดหมวก และกลิ่นอายของฮิปปี้ในยุคทศวรรษที่ 60 -70   มาถึงตรงนี้ หากใครที่ยังไม่อยากรู้ตอนต่อไปโปรดอย่าอ่านต่อ เพราะจากตรงนี้จะขอเฉลยตอนต่อไปตามต้นฉบับการ์ตูน  โลกหลังปี 2000 ‘เพื่อน' กลายเป็นประธานาธิบดีโลก เพราะเขาสามารถนำวัคซีนมารักษาไวรัสประหลาดในเหตุการณ์นองเลือดได้ รวมถึงได้ช่วยเหลือ ‘โป๊ป' ให้รอดชีวิต และอ้างถึงถึงพระแม่ศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาโปรด ในเวลาต่อมา ‘เพื่อน' ได้กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจทั้งทางการเมืองและจิตวิญญาณ โลกในศตวรรษที่ 21 คือโลกที่ ‘เพื่อน' เป็นผู้ชี้นำทั้งทิศทางการปกครองและความถูกต้องทั้งมวล อีกทั้งยังได้สร้างภาพ ‘ขบวนการเกนจิ' ขึ้นมาเป็นปีศาจแห่งความน่ากลัวจนทำให้สังคมถูกครอบงำให้ขาด ‘เพื่อน' ไม่ได้ หนังสือ ดนตรี วิถีชีวิตและวัฒนธรรมถูกควบคุมโดยรัฐบาลเพื่อน และความคิดที่แตกต่างหรือการตั้งคำถามต่อ ‘เพื่อน' คือภัยคุกคามที่ต้องถูกจัดการ  สังคมของโลก ภายใต้การนำของ ‘เพื่อน' ใน 20th Century Boys จึงอาจเป็นคำเตือนจากโลกในจินตนาการมาสู่โลกของความจริง และเป็นความจริงที่น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์มันช่างคล้ายกับในสังคมไทยที่อาจมีการนองเลือดครั้งใหญ่ที่ถูกวางไว้ในอีกไม่กี่วันนี้  การนองเลือดในสังคมไทยคงจะไม่ได้มาจากไวรัสล้างโลกแน่ๆ แต่ก็เดินไปตามกระบวนการปูทางสู่อำนาจคำถามสำคัญมากๆที่สังคมไทยอาจต้องยิ่งคิดให้หนักก็คือ สังคมไทยมีคนแบบ ‘เพื่อน' ที่กำลังทำอะไรชี้นำมวลชนแบบแปลกๆอยู่หรือไม่  เพราะใน 20th Century Boys คนแบบ ‘เพื่อน' กว่าจะยึดครองโลกสำเร็จ มีคนตายราว 3,000 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในสังคมไทยตอนนี้แม้มีคนเสียชีวิตไปบ้างแล้ว แต่สถานการณ์คงยังอยู่ในช่วงของภาคแรก คือช่วงของการรณรงค์ ช่วงของการสร้างสถานการณ์และช่วงของการใช้ความกลัวเข้าครอบงำเพื่อชี้นำ  ดังนั้น จึงอยากให้ดูหนังหรืออ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วคิดอีกครั้งก่อนไปชุมนุมไม่ว่ากับฝ่ายใดก็ตามว่า ‘เหตุการณ์นองเลือด' บางทีอาจเปื้อนอยู่บนมือ  ‘เพื่อน' ของคุณก็เป็นได้   
Hit & Run
  ธวัชชัย ชำนาญ ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นห้วงเวลาที่คนไทยทั่วทุกสารทิศ เดินทางเข้ามาร่วมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ "พิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ" ความยิ่งใหญ่อลังการที่ทุกคนคงรู้ดีที่ไม่จำเป็นต้องสาธยายเยอะ  แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความสงบเงียบของบ้านเมืองที่ดูเหมือนมีพลังอำนาจอะไรบางอย่างมากดทับกลิ่นอายของสังคมไทยที่เคยเป็นอยู่กลิ่นอายที่ว่านั้น..เป็นกลิ่นอายของความขัดแย้ง ความเกลียดชังของคนในสังคมที่ถูกกดทับมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟังดูแล้วเหมือนว่าอยากให้อำนาจแบบนั้นกดทับความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมตลอดไปแต่ในที่สุดช่วงเวลาที่สงบเงียบก็ผ่านพ้นไป เพียงอึดใจเดียว สถานการณ์บ้านเมืองของเราก็กลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ เช้าวันที่20 พ.ย. เหตุระเบิดก็เกิดขึ้นที่หน้าเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามข่าวที่ออกมาบอกว่า M 79 ถูกยิงออกมาทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 23 รายหลังจากนั้นทางแกนนำพันธมิตรก็มีแถลงการณ์ออกมา เพื่อรวมพลกองทัพเสื้อเหลืองทั่วประเทศบุกรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ย.2551  โดยหวังเป็นหมัดสุดท้ายหวังน๊อกคู่ต่อสู้ให้คาเวที................................................................................ 
เมธัส บัวชุม
อัสนี วสันต์ ในเพลง "ก็เคยสัญญา" เคยแหกปากตะโกนประโยคที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"  อันหมายถึงความรักที่แปรผันตามวันเวลาที่ผ่านพ้น   แม้ว่าจะสัญญากันไว้หนักแน่นก็ตาม ประโยคนี้ถูกตอกย้ำให้ฮือฮาอีกครั้งจากปาก แอ๊ด คาราบาว ผู้ซึ่งสวมบทนักร้อง นักดนตรี "เพื่อชีวิต"  วิพากษ์วิจารณ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่โฆษณามอมเมาให้คนซื้อทั้งที่ไม่มีคุณค่าสารอาหารแต่ประการใด แต่ในเวลาต่อมา แอ๊ด คาราบาว กลับมาทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง "คาราบาวแดง" อย่างที่รู้กัน เมื่อมีคนถาม แอ๊ด คาราบาว บอกง่าย ๆ ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
 สวัสดีค่ะ อาทิตย์นี้มีรูปเด็กๆ มาฝากแล้วค่ะ เด็กหญิงลีอองกับเด็กชายโฟรโด้ ที่นับวันนับซน ดูจากการลงไปเล่นกันบนแปลง (ที่กะว่าจะให้เป็น) ที่ปลูกผักสวนครัว ทำเหมือนกับพวกหนูสบ๊าย สบาย พวกหนูดีแล้ว มี้ไม่ต้องยุ่ง!ช่วงนี้ ลีอองโตขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ และมีอุปนิสัยที่เหมือนแมวมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เช่น ชอบปีนโต๊ะ ปีนเก้าอี้ อย่างในรูปที่เห็นนั่งบนเก้าอี้ ขึ้นไปเอง... แถมท้ายด้วยความพยายามถ่ายรูปกับเด็กหมา เอาไว้เป็นที่ระลึก ออกมาอย่างที่เห็น (เหมือนจะบีบคอเด็ก+หนูเซ็งจังเลยมี้)มีความสุขกับวันหยุดและวันทำงานค่ะปล. วันอมาวสี 27 พ.ย ค่ะ.
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
จำได้ว่า วันแรกที่ผมเดินทางมาถึงห้องทำงานที่ว่าการอำเภอเวียงแหง เป็นเดือนพฤศจิกายน2528 หัวหน้าหน่วยงานแนะนำให้รู้จักเจ้าหน้าที่งานต่างๆ ดูหน้าตาใครอาวุโสกว่าผม ผมยกมือไหว้ก่อนแล้วทักทาย ใครหนุ่มกว่าก็ทักทายเพียงวาจา ทุกคนอัธยาศัยดี เป็นกันเอง เด็กหนุ่มผิวเข้มคนหนึ่งทราบภายหลังว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ ชื่อ ธาตรี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ยกมือไหว้ผม และกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ” ผมรับไหว้กล่าวคำสวัสดีเช่นกัน
ภู เชียงดาว
เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด  และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง “ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน
มาลำ
  น้องรัก ไปสู่ความสงบที่สุดนะ เวลาของเธอมาถึง  เธอผ่านพ้นความทรมานแล้ว  แม้เรายังไม่ได้พบกัน เสียงเพลงของเธอยังดังกังวานให้ฉันได้ยิน ถ้อยคำที่เธอพูดยังดังแว่วอยู่ในหู เสียงเธอที่สดใสหลังฟังเพลงด้วยกันยังดังอยู่ แม้มือของฉันเอื้อมไปไม่ถึงเธอ  เราจากกันเสียแล้ว    ทำไมหนอชีวิตได้โหดร้ายนัก เธออายุสี่สิบปีเท่านั้นเอง ...........................                                           คร่ำครวญอยู่ในสายน้ำตา                                    อยากทำทุกอย่างเพื่อให้เธอมายืนตรงหน้า                                    คำหมื่นแสนถ้อยมารอ                                     เธอไม่ได้นั่งลงฟังอีกแล้ว                                    บางท่อนของเพลง  ดังแว่วมา                                    พระเจ้า เราหลงคิดว่าชีวิตคือความสุข                                    เสียงเปียโน กระแทกทำนองดังก้องอยู่อย่างนั้น                                    ถ้อยคำของเธอ                                    หลับใหลอยู่ในความมืดมิด..........................................
เงาศิลป์
ยามค่ำคืนที่เหน็บหนาวออกปานนี้ หนาวจนต้องสวมเสื้อกันหนาวหนาๆ ถึงสองชั้น หวังทนทานต่อความแหลมคมของไอหนาวที่แทรกซอนเข้ามาบาดเนื้อ เสื้อผ้าอาจปกป้องร่างกายไว้ได้บ้าง แต่บางความหนาวที่แทรกซึมเข้ามาได้กลับกระพือความร้อนรุ่มภายในให้ลุกโชน  ภาพถ่ายสุดท้ายของเจ้าเก๋า ในวันก่อนจะจากไปเพียงไม่กี่วัน สิ้นสุดเสียทีอีกหนึ่งชีวิต ไม่ต้องทรมานอีกต่อไป เพราะพิษของสารเคมีที่เข้าไปทำลายตับไตไส้พุงจนหมดสิ้น ในเวลาสี่วัน วันสุดท้ายของมันกับความรู้สึกห่วงใยของฉัน มันคงรับรู้ได้ นาทีสุดท้าย มันจึงสะท้อนลมหายใจเฮือกใหญ่แล้วจึงทิ้งตัวลงบนตักฉัน แล้วจากไปนิรันดร์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  โอ พระเจ้า !ข้าสงสัยเหลือเกินว่า ทักษิณ ชินวัตรทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตรทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตรทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตรทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร และ สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุลสนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้ม ทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุลสนธิ ลิ้ม ทองกุล สนธิลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุลสนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล สนธิ ลิ้มทองกุล

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม