Skip to main content

มนุษยศาสตร์มักหมกมุ่นอยู่กับนักคิดในอดีตเช่นนักปรัชญากรีกโบราณอย่างโสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ที่มีชีวิตอยู่จะมีชีวิตอยู่ในอนาคต หมายความว่าชีวิตของพวกเขาจะถูกผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูง

ปัจจุบันจำนวนนักศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์กำลังลดน้อยลง และที่ปรึกษาทางวิชาการมักจะดูแคลนว่าศิลปศาสตร์ไม่น่าจะตอบสนองตลาดแรงงานได้ดีเท่ากับสาขาวิชาภาคปฏิบัติต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือมนุษย์ และการต่อประสานระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นพรมแดนที่ขาดมุมมองแบบมนุษยศาสตร์ไปไม่ได้

สามทศวรรษก่อน สมัยที่ผมเป็นนักวิจัยโพสต์ด็อกมือใหม่ ผมได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษามากประสบการณ์ว่าเพื่อความสำเร็จในวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ ผมจำเป็นต้องเชี่ยวชาญในสาขาวิชาแคบๆ สักสาขาหนึ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในเรื่องนั้นให้ได้ ย้อนกลับไปตอนนั้น การพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็นมืออาชีพ ผู้ผลิตรองเท้าหนังที่มีพื้นยางควรรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการประดิดประดอยหนังและยางให้อยู่ในรูปของรองเท้าโดยไม่มีเวลาเหลือสำหรับการเรียนรู้สิ่งอื่นรอบนอก

โชคดีที่ผมไม่ได้ฟังคำแนะนำเก่าๆ นั้น เพราะมุมมองแบบสหวิทยาการคือผู้สร้างนวัตกรรมในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตข้างหน้ายังอยู่ในมือของความร่วมมือระหว่างศิลปศาสตร์กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับส่วนต่อประสานระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรจะทำให้สาขาวิชาต่างๆ ที่เคยเงียบเหงากลับมามีชีวิตชีวา และเชื่อมโยงมนุษยศาสตร์เข้ากับอนาคตของเรามากกว่าอดีต

มีตัวอย่างสองสามเรื่องแว่บเข้ามาในหัวผม หนึ่งคือการศึกษาด้านจริยศาสตร์ มีคำถามสำคัญเชิงจริยศาสตร์เกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมอยู่หลายข้อ เช่น เราควรปรับปรุงพันธุกรรมของมนุษย์ในด้านไหน หรือเราควรออกแบบคุณสมบัติของคนที่เราต้องการให้สังคมมีหรือเปล่า

เรื่องต่อมาเกี่ยวข้องกับผลกระทบของบิ๊กเดต้า กล่าวคือเราจะใช้ข้อมูลมากมายที่รวบรวมไว้รายวันอย่างไร และจะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ทางจิตวิทยาและสังคมศาสตร์อย่างไร เราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ซึ่งจะทำนายพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือการตัดสินใจทางการเมืองได้หรือไม่

พัฒนาการล่าสุดในแวดวงวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) นำเราไปสู่คำถามพื้นฐานทางปรัชญา อาทิ จิตสำนึกคืออะไร เจตจำนงเสรีมีจริงไหม

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิตมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ทั้งหมดตั้งแต่ในไซต์งานก่อสร้างจนถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเปล่า เศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวสู่สภาพความเป็นจริงใหม่ที่มนุษย์มีอะไรทำน้อยลงได้อย่างไร มนุษย์จะลา “วันหยุด” ถาวรเลยหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ความหมายของชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงคราวที่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานภาคบังคับอีกต่อไป

ยังมีคำถามพื้นฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการรังสรรค์งานศิลปะหรือวิทยาศาสตร์นั้นมีลักษณะเฉพาะหรือสามารถผลิตซ้ำได้ด้วยเครื่องจักร จะมีโลกที่เราใช้ปัญญาประดิษฐ์ผลิตงานศิลปะหรือสร้างการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่คาดฝันหรือไม่ ปัญญาประดิษฐ์กำลังถูกออกแบบให้ทำงานแทนแพทย์ในการจ่ายยาให้กับคนไข้ที่มีอาการของโรคที่เรารู้จักกันดี แต่คอมพิวเตอร์ควรได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาคนไข้ด้วยหรือเปล่า และหากปัญญาประดิษฐ์ทำผิดพลาดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ควรต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย หรือเราควรมองว่าอัลกอริทึมที่ "เรียนรู้ด้วยตนเอง" เป็นอิสระจากมนุษย์ผู้สร้างมันขึ้นมากันแน่

เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงในที่สาธารณะเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของชุดข้อมูล คำถามคือเราควรปกป้องชีวิตส่วนตัวของเราเองกันอย่างไรในโลกอนาคตแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ใครควรได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล และเราจะลดผลกระทบจากการสูญเสียข้อมูลในยามที่เกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดได้อย่างไร

ไม่ยากเลยที่จะจินตนาการว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่คงนำความสนุกสนานมาสู่ชาวกรีกโบราณ อริสโตเติลคงต้องตราตรึงแน่ๆ กับจักรวาลวิทยาของบิ๊กแบง อริสตาร์คุสแห่งซามอสคงหลงใหลกับการค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซีโนแห่งเอเลียคงรู้สึกทึ่งเมื่อตระหนักว่าเขาสามารถสตาร์ทรถได้ด้วยการใช้แอพลิเคชั่นผ่านแอปเปิ้ลวอชท์บนข้อมือ และโสกราตีสคงจะตั้งคำถามอย่างวิพากษ์วิจารณ์กับแนวคิดเรื่องพฤติกรรมตามหมู่ (herd mentality) ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย

นักปรัชญา นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา และศิลปินควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและคุณค่าของมนุษย์มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับนกคีรีบูนในเหมืองถ่านหิน นักมนุษยศาสตร์มีเข็มทิศทางศีลธรรมที่เตือนเราถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในอนาคต ทั้งพวกเขายังมีทักษะในการจินตนาการถึงสภาพความเป็นจริงที่เราควรปรารถนาก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะสร้างมันขึ้นมาได้ อนาคตจึงจะต้องเป็นอนาคตแบบสหวิทยาการ และนักมนุษยศาสตร์ควรมีบทบาทหลักในการก่อร่างสร้างอนาคต.

*แปลร่วมกับ Google Translator Toolkit จาก Abraham Loeb. 2019. "The Humanities and the Future" Scientific American. Availalbe from https://blogs.scientificamerican.com/observations/the-humanities-and-the-future/

**อับราฮัม เลิบ เป็นหัวหน้าภาควิชาดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ 'Harvard's Black Hole Initiative' ศูนย์ศึกษาหลุมดำแบบสหวิทยาการด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และปรัชญา

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา