สองภาพข้างบนนี้ดูเหมือนเป็นทะเลสาบสวยๆ ที่มีน้ำใสๆ เย็นๆ น่าไปเที่ยวเล่น พายเรือ ถ่ายรูปหรือดำน้ำ ทำนองนั้นไหมคะ ?
แต่รู้ไหมว่า เนี่ยแหละ มันคือหน้าตาของ El Zacatón Cenote หรือ “หลุมยุบ” (sinkhole) ที่มีความลึกที่สุดในโลกล่ะ !
เจ้าหลุมนี้อยู่ในประเทศเมกซิโก ว่ากันว่า จากที่อยู่ๆ ผืนดินที่เคยราบก็เกิดมีหลุมขึ้นซะงั้น แล้วไม่ใช่หลุมธรรมดาเสียด้วยสิ แต่เป็นหลุมที่มีความกว้างตั้ง 100 เมตร หรือ (328 ฟุต) แล้วก็ยังลึกตั้ง 300 กว่าเมตร หรือ 1000 ฟุต แน่ะ
ถ้าจินตนาการไม่ค่อยออกว่าลึกแค่ไหน เขาบอกว่าลองเอาเทือกเขาเอเวอรเรสกลับหัว ยัดลงไปในหลุม ก็จะมิดพอดี หรือไม่ก็เอาตึก Chrysler ที่นิวยอร์กยัดลงไปในหลุมก็ได้ มันก็จะหายจ๋อมไปเลย !
ด้วยความที่มันลึกมาก ที่ผ่านๆ มาเลยไม่ค่อยมีคนเข้าไปสำรวจอะไรมากนัก จนสักปี 1994 ก็มีนักดำนำ 2 รายที่พยายามดำลงไปดูข้างล่าง แล้วก็เสียชีวิตไปซะ 1 คน จากนั้นมาก็เลยต้องคิดค้นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า DEPTHX ที่ฉลาดมากๆ สามารถสร้างแผนที่ดำน้ำได้เอง นำทางตัวเองจากแผนที่ แล้วก็เก็บตัวอย่างน้ำจุลินทรีย์ได้เองอีกด้วย พอส่งมันลงไปก็ได้ข้อมูลกลับมาบอกว่า ข้างใต้นั้นมีน้ำทั้งอุ่นๆ และน้ำพุร้อนๆ พวยพุ่ง แล้วมีกลิ่นของแก๊สไข่เน่าปะปนอยู่ด้วย
หลุมยุบเกิดที่ไหนบ้าง?
ปรากฏการณ์ “หลุมยุบ” นี้เกิดขึ้นทั่วโลกค่ะ แถมเกิดขึ้นแทบทุกๆ วันเสียด้วย(เหมือนแผ่นดินไหวในขณะนี้) เพียงแต่บางหลุมเล็ก บางหลุมใหญ่ บางหลุมเกิดในป่าเขาเข้าไม่ถึง เจออีกทีก็คิดว่าเป็นหนองน้ำธรรมชาติ โดยไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรตามมาบ้างไหม หรือเป็น “ลางสังหรณ์” บอกเหตุอะไรหรือเปล่า เราลองมาดูตัวอย่างของเมืองที่จัดว่ามีหลุมยุบเกิดขึ้นมากที่สุดดีกว่า ที่ “ฟลอริด้า” ค่ะ
การเกิดหลุมยุบในฟอริด้านั้นเป็นที่โจษขานกันมานาน จนขนานนามกันว่าไม่มีที่ไหนจะมีหลุมยุบได้มากเท่าที่นี่อีกแล้ว ในภาพด้านล่างนี้คือภาพของหลุมในมุมต่างๆ ที่ช่างภาพตระเวนถ่ายเก็บมาไว้ แค่บางส่วนเท่านั้น
มองเผินๆ แล้ว หลุมยุบพวกนี้ก็ดูสวยดีทีเดียวค่ะ ว่าไหม นั่นเพราะว่ามันไปเกิดที่ที่ไม่อันตราย หรือว่าผ่านการอนุรักษ์ ดูแล มาระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง ไหนเราลองดูหลุมยุบที่เกิดกันโจ้งๆ กลางเมืองดูสักหน่อยเป็นไร
ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจาก “หลุบยุบ” แม้จะไม่ร้ายแรงเท่ากับภัยพิบัติอื่นๆ แต่ก็นับว่าไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งการยุบตัวของดินเหล่านี้ ยังช่วยบอกหรือเตือนเราถึงปรากฏการณ์อื่นๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วย โดยจากสถิติที่ผ่านมา การเกิดหลุมยุบเล็กๆ อาจหมายถึงสภาวะบางอย่างที่ทำให้หินปูนใต้ดินมีความเปราะบาง กระทบกระเทือน เกิดเพดานหรือโพรงใต้ดิน หรือการเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้งคลื่นยักษ์ที่ทำให้ระดับน้ำและดินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย
กรมธรณีวิทยาได้บอกว่า ปัจจัยของการเกิดหลุบยุบนั้น รวมที่สำคัญๆ มีอยู่ 9 ข้อ ได้แก่
1.ที่แห่งนั้นเป็นบริเวณที่มีหินปูนรองรับอยู่ในระดับตื้น
2. มีโพรงหรือถ้ำใต้ดิน
3. มีตะกอนดินปิดทับบาง (ไม่เกิน 50 เมตร)
4. มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดิน
5. มีรอยแตกที่เพดานโพรงใต้ดิน
6. ตะกอนดินที่อยู่เหนือโพรงไม่สามารถคงตัวอยู่ได้
7. มีการก่อสร้างอาคารบนพื้นดินที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น
8. มีการเจาะบ่อบาดาลผ่านเพดานโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น ทำให้แรงดันน้ำและอากาศภายในโพรงถ้ำเปลี่ยนแปลง
9. มีผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเกิน 7 ริกเตอร์
ลักษณะที่เกิดขึ้นหลังจากเกิด “หลุมยุบ” ก็ได้แก่ ดินทรุดและยุบตัว ทำให้กำแพง รั้ว เสาบ้าน ต้นไม้ โผล่สูงขึ้น มีการเคลื่อนตัว/ทรุดตัว ของกำแพง รั้ว เสาบ้าน ต้นไม้ ประตู/หน้าต่างบิดเบี้ยว ทำให้ปิดยากขึ้น เกิดแอ่งน้ำขนาดเล็กในบริเวณที่ไม่เคยมีแอ่งน้ำมาก่อน มีต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และพืชผัก เหี่ยวเฉาเป็นบริเวณแคบๆ หรือเป็นวงกลม เนื่องจากสูญเสียความชื้นของชั้นดินลงไปในโพรงใต้ดิน น้ำในบ่อ สระ เกิดการขุ่นข้น หรือเป็นโคลน โดยไม่มีสาเหตุ อาคาร บ้านเรือนทรุด มีรอยปริแตกบนกำแพง พื้น ทางเดินเท้า และพื้นดิน
คงไม่ปฏิเสธว่า ดังนั้น ถ้าหลุมยุบมีขนาดใหญ่มาก ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก แต่หากเป็นหลุมเล็กๆ แต่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กัน บางทีนั่นอาจเป็นจิ๊กซอว์ของการเกิดหลุมยุบครั้งใหญ่ในเวลาต่อมาก็ได้นะคะ ยกตัวอย่าง เช่นที่ ฟลอริด้า จากการบันทึกสถิติ และช่วงเวลาตามลำดับ จะพบว่าก่อนจะมีการสูญเสียจากหลุมยุบครั้งใหญ่และร้ายแรงนั้น เกิดอะไรขึ้นมาก่อนนั้นบ้าง
FLORIDA 1974 - นี่คือภาพหลุมยุบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1974 ห่างจากจุดสำคัญๆ ของเมืองใหญ่ไปแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ในภาคใต้ของฟอริด้า ซึ่งทำความเสียหายไปมากพอประมาณ
FLORIDA 1985- หลุมยุบในเขตชนบท ที่ไม่ก่อความเสียหายมากนัก กลายเป็นหนองน้ำให้สัตว์เลี้ยงในเขตนั้นได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย
FLORIDA 1985- ปีเดียวกัน มีหลุมยุบขนาดกว้างในบริเวณลานหน้าบ้านของชาวบ้านครอบครัวหนึ่งในฟอริด้าเช่นกัน และก็มีปริมาณน้ำเติมเต็มหรือผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้นในปีนี้ ยังมีการค้นพบหลุมยุบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในบริเวณกลางสวน ในฟาร์มร้าง หรือแหล่งอุทยานน้ำตก ซึ่งไม่มีใครสังเกตมากนัก
FLORIDA 2002 ในปีนี้ที่ฟอริด้ามีการยุบตัวอย่างรุนแรง เพราะเกิดขึ้นกลางเมืองเลยทีเดียว รูปแบบการยุบตัวโน้มเอียงไม่เป็นแนวดิ่งซะทีเดียว บ้านแทบทั้งหลังก็ว่าได้ที่ทรุดตัวลงไปด้วย จากนั้นมาไม่นานนัก ก็เกิดการยุบตัวลงบนพื้นถนน เป็นบริเวณกว้าง ทำให้รถราที่ขับผ่านไปมาเสียหาย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ไว้ตอนหน้า เราจะมาดูปรากฏการณ์ “หลุมยุบ” ที่เกิดในประเทศไทยกันต่อ พร้อมประกาศเตือนภัย รวมถึงแนวทางการสังเกต ว่า หลุมจะเกิดได้อย่างไร มีอะไรเตือนล่วงหน้าบ้างไหม แล้วเมื่อเกิดแล้วต้องทำอะไรบ้าง อย่าลืมติดตามตอน 2 นะคะ : )
ข้อมูลและภาพอ้างอิง
www.onep.go.thสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม