คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่าง Forrest Gump นำมาดัดแปลง ลอกเลียนจนได้รับความนิยมมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ทั้งที่หากจะเปรียบกันแบบฉากต่อฉากแล้ว Being There ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวิต ตลก โรแมนติกมีการนำเสนอแนวคิดที่เสียดสีสังคมอเมริกันได้อย่างละมุนละม่อมและแยบยลยิ่งว่า Forrest Gump หลายเท่านัก
ภาพจาก wikipedia.org
Being There (1979) เป็นผลงานกำกับโดยฮัล เอชบีซึ่งก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี ผลงานชิ้นเอกของเขาคือ Coming Home ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงชีวิตอันรันทดของทหารผ่านศึกเวียดนามได้รับรางวัลตุ๊กตาทองมาหลายตัว Being There ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดังของเจอร์ซี โคซินสกีในชื่อเดียวกัน คำว่า Being There นี้โคซินสกี้น่าจะล้อเลียนมาจากชื่อหนังสือ Dasein ของนักปรัชญาชาวเยอรมันคือมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์มา หากดูโดยภาพรวม Being There ดูเหมือนจะสะท้อนแนวคิดปรัชญาของมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ไม่มากก็น้อย (แต่ถ้ามองในปัจจุบันก็วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านแนวคิดแบบโพสโมเดิร์นก็ได้) เข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะดีไปไม่ได้หากปราศจากนักแสดงนำคือปีเตอร์ เซลเลอร์สซึ่งถือได้ว่าเป็นนักแสดงแนวตลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคนหนึ่ง
Being There เป็นเรื่องของแชนซ์ (Chance) ชายปัญญาอ่อนคนหนึ่งซึ่งอายุก็ปาไป 50 กว่าปีแต่มีสมองไม่ต่างอะไรกับเด็กอายุ 5 ขวบ เขาได้รับการเลี้ยงดูจากชายชราคนหนึ่งพร้อมกับพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำ ตลอดชีวิตนั้นแชนซ์ไม่เคยก้าวเท้าออกนอกบ้านเลย เขาหมดเวลาไปกับการทำสวนและการชมโทรทัศน์ เมื่อชายชราเสียชีวิต แชนซ์จึงถูกไล่ออกจากบ้านโดยทนายที่ไร้ความเมตตา ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันไม่น้อย ฉากที่แชนซ์ใส่ชุดสากลเชย ๆ ออกนอกบ้านและเดินไปตามถนนของย่านเสื่อมโทรมที่มีแต่คนผิวดำ มีเพลงประกอบก็คือ Also Sprach Zarathustra ของริชาร์ด สตราสส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกนำไปใช้ใน 2001 :Space Odyssey ของสแตนลีย์ คิวบริกจนกลายเป็นเพลงเอกของภาพยนตร์ แต่ในแบบของ Being There เป็นทำนองดนตรีฟังก์ราวกับจะบอกว่าแชนซ์บัดนี้กำลังก้าวเข้าไปสำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่และแสนลึกลับตามสายตาของเขาซึ่งความจริงก็เป็นแค่สหรัฐฯ ในปลายทศวรรษที่ 70 ที่เต็มไปด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมสาระพัดซึ่งรัฐบาลแก้ไขไม่ได้ ภาพยนตร์ยังได้มีฉากที่น่าขบขันคือเมื่อแชนซ์ถูกล้อมกรอบและข่มขู่โดยแก๊งเด็กผิวดำ แชนซ์ก็ได้ใช้รีโมทคอนโทรลที่ติดมือมาด้วยเพื่อเปลี่ยนช่องให้พวกเด็กนรกหายไปแต่ไม่สำเร็จ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมโลกภายนอกจึงไม่เหมือนกับโทรทัศน์ ...แต่อย่าไปว่าเขาเลย แม้แต่เราเองซึ่งเป็นคนสติปัญญาธรรมดายังสับสนระหว่างชีวิตจริงกับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์หรือแม้แต่โฆษณาเลย
ทว่าโชคชะตาก็มาล้อเล่นกับแชนซ์ขณะเขากำลังเร่ร่อนไปในถนนยามค่ำคืนอย่างไร้จุดหมายนั้น รถลีมูซีนคันหรูก็ถอยมาชนเขาจนได้รับบาดเจ็บ เจ้าของรถเห็นว่าท่าทางแชนซ์เป็นคนดี ไม่โวยวายเหมือนอเมริกันชนทั่วไปที่ชอบฟ้องศาลเป็นนิจก็นำเขาไปส่งโรงพยาบาลแต่แล้วเธอเปลี่ยนใจพาไปบ้านแทน แต่เจ้าของรถยนต์หาใช่มิจฉาชีพไม่เพราะเธอคืออีฟ แรน (เชอร์ลี แม็คเลน) ภรรยาของเบนจามิน แรน (เมลวีน ดักกลัส) นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของอเมริกา บ้านของอีฟนั้นแทบไม่ต่างอะไรจากโรงพยาบาลก็เพราะเต็มไปด้วยเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่เตรียมพร้อมมาเพื่อรักษาเบนจามินที่กำลังล้มป่วย แชนซ์ได้สร้างความประทับใจให้กับท่านผู้เฒ่าอย่างมากจนเขาเข้าใจว่าแชนซ์เป็นนักธุรกิจ คนหนึ่งที่มีความสุขุมประเภทพูดน้อยต่อยหนักแฝงด้วยปรัชญาอันลุ่มลึกแต่ธุรกิจล้มละลายเลยต้องมาตกยากเช่นนี้ เชนซ์จึงได้รับการเชื้อเชิญให้อาศัยอยู่ด้วยอย่างไม่มีกำหนดและคนในบ้านเข้าใจว่าแชนซ์มีชื่อจริงว่า "แชนซ์ เดอะการ์เดนเนอร์" เพียงเพราะแชนซ์บอกว่า เขาเป็นคนสวน (gardener)
ตอนที่ไม่น่าเชื่ออีกตอนหนึ่งคือวันหนึ่งประธานาธิบดีบ็อบบี (แจ็ค วาร์เดน)ได้เดินทางมาเยี่ยมเบนจามินในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทำเนียบขาว เบนจามินยินดีจะให้แชนซ์อยู่ด้วยขณะพบกับประธานาธิบดี จึงเป็นฉากที่น่าประหลาดอยู่ไม่น้อยว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนแชนซ์เป็นแค่คนจรจัดที่ถ้าไม่เจออีฟก็คงจะนอนตายอยู่ข้างถนน แต่วันนี้เขากลับได้จับมือและพูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างสนิทสนม ประธานาธิบดีนั้นเข้าใจว่าแชนซ์ต้องมีอะไรดีสักอย่างจึงได้รับการยกย่องจากเบนจามินเลยขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แชนซ์ซึ่งไม่รู้อะไรเลยนอกจากการทำสวนจึงบอกแบบซื่อๆ ว่า
"... ตราบใดที่รากนั้นยังไม่เสียหาย ทุกอย่างก็จะงอกงามอยู่ในสวน ... ในสวน การเจริญเติบโตมีฤดูกาลเป็นของตัวเอง ครั้งแรกฤดูใบไม้ผลิตและฤดูร้อนได้มาเยือนแต่เราก็จะพบกับฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิตและฤดูร้อนก็จะเวียนมาอีกครั้ง"
คำแนะนำอันเรียบง่ายแบบนี้กลับถูกตีความจากประธานาธิบดีว่าว่าเป็นการอุปมาอุปไมยเหมือนกวีไฮกุของศาสนาพุทธนิกายเซนว่าต้องทำให้รากฐานแบบเศรษฐกิจมั่นคงเพื่อให้วิกฤตเศรษฐกิจผ่านพ้นไปและความเจริญรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง เขาจึงนำไปแถลงต่อสาธารณชนและได้ให้คำยกย่องแก่แชนซ์ด้วย แชนซ์จึงกลายเป็นคนดังไปทั่วอเมริกา นิตยสารและรายการโทรทัศน์ต่างแห่กันมาสัมภาษณ์เขา เมื่อแชนซ์ได้ออกงานสังคมโดยการนำของอีฟซึ่งก็แอบชอบเขาเหมือนกัน ใบหน้าที่เรียบเฉยและคำพูดง่ายๆ ตามประสาคนปัญญาอ่อนของแชนซ์กลับถูกตีความจากคนรอบข้างว่าเป็นบุคลิกและวาทะของปราชญ์ผู้หยั่งรู้โลก คำพูดบางประโยคที่ดูประหลาด ๆ คนก็ตีความว่าเป็นอารมณ์ขันของแชนซ์ ผู้ที่ถูกภาพยนตร์เสียดสีแรงไม่แพ้กันคือท่านประธานาธิบดีที่เริ่มระแวงสงสัยในปูมหลังของแชนซ์จึงให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอไปสืบประวัติของแชนซ์ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวเขาเลย ทำให้ประธานาธิบดีเข้าใจว่าชายคนนี้ได้ถูกลบประวัติอันเก่งกาจไปแล้วเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางประการ ความเชื่อเช่นนี้ยิ่งทำให้ท่านเครียดยิ่งขึ้นถึงขั้นเซ็กส์เสื่อมเลยทีเดียว ผมเข้าใจว่าภาพยนตร์น่าจะเอาบุคลิกของประธานาธิบดีในยุคนั้นคือจิมมี คาร์เตอร์ซึ่งมีบุคลิกของคนอ่อนแอและขาดความเชื่อมั่นในตัวเองมาเป็นตัวตนของประธานาธิบดีในภาพยนตร์ก็เป็นได้
ภาพจาก www.movie-roulette.com
แนวคิดสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่แชนซ์และคนรอบข้างของเขาต่างไม่เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของกันและกันได้เพียงแต่การตีความจากภาษาหรือลักษณะภายนอก ลักษณะนี้ก็คงจะเทียบเคียงได้กับ Being ในหนังสือของไฮเด็กเกอร์กระมังนั้นคือ Being ซึ่งเป็นรากฐานของสิ่งต่างๆ แฝงเร้นอยู่ในภาวะหนึ่งที่มนุษย์ไม่เคยเข้าถึง ในภาพยนตร์มนุษย์ก็เปรียบได้ดังแชนซ์ซึ่งไม่เข้าใจโลกของผู้ใหญ่ เขาหลงอยู่แต่โลกของตัวเองซึ่งมีอิทธิพลหลักคือโทรทัศน์ ในขณะเดียวกันคนอเมริกันต่างก็มองแชนซ์ในภาพที่ไกลจากตัวตนที่แท้จริงของเขาจนใกล้เคียงกับพระเจ้าขึ้นเรื่อยๆ มุมมองเช่นนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเกิดจากการถูกสะกดจิตโดยสื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างลัทธิ "เห่อบุคคล" ที่มีผลต่อการเลือกประธานาธิบดีของคนอเมริกันตลอดมาไม่มากก็น้อย หากเรามองสังคมอเมริกันในด้านลบ
ในตอนจบของภาพยนตร์ แชนซ์ได้ก้าวไปสู่จุดที่คนดูภาพยนตร์ยังคาดไม่ถึง (อันสมกับชื่อของเขาคือ Chance แปลว่า "โอกาส" หรือ "โชค") คืออาจจะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีสังกัดอยู่เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยหน้า มีเพียงไม่กี่คนเช่นหมอประจำตัวของเบนจามิน ทนายความ 2 คนที่ขับไล่แชนซ์ออกจากบ้านรวมไปถึงหลุยส์ ผู้หญิงผิวดำที่เคยเลี้ยงแชนซ์มาที่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของแชนซ์แต่คำรำพึงหรือความต้องการสะท้อนความจริงของแชนซ์จากคนเหล่านั้นก็คงเหมือนกับน้ำหยดเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแห่งความศรัทธาอันมืดบอดของคนอเมริกันนั้นเอง
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. รัฐไทยคิดว่าตัวเองเปรียบได้ดัง (10 ประเทศที่ฉ้อราษฎรบังหลวงน้อยที่สุดในโลก)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ข้อสอบกลางภาควิชารัฐศาสตร์แบบสลิ่ม รหัส 11112
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )