Skip to main content

บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)

ถึงแม้ว่าเสรีนิยมในงานของมิลล์จะมีส่วนผสมของระบอบคุณพ่อรู้ดีอยู่มาก ทั้งยังวางอยู่บนโมเดลประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์และไม่เท่าเทียมกันนัก แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าระหว่างความคิดแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม นักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตยยังคงจัดขบวนตัวเองอยู่ในฝักฝ่ายหรือขบวนการทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ฝักฝ่ายเหล่านั้นต่างขัดแย้งกันโดยตรง เช่นเมื่อเสรีนิยมหันมาวิพากษ์การที่รัฐรุกล้ำ [อาณาบริเวณส่วนตัวของประชาชน – ผู้แปล] มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอธิบายอย่างแม่นยำว่านี่เป็นผลพวงของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเมื่อนักประชาธิปไตยโจมตีกับการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ปรากฏเด่นชัด โดยชี้อย่างแม่นยำเช่นกันว่ามันเป็นผลพวงจากพัฒนาการของประชาธิปไตยอันเชื่องช้าและเป็นผลของอุปสรรคขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยที่ความมั่งคั่งร่ำรวยอุ้มชูไว้ ความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยในพื้นที่นี้สามารถพิจารณาจากแง่มุมอื่นได้เช่นกันว่า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพัฒนาการของทฤษฎีเสรีนิยมกับการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอำนาจนิยมด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ ในขณะที่พัฒนาการของทฤษฎีประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองทางการเมืองหรือเชิงสถาบันมากกว่า กระนั้นก็ดี ทฤษฎีกับขบวนการของเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่างก็เป็นปรปักษ์ต่อกันและกันตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

 

นักเสรีนิยมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างหรืออ้างสิทธิและเสรีภาพที่เชื่อมโยงกับยุคฟื้นฟูกษัตริย์ (Restoration) อีกทั้งยังระแวงสงสัยต่อความโหยหาอดีตยุคปฏิวัติของพวกนักประชาธิปไตย ขณะที่นักประชาธิปไตยมองว่า ยุคฟื้นฟูกษัตริย์ได้เหนี่ยวรั้งกระบวนการปลดปล่อยประชาชนที่ริเริ่มจากการปฏิวัติฝรั่งเศสไว้จนแคระแกร็น ขณะเดียวกันก็มองว่านักเสรีนิยมเป็นพวกพรรคสายกลางเท่านั้น จนกระทั่งยุครุ่งเรืองของพรรคสังคมนิยม สมาชิกรัฐสภาจึงถูกแบ่งออกเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคหัวก้าวหน้า การก่อตัวของสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งระหว่างนักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย เราสามารถทำความเข้าใจการเมืองแบบวิภาษวิธีได้ดีที่สุดด้วยการมองว่ามันคือความเป็นปริปักษ์ระหว่างสองฝ่ายที่ว่านี้ แม้ว่าในอังกฤษ บ้านเกิดเมืองนอนของระบอบรัฐสภาและการปกครองแบบสองพรรค คนเหล่านี้จะแทนตัวเองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยม (ซึ่งเป็นชื่อที่ยังคงอยู่แม้นโยบายของพวกเขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด) ก็ตามที ปัจจัยโน้มเอียงที่ทำให้ขนบแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเข้าบรรจบกันเรื่อย ๆ ประการแรกสุด คือการก่อตัวของพรรคสังคมนิยม และที่สำคัญกว่านั้นในยุคของเรา คือการสถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่ใช่ทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย อย่างระบอบฟาสซิสม์และระบอบที่ขึ้นสู่อำนาจโดยผลจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย ความแตกต่างดั้งเดิมระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยค่อย ๆ ลดน้อยลงเหลือเพียงความไม่สอดคล้องทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง เมื่อทั้งสองถูกท้าทายโดยปรากฏการณ์ของระบอบอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ในศตวรรษที่ 20

 

ความคิดทางการเมืองของอิตาลีในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 (ซึ่งเดินตามความคิดทางการเมืองทั่ว ๆ ไปของยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส) แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ชัดเจนอย่างยิ่งระหว่างสกุลความคิดแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตย สิ่งนี้ถูกเน้นย้ำผ่านการปรากฎตัวสู่เวทีการเมืองของมาซซินี (Mazzini, 1805-1872) นักเขียนและผู้นำทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันนอกประเทศในฐานะหนึ่งในแบบฉบับของผู้สนับสนุนความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วยุโรปเมื่อพวกอำนาจนิยมเก่าถูกท้าทาย

 

ฟรานเชสโก เดอ ซังก์ติส (1817-1883) อธิบายงานเขียนของมาซซินี ด้วยการไล่เรียงและเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎีเสรีนิยมและทฤษฎีประชาธิปไตย เขาโต้แย้งว่า ทั้งสองสิ่งคือกระแสที่ขับเคลื่อนความคิดสาธารณะของอิตาลีในศตวรรษที่ 19 และถึงแม้จะสนใจแง่มุมทางวรรณกรรมเป็นประเด็นหลัก แต่เขาย้ำว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างทฤษฎีทั้งสองอันนำมาซึ่งเป้าประสงค์ทางการเมือง ศีลธรรม และศาสนาที่แตกต่างจากกลุ่มทางวรรณกรรมแท้ ๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสังคมอิตาลีทั้งสังคมไม่ใช่เฉพาะแค่ในแวดวงปัญญาชนด้านวรรณคดีแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ในข้อถกเถียงของเขาเกี่ยวกับมาซซินี เดอ ซังก์ติสยังได้ชื่นชมบทบาทของมาซซินีในการผลักดันการศึกษาระดับชาติผ่านการกระตุ้นกลุ่มเยาวชนฝ่ายซ้ายให้อุทิศตนเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศเสียใหม่ และส่งเสริม "ทัศนคติใหม่ ๆ ต่อชนชั้นล่าง มโนทัศน์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับว่าอะไรความเป็นชาติ ซึ่งแตกต่างกับสิ่งที่พวกฝ่ายขวายึดถือ เหตุเพราะมีความกว้างขวางกว่า หัวสูงน้อยกว่า และอำนาจนิยมน้อยกว่า"[1] เขามองว่า เสรีนิยมได้ละทิ้งเป้าหมายของเสรีภาพสูงสุดที่นักปรัชญานักปฏิวัติในศตวรรษที่ 17 ได้เรียกร้อง และมองหาเสรีภาพในความหมาย "เชิงวิธีการ" อันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงแนวทางหรือหนทางสู่เสรีภาพตามกฎเกณฑ์ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนได้ เขามองว่า สกุลความคิดเสรีนิยมนั้นมีหลักการร่วมที่ออกจะ

 

เปิดโอกาสให้มนุษย์แสวงหาปลายทางในทิศทางที่หลากหลายที่สุด ถึงตรงนี้ เราจึงได้เห็นพวกนักบวชเป็นห่วงเป็นใยในเสรีภาพของศาสนจักร พวกอนุรักษ์นิยมร้องหาเสรีภาพของชนชั้นสูง พวกนักประชาธิปไตยร้องหาเสรีภาพของชนชั้นล่าง มิตรสหายผู้ก้าวหน้าเสาะหาหนทางข้างที่ปราศจากการรบกวนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ[2]

 

ตรงกันข้าม เดอ ซังก์ติส โต้แย้งว่า สกุลความคิดประชาธิปไตยนั้นได้รับแรงดลใจจากอุดมคติของสังคมใหม่ที่ "วางรากฐานอยู่บนความยุติธรรมแบบกระจาย (distributive justice) และความเท่าเทียมกันในสิทธิ ซึ่งสำหรับประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลายแล้วหมายถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นจริงด้วย" สำหรับนักประชาธิปไตย เสรีภาพไม่ใช่กระบวนการ แต่เป็นบางสิ่งที่เป็น "สาระสำคัญ"[3] เขาขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า

 

ในที่ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เสรีภาพอาจถูกอ้างถึงไว้ในกฎหมายหรือบทบัญญัติต่าง ๆ ทว่ามันไม่ได้มีอยู่จริง ไม่มีเสรีภาพทั้งสำหรับชาวนาที่ตกอยู่ใต้อาณัติของเจ้าที่ดิน สำหรับผู้วิงวอนขอความสงเคราะห์เมตตาจากเจ้าขุนมูลนาย หรือสำหรับข้าทาสผู้ถูกบังคับให้ตรากตรำทำงานหนักในท้องทุ่งอย่างไม่หยุดหย่อน[4]

 

เดอ ซังก์ติสสรุปว่า ความคิดเช่นนี้จะนำทางไปสู่ความเป็นสาธารณรัฐ (res publica) ที่ "ไม่ใช่การปกครองของคนนั้นคนนี้ หรือโดยอำนาจตามอำเภอใจใด ๆ ทั้งยังไม่ใช่การครอบงำของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่เป็นการปกครองของคนทุกคน"[5] รัฐที่เห็นว่าเสรีภาพไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าวิธีการอาจวางตัวเป็นกลาง ไม่โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด และไม่เชื่อในพระเจ้า ขณะที่รัฐที่เป็นของทุกคนอย่างเช่น สาธารณรัฐ นั้นไม่สามารถทำอะไรเช่นนี้ได้ กลับกัน สาธารณรัฐต้องมุ่งให้ความรู้แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากที่กระบวนการหลอมรวมชาติเป็นปึกแผ่นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสิ้นสุดลง

 

กระนั้น ในบริบทของอิตาลี ตัวอย่างที่ดีของความขัดแย้งอันยืนยงอย่างที่ปรากฏขึ้นระหว่างช่วงรวมชาติ (the Risorgimento) สะท้อนให้เห็นจากบุคลิกที่แตกต่างกันของคาวัวร์ (Cavour, 1810-1868) กับมาซซินี คาวัวร์ผู้ได้ศึกษาความคิดของเบนแธมและกงสต็องมาในวัยเยาว์ ยึดมั่นในหลักการของตนไว้ด้วยความศรัทธา เขาหยิบยืมความคิดของเบนแธมที่ว่า ทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาตินั้นขาดรากฐานรองรับ ทั้งยังเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเป็นเลิศของอรรถประโยชน์นิยมมากเสียจนยินดีที่ได้เรียกตนเองว่าเป็น "พวกนิยมเบนแธมสายแข็ง" (hardened Benthamite)[6] ขณะที่มาซซินีโต้แย้งไว้ใน I sistemi e la democrazia. Pensieri (1850) หนึ่งในงานเขียนที่อธิบายทฤษฎีของเขาได้ดีที่สุดว่า เบนแธนและทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมของเขานั้นเป็นแหล่งกำเนิดขั้นปฐมของหลักปรัชญาวัตถุนิยม (materialism) ที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมนับตั้งแต่ แซ็งต์-ซิมง (Saint-Simon, 1760-1825) ไปจนถึงความคิดคอมมิวนิสต์ (กระนั้น เขากลับไม่ได้กล่าวถึง มาร์กซ์ (Marx, 1818-1883) หรือ เองเกลล์ (Engels, 1820-1895) เลย) เขากล่าวว่า เบนแธมนั้นคือ "นักคิดคนสำคัญและเป็นสถาปนิกทางหลักการของสกุลความคิดที่ว่านี้"[7] และลูกศิษย์ลูกหาของเบนแธมก็รวมถึงทุกคนที่ "บูชาในอรรถประโยชน์" ด้วย มาซซินีแทนที่ทฤษฎีว่าด้วยอรรถประโยชน์ด้วยความคิดเกี่ยวกับหน้าที่และการเสียสละในนามของเป้าประสงค์อันศักดิ์สิทธิเพื่อมนุษยชาติ

 

ไม่ ประชาธิปไตยไม่อาจยกระดับชีวิตของสังคมได้ด้วยผลประโยชน์หรือความพึงพอใจ การพิจารณาทางทฤษฎีเกี่ยวกับอรรถประโยชน์นั้นไม่ได้ทำให้ผู้มั่งคั่งร่ำรวยและใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายรู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมานของคนยากคนจน ทั้งยังไม่ทำให้พวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาทางเยียวยารักษาใด ๆ[8]

 

คาวัวร์เป็นผู้นิยมในตัวต็อกเกอวีลย์ และแบ่งบันความวิตกกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าอันไม่อาจหยุดยั้งของมนุษยชาติไปสู่ประชาธิปไตยร่วมกัน ต็อกเกอวีลย์ผู้รับบทรัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในช่วงมิถุนายน 1849 เป็นต้นมา นี่เอง ที่เคยยืนยันถึงชะตากรรมของสาธารณรัฐโรมันเอาไว้ มาซซินีได้เขียนจดหมายประท้วงอย่างรุนแรงต่อคาวัวร์และเพื่อนรัฐมนตรีของเขาอย่างฟัลลูซ์ (Falloux, 1811-1886) โดยกล่าวหาว่าทั้งสองเป็น "สมาชิกคู่ล่าสุดของสกุลความคิดที่เริ่มต้นจากการเผยแพร่ทฤษฎีทางศิลปะโดยไม่เชื่อในพระเจ้า แล้วลงเอยด้วยการแสวงหาอำนาจเพื่ออำนาจของตนเอง"[9] คาวัวร์ผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องอัตราส่วนทองคำ (Golden mean) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สอดคล้องไปกันได้กับการใช้เหตุใช้ผลของมนุษย์ ได้พยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างการเป็นพวกปฏิกิริยากับการเป็นนักปฏิวัติ ส่วนมาซซินียังคงยึดมั่นในพันธะสัญญาของปฏิวัติแห่งชาติและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนกับหนึ่งในสองกลุ่มสุดโต่งที่ถูกปฏิเสธโดยนักเสรีนิยมที่สนับสนุนความยืดหยุ่น ขณะที่คาวัวร์นั้นเป็นนักศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่เคารพในสองนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างสมิธและริคาร์โด (Ricardo, 1772-1823) เขาเชื่ออย่างแน่วแน่ในทฤษฎีเศรษฐกิจแบบเสรีและกลไกตลาดซึ่งมาซซินีต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา มาซซินีป่าวประกาศถึงบทบาทและความรับผิดชอบทางการศึกษาของรัฐ ซึ่งคัดง้างกับมุมมองของเสรีนิยมที่มองว่ารัฐคือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นอันจะต้องถูกจำกัดบทบาทหน้าที่ให้อยู่ภายใต้การตรวจตราของสังคม ในความเห็นของนักเสรีนิยมเต็มตัวอย่างคาวัวร์ ข้อเสนอของมาซซินีคงไม่มีอะไรแปลกประหลาดไปกว่าการโจมตีความคิดที่ว่า รัฐควร "ถูกจำกัดอำนาจในการริเริ่มกระทำการใด ๆ และต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างจำกัดที่สุด" ซึ่งมาซซินีเห็นว่า ผลลัพธ์ของมันคือ

 

แทนที่จะเป็นสังคม เรากลับได้กลุ่มก้อนของปัจเจกที่แตกแยก ถูกตีตรวน และถูกทำให้เชื่อเชื่อง ทว่ามุ่งแสวงหาเป้าหมายปลายทางเฉพาะของตนเอง รวมทั้งมีเสรีในการกำหนดชีวิตของตนเองในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อเป้าประสงค์ของส่วนรวมหรือไม่ก็ได้ ในทางการเมืองและในทางเศรษฐศาสตร์ หลักการอันยิ่งใหญ่ของสกุลความคิดนี้ก็คือ ปล่อยให้มันทำไป ปล่อยให้มันผ่านไป (laissez faire, laissez passer)[10]

 

สำหรับคาวัวร์ผู้ศรัทธาในการปรับตัวของสถาบันต่าง ๆ อย่างมีพัฒนาการสอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เขาไม่อาจทนได้กับแนวคิดเรื่องการปฏิวัติอันนามธรรมของมาซซินี ที่เขาเห็นว่าได้แทนที่หลักเกณฑ์อันเรียบง่ายและมีเหตุมีผลเกี่ยวกับอรรถประโยชน์ด้วยการบีบบังคับให้ผู้คนเสียสละ และเปลี่ยนแปลงความสำคัญของสิทธิของปัจเจกชนที่มาพร้อมกับยุคภูมิปัญญาให้กลายเป็นหลักปฏิบัติอันเข้มงวดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ โรเมโอ (Romeo) ชี้ว่า "คาวัวร์ผู้ศรัทธาในแนวทางแบบเบนแธม มองว่า จริง ๆ แล้ว ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ขัดแย้ง แต่ยังเติบโตคู่ขนานมากับความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณและศีลธรรม"[11] ขณะที่มาซซินีผู้ชื่อตรงต่อแนวทางที่ต่อต้านเบนแธม โต้แย้งว่า ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณคือเงื่อนไขของความก้าวหน้าทางวัตถุ เขามองว่าทฤษฎีเกี่ยวกับความสุขและความกินดีอยู่ดีของสกุลความคิดแบบอรรถประโยชน์นิยมนั้นมีไว้สำหรับลัทธิวัตถุนิยมที่เห็นแก่ตัว "ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ก็คือ หลักการที่ให้ความรู้ในระดับที่สูงกว่า ... อันได้แก่ หลักการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่"[12] นั่นเอง 

 

 

[1] F. De Sanctis, Letteratura e vita nazionale, Einaudi, Turin 1950, p. 7.

 

[2] F. De Sanctis, Mazzini e la scuola democratica, Einaudi, Turin 1951, p. 6.

 

[3] Ibid., p. 13.

 

[4] Ibid., p. 14.

 

[5] Ibid., pp. 13-14.

 

[6] คำนี้ถูกใช้โดยโรซาริโอ โรเมโอ (Rosario Romeo) นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองชาวอิตาเลียน ในงานเรื่อง Cavour e il suo tempo. I, 1810-1842, Laterza, Bari 1969, p. 288.

 

[7] G. Mazzini, I sistemi e la democrazia. Pensieri, in Mazzini, G. Galasso, ed., Il Mulino, Bologna 1961, pp. 101-2.

 

[8] Ibid., p. 110.

 

[9] G. Mazzini, “Lettera ai signori Tocqueville e Falloux ministry di Francia”, in G. Mazzini, Scritti Politici, T. Grandi and A. Comba, eds., Utet, Turin 1972, p. 647.

 

[10] G. Mazzini, I sistemi e la democrazia, p. 96.

 

[11] R. Romeo, Cavour e il suo tempo, p. 288.

 

[12] G. Mazzini, “Dei doveri dell ‘umo”, in Scritti politici, p. 847.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา