หลายคนเคยบอกว่า ไม่น่าเชื่อที่ชื่อสวยๆ อย่าง นากรี รูซา นิดา เกศนา สาลิกา คัมมุริ ฯลฯ และอีกหลายชื่อที่มีความหมายน่ารักๆ ถึง ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ เหล่านี้จะเป็นชื่อของพายุไปได้ อาจเพราะความจริงแล้วพายุ หรือวาตภัยส่วนใหญ่นั้นมีพิษสงทำลายล้าง ทำความน่าสะพรึงกลัวกับพวกเราชาวโลกไม่น้อยนั่นเอง เรื่องน่ารู้ฯ ตอนนี้เลยอยากเอาชื่อพายุมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ภาพเมฆฝนและพายุในจังหวัดเชียงใหม่ ปลายเดือน กรกฎาคม 2551
ชื่อของพายุนั้น ว่ากันว่า เดิมทีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตั้งชื่อพายุทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะสมัยก่อนสหรัฐนั้นถือว่าเป็นผู้นำด้านนี้ มีอุปกรณ์พร้อมในการตรวจสภาพอากาศ ดูพายุเคลื่อนไหว ชื่อที่ใช้ตั้งในอดีตบางครั้งมาจากนักเดินเรือที่เจอพายุในทะเล ก็จะตั้งชื่อเป็นคนรักเพื่อคลายความคิดถึงแฟน ชื่อก็เลยออกมาหวานๆ สวยๆ เป็นชื่อของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ฟังดูแล้วไม่รุนแรง ไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นจริง โดยพายุโซนร้อนลูกแรกถูกตั้งชื่อว่า จูเลียต (Juliet)
แต่ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ ต่อให้ชื่อสวยหวานแค่ไหน พายุก็มีแรงมหาศาลที่จะคร่าชีวิตผู้คนไปได้มากในแต่ละปี จนต่อมานักสิทธิสตรีในสหรัฐฯ ประท้วงว่า ชื่อพายุผู้หญิงทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงดูโหดร้ายอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ควรจะมีชื่อผู้ชายด้วยเช่นกัน
ปี 2000 หรือ 8 ปีที่แล้วนี้เอง ที่เริ่มมีการเสนอชื่อพายุ ให้แต่ละประเทศตั้งได้ 10 ชื่อ เป็นภาษาถิ่น รวมทั้งไทยเราด้วย พอรวมกันทั้งหมดแล้วได้ 140 ชื่อ ก็แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คละกันไป กลุ่มละ 28 ชื่อ เรียงตามลำดับอักษร จากกัมพูชาไปจนถึงเวียดนาม ไทยอยู่อันดับที่ 12 พอใช้ครบก็วนกลับมาใช้กลุ่มต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับไทยนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาเสนอชื่อเข้าไปได้แก่ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา มรกต นิดา ชบา กุหลาบและขนุน
มาดูวิธีการตั้งชื่อพายุกันค่ะ 5 หลักการตั้งชื่อคือ
ข้อที่ 1 เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 นอต หรือ 62 กม./ชม. พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ
ข้อที่ 2 ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ที่คอลัมน์ที่หนึ่งตัวบนสุดก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1. เป็นตัวแรกของปี พายุนั้นจะมีชื่อว่า ดอมเรย์ (Damrey) เป็นชื่อจากกัมพูชา หรืออักษรตัวแรก (ก ไก่) มีความหมายถึง ช้าง
ข้อที่ 3 เมื่อมีพายุตัวต่อไปเกิดขึ้นอีก และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1. พายุนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมาในคอลัมน์ที่ 1 เช่น พายุตัวที่สองจะมีชื่อว่า หลงหวาง (Longwang) หมายถึง พญามังกร มาจากประเทศจีน
ข้อที่ 4 เมื่อใช้จนหมดกลุ่มแรก ก็ให้ใช้ชื่อแรกของกลุ่มถัดไป
ข้อที่ 5 เมื่อใช้จนหมดกลุ่มที่ 5 แล้ว ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
สำหรับชื่อพายุที่เสนอเข้าไปนั้นมีถึง 140 ชื่อ ซึ่งคงมากมายเกินกว่าจะเอามาเล่าได้หมด เรามาดูเฉพาะในปี 2549-2551 ก็แล้วกันค่ะว่าพายุที่ถล่มไปประเทศไทยเรานั้น มีชื่อและความหมายถึงอะไรกันบ้าง
ภาพความเสียหายจากพายุทุเรียน
ภาพถ่ายพายุช้างสาร
ปี 2549 หรือ 2 ปีก่อน ในไทยมีพายุลูกใหญ่ 2 ลูกคือ ทุเรียน (Durain : 26 พย.-5 ธค.2550) ชื่อผลไม้ไทยๆ ของเราเอง และ ช้างสาร (Xangsange: 25 กย.-2 ตค. 2550) ชื่อจากประเทศลาว 25 กย.-2 ตค. 2550
ปี 2550 ปีที่แล้วมีก็มี 2 ลูกใหญ่ๆ ที่ถล่มชุมพรกับระนอง คือ พายุ เพผ่า (Peipah: 3-9 พย.2550) ชื่อจากมาเก๊า หมายถึงปลาสวยงาม และ เลกีมา (Lekima : 30 กย.-3 ตค.2550) ชื่อจากเวียดนาม หมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง
สำหรับปี 2551 เราเจอพายุเข้าไป 3 ลูกแล้วได้แก่ พายุ ฟงเฉิน (Fengshen) ชื่อจากจีน หมายถึง เทพเจ้าแห่งลม ถล่มไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ตามด้วย พายุ ฟองวอง (Fung-wong) ชื่อจากจีน หมายถึง ยอดเขา ถล่มไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม
และขณะนี้ต้นเดือนสิงหาคม บ้านเรากำลังได้รับอิทธิพลจากพายุที่ชื่อ คัมมุริ (Kumuri) ชื่อจากญี่ปุ่น ที่หมายถึงมงกุฎอันสวยงาม ซึ่งทำผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 100 คนในขณะนี้
สำหรับชื่อของพายุ นาร์กีส ที่ก่อความเสียหายมหาศาลไปช่วงก่อนนั้น เป็นชื่อจากปากีสถาน หมายถึง ดอกไม้ ซึ่งมาจากชื่อเด็กหญิงชาวมุสลิมนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
http://www.usatoday.com/weather/hurricane/2006-12-05-durian-vietnam_x.htm
http://www.china.org
http://th.wikipedia.org
http://www.tmd.go.th/storm_tracking.php กรมอุตุนิยมวิทยา