Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

dinya
สองภาพข้างบนนี้ดูเหมือนเป็นทะเลสาบสวยๆ ที่มีน้ำใสๆ เย็นๆ น่าไปเที่ยวเล่น พายเรือ ถ่ายรูปหรือดำน้ำ ทำนองนั้นไหมคะ ? แต่รู้ไหมว่า เนี่ยแหละ มันคือหน้าตาของ El Zacatón Cenote หรือ “หลุมยุบ” (sinkhole) ที่มีความลึกที่สุดในโลกล่ะ !
SenseMaker
หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่ โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ”ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก ความสามารถในการคำณวน ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่มีรูปแบบตายตัวและซ้ำซาก รวมทั้งอำนาจสนับสนุนที่ช่วยให้ การเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูล และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับข้อมูล และข้อมูลกับข้อมูล เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ ICT และเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ทำให้ใครหลายคนคิดว่า เทคโนโลยีนี้สามารถถูกพัฒนา ให้มีความสามารถมากขึ้นๆ จนสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในหลายๆ ขั้นตอนของขบวนการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาถูกดำเนินการโดยมนุษย์
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน ทำให้เรือนไม้ยกใต้ถุนสูงที่ปลูกเรียงอยู่ในรั้วบ้านรู้สึกเหมือนเป็นบ้านในป่าได้เลยทีเดียว บรรดาต้นไม้ไทยหายาก ชื่อเรียกยากอย่างพิลังกังสา ลำดวน ประดู่เหลือง พวงคราม ต้นสาทรไม้ประจำเมืองโคราช สารพัดสารพันพืชแท้จริงเลย ไหนจะต้นชะมวงนั่นอีก ยามเช้าที่นี่จึงเป็นความหอมชื่นชวนเบิกบานใจ
โอ ไม้จัตวา
หลายปีก่อนเมื่อครั้งฉันยังเร่ร่อนเป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วยังไม่รู้จะนอนไหนนั้น นึกแบบเด็กแนวก็รู้สึกถึงอิสรเสรีภาพอันหอมหวาน ในวันวัยเช่นนั้น ฉันมีความสุขกับการเดินทางไปมา ผู้หญิงคนหนึ่งกับรถคันหนึ่ง เป้หนึ่งใบ อุปกรณ์การยังชีพ และชุดทำงานพร้อม เมื่อว่างเว้นจากงานประจำ มีวันหยุดเมื่อไร หรือบางครั้งแค่มีเวลาสักครึ่งวันฉันก็โลดแล่นไปมาระหว่างเมืองแล้วเช้าก็บึ่งรถกลับมาทำงานทันเวลา บ่อยครั้งที่เตรียมการสอนที่หลังพวงมาลัย ช่วงเวลานิ่งเงียบระหว่างขับรถคนเดียวเป็นช่วงเวลาที่สมองคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างขับรถจึงเป็นเวลาเรียบเรียงหัวข้อและรายละเอียดที่จะไปพูดคุยกับเด็ก ๆ ในชั่วโมงข้างหน้า
รวิวาร
ลมหนาวยังไม่มาเยือน แต่อาคันตุกะมากหน้าแวะเวียนผ่านมาหลายคราแล้ว ชานหน้าบ้านกลายเป็นที่ชุมนุมคารวะดื่มด่ำภูเขา หมาแมววิ่งพล่านด้วยความตื่นเต้น เห่าเสียงเครื่องยนต์ไม่คุ้นหู ยื่นหน้ามาสูดกลิ่นยั่วน้ำลายในโตก ความรื่นเริงของหมู่มิตรอึกทึกแข่งเสียงนกในทุ่งสงัด แนวเทือกเขาซ้อนเหลื่อมชายแดนค่อย ๆ เผยเรื่องเล่าผ่านริมฝีปากพี่ชาย* ย้อนไปตั้งแต่ครั้งที่เรายังเด็ก ยามโถงรับแขกของทุกบ้านมีดอกฝิ่นแห้งประดับแจกัน การแตกแยกอันนำไปสู่สงครามระหว่างชนเผ่าในประเทศเพื่อนบ้าน การติดตามไล่ล่าข้ามดอย รบพุ่ง ทิ้งซากร่างและเม็ดกระสุนในเขตเชียงดาว ผืนโลกอัดแน่นด้วยเรื่องราว ตามเส้นทางลัดเลาะบนโขดเขาสีน้ำเงิน ขบวนม้าต่างวัวต่างยังส่งเสียงกระดึงกังวาน ราวกับยังมีชีวิต มีคราบเลือดสด ๆ และร่องรอยจากพราก
สุมาตร ภูลายยาว
สุมาตร ภูลายยาว เฆมฝนสีดำทะมึนฉาบไปทั่วทิศทาง เรือหาปลาลำเล็กหนึ่งลำ และเรือลำใหญ่สองลำค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่งริมแม่น้ำ เพื่อลอยลำไปยังเบื้องหน้าแท่งคอนกรีตอันเป็นสัญลักษ์ของความชั่วร้ายในนามการพัฒนามาหลายปี เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ คนบนเรือค่อยๆ คลี่ผ้าขาวที่ห่อหุ้มถ่านเถ้าเบื้องหลังความตายแล้วปล่อยถ่านเถ้านั้นไหลลอยไปกับสายน้ำริมฝั่งดอกไม้ทั้งดอกจำปา ดอกเข็มแดง ดอกดาวเรือง ต่างเข้าแถวเรียงรายกันไหลไปตามแม่น้ำ หลังจากมันถูกปล่อยออกจากกรวยใบตองในมือคนริมฝั่ง ถัดออกไปจากริมฝั่งพ่อทองเจริญกับพ่อดำ ได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปขอขมาแม่น้ำ และรับขัวญแม่น้ำไหลจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูนถ่านเถ้ากลุ่มนั้นลอยไปเรื่อยๆ ตามสายน้ำ และไหลไกลออกไปจนไปถึงปลายสุดของแม่น้ำที่ออกสู่แม่น้ำสายใหญ่...
ชนกลุ่มน้อย
นางมาถึงหมู่บ้านเหมือนนกย้ายถิ่นประจำฤดู ไม่มีใครรู้ว่านางมาถึงหมู่บ้านไหนเดือนไหน และเลือกเข้าไปบ้านใครก่อน ทุกคนในหมู่บ้านต่างรู้ว่านางจะมา ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างเรียกนางจนติดปากว่า ซามูนะห์ซามูนะห์มาแล้ว ในความรู้สึกของเด็ก น่าสยอง น่าขนลุกขนพอง ใช่แล้ว หญิงบ้ากำลังเข้ามาหมู่บ้าน เด็กคนไหนดื้อเกิน มักจะโดนพ่อแม่ขู่ จะให้ซามูนะห์จับใส่สอบนั่ง พาไปขาย เด็กจะเงียบกริบ ผมเป็นหนึ่งในจำนวนเด็กกลัว เด็กไม่กลัวจะโต้ตอบอีกอย่าง เอากรวดปา หรือกระป๋องนมปาใส่นาง นางหยุดกึกบ่นพึมพำ ทำท่ายกไม้ยกมือปัดป้อง แล้วผู้ใหญ่ก็เข้ามาไล่พวกเด็กกลุ่มไม่กลัวนางอีกที
Carousal
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ( 6 กรกฏาคม 2551) ฉันไปงาน Comic Party ครั้งที่ 11 ที่ Central World มาค่ะ บรรยากาศบนเวที ที่มี Yamaha เป็น Sponsor ใหญ่   คุณเคยไปงานการ์ตูนบ้างไหมคะ? ต่อให้ไม่เคยตั้งอกตั้งใจไป ฉันก็คิดว่าคุณต้องเคยผ่าน หรือเคยสะดุดตาสะดุดใจกับพลพรรคคนรักการ์ตูนที่รวมกลุ่มกันเดินทางไปร่วมงานมาบ้างแน่ ๆ เพราะงานการ์ตูนเป็นงานที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานเข้มข้นจนแผ่ออร่าออกมาให้สัมผัสได้ ขอแค่มีการ์ตูนเรื่องที่ชอบเป็นศูนย์กลาง เหล่าชมรมคนรักการ์ตูนก็สังสรรค์ สรวลเสเฮฮากันได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อนแล้วละค่ะ
ชาน่า
เมื่อวันก่อนได้เปิดอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ชาติต่าง ๆ ผ่านสัญญาณดาวเทียมส่งตรงมายังเรือสำราญที่กำลังล่องแถบทวีปยุโรป สะดุดข่าวหนึ่งที่รายงานสองสามวันติดกัน ในหนังสือพิมพ์ "India Today" วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 หัวข้อข่าวพาด "Gays set for first nationwide pride marches" และ "Gay Pride out on street Kolkata" สอบถามเพื่อนร่วมงานชาวอินเดียถึงข่าวคราวนี้ ทราบว่า สมัยก่อนเมื่อราวเกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา ก่อนที่อินเดียจะได้รับอิสระในปี 1947 ประเทศอินเดียนั้นถือว่า การเป็นเกย์ หรือ กลุ่มรักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม ผิดกฎ ผิดจารีต ประเพณี หรือเรียกบ้าน ๆ ว่าผิดผีหนะฮ่ะ ในสมัยก่อนๆ ถึงกับมีการฆ่า (มัน...ข้ามันลูกเกย์) กำจัดไม่ให้เหลือคราบ (ว๊ายยยยยย สยองจังฮ่ะ)
Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย   ผมชอบคำว่า ‘เพื่อนบ้าน' (Neighbor) เนื่องจากผมเล็งเห็นว่า คำว่า ‘เพื่อนบ้าน' นั้นดูจะมีความหมายในการมอง ‘มนุษย์' ที่อยู่รอบๆ ตัวของผู้พูด ผู้เขียน ผู้ใช้ คำๆ นี้ในแง่ดี (Positive Thinking) ส่วนคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' นั้น ผมจำได้ว่าเป็นคำที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน (รวมทั้งตัวผม) มักจะใช้เล่นกับเด็กๆ ด้วยการเอามือ ผ้า หรือสิ่งของอื่นๆ ที่หาได้สะดวก ปิดหน้าปิดตาของตัวผู้ใหญ่เอง (หรือใช้ปิดตาเด็ก) หลังจากนั้นจึงเปิดหน้าออกพร้อมรอยยิ้มแล้วกล่าวคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะชอบและมักจะมอบรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะเป็นการแสดงความพึงพอใจต่อการละเล่นชนิดนี้ หรือบางทีเราอาจจะใช้คำๆ นี้หยอกล้อกับคนที่รัก หรือเพื่อนสนิทก็ได้เช่นเดียวกัน (หรือใครอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของอำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้กระทำต่อเด็กก็สุดแล้วแต่)  ผมจำได้อีกว่าผมเคยได้ยินได้ฟังคำว่า Positive thinking กับ Negative thinking เป็นครั้งแรกในชั้นเรียนภาษาอังกฤษระดับมัธยมปลาย หากแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ด้วยความรู้โง่ๆ ของผม คำว่า Positive thinking น่าจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘การมองโลกในแง่ดี' ส่วน Negative thinking ก็คงจะหมายความว่า ‘การมองโลกในแง่ร้าย' และแน่นอนว่า ‘การมองโลกในแง่ดี' ย่อมให้ความหมายที่ดีมากกว่า ‘การมองโลกในแง่ร้าย' (ส่วนนิยามคำว่า ‘ดี' นั้นคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ นักสัญวิทยา และนักอื่นๆ เป็นผู้แสวงหาคำอธิบายที่แตกต่างหลากหลายกันต่อไป)  ส่วนสาเหตุที่ผมจะต้องเขียนถึงเรื่อง ‘เพื่อนบ้าน' ‘การมองโลกในแง่ดี' และ ‘การมองโลกในแง่ร้าย' ในสัปดาห์นี้ ก็เนื่องมาจากสถานการณ์ ‘เขาพระวิหาร' ที่กำลังจะบานปลายกลายเป็นปรากฏการณ์ฟื้นฝอยเส้นแบ่งดินแดนทางกายภาพ เพื่อสร้าง ‘ความขัดแย้ง' (conflict)ระหว่างเพื่อนมนุษย์บ้านใกล้ (บางครั้งบ้านใกล้ อาจจะไม่ใช่เพื่อนบ้าน หากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนบ้านใกล้ไม่ใยดีต่อกัน) ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมเข้าใจในความรู้สึกของ ‘คนไทย' (ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยและถือบัตรประชาชนไทย ตามคำนิยามของคนบางกลุ่ม) ที่รับรู้ว่าปราสาทเขาพระวิหารกำลังจะไม่ใช่สมบัติของประเทศไทยแล้วจริงๆ เพราะผมก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งถูกอบรม สั่งสอน และถ่ายทอด ‘ความเป็นไทย' มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ดังนั้นผมจึงถูกผลิตขึ้นมาภายใต้วาทกรรม ‘เอกราช' เช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ แต่กระนั้นผมก็อดหวาดหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ เมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังชาวบ้านร้านตลาด พยายามเชื่อมโยงเรื่องราวการขึ้นทะเบียน ‘ปราสาทเขาพระวิหาร' เป็นมรดกโลก กับ ‘สงครามแย่งชิงดินแดน' (ขอภาวนาให้มันกลายเป็นเพียงความคิด) เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ‘ความรุนแรง' ย่อมไม่ใช่ทางออกของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่จะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจของมนุษย์จำนวนมาก และ ‘สงคราม' ก็ไม่เคยเป็นคำตอบของชัยชนะระหว่างประชาชน กับประชาชน (แม้ว่ามันจะเป็นชัยชนะของรัฐต่อรัฐก็ตาม) ยิ่งผมได้ยินได้ฟังนักวิชาการรุ่นใหม่ท่านหนึ่ง ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ที่พยายามเชื่อมโยงประเด็น ‘ปราสาทเขาพระวิหาร' กับ ‘การสูญเสียดินแดน' อื่นๆ อีกหลายพื้นที่ ยิ่งทำให้ขนหัวของผมลุกซู่ด้วยความหวาดกลัว แต่ไม่ได้เป็นความหวาดกลัวว่าเราจะสูญเสียดินแดน หรืออธิปไตยในเร็ววันนี้ หากแต่ ‘ข้อมูลทางวิชาการ' ของนักวิชาการท่านนั้นมันกำลังจะสร้าง ‘ความหวาดกลัว' ขึ้นในจิตใจที่อ่อนไหวของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ และ ‘ความกลัว' เหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนเป็น ‘ความเกลียดชัง' ในไม่ช้า ยิ่งนักวิชาการท่านนี้พยายามจะเสนอทางออกด้วยการผลักดันเพื่อนบ้านออกไปจากดินแดน (หรือไม่ก็ต้องเก็บภาษีพวกเขา) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างสองประเทศ เพื่อแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนของเรา (ตามที่ท่านบอก) ยิ่งทำให้ผมเล็งเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาในประเทศไทยไม่เคยทลายกำแพง ‘อคติ' ทางชาติพันธุ์ ที่ทำให้ ‘มนุษย์กลุ่มหนึ่ง' มอง ‘มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง' คือ ‘ผู้สร้างปัญหา' ไปได้เลย (แม้ในหมู่นักวิชาการบางกลุ่ม)  เหตุการณ์ และข้อมูลที่นักวิชาการ (ผู้ทรงคุณวุฒิ) นำเสนอผ่านรายการ ‘ตาสว่าง' เมื่อคืนวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ทำให้ผมอดนึกย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งที่บรรพบุรุษของผม (และบรรพบุรุษของอีกหลายๆ ท่านที่ระบุว่าตนเองคือคนไทย) ออกเดินทางโดยเรือสำเภามาจากประเทศจีนเพื่อมาตั้งรกรากยังแดนดินถิ่นสยามแห่งนี้ไม่ได้ ผมแอบสงสัยว่าในครั้งนั้น ‘บรรพบุรุษ' ของผมจะถูกเกลียดชังจากผู้คนในดินแดนแห่งนี้หรือเปล่า? และหากเป็นเช่นนั้น ‘ท่าน' และ ‘เราทั้งหลาย' สามารถฝ่า ‘กำแพงแห่งความเกลียดชัง' เหล่านั้นมาได้อย่างไร? เหตุใดทุกวันนี้เราถึงยอมรับการตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มหนึ่ง (จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี และ ฯลฯ) แต่กลับไม่ยอมรับการตั้งถิ่นฐานของคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ประเทศบ้านใกล้) สำหรับตัวผม ‘กรณีเขาพระวิหาร' จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเส้นแบ่งเขตแดนทางกายภาพ หากแต่เป็นเรื่อง ‘อาณาเขตทางจิตใจ' ของผู้คนทั้งสองฝั่งที่อาจจะกว้างไม่เพียงพอที่จะลบ ‘บาดแผลทางประวัติศาสตร์' ระหว่างกัน จนก่อเกิดเป็น ‘กำแพงแห่งความเกลียดชัง' ที่ทั้งสองฝ่ายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตน (ด้วยทัศนคติในแง่ลบ Negative thinking) เมื่อไรก็ตามที่บาดแผลถูกสะกิดจากอำนาจรัฐ ‘ประวัติศาสตร์' ระหว่างสองชาติบ้านใกล้ก็จะถูกนำมาเชื่อมโยงให้กลายเป็นเรื่องระหว่าง ‘ศัตรู'ทันที ทั้งๆ ที่ในระดับวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ‘ประวัติศาสตร์' ของพวกเขาอาจจะไม่มีอาณาเขตหรือดินแดนใดๆ เป็นตัวแบ่งความสัมพันธ์เลยด้วยซ้ำ นอกจากการมุ่งประเด็นไปที่ ‘การทวงคืนดินแดน' หรือ ‘การยกปราสาท'ให้เขา สิ่งที่ผู้คนทั้งสองแผ่นดิน (ตามเส้นแบ่งของรัฐ) ต้องนำมาพิจารณาในกรณีของ ‘เขาพระวิหาร' ก็คือ เรื่องของ ‘ทัศนคติ' (attitude)ที่เราใช้มองกันและกัน เพราะสิ่งนี้ต่างหากที่จะช่วยป้องกันปัญหาระหว่างผู้คนทั้งสองฝ่ายในระยะยาว เราควรจะกลับมาทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราทั้งสองฝ่ายมองกันในฐานะอะไร? ‘เพื่อนบ้าน' หรือ แค่ ‘คนบ้านใกล้' เกริ่นเสียยืดยาวอีกตามเคย My Neighbor Totoro : ‘เพื่อนบ้าน' และ ‘การมองโลกในแง่ดี'  My Neighbor Totoro (ค.ศ. 1988) ภาพยนตร์อนิเมชั่น ผลงานการกำกับของ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ' (Hayao Miyazaki) นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์' กับ ‘สิ่งแวดล้อม' (ซึ่งหมายรวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้ง ต้นไม้ คน สัตว์ สิ่งของ และฯลฯ) โดยบอกเล่าผ่านตัวละคร ‘ซัทสึกิ'เด็กสาววัย 11 ปี กับ ‘เมย์' น้องสาววัย 4 ขวบ ที่ต้องย้ายติดตามคุณพ่อมาสู่บ้านใหม่ในชนบท สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ของชนบทไม่เพียงแต่จะสร้างความรื่นรมย์ให้กับเด็กทั้งสอง แต่ที่นี่ยังทำให้พวกเธอได้พบเจอกับ ‘มิตรภาพ' ของ ‘ เพื่อนบ้าน' หน้าใหม่ อย่าง คุณยายใจดีข้างบ้าน ที่สามารถเข้านอกออกในบ้านของพวกเธอราวกับเป็นญาติสนิท, ‘คันตะ' หลานชายของคุณยายใจดี, ‘มัคคุโระคุโระสึเกะ' หรือ ‘ซึซึวาตาริ' เจ้าตัวประหลาดกลมๆ สีดำๆ ที่มักจะเข้ามาอาศัยในบ้านร้างและนำฝุ่นเข้ามาในบ้าน แต่เมื่อมีคนเข้ามาอยู่ เจ้าตัว ‘ซึซึวาตาริ' หรือ ‘ มัคคุโระ คุโรสุเกะ' ก็จะย้ายออกไป  ที่สำคัญพวกเธอยังได้พบกับ ‘โตโตโร่' หรือ ‘วิญญาณผู้พิทักษ์ป่า' ผู้น่ารัก ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการของมนุษย์ส่วนใหญ่ ที่มักจะสร้างภาพของวิญญาณให้มีลักษณะ ‘น่ากลัว' แต่สำหรับ ‘โตโตโร่' กลับมีลักษณะคล้ายกระต่ายขนฟูตัวใหญ่ ที่ชอบนอนหลับพักผ่อน และมักจะส่งความรู้สึกผ่านเสียงคล้ายกับการหาว  ‘โตโตโร่' ช่วยให้พวกเด็กๆ รับรู้ว่านอกจากโลกปกติที่พวกผู้ใหญ่ (อย่างเราๆท่านๆ) รู้จัก มันยังมี ‘โลก' อีกโลกหนึ่ง ที่พวกเธอสามารถสัมผัสได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับ หรือ ต้องมีทัศนะคติในการมองโลกในแง่ดี (positive thinking) อย่างที่ ‘เมย์' เด็กสาววัย 4 ขวบ เป็นผู้ค้นพบโลกของ ‘โตโตโร่'  และภายในโลกที่ผู้ใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วย ‘อคติ' ไม่มีวันมองเห็นนั้น มันเป็นโลกที่แถบจะไม่มีขอบเขต เป็นโลกที่อาจจะสามารถนำพาพวกเราลอยสูงขึ้นไปยังท้องฟ้า (อยู่เหนือปัญหา) อย่างที่ ‘โตโตโร่' ได้นำพา ‘เมย์' และ ‘ซัทสึกิ' ล่องลอยไปพบเจอกับมุมมองใหม่ๆ ด้านบน นอกจาก ‘ความอบอุ่น' และ ‘ความสัมพันธ์' อันดีระหว่างผู้คนในครอบครัว ‘คุราซาเบะ' (พ่อ แม่ ซัทสึกิ และเมย์) แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังพยายามที่จะบอกกับเราว่า ‘ความกลัว' (อคติ) คือ ‘อุปสรรค' สำคัญในการทำความรู้จักกับ ‘มิตรภาพ' ดังที่เราจะเห็นได้ว่า เด็กหญิงอย่าง ‘เมย์' (ผู้ค้นพบโลกของโตโตโร่) มักจะกล่าวอยู่เสมอว่า "เมย์ไม่กลัว" และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอสามารถค้นพบและเรียนรู้จักกับทุกๆ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันด้วยความสนุกสนาน และในหลายๆ ฉากที่เกี่ยวข้องกับ ‘บ้านหลังใหม่' เราจะพบว่า ผู้กำกับคล้ายจะจงใจที่จะเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ เพื่อให้คนในครอบครัวได้รับรู้โลกภายนอก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้ ‘เพื่อนบ้าน' ได้เรียนรู้จักกับครอบครัวของ ‘ซัทสึกิ' และ ‘เมย์' เช่นเดียวกัน เช่น ในฉากที่ ‘คุณยายข้างบ้าน' เดินเข้ามาทำความรู้จักกับเด็กๆ ถึงในบ้าน หรือในฉากที่พวกเด็กๆ (ซัทสึกิ และเมย์) นอนเปิดประตู จนทำให้พวกเธอได้พบเห็น ‘โตโตโร่' และเพื่อนๆ กำลังทำพิธีกรรมปลูกต้นไม้ ซึ่งสุดท้ายพวกเด็กๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิธีกรรมนั้นด้วย  ‘การเปิดประตูบ้าน' (การเปิดใจ) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการยอมสูญเสีย ‘พื้นที่ส่วนตัว' แต่เป็นการเปิดประตู เพื่อให้ ‘เพื่อนบ้าน' ได้มีโอกาสเรียนรู้จักกับ ‘ความจริงใจ' ที่ตัวละครในครอบครัวของซัทสึกิ และเมย์ มีให้ และ ‘ความไม่กลัว' (ความไม่มีอคติ) ของเด็กๆ ก็ไม่ใช่ความไม่ระมัดระวัง หรือ ‘ความประมาท' แต่ในทางตรงกันข้ามมันกลับเป็น ‘ความกล้าหาญ' ที่จะทำลาย ‘อคติ' ในการเรียนรู้จักกับ ‘เพื่อนบ้าน' และทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกใบนี้อย่างเท่าเทียม และการมองโลกในแง่ดี (positive thinking) ของตัวละครก็นำไปสู่เรื่องราวที่งดงามของ ‘มิตรภาพ' หลังชมภาพยนตร์จบ ผมพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองว่า "วันนี้เราพร้อมที่จะ ‘เปิดใจ' รับ ‘เพื่อนบ้าน' โดย ‘ปราศจากอคติ' เพื่อ ‘ความเท่าเทียม' ของ ‘มิตรภาพ' แล้วหรือยัง?"
Hit & Run
  คิม  ไชยสุขประเสริฐ   5 ก.ค. 51  เยือนโขงเจียม แดนตะวันออกสุดเขตประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเห็นตะวันก่อนใครในสยาม (อีกครั้ง) แล้วเวลาแห่งการรอคอยของชาวบ้านปากมูนก็มาถึง เมื่อประตูบานเขื่องทั้ง 8 บานของ "เขื่อนปากมูล" ถูกยกขึ้นเพื่อปลดปล่อยฝูงปลาให้เวียนว่ายท้าทายกระแสน้ำขึ้นสู่ต้นน้ำตามวัฎจักร ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล หลังจากที่ "เขื่อนปากมูล" ต้องถูกปิดมากว่า 1 ปีเต็ม  ที่ผ่านมา "เขื่อนปากมูล" กับการต่อสู้ของ "ไทบ้านปากมูน" เป็นที่รับรู้มานานปี และดูเหมือนว่าวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จะยังคงความเข้มแข็งไม่ต่างจากเมื่อตอนที่ได้มาเยี่ยมเยือนชาวบ้านในครั้งแรก แม้ว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านไป พวกเขาจะต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คงทำให้หัวใจนักสู้ของพวกเขาสั่นไหวไปมากพอดู เพราะปัญหาของพวกเขายังไม่จบ ชาวบ้านยังคงต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการอยู่ร่วมกันเขื่อนที่พวกเขาไม่เคยต้องการให้ได้ และต่อสู่ต่อไปเพื่อสักวันตัวแทนการพัฒนาอย่างเขื่อน จะไม่มีความชอบธรรมในการดำรงอยู่อีกต่อไป   ..................... 30 มิ.ย.50  เดินทางสู่ อ.โขงเจียม จ.อุบลครั้งแรก  สิ่งที่ฉันได้รับรู้... ชาวบ้านได้หลั่งน้ำตามาครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อสร้าง "เขื่อนปากมูล"  จนกระทั่งเขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี 2537 หลังจากการต่อสู้ไม่ให้ก่อสร้าง มาจนถึงต่อสู่กับปัญหาค่าเวนคืนและค่าชดเชย ที่ กฟผ.เจ้าของโครงการยังไม่สามารถเยียวยาความเดือนร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมเลือน คือ ‘เขื่อน' ได้ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียวิถีชีวิต และอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่เคยทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกินเลี้ยงครอบครัวก็แทบต้องสูญสลายไป เพราะประตูเขื่อนหนาหนัก 8 บานได้ขวางกั้นลำน้ำเส้นเลือดใหญ่ของพวกเขา พร้อมสกัดกั้นเหล่าปลาที่จะต้องขึ้นไปวางไข่บนต้นน้ำ  บันไดปลาโจนแห่งแรกของประเทศไทยที่ว่าสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา ให้ปลาได้ใช้ข้ามไปวางไข่ ชาวบ้านก็ไม่เคยได้เห็นว่าปลาตัวไหนจะสมารถกระโจนผ่านความสูงชันของมันขึ้นไปได้ หรือจะมีสักกี่มากน้อย... ไม่มีข้อพิสูจน์ และไม่มีใครอยากพิสูจน์อีกต่อไป กว่า 13 ปี ที่ชาวบ้านต้องต่อสู่อยู่กับการให้ปิด-เปิดเขื่อน ทั้งด้วยการพยายามหาข้อมูล เข้าหานักวิชาการ ทำการวิจัยแบบชาวบ้าน ไปดูศึกษาพื้นที่ปัญหาต่างๆ ยื่นจดหมายต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการเดินขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่แล้วสุดท้ายการตัดสิ้นชี้ขาดชะตาชีวิตของพวกเขาก็ตกอยู่ในมือรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศ และแทบไม่เคยลงมาสัมผัสความเป็นจริงที่ชาวบ้านต้องประสบ หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ครม.ในรัฐบาลที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก.ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ครม.ได้มีมติให้เปิดประตูเขื่อน ในวันที่ 17 มิถุนายน ด้วยเหตุผลของรายชื่อ 2 หมื่นกว่ารายชื่อที่คัดค้านการเปิดเขื่อนได้ถูกส่งไปยัง ครม.ผ่านทางคนมีสี...  คลื่นความทุกข์ของชาวบ้านได้สาดซัดมาอีกระลอก นับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ของการใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดเขื่อนปากมูล หลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านใน อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นพียงคนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการเขื่อน ไม่ต้องการให้มีการปิดเขื่อน และนำไปสูการจัดการตามความต้องการของคนส่วนใหญ่  การกระทำของรัฐทั้งสองครั้งต่างกันเพียงแค่รัฐบาลเก่ายอมเปิดทางให้ชาวบ้านทำกิน 4 เดือน แต่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจากคนดีมีศักดิ์มีศรีในสังคมคนเมืองได้ปิดทางของพวกเขาจนหมดสิ้น ............ 14 ปีที่ผ่านพ้นมา ชาวบ้านปากมูนถูกจับให้อยู่ในฐานะของคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ เสียสละเพื่อประเทศชาติ และผลักไสพวกเขาไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก จนต้องดิ้นรนต่อสู้พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ และข้อมูลต่างๆ ความทุกข์ที่พวกเขาได้รับ ช่วยสั่งสมให้ชาวบ้านธรรมดาๆ คนตัวเล็กตัวน้อยที่พร่ำพรรณนาถึงความทุกที่ไม่มีใครได้ยิน ให้เติมเต็มคุณค่าในตนเอง จนทำให้สามารถลุกขึ้นยืนหยัดเผชิญหน้าถกเถียงแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเจ้านาย ทั้งข้าราชการ นักการเมืองมีอำนาจที่พวกเขาเคยเกรงกลัว ได้อย่างฉะฉานและมีเหตุมีผล  "สิ่งเหล่านั้นมันเป็นการเรียนรู้ด้วยชีวิต" แม่สมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านปากมูลบอกกับเรา วันนี้... แม้จะมีคำถามถึง กระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ย้อยถอยหลังมาสู่การดูแลโดยคณะกรรมการร่วมที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ว่าจะเกื้อหนุนการแก้ปัญหาของชาวบ้านได้มากแค่ไหน  แต่ชาวบ้านก็ยังคงมีความหวังอยู่เสมอ และพร้อมจะยืนหยัดเดินหน้าต่อสู้ปัญหาต่อไป ................... วันนี้ประตูเขื่อนเปิดแล้ว แต่คนปากมูลยังหาปลาได้ไม่มากอย่างที่คิด มีชาวบ้านบอกเราว่าอาจเป็นเพราะการเปิดเขื่อนล่าช้ามาเกือบ 2 เดือน จากที่ปลาจะมาวางไข่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมทำให้ปลาหายไป  "ฝนมาปลามา ปลามันชอบน้ำใหม่" ชาวบ้านยังบอกเราอย่างมีความหวัง เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมาพยากรณ์อากาศบอกไว้ว่าฝนกำลังจะมา แต่วันนี้แดดจ้าทั้งวัน หรือเค้าจะต้องรอฝนวันใหม่เสียแล้ว... ตกเย็น... เรานั่งรถไฟกลับจากอุบล คล้อยหลังจากที่เราเดินทางกลับมาไม่นานที่ปากมูนก็มีฝนตกหนัก เสียงจากในพื้นที่บอกผ่านมาทางโทรศัพท์  ดีใจกับชาวบ้านที่จะได้หาปลาหลังจากที่ตั้งตาเฝ้ารอกันมานาน แต่ก็แอบนึกเสียดาย...ที่ไม่ได้อยู่ในวันฝนมาที่ปากมูล..........................
หัวไม้ story
จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่ นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ นี่ยังไม่รวมนิคมฯ รอบนอกอื่นๆ และโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่จะมีโรงงานขนาดใหญ่ผุดขึ้นอีกสิบกว่าโรง ต่อมาให้หลังอีกราว 20 ปี พื้นที่นี้ก็ถูกยกให้เป็นตัวอย่างดีเด่นอย่างเป็นทางการมาโดยตลอด ในแง่ที่อุตสาหกรรมได้สร้างภาระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้คนในพื้นที่ มีงานศึกษาวิจัยหลายต่อหลายแหล่งที่พบว่า ชาวบ้านเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและอื่นๆ สูงมาก เพราะมลพิษที่มีทั้งในน้ำ น้ำใต้ดิน อากาศ  ตารางตัวอย่างผลการศึกษาวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับปัญหามลพิษในมาบตาพุด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน การศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในไทย ปี 2540-2544 พบว่าสถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง (ที่ตั้งนิคมฯ ) มีสถิติความเสี่ยงสูงสุดเมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง นครพนม ขอนแก่น อุดรธานี กรุงเทพฯ ประจวบฯ และสงขลา ปี 2544-2546 พบว่า ชาวระยองมีแนวโน้มการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง และพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดมากที่สุด รองลงมาได้แก่มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร ฯ การศึกษาของ ดร.เรณู  เวชรัตน์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยศิลปากร การวิเคราะห์ตัวอย่างเยื่อบุข้างแก้มของประชาชนผู้ใหญ่จำนวน 100 คนในเขตมาบตาพุด พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 พบสารพันธุกรรมที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของยีนในร่างกายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง บางตัวอย่าง พบเซลล์แตกหักมากกว่าคนปกติ 12 เท่า การศึกษาของกรมควบคุมโรค การวิเคราะห์ปัสสาวะของประชาชนในเขตมาบตาพุดจำนวน 2,177 คน พบว่า 329 คนหรือร้อยละ 16 พบสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาดสูงเกินมาตรฐาน ที่มา : การเมืองเรื่องมลพิษ : ศักยภาพการรองรับมลพิษและการขยายอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด โดย ศุภกิจ นันทวรกา, เอกสารประกอบงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของการแก้ไข้ปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ที่ผ่านมา คนในพื้นที่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบาตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่มีศักยภาพรองรับมลภาวะได้แล้ว แต่รัฐก็ซื้อเวลา โดยนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศตั้งคณะอนุกรรมการดูแลเรื่องนี้ 2 ชุดและให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในระยอง ปี 2550-2554 แต่ถึงวันนี้ ปี 2551 โครงการต่างๆ ถูกตัดงบประมาณและไม่ได้รับความสำคัญ  ความล่าช้า ยึกยักนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในปี 2541 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติให้ประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจอนุมัติโครงการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวเด็กในโรงเรียนมาบตาพุดพิทยาคารถูกหามส่งโรงพยาบาลจากกลิ่นเหม็นของสารเคมี อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่เสร็จ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ และในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครับก็อนุมัติโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุดไปด้วยระหว่างนั้นรวมแล้วประมาณ 140 โครงการ เช่นเดียวกันกับการตั้งอนุฯ 2 ชุดในปี 2550 ก็มีการอนุมัติโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 ไปด้วยในพื้นที่เขตต่อเนื่องบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับพื้นที่อำเภอบ้านฉาง ซึ่งมีนิคมฯ เอเชียอยู่แล้ว ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวมีข้อกำหนดผังเมืองห้ามก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีประเภทต้นน้ำ แต่สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนผัง  ตารางสรุปการดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2541 กับการดำเนินการจริงและโครงการที่ได้รับอนุมัติเพิ่มขึ้น กรอบเวลาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เวลาในการดำเนินการจริงโครงการอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติเพิ่มที่มาบตาพุด1..ให้ประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยถ้ามีโครงการใหม่เกิดขึ้นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน2541-2543วางแผนการศึกษา จัดหางบประมาณ จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา อย่างน้อย 11 โครงการ2.ให้การนิคมฯ ดำเนินการมาตรการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี  2544-2546 ดำเนินการศึกษาช่วงปี 2546 ประมาณ 56 โครงการ3. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประเมินภาพรวมของศักยภาพการรองรับมลพิษ2546-ปัจจุบัน ปรับแก้ผลการศึกษา ประมาณ 75 โครงการ ที่มา : อ้างแล้ว ตารางสรุปสถานภาพการพิจารณาอนุมัติโครงการในพื้นที่มาบตาพุดในช่วงปี 2548-2550 โครงการใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดจำนวนโครงการภาพรวมของโครงการ1.อนุมัติ รายงาน EIA แล้ว      22-โครงการขยายนิคมฯ ตะวันออก, ขยายนิคมฯ เอเชีย-การขยายโรงงานปิโตรเคมีเดิม 11 โครงการ-การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีใหม่ 9 โครงการ2. กำลังพิจารณา รายงาน EIA     16-โครงการปิโตรเคมี 13 โครงการ-โรงเหล็ก 1 โครงการ-โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซ 1 โครงการรวม      38 ที่มา : อ้างแล้ว  การต่อสู้ขณะนี้ของคนในพื้นที่มีหลากหลายรูปแบบ ที่ขึ้นโรงขึ้นศาลไปแล้วก็มีคือ คดีศาลปกครอง ชาวบ้าน 27 คนจาก 12 ชุมชนรอบนิคมฯ ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จากกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทั้งที่มีข้อมูลอันชัดแจ้งจากหลายหน่วยงานแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหารุนแรง และทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2549 หน่วยงานอย่างสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  กรมควบคุมมลพิษ ก็เคยมีการสำรวจศึกษาและเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้วด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยังมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ระงับการอนุมัติโครงการอุตสาหกรรม โดยให้ทำตามมาตรา67 ที่มีเนื้อหากเกี่ยวกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพประชาชน (HIA) ด้วยโดยให้ผู้แทนสถาบันอุมศึกษาให้ความเห็นประกอบ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสียก่อน ทั้งนี้ สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง  ล่าสุด มีการระดมความคิดเห็นกันในเวทีสมัชชาสุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อรวบรวมข้อเสนอของทุกภาคส่วนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่เพิ่งร่างขึ้นมาใหม่ และเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่ประชาชนจะลองเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายผ่านกลไก สช.นี้ แม้จะไม่ได้มีความหวังเรืองรองนัก ข้อเสนอที่ถูกรวบรวมมี 13 ข้อ ได้แก่       1. การกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง ต้องให้ความสำคัญกับมิติทางสุขภาพมากขึ้น และน่าจะมีความสำคัญเท่าเทียมหรือมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจ จึงขอให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนจังหวัดระยอง      2. ให้มีการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง เนื่องจากปัจจุบันเน้นการขยายอุตสาหกรรมตามแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะ 3 ขัดแย้งกับวิสัยทัศน์การพัฒนาของชาวระยอง จึงควรดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ อันประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน        3.ให้กรมโยธาฯ ทำการวางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ เนื่องจากผังรวมฯ ล่าสุดหมดระยะเวลาบังคับใช้แล้ว โดยจะต้องทบทวนการประกาศพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ประกาศทับพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน และกำหนดให้มีพื้นที่กันชน (buffer zone)        4.ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จึงเสนอให้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน บมจ.อีสวอเตอร์ ปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ โดยต้องเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องแบ่งสรรผลประโยชน์จากการขายน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง        5.ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปรับปรุงระบบและมาตรการทางการคลัง โดยให้โรงงาน ภาคธุรกิจเสียภาษีที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระยอง, ทบทวนให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับโรงงานใหม่ และให้มีการนำมาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้จังหวัดมีทรัพยากรเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะ และฟื้นฟูทรัพยากรฯ        6.ระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางพัฒนาจังหวัดระยองและการวางผังเมืองรวมใหม่ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรชะลอการให้ใบอนุญาต หรือนุมัติเห็นชอบ การขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางไว้ก่อน โดยต้องวางแนวทางและกระบวนการตัดสินใจให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ         7.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรม รวมถึงต้องเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพนาภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยเร็ว         8.นอกจากนี้เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่          9.สนับสนุนให้มีการศึกษาและแสวงหาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการผลกระทบทางสุขภาพ โดยเป็นองค์กรกลาง หรือองค์กรกึ่งตุลาการที่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 5 ภาคส่วน มีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน แก้ปัญหาความขัดแย้งรวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล          10.หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดให้มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนกลุ่มพิเศษ และกลไกสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชน สนับสนุนให้เกิดการลงทุนทางสังคม ทั้งทุนการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการและวัฒนธรรม           11.เสนอให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาสังคม และมีการจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของประชาชนจังหวัดระยองทุกปีโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่           12.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีบริการทางสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย และระบบน้ำประปาในชุมชนมาบตาพุด           13.ควรสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมในจังหวัดระยองติดตามความเคลื่อนไหวทางนโยบาย และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายในทุกช่องทาง จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเตรียมจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยมาบตาพุด" เพื่อจัดระบบการเรียนรู้และการศึกษาสำหรับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง และควรพิจารณาจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์มลพิษและโรคจากการพัฒนา" เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม