ตอนที่แล้วเล่าถึง “หลุมยุบ” หรือ Sinkhole ในต่างประเทศไปแล้ว คราวนี้มาดูหลุมยุบในบ้านเรากันบ้างนะคะ
ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเป็นต้นมา (2547) หลายคนบอกว่า มีข่าวหลุมยุบให้ฟังอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน มาดูตัวเลขที่กันดีกว่าค่ะ
หลุมยุบในประเทศไทย
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีแจ้งว่า มี “หลุมยุบ” ที่ได้รับแจ้งและเข้าไปตรวจสอบแล้วถึง 53 หลุม ใน 16 จังหวัด แน่ะ ไม่นับรวมกับที่เราสังเกตไม่เห็น อยู่ลึกจนไม่มีใครพบ หรือ พบแล้วแต่ไม่ได้แจ้งนะคะ
ในวันเดียวกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ คือ 26 ธันวาคม 2547 นั้น เกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 19 จุด ส่วนใหญ่เกิดใน 4 จังหวัด คือ สตูล พังงา กระบี่ และตรัง บางส่วนเกิดในอ่าวไทยและจังหวัดเลย
หลุมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่สำรวจพบในตอนนี้ อยู่ที่ ต.ขอนหาด อ.ชะอวด นครศรีธรรมราช มีขนาด 40 x 40 เมตร ลึกถึง 17 เมตร โดยกรมทรัพยากรธรณีได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยจากภาพดาวเทียม และประกาศเตือนล่วงหน้าเขตเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงประกาศที่เสียงภัยดินถล่มสูงอีกด้วย
หลุมยุบที่น่าน
สำหรับเหตุการณ์หลุมยุบต่อๆ มา ที่มีการรับแจ้ง มีทั้งในจังหวัดน่าน ลึก 1.50 เมตร ในวันที่ 23 สิงหาคม 2547 เกิดที่ ต.บ่อ และ ต.เรือง จ.น่าน
หลุมยุบที่ตรัง
สำหรับปีนี้ ที่ตกเป็นข่าวก็ได้แก่ เมื่อ 12 พฤษภาคม 2551 ที่ อ.ห้วยยอด จังหวัดตรัง หลุมยุบในสระน้ำขุมชุมทอง บ้านวังสมบูรณ์ ทำให้น้ำไหลลงเข้าไปในหลุมจนน้ำในสระลดลงอย่างรวดเร็ว
ถัดมาคือที่หนองบัวลำภู เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมานี้เอง บริเวณ ต.ด่านช้าง อ.นากลาง มีขนาดกว้าง 5 เมตร ลึกถึง 6 เมตร
หลุมยุบที่หนองบัวลำภู
ถึงตอนนี้ คงไม่ต้องสงสัยอีกว่า หลุมยุบ เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และเกิดที่ไหนได้บ้าง คำตอบก็คงจะเป็น “เกิดได้ทุกๆ แห่ง” โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่เคยมีการประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดหลุมยุบอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็หายเงียบไป
ซึ่ง 49 จังหวัด ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบนั้น ได้แก่ (เรียงตามอักษร) กระบี่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาถ ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พังงา พัทลุง พิษณุโลก เพรชบุรี เพรชบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองบัวลำภู อุดรธานี อุตรดิตถ์ และ อุทัยธานี
จากภาพนี้ สัญลักษณ์สีดำๆ ที่เป็นแนวเทือกเขานั้น หมายถึง บริเวณที่มีภูเขาหินปูน ซึ่งพื้นที่ถัดมา พื้นขาวและเส้นแดงๆ หมายถึงบริเวณที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบ และจุดสีเขียว หมายถึง จุดที่เกิดหลุมยุบแล้วหลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมา
ทีนี้ เมื่อยอมรับว่ามันต้องเกิดแล้ว เราจะป้องกันอย่างไรได้บ้าง หรือ รู้ได้อย่างไรกันนะว่าจะเกิดเหตุการณ์หลุมยุบขึ้น
สิ่งบอกเหตุก่อนเกิดหลุมยุบและโพรงยุบในพื้นที่ราบที่อยู่ใกล้เขาหินปูน
1. ให้สังเกตว่ามีเสียงดังคล้ายฟ้าร้องจากใต้ดินหรือเปล่า ซึ่งเกิดจากการถล่มของเพดานโพรงหินปูที่หล่นลงกระแทกผืนถ้ำใต้ดิน อาจะเกิดก่อนหลายนาที หรือ หลายชั่วโมง หรือเป็นวันก็ได้
2. สังเกตว่ามีน้ำทะลักพุ่งขึ้นจากใต้ดิน หลังจากได้ยินเสียงแปลกๆ หรือไม่
3. ก่อนการยุบตัว ดินรอบข้างจะมีรอยร้าวอย่างผิดสังเกต ซึ่งรูปร่างส่วนใหญ่จะกลม หรือ เป็นวงรี คล้ายร่างแห หรือ ไยแมงมุม ขนาดรอยร้าวจะใกล้เคียงกับโพรงหรือถ้ำที่อยู่ใต้ดิน ทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร
5. สิ่งก่อสร้างที่หยั่งลึกลงใต้ดิน เช่น ท่อน้ำ เสา รั้ว จะมีลักษณะคดโค้งหรือเลื่อนตัวผิดสังเกต
6. บางครั้งพบว่า น้ำตามบ่อบาดาล หรือ บ่อน้ำใกล้เคียง สีขุ่นข้น หรือเป็นโคลน จากการพังทลายของผนังถ้ำใต้ดิน
มาตบท้ายกันที่ข้อปฏิบัติของพวกเรา ในกรณีที่พบสิ่งบอกเหตุเกิดหลุมยุบและโพรงยุบในพื้นที่ราบกันนะคะว่าต้องทำอะไรบ้าง
1. ถ้าได้ยินเสียงดังๆ หรือพบสิ่งบอกเหตุอื่นๆ ให้รีบออกจากบริเวณนั้นทันที ถ้าเป็นเขตบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ให้อพยพออกไปอย่างน้อยห่าง 100 เมตร
2. รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือ กำนัน ผู้ใหญ่แล้ว แล้วทำการกั้นเขตไว้โดยสัญลักษณ์ เช่น ไม้ ด้าย เชือก ธง ฯลฯ
3. สังเกตขนาดและทิศทางของหลุม ถ้าลักษณะเป็นแนวยาวก็กั้นเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะแปลว่าหลุมอาจเป็นแนวยาว ไม่ใช่แค่วงกลม
4. ทำป้ายประกาศเตือนภัยตามแบบประกาศเตือนภัยหลุมยุบของกรมทรัพยากรธรณี หรือ ป้ายเตือนให้เห็น 4 ด้าน ชัดเจนจากระยะ 50 เมตร
5. หลังเกิดสิ่งบอกเหตุ หลุมยุบอาจจะเกิดขึ้นเลยในเวลาไม่กี่นาที หรือ ขยายไปหลายวัน ดังนั้น ไม่ควรใกล้พื้นที่ดังกล่าว แม้จะไม่เกิดหลุมยุบก็ตาม แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแทน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งการสังเกตง่ายๆ หากมีโอกาสได้ขึ้นไปอยู่บนที่สูง เช่น ภูเขา ยอดตึก แล้วมองลงมาด้านล่างหลังจากฝนตกไปสัก 1-2 ห่าใหญ่ๆ จุดที่เสี่ยง หรือ ยุบไปบ้างแล้ว ก็คือจุดที่มีน้ำขัง ดังภาพข้างบนนี้ค่ะ
ดังนั้น หากเจอหลุมยุบ ก็อย่านิ่งดูดายนะคะ มาช่วยกันสังเกต แจ้งเตือน ทำเครื่องหมายไว้ แล้วก็เฝ้าระวังว่าจะเกิดดินถล่มตามมาด้วยหรือเปล่า เพื่อรอดพ้นจากอันตรายด้วยกันนะคะ. : )
ข้อมูลและภาพอ้างอิง
www.geology.com
www.jsg.utexas.edu
www.clipmarks.com
www.onep.go.th สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
www.scratchpad.wikia.com
www.aquat1.ifas.ufl.edu/guide/sinkholes.html