ในช่วงนี้ คำว่า Storm Surge หรือ Tidal Surge หรือที่ไทยเรียกว่า คลื่นพายุซัดฝั่ง น่าจะทำให้ใครๆ วิตกอยู่บ้าง เพราะมีความคล้ายคลึงกับการเกิดสึนามิ มีรูปแบบการเคลื่อนตัวของคลื่นขนาดใหญ่พัดเข้าชายฝั่ง แต่ที่แตกต่างกัน คือ สึนาเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ แต่ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ
หลังจาก ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาเตือนให้รับมือกับภัยพิบัติในกรุงเทพฯ และถึงกับประกาศลาออกเพราะไม่มีหน่วยงานสนใจเรื่องนี้ ผู้เขียนเลยคิดถึงคำว่า “ถ้า” ซึ่งมีความหมายได้สองอย่าง คือ ให้สบายใจเพราะอาจจะไม่เกิดก็ได้ อีกด้านคือไม่น่านิ่งนอนใจเลย แม้ Storm Surge จะเกิดหรือไม่ ในข่าวก็ยังมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนทฤษฎีที่จะก่อให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงอยู่หลายประการทีเดียว
เราลองไปดูกันกว่าค่ะ ว่าเหตุผลเหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง
ภาพพายุคลื่นทะเล Tidal Surge จาก www.guardian.co.uk
เหตุผลแรก ที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว ว่าภาวะโลกร้อนทำให้อูณหภูมิสูงขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงเกิดพายุมากขึ้นทุกขณะ และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมา อากาศร้อนทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายตัว อย่างรวดเร็ว จนนักวิทยาศาสตร์ 3 ประเทศคืออังกฤษ เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา เคยให้ข้อมูลในนิตยสาร “เจอนอล เนเจอร์ จีโอ ไซอัน” ว่าภายในปี พ.ศ.2643 นี้ ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีก 88 เซนติเมตร แต่ในเมื่อน้ำแข็งไม่ได้ละลายต่อเนื่องอย่างเดียว แต่ส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งถาวรที่อยู่ใต้พื้นโลกละลายไปด้วย “จุดใต้พื้นที่โลก” ที่เคยเป็นน้ำแข็งก็กลายเป็นรูรั่วใต้ดิน จึงส่งผลให้น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 163 เซนติเมตร และผลลัพธ์คือสภาพภูมิศาสตร์ของโลกก็เปลี่ยนไปด้วย และน้ำหนักโลกไม่เท่ากัน
เหตุผลต่อมา เมื่อโลกมีน้ำทะเลสูงขึ้น เปลือกโลกก็จะเริ่มเคลื่อนไหว เหตุการณ์แผ่นดินไหวก็จะตามมามากขึ้น อย่างที่เห็นตัวอย่างมากมาย แค่สัปดาห์ที่แล้วเฉพาะในเอเชียก็มีทั้งจีน พม่า ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่นที่เกิดหลายครั้งต่อกัน
ว่ากันว่า รอยต่อของเปลือกโลกในทะเลอันดามัน เช่นประเทศอินโดนิเซียและฟิลิปินส์ดูจะมากที่สุด
ภาพถ่ายแผนที่โลกที่เปลี่ยนไปจากองค์การ NASA และ ภาพถ่ายก่อน และ หลัง ภูเขาหิมะละลายในทิเบต
ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลจากองค์การนาซา(NASA-องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติอเมริกา) ระบุว่าระดับน้ำในประเทศไทยจะสูงขึ้น 7 เมตร ดังนั้น เมืองหลวงของประเทศควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 40-50 เมตร ในขณะที่กรุงเทพสูงกว่าระดับน้ำทะเล อยู่ที่ 1 เมตรโดยเฉลี่ยและทรุดลงทุกปี นั่นเป็นเหตุผลที่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซ่า แนะนำว่าภายใน 6 ปีรัฐบาลต้องเริ่มคิดย้ายเมืองหลวงได้แล้ว และคาดการณ์ว่าอีก 30 ปี ภาคกลางของไทยก็จะจมลงทะเล
อีก 30 ปีอาจจะยังฟังดูนานอยู่ ส่วนตอนนี้ มีการคาดการณ์ว่าถ้าแผ่นดินไหวเกิดบ่อยๆ ตามคาด เปลือกโลกที่ร้าวก็จะทำให้ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และจันทบุรีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและอาจทำให้เขื่อนที่กาญจนบุรีแตกได้ ถ้าแตกก็จะส่งผลให้กาญจนบุรีจมน้ำ แล้วไหลมาท่วมนครปฐมและกรุงเทพฯ ในที่สุด
เหตุผลทั้งหมดนี้เกื้อหนุนกันเพราะว่า ตามสถิติ ช่วงสิงหาคม-กันยายน ที่ความกดอากาศสูงและเกิดพายุขึ้นบ่อยอยู่แล้ว ก็จะเกิดบ่อยกว่าเดิม เมื่อความกดอากาศจีนทวีกำลังแรง และดันร่องมรสุมลงมาทางใต้ ถึงอ่าวไทยตอนบน และเจอกับพายุหมุนตามชายฝั่ง
ภาพจำลองการเกิด Storm Surge จากเวบไซต์ www2.sunysuffolk.edu
พายุที่หมุนๆ จะมีตาพายุที่มีความกดอากาศน้อยกว่าเขตพายุรอบๆ จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ แต่พายุที่หมุนรอบๆ จะกวาดผิวน้ำให้มารวมตัวกันเป็นคลื่นที่สูงกว่าปกติได้มาก และซัดคลื่นสูงนี้เข้าหาฝั่ง สร้างความเสียหายที่เรียกว่า สตอร์ม เซอจ (Storm Surge) นั่นเอง ซึ่ง กทม.ได้นำระบบ ICS ของอเมริกามาคาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ก็ระบุพื้นที่ว่า “ถ้าเกิดในกรุงเทพฯ” ได้แก่ ตั้งแต่แยกเขตบางนา ไป จ.สมุทรปราการ ส่วนเขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง อาจจมใต้น้ำถึง 1 เมตร ส่วนพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ จะมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร
อย่างไรก็ตามนี่เป็นแค่การคาดการณ์ ดังนั้นจึงมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ ถ้าถามว่าประเทศไทยเคยเจอกับเหตุการณ์นี้หรือไม่ คำตอบก็คือ เคยเกิดมาแล้ว ได้แก่
ปี พ.ศ.2505 – พายุแฮเรียต (HARRIET) เกิดขึ้นในแถบปลายแหลมญวนบริเวณหมู่เกาะปูลูกองดอร์ ต่อมาซัดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 25 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 คน สูญหาย 160 คน บาดเจ็บ 422 คน ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน
ปี พ.ศ. 2513 พายุโซนร้อน รู้ธ (RUTH) เคลื่อนเข้าระหว่างชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ลงอาวมะตะบันและวกไปเลียบฝั่งพม่า ก่อความเสียหายมากโดยเฉพาะชุมพร น้ำท่วม ถนนขาด
ปี พ.ศ.2535 พายุเกย์ (GAY) ถล่มหลายพื้นที่ในจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้เสียชีวิต 602 คน บาดเจ็บ 5,495 คน บ้านเรือนเสียหาย 61,258 หลัง
ปี พ.ศ. 2540 พายุลินดา LINDA ซัดซ้ำรอยเดิมในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ซัดเรือประมงอับปางกว่า 50 ลำ ถนนถูกตัดขาด
ปรากฏการณ์ของ Storm Surge นั้น ถือกันว่าน่ากลัวกว่าสึนามิ เพราะจะมีทั้งลมพายุ ฝนตก และน้ำท่วม ท้องฟ้าปั่นป่วน ไม่แจ่มใส เมฆฝนจะก่อตัวขึ้นและลมพัดแรง เกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก เมื่อศูนย์กลางพายุเคลื่อนที่เข้าใกล้ก็จะยิ่งหอบเอาคลื่นน้ำขนาดใหญ่ซัดเป็นระลอก ความเสียหายจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นทวีคูณ เหมือนที่เคยเกิดพายุนาร์กีสมาแล้วที่พม่า และเกิดในแบบกะทันหัน ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆเตือนภัยอีกด้วย
นอกจากนี้ การคาดการณ์บอกว่า Storm Surge อาจจะไม่ได้เกิดแต่เฉพาะในทะเลอ่าวไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดได้ในทะเลสาบสงขลา หนองหาร สกลนคร หรือ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา เพราะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ภาพแผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร 2551
ในบทความด้านสิ่งแวดล้อมจากเวบไซต์ www.bluecrab.org ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า สิ่งแรกที่มีการเตือนภัยก็คือ ให้คิดแผนสำรองเอาไว้แต่เนิ่นๆ ว่าควรจะอพยพไปที่ไหนได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีบ้านติดกับทะเลหรือแม่น้ำ เผื่อไว้ว่าจำเป็นต้องไปก็จะได้คิดออกได้ทันทีแม้จะไม่มีประวัติว่าเคยถูกพายุคลื่นซัดฝั่งมาก่อนก็ตาม และควรสำรองอาหารเอาไว้แต่เนิ่นๆ เก็บข้าวของให้ปลอดภัย แม้บ้านไม่ติดทะเลแต่ก็มีโอกาสน้ำท่วมขังยาวนานนับเดือน หากเป็นไปดังคาด ก็เท่ากับจะไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ด้วยเช่นกัน
คิดเผินๆ ก็ดูจะน่ากังวล แต่ก็ไม่ควรวิตกเกินไป และอย่าลืมว่าเรากำลังอยู่กับคำว่า “ถ้า” ที่มีความหมายสองด้านไว้เตือนเราอยู่นั่นเอง.
เรื่องน่ารู้ฉบับนี้ แถมท้ายด้วยภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอดีตเป็นของแถมก็แล้วกันนะคะ
ปี 2485 ได้เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร (ของคนยุคนั้น) ให้กลายเป็นทะเล (น้ำจืด) ขนาดใหญ่ ที่ในหลายๆ พื้นที่มีคนนำเรือออกมาพายกันเป็นทิวแถว น้ำท่วมปี 2485 ทำให้ถนนราชดำเนินกลายเป็นทะเลสาบไปโดยปริยายรวมถึงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย (บันทึกจากหนังสือสารานุกรมไทย)
ข้อมูลอ้างอิง
www.earthsci.org/processes/weather/wea1/wea1.html
www.bluecrab.org/environment/stormsur.htm
www.current.com/items/87049511_tidal_surge_raises_east_coast_flood_alert
www.news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/england/7085394.stm
www.guru.sanook.com/encyclopedia/
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4
www.pantown.com
www.thatphanom.com
www.tmd.go.th
www2.sunysuffolk.edu/mandias/38hurricane/storm_surge_maps.html