Skip to main content

      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบาคมีอิทธิพลมากที่สุดและยังมีชื่อเสียงเหนือกว่าคีตกวีในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจอร์จ ฟรีดริก แฮนเดิล , อันโตนีโอ วิวัลดี  หรือ โยฮันน์ ปาเกลเบล ถ้ามองโดยรวม บาคก็คงจะมีชื่อรองเพียงวูล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท  กับ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน เท่านั้น บาคยังถูกจัดว่าเป็น 1 ใน 3 Bs หรือผู้เป็นยักษ์ใหญ่ทางดนตรีของเยอรมันที่มีอักษร บี นำหน้าชื่อ นอกเหนือจากเบโธเฟนและโยฮันเนส บาร์มส์ อีกด้วย   ดนตรีของบาคได้รับการยอมรับและถูกนำมาเล่นไม่ว่าในรูปแบบเดิมหรือว่าเอามาดัดแปลงเป็นดนตรีสาขาอื่นเช่นแจ๊ซ ป็อบ ร็อค  นอกจากนี้เพลงของบาคยังได้รับความนิยมในการนำมาเป็นเพลงโฆษณา และเพลงประกอบภาพยนตร์ (ที่ทำได้ดีมากคือ The English Patient ตอนที่นางเอกเล่นเปียโนเพลงของเขาในโบสถ์ร้างนั้นดูสง่างามและผ่อนคลายเป็นยิ่งนัก) หรือแม้แต่เพลงเรียกเข้าของมือถือ ซึ่งทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี  กระนั้นก็ยังคงมีคนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร

 

 

                                                     

                                                      ภาพจาก www.harmoniousmusic.com

 

          บาค เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปี 1685 ที่เมืองไอเซนนัค พื้นที่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมัน ตระกูลของเขาจัดได้ว่าเป็นตระกูลแห่งนักดนตรีเลยทีเดียว บิดาของเขาคือโยฮันน์ อัมโบรเซียส บาค  นักไวโอลินและนักทรัมเป็ตผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ ญาติ ๆ ของบาคเช่นโยฮันน์ ลุดวิก บาค,  โยฮันน์ คริสตอฟ บาค และ โยฮันน์ ไมเคิล บาค  ก็ล้วนแต่เป็นนักดนตรีชื่อดัง เรียกได้ว่าตระกูลบาคสร้างสีสันให้กับดนตรีแก่โลกถึงหลายร้อยปีเลยทีเดียว

     ส่วนริชาร์ด บาค นักเขียนชาวอเมริกัน ที่เขียนนวนิยายชื่อดังคือ Jonathan Livingston Seagull ผมได้ยินมา  2  กระแสว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเพราะตระกูลบาคได้ขาดสายกันไปนานแล้ว กับอีกกระแสอ้างว่านักเขียนท่านนี้เป็นญาติห่างๆ ของบาค อย่างไรก็ตามผมชอบชื่อ   ของบาคเป็นพิเศษเพราะ Bach เป็นภาษาเยอรมันแปลว่าลำธาร คงคล้าย ๆ กับคำว่า Brook ในภาษาอังกฤษ กระมัง ช่างดูโรแมนติกไม่ต่างอะไรกับดนตรีของเขาที่นุ่มนวล และอ่อนโยน เปี่ยมด้วยความงดงามดุจดังโลกแห่งแบบของเปลโต

       โศกนาฏกรรมในชีวิตของบาคก็คือการเสียชีวิตไล่เลี่ยกันของบิดา และมารดา เขาจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าเมื่ออายุเพียง 10 ขวบ และได้รับการอุปถัมภ์จากญาติผู้พี่คือโยฮันน์ คริสตอฟ บาค ซึ่งเป็นนักเล่นออร์แกนอยู่ที่เมืองออร์ดรุฟ  ณ ที่นั้นเขาก็ได้รับการศึกษาด้านเครื่องดนตรีอย่างมากมายหลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน เปียโน โอโบ รวมไปถึงออร์แกนซึ่งจะมีอิทธิพลต่อดนตรีของเขามาก ผู้มีอิทธิพลทางดนตรีนอกจากจากพี่ชายเขาแล้วยังมีนักดนตรีเยอรมันเช่นโยฮันน์ ปาเคลเบล (เจ้าของเพลง Canon in D อันโด่งดัง) ซึ่งรู้จักกับพ่อของบาคเป็นอย่างดี แต่ที่ขาดเสียไม่ได้คือ นักเล่นออร์แกนนามว่าดิเตอริช บูซเตฮูด ที่บาคลงทุนเดินเท้าเปล่าเป็นระยะทางถึง 200 ไมล์เพื่อมาพบและชมการแสดง

      มีเรื่องเล่าว่าเด็กชายบาคเคยพยายามจะเล่นเปียโน แต่พี่ชายล็อคเปียโนไว้ไม่ให้เล่น ต่อมาเขาก็พยายามลอกโน้ตดนตรีจากสมุดของพี่ชาย แต่ก็ถูกห้าม ชะรอยว่าพี่ชายอาจจะหวงความรู้หรือโน้ตดนตรีในยุคนั้นจะมีค่ามากมายหรือเห็นว่ายากเกินสติปัญญาของบาค ก็สุดจะเข้าใจ อย่างไรก็ตามสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า การลอกหรือการเขียนโน้ตดนตรีในยามค่ำคืนต้องพึ่งแต่แสงเทียน จึงใช้สายตาเพ่งมากอันมีผลต่อสายตาของบาคในวัยไม้ใกล้ฝั่ง

      เมื่ออายุได้ 14 ปี  บาค ก็ได้รับทุนไปเรียนดนตรี ที่โรงเรียนเซนต์ไมเคิล โรงเรียนชื่อดังที่เมืองลูนเบิร์ก ไปพร้อมๆ กับการทำงานเป็นเด็กร้องเพลงประสานเสียง เขากับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งได้ทุนเหมือนกันต้องเดินทางไปเมืองลูนเบิร์กโดยเท้าเปล่ามากกว่านั่งรถม้า อาจเพราะฐานะไม่สู้ดี ในช่วงเวลาที่เรียนนี้ถือได้ว่าเป็นการเพาะบ่มความเป็นยอดคีตกวีของบาคก็ว่าได้เพราะนอกจากดนตรีแล้วยังรวมถึงการซึมซับเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ ของยุโรป รวมไปถึงศาสตร์อื่น ๆ นอกจากดนตรี

      แต่แล้วเสียงของเขาแตกพร่าเกินกว่าจะเป็นนักร้อง โชคดีอาจารย์ใหญ่อนุญาตให้เขาอยู่ที่โรงเรียนต่อ มีเรื่องราวว่าตอนอายุ 16 ปี บาคเดินทางไปชมดนตรีของนักเล่นออร์แกนชื่อดังอีกคนหนึ่งชื่อไรเคนซึ่งเขาชื่นชอบมาก ตอนขากลับ พบว่าตัวเองหิวจัดและไม่มีสตางค์สักแดงเดียว แต่ก่อนจะอดตายปรากฏว่ามีคนโยนหัวปลาทิ้งไว้ ขณะที่บาคกินหัวปลาอยู่นั้นก็พบว่ามีเหรียญทองอยู่ข้างในนั้นด้วยเลยโชคดีไป ตรงนี้อาจจะเป็นตัวตอกย้ำความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าของบาคซึ่งมีอิทธิพลต่อเพลงของตัวเองในเวลาต่อมาก็ได้

      บาคเรียนจบในปี 1703 แล้วก็ไปเป็นนักดนตรีประจำสำนัก ของดุ๊กโยฮันน์ เอินส์ท แห่งไวน์มาร์ ต่อมาในปี 1717 นึกอยากจะเปลี่ยนงานโดยย้ายไปอังกฤษ แต่ท่านดุ๊กปฏิเสธ เมื่อบาคโวยวายถึงความอยุติธรรมในสำนักก็ถูกท่านดุ๊กจับเข้าคุกเสียเลย อันนี้ท่านดุ๊กเองอาจจะมีเหตุผลเพราะบาคมีชื่อเสียงในเรื่องอารมณ์ร้าย หัวดื้อ จนบรรดานักดนตรีที่ร่วมงานด้วยต้องกลัวกันหัวหด

 

 

                                                 

                                                              ภาพจาก www.i.ytimg.com

 

     ด้วยจิตวิญญาณแห่งศิลปิน ในช่วงที่ถูกคุมขังนั้น บาคก็แต่งเพลงไปด้วย หลังจากโดนปล่อยตัวออกมา เขาก็ไปทำงานให้กับเจ้าชายลีโอโพลด์แห่งอันฮัลท์ โคเธน และได้รับความโปรดปรานจากเจ้าชายนักดนตรีพระองค์นี้มาก แต่ต่อมาเมื่อเจ้าชายทรงอภิเษกสมรส และเจ้าหญิงกลับไม่สนพระทัยในดนตรี บาคก็ต้องกราบบังคมทูลลาไปเป็นอาจารย์และผู้ฝึกสอนที่โบสถ์เซนต์โทมัส ในเมืองใหญ่ดังเช่นไลป์ซิก เมืองที่เขาจะอยู่ต่อไปจนชั่วอายุขัย

       ในช่วงชีวิตของบาค เขาเปลี่ยนงานบ่อย มีชีวิตขึ้น ๆลงๆ ทั้งสำเร็จและล้มเหลว เช่น ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญให้ไปแข่งขันดนตรีกับนักดนตรีชื่อดังต่อหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์โปแลนด์ แต่คู่แข่งถอดใจไม่มา บาคก็เลยเล่นดนตรีให้คนในราชสำนักตกตะลึงไปตามกัน จนได้รางวัลเป็นเหรียญทองคำ 100 เหรียญที่ใส่มากับถ้วยทองคำ แต่ บาคก็เคยถูกไล่ออกจากที่ทำงานเพราะพยายามเล่นดนตรีแบบใหม่เกินไปจนคนรับไม่ได้ และยังถูกกรรมการของโบสถ์ปฏิเสธเพลงคันทาทา (เสียงร้องที่มีเพลงประกอบ) ด้วยเหตุผลว่าเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า ทั้งที่บาคเปี่ยมด้วยความศรัทธาต่อพระองค์อย่างแรงกล้า

       เดือนตุลาคม ปี 1707 บาคแต่งงานกับมาเรีย บาบารา ซึ่งก็เป็นหลานสาวของคริสตอฟ  (ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเพราะญาติผู้พี่ท่านนี้อายุมากกว่าบาคถึง 42 ปี) เธอมีลูกให้เขาถึง 7 คน ซึ่ง 2 ในนั้นคือ วิลเฮล์ม ฟริดเดอมันน์ บาค และคาร์ล ฟิลิปป์ เอมมานูเอล บาค  ซึ่งเป็นคีตกวีคนสำคัญแม้จะไม่เท่าบิดาแต่ก็โด่งดังมากในยุคนั้นเหมือนกัน  เรื่องแสนเศร้าก็เกิดขึ้นกับบาคอีกแล้วเมื่อ บาบาราได้เสียชีวิตลง แต่อีก 1 ปีต่อมา เขาก็ไปแต่งงานใหม่กับหญิงสาวนามว่าแอนนา แมคดาเลนา วิลเก ลูกสาวของนักเล่นทรัมเป็ต และมีลูกอีก 13 คน ! ซึ่งหนึ่งในนั้นนามว่าโยฮันน์ คริสเตียน บาค ผู้จะมีมาอิทธิพลต่อดนตรีของอัจฉริยะกุมาร (child prodigy) อย่างโมซาร์ท ในภายหลัง

    ปี 1740 นัยน์ตาของบาคเริ่มพร่ามัว การผ่าตัดตาถึงสองครั้งกลับทำให้เขาตาบอด และส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเขาอย่างมาก บาคถึงแก่กรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1750 ด้วยโรคหัวใจวาย ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสานเซนต์จอห์น เมืองไลป์ซิก สิริรวมอายุได้ 65 ปี ฝรั่งถือกันว่าการตายของเขาเป็นการสิ้นสุดของดนตรียุคบาร็อค ส่วนดนตรีของเขาถูกลืมอย่างรวดเร็ว แต่แล้วในปี 1829 คีตกวีเชื้อสายยิวนามว่าเฟลิกซ์ บาร์โธดี เมนเดลโซห์น ก็ได้ปัดฝุ่นงานของเขาเช่นโอราโตริโอ ชื่อ St. Matthew Passion บาคจึงกลับมาดังอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

          

                                                                  

                                                                 อนุสาวรีย์ของบาคที่เมืองไลป์ซิก

                                                                   ภาพจาก  www.7-forum.com

 

ต่อไปนี้เป็นผลงานบางส่วนของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาคที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง โดยมี BWV หรือ Bach-Werke- Verzeichnis (หมายเลขงานของบาค) เป็นหลัก

 

1.Cantata (เสียงร้องที่มีเพลงมาประกอบ) BWV 1-224  ที่ดังสุด ๆ คือ หมายเลข 147 ชื่อว่า Jesus Joy of men’s desiring เหมาะสำหรับเพลงในช่วง คริสต์มาสอย่างมาก

 

2. Passion (เพลงเล่าเรื่องตอนที่พระเยซูกำลังจะถูกตรึงกางเขน) ที่โด่ง ดังคือ BWV 244 St. Matthew Passion และ BWV 245 St. John Passion

 

3.Chorales (เพลงสวดในโบสถ์) BWV 250-438

 

4. Preludes and Fugues, Toccatas and Fugues, and Fantasies for organ BWV 531–591

 

5.Well-Tempered Clavier BWV 846-893

 

6. Goldberg Variation BWV 988

 

7. Violin Concerto BWV 1041-1045

 

8. Brandenburg Concerto BWV 1046-10451

 

9.Air on a G string จาก Orchestra suite no.3 BWV 1069 –เพลงนี้ไพเราะมาก ค่อนข้างช้าๆ เนิบๆ กลายเป็นภาพประกอบโฆษณามามากต่อมากแล้ว

 

10.Note book for Anna Magdalena Bach Minuet in G (BWV ahn 114) ซึ่งต่อมาวง The Toys เอามาทำเป็นเพลงป็อบได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในอเมริกาเมื่อปี 1965 คือเพลง A Lover’s Concerto ที่ชาวไทยชื่นชอบกันนักเพราะหนังเกาหลี

                                                                  ฯลฯ

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948  และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก   หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์  จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                           
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์