Skip to main content

บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)

ถึงแม้ว่าเสรีนิยมในงานของมิลล์จะมีส่วนผสมของระบอบคุณพ่อรู้ดีอยู่มาก ทั้งยังวางอยู่บนโมเดลประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์และไม่เท่าเทียมกันนัก แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าระหว่างความคิดแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม นักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตยยังคงจัดขบวนตัวเองอยู่ในฝักฝ่ายหรือขบวนการทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ฝักฝ่ายเหล่านั้นต่างขัดแย้งกันโดยตรง เช่นเมื่อเสรีนิยมหันมาวิพากษ์การที่รัฐรุกล้ำ [อาณาบริเวณส่วนตัวของประชาชน – ผู้แปล] มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอธิบายอย่างแม่นยำว่านี่เป็นผลพวงของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเมื่อนักประชาธิปไตยโจมตีกับการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ปรากฏเด่นชัด โดยชี้อย่างแม่นยำเช่นกันว่ามันเป็นผลพวงจากพัฒนาการของประชาธิปไตยอันเชื่องช้าและเป็นผลของอุปสรรคขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยที่ความมั่งคั่งร่ำรวยอุ้มชูไว้ ความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยในพื้นที่นี้สามารถพิจารณาจากแง่มุมอื่นได้เช่นกันว่า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพัฒนาการของทฤษฎีเสรีนิยมกับการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอำนาจนิยมด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ ในขณะที่พัฒนาการของทฤษฎีประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองทางการเมืองหรือเชิงสถาบันมากกว่า กระนั้นก็ดี ทฤษฎีกับขบวนการของเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่างก็เป็นปรปักษ์ต่อกันและกันตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

 

นักเสรีนิยมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างหรืออ้างสิทธิและเสรีภาพที่เชื่อมโยงกับยุคฟื้นฟูกษัตริย์ (Restoration) อีกทั้งยังระแวงสงสัยต่อความโหยหาอดีตยุคปฏิวัติของพวกนักประชาธิปไตย ขณะที่นักประชาธิปไตยมองว่า ยุคฟื้นฟูกษัตริย์ได้เหนี่ยวรั้งกระบวนการปลดปล่อยประชาชนที่ริเริ่มจากการปฏิวัติฝรั่งเศสไว้จนแคระแกร็น ขณะเดียวกันก็มองว่านักเสรีนิยมเป็นพวกพรรคสายกลางเท่านั้น จนกระทั่งยุครุ่งเรืองของพรรคสังคมนิยม สมาชิกรัฐสภาจึงถูกแบ่งออกเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคหัวก้าวหน้า การก่อตัวของสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งระหว่างนักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย เราสามารถทำความเข้าใจการเมืองแบบวิภาษวิธีได้ดีที่สุดด้วยการมองว่ามันคือความเป็นปริปักษ์ระหว่างสองฝ่ายที่ว่านี้ แม้ว่าในอังกฤษ บ้านเกิดเมืองนอนของระบอบรัฐสภาและการปกครองแบบสองพรรค คนเหล่านี้จะแทนตัวเองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยม (ซึ่งเป็นชื่อที่ยังคงอยู่แม้นโยบายของพวกเขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด) ก็ตามที ปัจจัยโน้มเอียงที่ทำให้ขนบแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเข้าบรรจบกันเรื่อย ๆ ประการแรกสุด คือการก่อตัวของพรรคสังคมนิยม และที่สำคัญกว่านั้นในยุคของเรา คือการสถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่ใช่ทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย อย่างระบอบฟาสซิสม์และระบอบที่ขึ้นสู่อำนาจโดยผลจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย ความแตกต่างดั้งเดิมระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยค่อย ๆ ลดน้อยลงเหลือเพียงความไม่สอดคล้องทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง เมื่อทั้งสองถูกท้าทายโดยปรากฏการณ์ของระบอบอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ในศตวรรษที่ 20

 

ความคิดทางการเมืองของอิตาลีในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 (ซึ่งเดินตามความคิดทางการเมืองทั่ว ๆ ไปของยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส) แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ชัดเจนอย่างยิ่งระหว่างสกุลความคิดแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตย สิ่งนี้ถูกเน้นย้ำผ่านการปรากฎตัวสู่เวทีการเมืองของมาซซินี (Mazzini, 1805-1872) นักเขียนและผู้นำทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันนอกประเทศในฐานะหนึ่งในแบบฉบับของผู้สนับสนุนความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วยุโรปเมื่อพวกอำนาจนิยมเก่าถูกท้าทาย

 

ฟรานเชสโก เดอ ซังก์ติส (1817-1883) อธิบายงานเขียนของมาซซินี ด้วยการไล่เรียงและเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎีเสรีนิยมและทฤษฎีประชาธิปไตย เขาโต้แย้งว่า ทั้งสองสิ่งคือกระแสที่ขับเคลื่อนความคิดสาธารณะของอิตาลีในศตวรรษที่ 19 และถึงแม้จะสนใจแง่มุมทางวรรณกรรมเป็นประเด็นหลัก แต่เขาย้ำว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างทฤษฎีทั้งสองอันนำมาซึ่งเป้าประสงค์ทางการเมือง ศีลธรรม และศาสนาที่แตกต่างจากกลุ่มทางวรรณกรรมแท้ ๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสังคมอิตาลีทั้งสังคมไม่ใช่เฉพาะแค่ในแวดวงปัญญาชนด้านวรรณคดีแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ในข้อถกเถียงของเขาเกี่ยวกับมาซซินี เดอ ซังก์ติสยังได้ชื่นชมบทบาทของมาซซินีในการผลักดันการศึกษาระดับชาติผ่านการกระตุ้นกลุ่มเยาวชนฝ่ายซ้ายให้อุทิศตนเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศเสียใหม่ และส่งเสริม "ทัศนคติใหม่ ๆ ต่อชนชั้นล่าง มโนทัศน์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับว่าอะไรความเป็นชาติ ซึ่งแตกต่างกับสิ่งที่พวกฝ่ายขวายึดถือ เหตุเพราะมีความกว้างขวางกว่า หัวสูงน้อยกว่า และอำนาจนิยมน้อยกว่า"[1] เขามองว่า เสรีนิยมได้ละทิ้งเป้าหมายของเสรีภาพสูงสุดที่นักปรัชญานักปฏิวัติในศตวรรษที่ 17 ได้เรียกร้อง และมองหาเสรีภาพในความหมาย "เชิงวิธีการ" อันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงแนวทางหรือหนทางสู่เสรีภาพตามกฎเกณฑ์ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนได้ เขามองว่า สกุลความคิดเสรีนิยมนั้นมีหลักการร่วมที่ออกจะ

 

เปิดโอกาสให้มนุษย์แสวงหาปลายทางในทิศทางที่หลากหลายที่สุด ถึงตรงนี้ เราจึงได้เห็นพวกนักบวชเป็นห่วงเป็นใยในเสรีภาพของศาสนจักร พวกอนุรักษ์นิยมร้องหาเสรีภาพของชนชั้นสูง พวกนักประชาธิปไตยร้องหาเสรีภาพของชนชั้นล่าง มิตรสหายผู้ก้าวหน้าเสาะหาหนทางข้างที่ปราศจากการรบกวนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ[2]

 

ตรงกันข้าม เดอ ซังก์ติส โต้แย้งว่า สกุลความคิดประชาธิปไตยนั้นได้รับแรงดลใจจากอุดมคติของสังคมใหม่ที่ "วางรากฐานอยู่บนความยุติธรรมแบบกระจาย (distributive justice) และความเท่าเทียมกันในสิทธิ ซึ่งสำหรับประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลายแล้วหมายถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นจริงด้วย" สำหรับนักประชาธิปไตย เสรีภาพไม่ใช่กระบวนการ แต่เป็นบางสิ่งที่เป็น "สาระสำคัญ"[3] เขาขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า

 

ในที่ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เสรีภาพอาจถูกอ้างถึงไว้ในกฎหมายหรือบทบัญญัติต่าง ๆ ทว่ามันไม่ได้มีอยู่จริง ไม่มีเสรีภาพทั้งสำหรับชาวนาที่ตกอยู่ใต้อาณัติของเจ้าที่ดิน สำหรับผู้วิงวอนขอความสงเคราะห์เมตตาจากเจ้าขุนมูลนาย หรือสำหรับข้าทาสผู้ถูกบังคับให้ตรากตรำทำงานหนักในท้องทุ่งอย่างไม่หยุดหย่อน[4]

 

เดอ ซังก์ติสสรุปว่า ความคิดเช่นนี้จะนำทางไปสู่ความเป็นสาธารณรัฐ (res publica) ที่ "ไม่ใช่การปกครองของคนนั้นคนนี้ หรือโดยอำนาจตามอำเภอใจใด ๆ ทั้งยังไม่ใช่การครอบงำของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่เป็นการปกครองของคนทุกคน"[5] รัฐที่เห็นว่าเสรีภาพไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าวิธีการอาจวางตัวเป็นกลาง ไม่โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด และไม่เชื่อในพระเจ้า ขณะที่รัฐที่เป็นของทุกคนอย่างเช่น สาธารณรัฐ นั้นไม่สามารถทำอะไรเช่นนี้ได้ กลับกัน สาธารณรัฐต้องมุ่งให้ความรู้แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากที่กระบวนการหลอมรวมชาติเป็นปึกแผ่นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสิ้นสุดลง

 

กระนั้น ในบริบทของอิตาลี ตัวอย่างที่ดีของความขัดแย้งอันยืนยงอย่างที่ปรากฏขึ้นระหว่างช่วงรวมชาติ (the Risorgimento) สะท้อนให้เห็นจากบุคลิกที่แตกต่างกันของคาวัวร์ (Cavour, 1810-1868) กับมาซซินี คาวัวร์ผู้ได้ศึกษาความคิดของเบนแธมและกงสต็องมาในวัยเยาว์ ยึดมั่นในหลักการของตนไว้ด้วยความศรัทธา เขาหยิบยืมความคิดของเบนแธมที่ว่า ทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาตินั้นขาดรากฐานรองรับ ทั้งยังเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเป็นเลิศของอรรถประโยชน์นิยมมากเสียจนยินดีที่ได้เรียกตนเองว่าเป็น "พวกนิยมเบนแธมสายแข็ง" (hardened Benthamite)[6] ขณะที่มาซซินีโต้แย้งไว้ใน I sistemi e la democrazia. Pensieri (1850) หนึ่งในงานเขียนที่อธิบายทฤษฎีของเขาได้ดีที่สุดว่า เบนแธนและทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมของเขานั้นเป็นแหล่งกำเนิดขั้นปฐมของหลักปรัชญาวัตถุนิยม (materialism) ที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมนับตั้งแต่ แซ็งต์-ซิมง (Saint-Simon, 1760-1825) ไปจนถึงความคิดคอมมิวนิสต์ (กระนั้น เขากลับไม่ได้กล่าวถึง มาร์กซ์ (Marx, 1818-1883) หรือ เองเกลล์ (Engels, 1820-1895) เลย) เขากล่าวว่า เบนแธมนั้นคือ "นักคิดคนสำคัญและเป็นสถาปนิกทางหลักการของสกุลความคิดที่ว่านี้"[7] และลูกศิษย์ลูกหาของเบนแธมก็รวมถึงทุกคนที่ "บูชาในอรรถประโยชน์" ด้วย มาซซินีแทนที่ทฤษฎีว่าด้วยอรรถประโยชน์ด้วยความคิดเกี่ยวกับหน้าที่และการเสียสละในนามของเป้าประสงค์อันศักดิ์สิทธิเพื่อมนุษยชาติ

 

ไม่ ประชาธิปไตยไม่อาจยกระดับชีวิตของสังคมได้ด้วยผลประโยชน์หรือความพึงพอใจ การพิจารณาทางทฤษฎีเกี่ยวกับอรรถประโยชน์นั้นไม่ได้ทำให้ผู้มั่งคั่งร่ำรวยและใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายรู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมานของคนยากคนจน ทั้งยังไม่ทำให้พวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาทางเยียวยารักษาใด ๆ[8]

 

คาวัวร์เป็นผู้นิยมในตัวต็อกเกอวีลย์ และแบ่งบันความวิตกกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าอันไม่อาจหยุดยั้งของมนุษยชาติไปสู่ประชาธิปไตยร่วมกัน ต็อกเกอวีลย์ผู้รับบทรัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในช่วงมิถุนายน 1849 เป็นต้นมา นี่เอง ที่เคยยืนยันถึงชะตากรรมของสาธารณรัฐโรมันเอาไว้ มาซซินีได้เขียนจดหมายประท้วงอย่างรุนแรงต่อคาวัวร์และเพื่อนรัฐมนตรีของเขาอย่างฟัลลูซ์ (Falloux, 1811-1886) โดยกล่าวหาว่าทั้งสองเป็น "สมาชิกคู่ล่าสุดของสกุลความคิดที่เริ่มต้นจากการเผยแพร่ทฤษฎีทางศิลปะโดยไม่เชื่อในพระเจ้า แล้วลงเอยด้วยการแสวงหาอำนาจเพื่ออำนาจของตนเอง"[9] คาวัวร์ผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องอัตราส่วนทองคำ (Golden mean) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สอดคล้องไปกันได้กับการใช้เหตุใช้ผลของมนุษย์ ได้พยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างการเป็นพวกปฏิกิริยากับการเป็นนักปฏิวัติ ส่วนมาซซินียังคงยึดมั่นในพันธะสัญญาของปฏิวัติแห่งชาติและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนกับหนึ่งในสองกลุ่มสุดโต่งที่ถูกปฏิเสธโดยนักเสรีนิยมที่สนับสนุนความยืดหยุ่น ขณะที่คาวัวร์นั้นเป็นนักศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่เคารพในสองนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างสมิธและริคาร์โด (Ricardo, 1772-1823) เขาเชื่ออย่างแน่วแน่ในทฤษฎีเศรษฐกิจแบบเสรีและกลไกตลาดซึ่งมาซซินีต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา มาซซินีป่าวประกาศถึงบทบาทและความรับผิดชอบทางการศึกษาของรัฐ ซึ่งคัดง้างกับมุมมองของเสรีนิยมที่มองว่ารัฐคือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นอันจะต้องถูกจำกัดบทบาทหน้าที่ให้อยู่ภายใต้การตรวจตราของสังคม ในความเห็นของนักเสรีนิยมเต็มตัวอย่างคาวัวร์ ข้อเสนอของมาซซินีคงไม่มีอะไรแปลกประหลาดไปกว่าการโจมตีความคิดที่ว่า รัฐควร "ถูกจำกัดอำนาจในการริเริ่มกระทำการใด ๆ และต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างจำกัดที่สุด" ซึ่งมาซซินีเห็นว่า ผลลัพธ์ของมันคือ

 

แทนที่จะเป็นสังคม เรากลับได้กลุ่มก้อนของปัจเจกที่แตกแยก ถูกตีตรวน และถูกทำให้เชื่อเชื่อง ทว่ามุ่งแสวงหาเป้าหมายปลายทางเฉพาะของตนเอง รวมทั้งมีเสรีในการกำหนดชีวิตของตนเองในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อเป้าประสงค์ของส่วนรวมหรือไม่ก็ได้ ในทางการเมืองและในทางเศรษฐศาสตร์ หลักการอันยิ่งใหญ่ของสกุลความคิดนี้ก็คือ ปล่อยให้มันทำไป ปล่อยให้มันผ่านไป (laissez faire, laissez passer)[10]

 

สำหรับคาวัวร์ผู้ศรัทธาในการปรับตัวของสถาบันต่าง ๆ อย่างมีพัฒนาการสอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เขาไม่อาจทนได้กับแนวคิดเรื่องการปฏิวัติอันนามธรรมของมาซซินี ที่เขาเห็นว่าได้แทนที่หลักเกณฑ์อันเรียบง่ายและมีเหตุมีผลเกี่ยวกับอรรถประโยชน์ด้วยการบีบบังคับให้ผู้คนเสียสละ และเปลี่ยนแปลงความสำคัญของสิทธิของปัจเจกชนที่มาพร้อมกับยุคภูมิปัญญาให้กลายเป็นหลักปฏิบัติอันเข้มงวดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ โรเมโอ (Romeo) ชี้ว่า "คาวัวร์ผู้ศรัทธาในแนวทางแบบเบนแธม มองว่า จริง ๆ แล้ว ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ขัดแย้ง แต่ยังเติบโตคู่ขนานมากับความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณและศีลธรรม"[11] ขณะที่มาซซินีผู้ชื่อตรงต่อแนวทางที่ต่อต้านเบนแธม โต้แย้งว่า ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณคือเงื่อนไขของความก้าวหน้าทางวัตถุ เขามองว่าทฤษฎีเกี่ยวกับความสุขและความกินดีอยู่ดีของสกุลความคิดแบบอรรถประโยชน์นิยมนั้นมีไว้สำหรับลัทธิวัตถุนิยมที่เห็นแก่ตัว "ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ก็คือ หลักการที่ให้ความรู้ในระดับที่สูงกว่า ... อันได้แก่ หลักการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่"[12] นั่นเอง 

 

 

[1] F. De Sanctis, Letteratura e vita nazionale, Einaudi, Turin 1950, p. 7.

 

[2] F. De Sanctis, Mazzini e la scuola democratica, Einaudi, Turin 1951, p. 6.

 

[3] Ibid., p. 13.

 

[4] Ibid., p. 14.

 

[5] Ibid., pp. 13-14.

 

[6] คำนี้ถูกใช้โดยโรซาริโอ โรเมโอ (Rosario Romeo) นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองชาวอิตาเลียน ในงานเรื่อง Cavour e il suo tempo. I, 1810-1842, Laterza, Bari 1969, p. 288.

 

[7] G. Mazzini, I sistemi e la democrazia. Pensieri, in Mazzini, G. Galasso, ed., Il Mulino, Bologna 1961, pp. 101-2.

 

[8] Ibid., p. 110.

 

[9] G. Mazzini, “Lettera ai signori Tocqueville e Falloux ministry di Francia”, in G. Mazzini, Scritti Politici, T. Grandi and A. Comba, eds., Utet, Turin 1972, p. 647.

 

[10] G. Mazzini, I sistemi e la democrazia, p. 96.

 

[11] R. Romeo, Cavour e il suo tempo, p. 288.

 

[12] G. Mazzini, “Dei doveri dell ‘umo”, in Scritti politici, p. 847.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)
Apolitical
บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals a
Apolitical
บทที่ 9 ปัจเจกชนนิยมกับอินทรียภาพนิยม (Individualism and Organi
Apolitical
บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)
Apolitical
บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียม
Apolitical
บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ 
Apolitical
บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitful
Apolitical
บทที่ 4 เสรีภาพกับอำนาจ &nb