Skip to main content

ริชาร์ด ฟลอริดา หนึ่งในนักคิดด้านผังเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกายุคหลังสงคราม อยากให้ทุกคนรู้ครับว่า ตัวเขาเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับเมืองผิดแทบทั้งหมด

ถ้าคุณกำลังอาศัยอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ในอเมริกาเหนือ สหราชอาณาจักร หรือออสเตรเลีย คุณเองกำลังอยู่ในโลกของริชาร์ด ฟลอริดา ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ฟลอริดาเสนอข้อโต้แย้งว่าการไหลบ่าของสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชนชั้นสร้างสรรค์” เช่น พวกศิลปินเอย ฮิปสเตอร์เอย คนทำงานไอทีเอย คนเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่ต่างๆ เหมือนในซิลิคอนวัลเลย์ ความเปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ๆ ยืดหยุ่น รวมทั้งบุคลิกประหลาดๆ ของพวกเขาได้หลอมละลายโครงสร้างอันคงทนของการผลิตแบบอุตสาหกรรม และแทนที่ด้วยสถานที่ทำงานและละแวกใกล้เคียงที่ดึงดูดใจคนหนุ่มคนสาว และที่สำคัญคือดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้น

ในไม่ช้าข้อสังเกตของฟลอริดากลายเป็นรากฐานให้กับการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคแบบคูลๆ จำนวนหนึ่ง เช่นว่าถ้าต้องการอยู่รอด เมืองที่กำลังเสื่อมตัวลงก็ต้องเปิดบาร์เท่ๆ ร้านกาแฟชิคๆ สร้างถนนศิลปะที่ล่อตาล่อใจผู้อยู่อาศัยวัยหนุ่มสาวที่เปิดกว้างและมีการศึกษา แล้วในที่สุดการเล่นแร่แปรธาตุอันลึกลับของเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ก็จะช่วยสร้างย่านใจกลางเมืองที่ทั้งใหม่และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเอง

แต่ในวันนี้ แม้แต่ฟลอริดาเองก็รู้ตัวแล้วว่าเขาคิดผิด การเติบโตของชนชั้นสร้างสรรค์ในเมืองอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และซานฟรานซิสโก สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับแค่คนที่รวยอยู่แล้ว ซ้ำยังซ้ำเติมคนยากจนและชนชั้นแรงงานอีกด้วย ปัญหาต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเขตเมืองชั้นในที่แออัดและเสื่อมโทรมเคยประสบได้ย้ายไปสู่ย่านชานเมือง

ชนชั้นสร้างสรรค์เป็นอิสระ

ฟลอริดาเอาข้อมูลเชิงปริมาณประหลาดๆ มาสนับสนุนข้อเสนอของตัวเองเรื่องชนชั้นสร้างสรรค์ เขาสร้าง “ดัชนีโบฮีเมีย” (Bohemia Index) โดยอาศัยข้อมูลสำมะโนประชากรเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา “ปัจจัยของความคูล” (วัดจากจำนวนของคนหนุ่มสาวและคุณภาพของ “วัฒนธรรมและชีวิตกลางคืน”) และที่แปลกมากๆ คือจำนวนของผู้อยู่อาศัยที่เป็นเกย์ เพื่อใช้คำนวณผลกระทบอันมหัศจรรย์ของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อการเติบโตของเมือง

ฟลอริดาย้ำกับผู้อ่านว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่สร้างสรรค์ แต่มีเพียงหนึ่งในสามของพวกเราเท่านั้นที่สามารถหากินจากความสร้างสรรค์ได้ ชนชั้นสร้างสรรค์ซึ่งคุณอาจจะอยู่ในนั้นด้วยโดยไม่รู้ตัว หมายรวมถึงนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย คนทำงานไอที กราฟิกดีไซเนอร์ และศิลปินทุกรูปแบบ พูดง่ายๆ ก็คือหมายถึงใครก็ตามที่ไม่ได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการซึ่งทั้งซ้ำซากจำเจและสุดแสนจะไม่สร้างสรรค์

“ชนชั้นสร้างสรรค์” ทั้งวินิจฉัยสภาพปัจจุบันของเมืองและเสนอคำแนะนำที่ควรปฏิบัติต่อไปในอนาคต ริชาร์ด ฟลอริดา รวมทั้งเจน จาคอบส์ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบรรดานายกเทศมนตรี นักพัฒนา และนักวางแผนที่เปลี่ยนถนนรถวิ่งให้กลายเป็นถนนคนเดิน สร้างเลนสำหรับจักรยาน และดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหอศิลป์และโรงละคร

มองข้ามโวหารเกี่ยวกับนวัตกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นผู้ประกอบการออกไป แนวคิดของฟลอริดากลับมีอะไรบางอย่างที่มีความเป็นมาร์กซิสต์มากๆ นั่นก็คือการที่มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วมีความสร้างสรรค์อันเป็นบ่อเกิดของมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมนุษย์เริ่มถูกทำให้แปลกแยกมากขึ้นเมื่อพวกเขาไม่สามารถควบคุมผลิตผลของความสร้างสรรค์ของตัวเองได้

ทว่างานเขียนของฟลอริดากลับบีบศักยภาพของมนุษย์ให้หดแคบลง ทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะและความสร้างสรรค์ของเขายอมรับแต่คุณูปการที่ของเหล่านี้มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การตอกย้ำถึงผลดีของความเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่ๆ ก็มีเป้าหมายเชิงอรรถประโยชน์ไม่ต่างกัน คือเขาเห็นว่าเราควรยกย่องชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่เพราะว่ามันดีในตัวมันเอง แต่เป็นเพราะมันช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ผ่านไป 15 ปีกับแผนการพัฒนาที่ออกแบบมาเพื่อชนชั้นสร้างสรรค์ ฟลอริดาจึงกลับไปสำรวจภูมิทัศน์เมืองที่กำลังเสื่อมสลายลง เรื่องราวของลอนดอนคือเรื่องราวของออสติน ซิลิคอนวัลเลย์ ชิคาโก นิวยอร์ค โตรอนโต และซิดนีย์ เมื่อคนรวย คนหนุ่ม และคน(ที่ส่วนใหญ่เป็น)ผิวขาวลงมือฟื้นฟูเมือง พวกเขาต่างเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์กันให้เกลื่อนกลาด เร่งให้ราคาที่อยู่อาศัยทะยานขึ้นพรวดพราด และบีบให้ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเองไป “ชนชั้นสร้างสรรค์” เป็นเพียงคนรวยมาตั้งแต่ต้นแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกหลานของคนรวยที่พ่วงท้ายด้วยใบปริญญา

ในปี 1979 ปิแยร์ บูร์ดิเยอเขียนไว้ว่า การบริโภคและการผลิตงานศิลปะสร้าง “ภาพฝันของการเลื่อนชนชั้น” ให้กับชนชั้นกลางระดับสูง โดยทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงรสนิยมและความเชื่อของตัวเองก็ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้น ชนชั้นสร้างสรรค์ในเมืองใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกเก่งเรื่องนี้มากกว่าใคร

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ฟลอริดามองโลกในแง่ดีน้อยลงเรื่อยๆ เพียงแค่ในปี 2005 เขาก็กล่าวถึง “ผลกระทบต่อภายนอก” ของการเติบโตของชนชั้นสร้างสรรค์ นั่นคือการที่พวกเขาสร้างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในระดับที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้าในทุกๆ เมืองที่มีคนเหล่านี้อาศัยอยู่ ในงานชิ้นหลังๆ ฟลอริดามองว่า “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไป กลับกันมันกลับกลายเป็นแรงผลักดันที่หยุดไม่อยู่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องควบคุมมากกว่าส่งเสริม

การสำนึกผิดอันยาวนานของฟลอริดานี้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดในหนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง The New Urban Crisis ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือการยอมรับว่าตัวเองคิดผิด ฟลอริดาเสนอว่าชนชั้นสร้างสรรค์ได้ยึดกุมเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลกและกำลังบีบเค้นเมืองเหล่านั้นจนตาย ผลลัพธ์ก็คือการที่มหานครใหญ่ที่สุด 50 แห่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนแค่ร้อยละ 7 ของประชากรโลก แต่กลับสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 40 ของการเติบโตทั้งหมด เมือง “ซุปเปอร์สตาร์” เหล่านี้กำลังกลายเป็นชุมชนปิด สีสันและชีวิตชีวาของเมืองถูกแทนที่ด้วยถนนที่แทบไม่เหลือเค้าเดิม ถนนซึ่งคลาคล่ำไปด้วย Airbnb และบ้านตากอากาศที่ว่างเปล่า

ขณะเดียวกัน ยาเสพติดและความรุนแรงในท้องถนนกลับแพร่กระจายสู่ย่านชานเมือง ฟลอริดาเขียนว่า “ยิ่งกว่าวิกฤตของเมือง” … “วิกฤตหลักในยุคสมัยของเราคือวิกฤตของเมืองที่เกิดใหม่” … “วิกฤตของเขตชานเมือง ของการพัฒนาเมืองในตัวมันเอง และชัดเจนเหลือเกิน มันคือวิกฤตของระบอบทุนนิยมในปัจจุบัน”

ฟลอริดาเสนอทางออกไว้พอประมาณ ไล่ตั้งแต่ทางออกที่เฉพาะเจาะจงอย่างเช่นการลดราคาที่อยู่อาศัยให้คนทั่วไปพอซื้อได้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น และการเพิ่มค่าแรงให้กับงานภาคบริการ ไปจนถึงทางออกที่คลุมเครืออย่างการ “มีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกเพื่อสร้างเมืองที่มั่งคั่งและเข้มแข็งขึ้นในพื้นที่ที่กำลังกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วทั่วโลก” และ “เสริมพลังให้ชุมชนและช่วยให้ผู้นำท้องถิ่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของตัวเองได้”

ครั้งหนึ่งฟลอริดาเคยเป็นถึงกูรู เป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาด้านนโยบายเมืองที่ได้รับการยกย่องในหมู่นักการเมืองสายเสรีนิยมและขวัญใจสื่อมวลชนอย่างโบโน่ ทว่าตอนนี้เขากลับพูดอะไรได้ไม่มากนัก การวินิจฉัยวิกฤตที่ตัวเขาเองมีส่วนก่อไม่ได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เขาเปลี่ยนจากการคาดการณ์อย่างเลินเล่อเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอันไม่สิ้นสุดจากพลังของความสร้างสรรค์ไปสู่ภาพของความหายนะและสิ้นหวัง การปรับท่าทีของฟลอริดาเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรเสีย “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ก็มีชีวิตเป็นของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว

เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ในหนังสือ The Making of the English Working Class อี. พี. ธอมป์สันอธิบายอย่างออกจะโรแมนติกอยู่บ้างว่าโลกของช่างทอผ้าด้วยมือชาวอังกฤษในยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นโลกที่ผู้คนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติ และมีความสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง คนเหล่านี้ต่างพากันร้องรำทำเพลงและสังสรรค์กันอย่างสนุกสนานในช่วงเวลาว่างที่ไร้ขีดจำกัด ความซ้ำซากจำเจและการใช้ชีวิตตามกรอบเวลาที่แน่นอนหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ทำลายวิถีชีวิตในอุดมคติของพวกเขาลง

สองร้อยปีให้หลัง ในซีกโลกเหนือแทบจะไม่มีชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมเหลืออยู่แล้ว และความคิดสร้างสรรค์กำลังจำแลงกายกลับมาในร่างใหม่ เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์เข้ามาแทนที่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม

ด้วยเสียงสนับสนุนจากคนอย่างริชาร์ด ฟลอริดา เมืองและรัฐต่างๆ จึงพยายามใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือแสวงหาอรรถประโยชน์ ด้วยหวังจะแปลงวิถีชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์ให้กลายเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากปี 1997 นายกเทศมนตรีและรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองบิลเบา (Bilbao) พยายามจะฟื้นฟูเมืองอุตสาหกรรมที่เสื่อมโทรมด้วยแหล่งรวมงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ

พรรคแรงงานของโทนี แบลร์ หลงใหลได้ปลื้มกับการเปลี่ยนโรงงานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ในช่วงกระแสของการฟื้นฟูเมืองระหว่างปี 1998-2002 สหราชอาณาจักรสร้างหอศิลป์หลายแห่งในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ Tate Modern ในกรุงลอนดอนซึ่งสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นโรงไฟฟ้า หอศิลป์ BALTIC art gallery ซึ่งเคยเป็นโรงงานแป้งสาลีในเกตส์เฮด รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ Manchester Lowry Museum และ Tate Liverpool ซึ่งสร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นอู่ต่อเรือ

ผู้คนในทุกๆ ที่ต่างคาดหวัง ซึ่งบางครั้งก็แสดงออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ว่าความคิดสร้างสรรค์จะทำงานที่ครั้งหนึ่งอุตสาหกรรมเคยทำได้ มีอยู่ช่วงหนึ่ง โกดังสินค้าเก่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในแมนเชสเตอร์ประดับป้ายข้อความว่า “ความคิดสร้างสรรค์หลอมขึ้นในแมนเชสเตอร์ด้วยทั่งตีเหล็กแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม” ปัจจุบันโกดังดังกล่าวกำลังจัด “อีเวนท์ของบริษัทในบรรยากาศแบบเมืองๆ” การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ก็มีหน่วยงานด้าน “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งประเมินว่ามูลค่าการตลาดของ “สินค้าเชิงสร้างสรรค์” จะอยู่ที่ราว 5.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คงไม่ต้องบอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เมืองต่างๆ ในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่แม้แต่น้อย The Sage โรงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในเกตส์เฮดเมื่อปี 2004 อยู่ห่างจากความยากจนและสิ้นหวังเพียงไม่กี่ช่วงตึก

ผลการโหวต Brexit เมื่อปีก่อนแสดงให้เห็นว่าชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงความเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ชาวเมืองเกตส์เฮดร้อยละ 56 โหวตให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่ชาวเมืองฮัลล์ เมืองที่ถูกกำหนดให้เป็น “เมืองหลวงทางวัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการในปี 2013 โหวตขอออกจากสหภาพยุโรปกันถึงร้อยละ 68 ศิลปะไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์โภชผลใดๆ ตามคำมั่นสัญญา

คนที่ไม่ได้รวยล้นฟ้ายังต้องดิ้นรนทำมาหากินจากงานเขียนและการเล่นดนตรี วงการเพลงของชนชั้นแรงงานในภาคเหนือรุ่นก่อนอย่างเช่น Joy Division, Pulp หรือแม้แต่ The Beatles ถูกแทนที่ด้วยวงดนตรีอีลีทที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง James Blunt หรือ Mumford and Sons (อาจยกเว้นก็แต่ในวงการเพลงไกร์ม (grime scene) ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ที่ห่างไกลจากการสอดแทรกความเป็นเมืองที่ทั้งตื่นตาและไร้ความหมายเหล่านี้)

นักภูมิศาสตร์อย่างเดวิด ฮาร์วีย์เสนอว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงที่สุดของระบบเศรษฐกิจของเมืองในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนจากการจัดการเมืองด้วยแนวคิดแบบเอกชน (managerialism) สู่การจัดการเมืองด้วยแนวคิดของผู้ประกอบการ (entrepreneurialism) ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองต่างๆ ซึ่งเคยให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยในรูปของสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานกำลังโปรโมตตัวเองเพื่อดึงเอาเงินทุน นักท่องเที่ยว และแรงงานที่มีการศึกษาจากทั่วโลกเข้ามา

แนวคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยแก้ไขปัญหาของเมืองเหล่านี้ได้ ทั้งจากบนลงล่างด้วยหอศิลป์ขนาดมหึมา หรือจากล่างขึ้นบนด้วยบรรดาฮิปสเตอร์เครางาม คือเครื่องบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งที่ว่านี้นั่นเอง

ริชาร์ด ฟลอริดาพูดถูกครับที่บอกว่า “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เป็นวิถีทางใหม่ของโลก แต่พัฒนาการของมันกลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เขาคาดคิดไว้ เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ไม่ได้นำมนุษยชาติไปสู่ยุคแห่งความมั่งคั่งครั้งใหม่ แต่กลับรวมเอาองค์ประกอบต่างๆ ของระบอบทุนนิยมตอนปลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มันถูกปากสำหรับคนจำนวนหนึ่ง แต่กลับยิ่งส่งผลให้วิกฤตและความขัดแย้งรุนแรงขึ้นสำหรับคนกลุ่มอื่นๆ.

*แปลจาก Sam Wetherell. “Richard Florida is Sorry.” Jacobin Magazine. Available from https://jacobinmag.com/2017/08/new-urban-crisis-review-richard-florida.

ภาพ: http://philmckinney.com

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา