สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอร์เสนอการยับยั้งแบบกึ่งหนึ่งนั้นคือการยอมรับสงครามแบบมีขอบเขตจำกัดซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบมีกลยุทธพร้อมกับสมาร์ทบอมที่มีความเที่ยงตรงต่อเป้าหมายอย่างสูงที่สามารถโจมตีอาวุธทางทหารของศัตรู เขายังวิจารณ์นโยบายการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ร่วมกันกับกรุงมอสโคว์ เพราะมันเท่ากับเป็นการยับยั้งการสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เพื่อที่จะคงความสมดุลแบบจอมปลอมกับสหภาพโซเวียต
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนมาได้ยินเขาเข้าก็เลยเริ่มต้นแผนเอสดีไอ (ภาษาอังกฤษคือ Stregic Defensive Initiative หมายถึงการใช้ดาวเทียมและเครือข่ายทางภาคพื้นดินในการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์จากศัตรูบนอวกาศ- ผู้แปล) โดยมีชื่อที่โด่งดังคือ "โครงการสตาร์วอร์" มันเป็นบรรพบุรุษของระบบการป้องกันขีปนาวุธซึ่งถูกคิดค้นโดยลูกศิษย์ของโวห์ลสเตเตอร์ และในอนาคตพวกเขาได้เป็นกลุ่มทรงอิทธิพลที่สนับสนุนความคิดในการยกเลิกสนธิสัญญาเอบีเอ็ม ซึ่งตามความคิดของพวกเขาจะขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯพัฒนาระบบการป้องกันตัวเองแบบอื่นๆ และพวกเขาก็สามารถโน้มน้าวจิตใจของจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้สำเร็จ
นอกจากเพิร์ลและโวลโฟวิตซ์ ก็ยังรวมถึง เอเลียต อับรามส์ ในช่วงที่เขาทำงานให้กับสภาความมั่นคงของชาติโดยรับผิดชอบเกี่ยวกับตะวันออกกลางและดักลัส ฟีนส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พวกเขาต่างร่วมกันสนับสนุนอย่างไร้เงื่อนไขต่อนโยบายของอิสราเอลไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตาม การสนับสนุนอย่างไม่เสื่อมคลายนี้ได้ทำให้เราเข้าใจว่าพวกเขาเข้าข้างนายอาเรียล ชารอน(นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในช่วงปี 2001-2006- ผู้แปล) อย่างเงียบๆ เมื่อโรนัลด์ เรแกนได้เป็นประธานาธิบดีถึงสองครั้งคือ 1981 และ 1985 พวกเขาก็ได้โอกาสในการปฏิบัติภาระกิจในรัฐบาล
(เรแกนขณะประกาศถึงโครงการสตาร์วอร์)
ภาพจาก www.history.com
ในกรุงวอชิงตัน ดีซี พวกนวอนุรักษ์นิยมได้ทักทอเครือข่ายของพวกตน ตลอดเวลาเหล่านั้นเต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ พวกเขาได้เบียดไล่พวกปัญญาชนจากฝ่ายประชาธิปไตยและกลางค่อนซ้ายเพื่อเข้ามามีตำแหน่งใหญ่ที่สามารถครอบงำแนวคิดทางการเมืองของประเทศ ผลงานของพวกเขาคือบทความอย่างเช่นใน National Review, Commentary และ New Republic ซึ่งถูกผลักดันโดยนักคิดตระกูลสเตราส์วัยกระเตาะอย่างเช่น แอนดรูว์ ซูลิแวน แห่ง Weekly Standard ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกเป็นของกลุ่มเมอร์ด็อคซึ่งเครือข่าย Fox News รับผิดชอบในการถ่ายทอดรูปแบบหยาบๆ ของความคิดพวกนวอนุรักษ์นิยม
ภายใต้การรับผิดชอบของโรเบิร์ต บาร์ตลีย์ หน้าที่ลงบทความบรรณาธิการของนิตยสาร Wall Street Journal ตกเป็นของพวกนวอนุรักษ์นิยมอย่างปราศจากความลังเล สถาบันงานวิจัยและการระดมมันสมองหลายที่ก็ตกเป็นพื้นที่ทางความคิดของพวกเขาไม่ว่าสถาบันฮัดสัน กองทุนหรือสถาบันวิเทศกิจอเมริกัน ครอบครัวก็มีบทบาทเช่นกัน ลูกชายของเออร์วิง คริสตอล คือวิลเลียม คริสตอลเป็นผู้ดำเนินกิจการของ Weekly Standard หนึ่งในบรรดาลูกชายของนอร์แมน โพดโอเรสต์ทำงานให้กับรัฐบาลของเรแกน ริชาร์ด ไฟพ์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวที่อพยพเข้ามาในสหรัฐฯเมื่อปี 1939 เขามีลูกชายคือเดเนียล ไฟพ์สผู้ประณามศาสนาอิสลามว่าเป็นพวกเผด็จการที่คุกคามตะวันตก
คนเหล่านั้นไม่ใช่พวกลัทธิปลีกวิเวก (ภาษาอังกฤษคือ Isolationist คือพวกที่ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงกิจการของต่างประเทศ) ในทางกลับกันพวกเขามักจะมีการศึกษาดีมีความรู้มหาศาลเกี่ยวกับต่างประเทศซึ่งมีภาษาที่พวกเขาสันทัดอย่างมาก พวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งของแพทริกซ์ บูชานัน ซึ่งต้องการให้สหรัฐฯ ถอนความสนใจจากต่างประเทศมายังเรื่องภายในประเทศตนเอง พวกนวอนุรักษ์นิยมนั้นเป็นพวกสากลนิยมซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจที่มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก แนวคิดของพวกเขานั้นไม่เหมือนกับประธานาธิบดีจากพรรครีพับริกันไม่ว่านิกสันหรือจอร์จ บุชผู้พ่อซึ่งเชื่อมั่นในแนวคิด Realpolitik (แนวคิดที่เชื่อว่าการคานอำนาจระหว่างรัฐเป็นเรื่องที่ดี-ผู้แปล)และสนใจเพียงน้อยนิดว่ารัฐบาลของประเทศที่สหรัฐฯทำธุรกิจด้วยว่ามีการปกครองอย่างไร บุคคลอย่างเช่นคิสซิงเจอร์ไม่ใช่ตัวอย่างที่พวกเขาเดินตาม แต่พวกเขาก็ไม่ใช่พวกสากลนิยมประชาธิปไตยแบบวิลสัน (ตั้งตามชื่อประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน บิดาผู้โชคร้ายของสันนิบาติชาติ) หรือของจิมมี คาร์เตอร์หรือบิล คลินตัน ฝ่ายหลังทั้งสองนั้นดูไร้เดียงสาและดีเกินกว่าที่จะนำสถาบันนานาชาติในการเผยแพร่ประชาธิปไตย
หลังจากที่ได้พูดถึงแต่นักวางกลยุทธ ขอแนะนำนักปรัชญาต่อดีกว่า ไม่มีการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอัลเบิร์ต โวห์ลสเตเตอร์และลีโอ สเตราส์ (เสียชีวิตปี 1973) ก่อนหน้าที่พวกนวอนุรักษ์นิยมจะอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ภายในเครือข่ายของกลุ่มนี้ พวกเขาบางคนได้สร้างสะพานเพื่อเชื่อมคำสอนของคนทั้งสอง ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในส่วนของงานวิชาการ
ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดหรือการลื่นไหลทางความคิด (ของอลัน บลูม พอล โวลโฟวิตซ์ วิลเลียม คริสตอล และอื่นๆ) ปรัชญาของสเตราส์ได้กลายเป็นรากฐานทางทฤษฎีของพวกนวอนุรักษ์นิยม สเตราส์นั้นไม่เคยมีงานเขียนในเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบร่วมสมัยเลย เขาเป็นที่รู้จักโดยความรอบรู้เกี่ยวกับงานเขียนของกรีกโบราณรวมไปถึงคัมภีร์ของอิสลาม ยิวและคริสต์ เขาได้รับการยกย่องสำหรับพลังในรูปแบบการตีความ "เขาได้แปรรูปปรัชญากรีกโบราณมาเป็นความลุ่มลึกของความคิดแบบเยอรมันและส่งมันเข้ามาในประเทศที่ปราศจากแนวคิดปรัชญาอันยิ่งใหญ่ " ฌอง คลอด คาซาโนวา ซึ่งถูกส่งมาเรียนที่สหรัฐฯ โดยอาจารย์คือเรย์มอนด์ อารอง อารองยกย่องสเตราส์อย่างมากมาย และได้พบกับสเตราส์มาก่อนสงคราม อารองได้แนะนำลูกศิษย์หลายคนของเขาไม่ว่าปีแอร์ ฮัสส์เนอร์หรือปีแอร์ มานองต์ในสองสามปีต่อมาให้ไปหาสเตราส์
ลีโอ สเตราส์เกิดในเมืองเคิร์เชน รัฐเฮสเส ปี 1899 และออกจากเยอรมันในช่วงที่ฮิตเลอร์กำลังขึ้นมามีอำนาจ หลังจากทำงานเล็ก ๆ น้อยๆ ในกรุงปารีสและไปพำนักในอังกฤษ เขาได้เดินทางมาที่กรุงนิวยอร์กเพื่อสอนที่สถาบัน New School for Social Research ก่อนที่จะจัดตั้งกลุ่มความคิดทางสังคมในชิคาโก ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเพาะบ่มแนวคิดแบบสเตราส์
มันจะกลายเป็นเรื่องง่ายเกินไปที่จะสืบร่องรอยคำสอนของสเตราส์จากหลักการณ์ไม่กี่ข้อที่บรรดาลูกน้องของจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้ยกมา ไม่ว่าอย่างไรก็ตามลัทธินวอนุรักษ์นิยมได้หยั่งรากลงไปในจารีตมากกว่าแนวคิดของสเตราส์ แต่การอ้างอิงมายังสเตราส์ได้เสริมสร้างพื้นหลังอันมั่นคงของพวกนวอนุรักษ์นิยมที่กำลังมีอำนาจในกรุงวอชิงตัน มันทำให้เราได้เข้าใจว่าลัทธินวอนุรักษ์นิยมไม่ได้มีลักษณะแบบง่าย ๆของพวกเหยี่ยวไม่กี่คน มันอิงกับทฤษฎีซึ่งอาจจะมีการถกเถียงกันได้ พวกนวอนุรักษ์นิยมนั่งอยู่บนทางสองแพร่งระหว่าง 2 แนวคิดจากสมองของสเตราส์
แนวคิดแรกนั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของเขา เมื่อยังหนุ่มแน่น สเตราส์มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสื่อมทรามของสาธารณรัฐไวมาร์ภายใต้การคุกคามของพวกคอมมิวนิสต์และพวกนาซี ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ เขาก็สรุปว่าประชาธิปไตยไม่มีทางจะถูกนำมาใช้ได้หากมันยังคงอ่อนแอ ถึงแม้จะหมายถึงการยกตัวเองเพื่อต่อต้านทรราช ทรราชนั้นมีธรรมชาติเป็นพวกชอบแผ่ขยายอำนาจ เราต้องเผชิญหน้ากับมันโดยการใช้กำลัง "สาธารณรัฐไวมาร์นั้นอ่อนแอ มันมีเพียงช่วงเวลาหนึ่งที่มีพลังแม้ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ก็ตาม นั้นคือปฏิกิริยารุนแรงที่มีต่อ การลอบสังหารวอลเทอร์ ราเทเนารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นชาวยิวในปี 1922" สเตราส์เขียนในบทนำหนังสือชื่อ "การวิพากษ์ศาสนาของสปินโนซา" (ตีพิมพ์ในปี 1966 แปลในปี 1980) "หากพิจารณาให้ดี ไวมาร์ได้แสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมโดยปราศจากการใช้กำลัง หรือความยุติธรรมที่ไม่สามารถหันมาใช้พลังได้"
ความคิดที่ 2 มาจากการศึกษาของเขาในยุคโบราณ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของยุคเหล่านั้นเหมือนกับเราในยุคปัจจุบันคือรูปแบบของการปกครองที่อุบัติขึ้นมาเพื่อกำหนดลักษณะของมนุษย์ ทำไมศตวรรษที่ 20 ถึงได้ก่อให้เกิดการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จถึง 2 แบบ ซึ่งสเตราส์นิยมเรียกว่า"ทรราชย์"ตามคำศัพท์ของอาริสโตเติล ? สำหรับคำตอบเช่นนี้ซึ่งยังคงยั่วยุให้บรรดาปัญญาชนร่วมสมัยครุ่นคิดกัน สเตราส์ตอบว่ายุคใหม่นั้นได้ปฏิเสธคุณค่าทางศีลธรรม หรือคุณธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยและการปฏิเสธคุณค่าของเหตุผลและอารยธรรม
สเตราส์เห็นว่าการปฏิเสธเช่นนี้ได้มีรากแฝงในยุคแห่งการรู้แจ้ง ยุคนี้ได้ก่อให้เกิดลัทธิประวัติศาสตร์นิยม(Historicism) และลัทธิสัมพัทธนิยม (Relativism) ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นแบบจอมปลอมนั้นหมายถึงการปฏิเสธที่จะยอมรับการมีอยู่ของความดีสูงสุดที่สะท้อนมาในความดีระดับล่างๆ แต่ก็ไม่สามารถลดทอนเป็นความดีเหล่านั้นได้ ความดีสูงสุดคือความดีที่ไม่สามารถบรรลุถึงซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับความดีจริงๆ
(แปลเป็นภาษาคนก็คือสเตราส์เห็นว่าวิทยาศาสตร์ในยุคแห่งการรู้แจ้งปฏิเสธความดีชั้นสูงที่นักปรัชญายุคกรีกโบราณเคยยึดถือกัน อันเป็นความดีที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ คล้ายกับโลกแห่งแบบของเพลโตเลยก่อให้เกิดปัญหาของลัทธิเผด็จการในศตวรรษที่ยี่สิบ-ผู้แปล)
ภาพจาก https://anastaplo.files.wordpress.com
หากเราจะแปลกลับไปยังแนวคิดทางปรัชญาการเมือง ผลกระทบขั้นสุดโต่งของลัทธิสัมพัทธนิยมก็คือทฤษฎีที่สลายขั้วสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียต (ภาษาอังกฤษคือ USA-USSR convergence หมายถึงทฤษฎีที่เห็นว่าสหรัฐฯ กับโซเวียตนั้นมีการปกครองและบทบาทบนเวทีโลกที่มีลักษณะเริ่มเหมือนกันเข้าทุกที-ผู้แปล) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 มันเท่ากับว่าในที่สุดแล้วเป็นการยอมรับความคลุมเคลือทางศีลธรรมระหว่างประชาธิปไตยแบบอเมริกันกับคอมมิวนิสต์ของโซเวียต สำหรับลีโอ สเตราส์แล้ว มีการปกครองที่ดีและการปกครองที่เลว แนวคิดทางการเมืองจะต้องไม่ปราศจากการประเมินคุณค่า รัฐบาลที่ดีต้องมีสิทธิและหน้าที่ในการปกป้องตัวเองจากปีศาจร้าย มันจะเป็นการมักง่ายเกินไปที่จะแปรเปลี่ยนความคิดนี้มาเป็น "อักษะแห่งปีศาจ" (Axis of Evils) ที่ได้รับการประณามโดยจอร์จ ดับเบิลยู บุช แต่ก็เป็นเรื่องชัดเจนมากที่ว่าจริง ๆ แล้วมันมาจากแหล่งเดียวกัน
ความคิดสำคัญเกี่ยวกับการปกครองที่เป็นโครงสร้าง ของปรัชญาการเมืองเช่นนี้ถูกพัฒนาโดยสานุศิษย์ของสเตราส์ผู้ทวีความสนใจในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แม้แต่ตัวสเตราส์เองก็เป็นผู้ชื่นชอบในสหราชอาณาจักรและวินส์ตัน เชอร์ชิลล์ในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบุรุษผู้มีการกระทำที่เกิดจากเจตจำนง เขามีแนวโน้มที่จะคิดว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นเป็นระบบการเมืองที่เลวน้อยที่สุด ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่านี้แล้วสำหรับการเฟื่องฟูของมนุษยชาติ แม้จะมีแนวโน้มสำหรับความสนใจพิเศษที่จะนำคุณธรรมมาเป็นรากฐานของการปกครอง
ลูกศิษย์ของเขาคือเวลเตอร์ เบนส์ เฮียร์วีย์ แมนฟิลด์หรือฮาร์รี จาฟฟาเป็นกลุ่มคนที่ยกอันดับสำนักรัฐธรรมนูญนิยมของอเมริกา ในสถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ พวกเขาเห็นมากไปกว่าการนำเอาความคิดของบรรดาบิดาผู้ก่อตั้งอเมริกามาประยุกต์ใช้ พวกเขาเห็นถึงการนำเอากฏเกณฑ์ที่สูงกว่านั้นหรือสำหรับคนอย่างแฮร์รี จาฟฟาหมายถึงการสอนจากคัมภีร์ไบเบิล ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ศาสนาต้องมีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อสถาบันต่างๆ และสังคม การเรียกร้องเช่นนี้หาได้แปลกประหลาดสำหรับสเตราส์ไม่แต่นักปรัชญาที่ไม่เชื่อพระเจ้าท่านนี้มีความสุขกับการคิดอีกแบบหนึ่ง ตามคำพูดของจอร์จ บาลังดิเย่ สเตราส์ถือว่าศาสนานั้นมีประโยชน์ในการสร้างภาพลวงตาให้กับคนจำนวนมาก หากไม่มีศาสนา ระเบียบทางสังคมก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ในทางกลับกัน นักปรัชญาต้องสงวนไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งการเป็นนักวิพากษ์เพื่อที่จะเอ่ยเป็นภาษาที่มีนัยซ่อนเร้นให้กับคนจำนวนน้อยซึ่งมันสามารถถูกตีความและเข้าใจเฉพาะต่อลัทธิเชิดชูความสามารถของปัจเจกชนซึ่งตั้งอยู่หลักจริยธรรม
ในการเรียกร้องให้กลับไปยังอดีตอันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับกับดักของพวกยุคใหม่และมายาภาพของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สเตราส์กระนั้นก็ปกป้องประชาธิปไตยเสรีนิยมในฐานะเป็นผลผลิตของยุคแห่งการรู้แจ้งและประชาธิปไตยแบบอเมริกันในฐานะเป็นสาระสำคัญของมัน ดูขัดแย้งใช่ไหม ? ไม่ต้องสงสัย แต่ความขัดแย้งนี้เขาใช้โจมตีต่อแนวคิดของนักคิดอื่นๆ ในเรื่องเสรีนิยม (ของมองเตสกีเออและต็อกเกอร์วิลล์) สำหรับการวิพากษ์ลัทธิเสรีนิยมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่รอดของมัน เพราะลัทธิเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะสูญเสียตัวเองไปกับลัทธิสัมพัทธนิยมหรืออีกนัยหนึ่งการค้นหาความจริงได้เสียคุณค่าของตัวเองไปแล้ว สำหรับสเตราส์ ลักษณะเชิงสัมพัทธ์ของความดีทำให้เกิดความไร้ความสามารถในการต่อสู้กับทรราชย์
การปกป้องประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมที่มุ่งมั่นเช่นนี้ปรากฏตัวอีกครั้งในคัมภีร์ทางการเมืองใหม่อันเป็นหนึ่งในแนวคิดที่พวกนวอนุรักษ์นิยมชื่นชอบธรรมชาติของการปกครองนั้นสำคัญมากกว่าสถาบันและกิจกรรมนานาชาติทั้งหมดเพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดมาจากรัฐซึ่งไม่สามารถมีค่านิยมร่วมกับประชาธิปไตย (แบบอเมริกัน) การเปลี่ยนรัฐบาลเหล่านั้นและการทำงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของคุณค่าแห่งประชาธิปไตยคือหนทางที่แน่ชัดที่สุดในการเสริมสร้างความมั่งคง(ของอเมริกา)และสันติภาพ
ความสำคัญของรูปแบบการปกครอง การยกย่องประชาธิปไตยแบบเชิงรุก หรือการยกย่องคุณค่าอเมริกันดุจดังศาสนาและการต่อต้านอย่างคงมั่นต่อทรราชย์ สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นความคิดหลักของพวกนวอนุรักษ์นิยมที่อยู่แออัดกันในรัฐบาลของบุชล้วนแต่ถูกดึงมาจากของคำสอนของสเตราส์ หลายครั้งพวกมันถูกนำมาเขียนวิจารณ์และถูกแก้ไขโดยพวกลัทธิสเตราส์รุ่นที่ 2 แต่สิ่งหนึ่งที่แยกพวกมันออกจากคนที่พวกเขาถือกันว่าเป็นอาจารย์ก็คือการที่พวอนุรักษ์นิยมแสดงตนเป็นพวกมองโลกในด้านดีที่ฉาบด้วยแนวคิดเรื่องพระศรีอารย์ในการนำเสรีภาพมาสู่โลก (มายังตะวันออกกลางพรุ่งนี้และเมื่อวานก็เป็นญี่ปุ่นกับเยอรมัน) ราวกับลัทธิที่เชื่อในเจตจำนงทางการเมืองจะสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ได้แต่นักปรัชญาต้องไม่หลงกลด้วยเป็นอันขาด
แต่ปริศนาหนึ่งที่ยังคงอยู่นั้นคือ ลัทธิสเตราส์ซึ่งในช่วงแรกถูกตั้งขึ้นโดยผ่านการถ่ายทอดแบบปากต่อปากและขึ้นอยู่กับบารมีของปรามาจารย์เป็นส่วนใหญ่และถูกถ่ายทอดบนหนังสือไม่กี่เล่มหรือการตีความจากการตีความอีกครั้งจะสามารถเข้ามีอิทธิพลในรัฐบาลของประธานาธิบดีได้อย่างไร? ปีแอร์ มานังต์เสนอความคิดว่าการที่ลูกศิษย์ของสเตราส์ถูกจำกัดบทบาทให้อยู่ในมหาวิทยาลัยอเมริกันได้ทำให้พวกเขาถูกผลักดันให้เข้าไปสู่รัฐบาล กลุ่มระดมมันสมองและสื่อมวลชน พวกเขาต่างก็มีอิทธิพลอย่างล้นพ้นต่อวงการเหล่านั้น
คำอธิบายเพิ่มเติมอีกอย่างก็ก็คือช่องว่างทางภูมิปัญญาซึ่งเข้ามาแทนที่การสิ้นสุดของสงครามเย็นที่พวกลัทธิสเตราส์และการกลายร่างเป็นพวกนวอนุรักษ์นิยมดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เติมเต็มช่องว่างนี้ได้ดี การพังทะลายของกำแพงเบอร์ลินแสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกต้องเพราะนโยบายและมุมมองต่อสหภาพโซเวียตที่เน้นความก้าวร้าวของเรแกนทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำความเปราะบางของประชาธิปไตยที่ต้องเผชิญหน้ากับรูปแบบอันหลากหลายของทรราชย์ จากสงครามในอิรัก พวกนวอนุรักษ์นิยมอดไม่ได้ที่จะสรุปว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่แสนชั่วร้ายนั้นเป็นไปได้และเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา หากจะทำตามความมุ่งหมายเหล่านั้น การให้ความสำคัญต่อกฏหมายระหว่างชาติเป็นการเรียกร้องของความชอบธรรม แต่สิ่งที่ขาดในโลกปัจจุบันนี้ไปก็คืออำนาจของความเชื่ออันคงมั่นและความยับยั้งชั่งใจ
ภาพจาก www.newyorker.com
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948 และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์ จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21