ตอนแรกตั้งใจว่าจะเขียนถึงเรื่องของฝนดาวตก ซึ่งมักจะมีให้เห็นมากที่สุดในช่วงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี แต่สัปดาห์นี้ตื่นเต้นนิดหน่อยกับเรื่องของปรากฏการณ์ "พระจันทร์ยิ้ม" ซึ่งผู้สื่อข่าวเตือนว่าอย่าลืมชมความน่ารักๆ บนท้องฟ้าได้ตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตกดิน นั่นคือ 17.40 น. จนถึง 20.30 น. ของคืนวันที่ 1 ธันวาคม 2551
ความจริงปรากฏการณ์ "พระจันทร์ยิ้ม" นี้ นับได้ว่า เกิดขึ้นด้วยปรากฏการณ์ของ 2 อย่างที่รวมเอาไว้ด้วยกัน อย่างแรกก็คือ ปรากฏการณ์ของ "แสงโลก" หรือ "เอิร์ธชายน์" (Earthshine) ไม่ใช่ว่าโลกเปล่งแสงได้หรอกค่ะ แต่เป็นการสะท้อนกลับของแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก แล้วสะท้อนกลับไปยังดวงจันทร์อีกทีหนึ่ง ตามแบบจำลองในภาพข้างล่างนี้
ดังนั้นเราจึงเห็นจะมองเห็นแสงจางๆ บนด้านมืดของดาวจันทร์ (moon) ขึ้น 3 ค่ำ จากการหักเหของแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศโลก ไปตกบนดวงจันทร์ และดวงจันทร์ก็สะท้อนแสงกลับมายังดวงตาของเราอีกที
ขณะเดียวกัน อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเคียงคู่กันของดาวสองดวง นั่นคือดาวศุกร์ (Venus) และดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ซึ่งต่างเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างสดใส เคลื่อนย้ายมาอยู่ใกล้เคียงกัน ในลักษณะที่เรียกกันว่า "ตำแหน่งร่วมทิศ" หรือเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Conjunction of Venus, Jupiter, and the Moonเมื่อทั้งสองสิ่งเกิดขึ้นด้วยกัน จึงเกิดเห็น "พระจันทร์ยิ้ม" อย่างที่ใครๆ เรียกกัน ซึ่งหากก่อนหน้านี้สัก 2-3 วันใครพอจะสังเกตท้องฟ้าก็จะเป็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสเรียงตัวกันเป็นแนวดิ่ง ก่อนจะเคลื่อนมากลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพอย่างที่เห็นนี้
สำหรับปรากฏการณ์นี้ มีการพูดถึงไปทั่วโลก ซึ่งบางประเทศอย่างเช่นที่นิวซีแลนด์นั้น นั้นได้ทำการบันทึกภาพเอาไว้ตั้งแต่คืนวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเห็นเป็นของพระจันทร์หงาย แต่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับดวงดาว 2 ดวงมากนัก ดังภาพข้างล่าง
ภาพจากนิวซีแลนต์ 30 พฤศจิกายน 2551
ภาพถ่ายจากออสเตรเลีย โดย James P-Wells.
เช่นเดียวกับสำนักข่าวออนไลน์อย่าง lakeconews.com ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "เสน่ห์ที่น่าหลงใหลแห่งดวงดาว" (beautiful and fascinating show of the planets) โดยทำแบบจำลองเผยแพร่เอาไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกาที่ผ่านมา
ภาพแสดงการเคลื่อนที่ ที่จะเห็นแตกต่างกันออกไปตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2551
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
สำหรับในอดีต ปรากฏการณ์นี้ได้ถูกบันทึกเก็บไว้จากหลายแห่ง เช่นในปี 2005 Ft.Davis ก็บันทึกเอาไว้จากเท็กซัส มีลักษณะที่ออกมาคล้ายที่เห็นในบ้านเรามากทีเดียว เพียงแต่ระยะห่างของดาวศุกร์และพฤหัสนั้นจะกว้างกว่า
ภาพโดย Davis เมื่อ 9 มิถุนายน 2005
ภาพโดยผู้ใช้นามแฝงว่า Stellagaze เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2008 ที่ผ่านมา
ภาพโดย Dennis Simmons, Brisbane, Australia ปี 2006
ส่วนภาพแสดงปรากฏการณ์อยู่ร่วมทิศของดาวศุกร์และพฤหัส โดยไม่มี Earthshine เมื่อ 11 เมษายนปี 2004
ภาพนี้แสดงปรากฏการณ์ Earthshine ร่วมกับดาวศุกร์(Venus) โดยปราศจากดาวพฤหัส
คิดเหมือนกันไหมคะว่ารอยยิ้มจากท้องฟ้าในบ้านเรานั้นค่อนข้างสมบูรณ์มากทีเดียว และนับว่ามองเห็นได้ชัดเจน สวยไม่แพ้ที่เคยมีคนบันทึกภาพได้จากที่อื่นๆ ทีเดียว หากใครพลาดไปแล้วอยากดูพระจันทร์เสี้ยวครึ่งดวงอีก ในเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยนั้นให้ข้อมูลเอาไว้ว่า
เช้ามืดวันที่ 19 ธันวาคม และ 25-26 ธันวาคม จะเป็นวันสุดท้ายที่ได้เห็นดวงจันทร์เสี้ยวใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกมากที่สุด เป็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง ปรากฏบนฟ้าทุกวันที่มาให้เห็นตั้งแต่เช้ามืด หลังจากนั้นดวงจันทร์ก็จะเคลื่อนไปอยู่แนวเดียวกับพระอาทิตย์ จนถึงวันที่ 29 ธันวาคมโน่นค่ะ เราถึงจะเห็นพระจันทร์อีกครั้ง ที่มาพร้อมกับ ดาวพุธ (Mercury) และ ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) นั่นเอง : )
ข้อมูลอ้างอิง
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/
http://www.lpod.org/?m=200609
http://home.hiwaay.net/~krcool/Astro/moon/earthshine
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/meteors/2008meteors.html
http://www.earthsky.org/radioshows/52786/moon-venus-jupiter-on-december-1
http://www.paulandliz.org/Moon_and_Planets/Moon_and_Venus_190407.jpg
http://lakeconews.com/content/view/6485/771/