แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ดัดแปลงมาจากเพลง ของบาคก็พรรณนาความรักล้อกับธรรมชาติได้ชวนเคลิบเคลิ้มและยังชวนให้เราคิดถึงฉากที่ว่านี้ในหนังเพลงสีธรรมชาติอันสุดแสนจะโด่งดังคือ The Sound of Music
The Sound of Music เป็นทั้งละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์ ที่ออกฉายในปี 1965 ฝีมือการกำกับและอำนวยการสร้างโดยโรเบิร์ต ไวส์ ผู้ฝากผลงานชื่อดังไม่ว่าหนังเพลง West Side Story เรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มสาวและความขัดแย้งของ กลุ่มอันธพาล 2 เชื้อชาติในอเมริกา หรือ The Day the Earth Stood still ซึ่งเป็นหนังมนุษย์ต่างดาวบุกโลกที่เนื้อหาไม่ธรรมดาและได้รับการยกย่องมากทั้งที่หนังวิทยาศาสตร์ ในทศวรรษที่ 50 ถือได้ว่าเป็นหนังเกรดบี แน่นอนบุคคลสำคัญของหนังเรื่องนี้ก็คือผู้ประพันธ์เพลงชื่อเสียงดังระบือไกลกว่าตัวผู้กำกับเสียอีกนั้นคือริชาร์ด รอดเจอร์ส และคนแต่งเนื้อร้องคือ ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์จูเนียร์ ที่เคยแต่งเพลงประกอบหนัง The King and I และ South Pacific ในทศวรรษที่ 50 ภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 10 รางวัลและกวาดไปได้ถึง 5 รางวัลโดยเฉพาะสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังทำรายได้ตลอดกาลในสูสีกับหนังสุดยอดไม่ว่า Gone With the Wind หรือ Star Wars แถมยังได้เป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปีของสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน
ภาพจาก kingstongrand.ca
นางเอกของเรื่องมีนามว่ามาเรียที่รับบทโดยจูลี แอนดรูว์ส ลูกศิษย์วัดที่เติบโตในอารามของแม่ชีในเมืองซาลซ์บูร์กในออสเตรียซึ่งเป็นบ้านเกิดของโมซาร์ทในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หนังเริ่มต้นจากภาพบรรดาขุนเขา ผ่านมุมกล้องที่โคสมาจากด้านบนแบบมุมมองของนก (Bird's eye- view) มายังมาเรียซึ่งกำลังร้องเพลงที่มีชื่อเดียวกับหนังเรื่องนี้ ในทุ่งหญ้ากว้างที่ไกลออกเป็นภูเขาที่ขาวโพลนด้วยหิมะ
The hills are alive with the sound of music
With songs they have sung for a thousand years
The hills fill my heart with the sound of music
My heart wants to sing every song it hears
My heart wants to beat like the wings of the birds that rise from the lake to the trees
My heart wants to sigh like a chime that flies from a church on a breeze
To laugh like a brook when it trips and falls over stones on its way
To sing through the night like a lark who is learning to pray
I go to the hills when my heart is lonely
I know I will hear what I've heard before
My heart will be blessed with the sound of music
And I'll sing once more
มวลขุนเขาต่างเริงร่าด้วยเสียงแห่งดนตรี
พร้อมบทเพลงที่ถูกขับขานมาหลายพันปี
มวลขุนเขากล่อมหัวใจฉันด้วยเสียงแห่งดนตรี
จนหัวใจใคร่ร้องเพลงทุกบทที่ได้ยิน
หัวใจฉันใคร่เต้นเหมือนปีกนกที่โผทะยานจากทะเลสาปมาสู่แมกไม้
หัวใจฉันใคร่ถอดถอนใจด้วยเสียงดังระฆังจากโบสถ์แว่วไปตามลม
ขอได้หัวเราะเสียงเหมือนลำธารที่ไหลคดเคี้ยวและตกลงเหนือก้อนหินตามทาง
ขอได้ร้องเพลงไปตลอดราตรีราวกับนกลาร์กที่กำลังหัดอธิษฐาน
เมื่อคราใดที่เหงาใจ ฉันจะไปที่เนินเขา
ฉันรู้ว่าจะได้ยินเสียงที่ได้ยินมาก่อน
หัวใจฉันจะปีติด้วยเสียงแห่งดนตรี
และจะขับขานเพลงอีกครั้งหนึ่ง
(เพลงที่มีความหมายคล้าย ๆ กับเพลงที่ถูกร้องในตอนหลังคือ Climb Ev'ry Mountain)
แต่แล้วเสียงระฆังจากอารามของแม่ชีก็ทำให้มาเรียตื่นจากภวังค์ เพราะรู้ว่าเธอไปทำวัดสายเสียแล้ว ภาพก็ตัดมายังบรรดาแม่ชีที่ทำวัดโดยการร้องเพลงสวดและจากนั้นเหล่าแม่ชีก็จับกลุ่มกันถกเถียงเกี่ยวกับธรรมชาติเด็กสาวที่อิสระ ไม่มีระเบียบวินัย ด้วยเพลง Maria ซึ่งมีเนื้อร้องเปรียบเปรยได้อย่างมีจินตนาการดังเช่นในท่อนหนึ่งบอกว่า
How do you solve a problem like Maria?
How do you catch a cloud and pin it down?
How do you find a word that means Maria?
A flibbertijibbet! A will-o'-the wisp! A clown!
เราจะแก้ปัญหาอย่างมาเรียอย่างไรดี ?
เราจะจับเมฆให้อยู่กับที่ได้อย่างไร ?
เราจะหาคำมานิยามมาเรียได้อย่างไร ?
โอ้ เจ้าเด็กโง่ ! คนรวนเร !เจ้าตัวตลก !
(ไม่รู้ว่าหนังตั้งจะให้เป็นภาพที่ตัดกันหรือไม่เพราะพวกแม่ชีต้องมาร้องเพลงนี้อีกครั้งตอนที่เธอกับพระเอกที่เหมือนเจ้าชายในเทพนิยายแต่งงานกันในโบสถ์)
ในที่สุดทางโบสถ์ก็ตัดสินใจส่งมาเรียให้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับลูกๆ ของ กัปตัน ฟอน แทรปป์ (รับบทโดยคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) อดีตนายทหารของกองทัพเรือออสเตรีย พ่อม่ายที่มีเรือพ่วงถึง 7 คน ณ ที่นั้นเธอได้พบกับบรรดาเด็ก ๆ ที่แสนซน เอาแต่ใจตัวเองแถมยังชอบแกล้งพี่เลี้ยงเด็กจนทางบ้านต้องเปลี่ยนพี่เลี้ยงเด็กเป็นว่าเล่น และมาเรียก็ได้เข้าใจว่าเพราะมาจากการเลี้ยงดูที่แสนเข้มงวดของผู้เป็นบิดาไม่ว่าการฝึกให้ทำทุกอย่างเหมือนกับทหารด้วยนกหวีด แต่แล้วด้วยความเป็นคนดีมีเมตตา พร้อมหัวใจที่เปี่ยมด้วยดนตรี เธอก็สามารถเอาชนะจิตใจของเด็ก ๆ ได้ จากการลงทุนเอาม่านประดับห้องของตัวเองมาตัดเป็นชุดให้กับเด็ก และนำไปเที่ยวเล่น ปิกนิกและสอนร้องเพลงตามที่ต่างๆ อันงดงามของออสเตรียเช่นทุ่งหญ้าสีเขียวขจีพร้อมกับภูเขาที่มีหิมะขาวโพลนอยู่เบื้องหลัง เพลงที่ไพเราะก็ได้แก่ Do-Re-Mi ที่กลายเป็นเพลงสำหรับสอนเด็กเกี่ยวกับความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งอิงอยู่กับปรัชญาการศึกษาที่เน้นการใกล้ชิดกับธรรมชาติและความเป็นอิสระของผู้เรียน อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องพูดถึงลูกสาวคนโตของครอบครัวนี้คือ ลิเซล ผู้ตกหลุมรักกับบุรุษไปรษณีย์ในวัยใกล้เคียงกัน ทั้งคู่แอบพบกันในสวนหลังบ้านที่ฝนตกพรำพร้อมกับร้องเพลงคู่ Sixteen Going on Seventeen ซึ่งดูแล้วทำให้นึกถึงตอนหนึ่งในหนังเพลง Singin'in The Rain ที่จีน เคลลีเต้นและร้องเพลงชื่อเดียวกับหนังท่ามกลางฝน
www.gablescinema.com
ก่อนหน้านั้นกัปตันก็มีผู้หญิงที่เขามุ่งหมายจะแต่งงานด้วยอีกครั้งคือบารอนเนส เอสซา แชรเดอร์ ไฮโซสาวผู้มั่งคั่ง ที่จริงแล้วเธอดูไม่ค่อยมีนิสัยไปทางนางดาวร้ายเท่าไรนักแถมยังดูสวยและเหมาะสมกับพระเอกยิ่งกว่ามาเรียเสียอีก แต่บรรดาลูก ๆ ของพระเอกก็ไม่ค่อยชอบเพราะนิสัยออกไปทางขุนน้ำขุนนาง ถึงแม้กัปตันในตอนแรกไม่พอใจและคิดจะไล่มาเรียออกในข้อหาทำให้ลูกของตนเสียคนแต่ว่ากลับมาประทับใจเพราะเธอได้ทำให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากภรรยาเขาเสียชีวิตไปแล้วโดยเฉพาะตัวเขาเองกลับมาเล่นกีตาร์และร้องเพลงที่ไพเราะที่สุดเพลงหนึ่งในหนังคือ Edelweiss ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้พันธุ์หนึ่ง เพลงได้รับการแต่งโดยรอดจอร์จส์และแฮมเมอร์สไตน์สำหรับหนังเรื่องนี้ แต่ว่าโด่งดังเกินไปจนคนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพลงชาติของออสเตรีย
Edelweiss, edelweiss, every morning you
greet me.
Small and white,
Clean and bright,
You look happy to meet me.
Blossom of snow
May you bloom and grow,
Bloom and grow forever.
Edelweiss, edelweiss, bless my homeland forever
เอลเดลไวส เอลเดลไวส ทุกเช้าเธอจะมาทักทายฉัน
กระจิ๋วหลิวและขาวผ่อง
ขาวใสและแจ่มกระจ่าง
เมื่อคราได้พบฉัน เธอดูสุขสันต์
เจ้าเกล็ดหิมะ
ขอให้เธอบานสะพรั่งและเติบโต
บานสะพรั่งและเติบโตตลอดกาล
เอลเดลไวส เอลเดลไวส โปรดอวยพรมาตุภูมิฉันนิรันดรเอย
ความชอบของกัปตันที่มีต่อตัวมาเรียยิ่งทวีคูณจนกลายเป็นความรักดังที่เขาขอมาเรียเต้นรำด้วยในงานเลี้ยงเต้นรำที่บ้านของเขาเอง และแน่นอนว่าความรักของเขาย่อมไม่ใช่มีเพียงฝ่ายเดียว ฉากที่น่าประทับใจอีกฉากของเรื่องนี้คือตอนที่มาเรียจัดให้พวกเด็ก ๆ มาเต้นรำและร้องเพลงหมู่ที่แสนจะไพเราะประทับใจแขกในตอนจบของงานนั้นคือ So Long, Farewell ที่เพลงขึ้นต้นผมเคยได้ยินจากสถานีเอฟเอ็ม 100 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สมัยโน้นในตอนปิดสถานีตอนเที่ยงคืน ปัจจุบันยังจะใช้เพลงนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบเพราะไม่เคยอยู่ทันเสียที หนังจะเป็นอย่างไรต่อไปเราก็คงจะเดาได้กับซินเดอเรลลาภาคหนังเรื่องนี้ แต่ที่น่าสนใจว่าถึงแม้ทั้งคู่จะสมหวัง แถมเด็ก ๆ ยังได้รับการสนับสนุนจากลุงแม็กส์ให้เข้าร่วมงานประกวดร้องเพลง (ที่กัปตันคัดค้านแบบหัวชนฝา) ภาพยนตร์ก็หาได้จบแบบ and They lived happily ever after(แล้วพวกเขาก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป)ไม่ เพราะสถานการณ์การเมืองก็เข้ามากระทบต่อชีวิตของคนครอบครัวฟอน แทรปป์ จนได้นั้นคือ ฮิตเลอร์ได้ผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันในปี 1938 ดังที่เรียกกันว่า Anchluss และทางการเยอรมันได้เกณฑ์กัปตันให้กลับไปรับราชการอีกครั้ง ทว่าอดีตนายทหารหนุ่มมีความรักชาติอย่างเต็มเปี่ยมและเกลียดชังนาซีเป็นอย่างยิ่ง ดังจะดูได้จากตอนที่เขาไม่ยอมประดับบ้านด้วยธงนาซีแถมยังฉีกธงแบบเย้ยฟ้าท้าดินเสียด้วย ภายใต้แรงกดดันมหาศาลแบบนี้กัปตันจะทำอย่างไรดี ?
ภาพจาก theguardian.com
The Sound of Music สร้างมาจากเรื่องจริง และใช้ชื่อเกือบจริงของจอร์จ ริตเตอร์ ฟอน แทรปป์ (1880-1947) กัปตันเรือดำน้ำของออสเตรียที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่1 ส่วนมาเรียก็มีตัวตนอยู่จริง ชื่อเดิมของเธอ คือมาเรีย ออกุสตา คุตส์เครา ที่เคยเป็นลูกศิษย์วัดในอารามของแม่ชีมาก่อนที่จะช่วยรักษาพยาบาลลูกคนหนึ่งของจอร์จ (แต่ในหนังเป็นมาพี่เลี้ยง) จนได้แต่งงานกันแต่ด้วยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 30 ครอบครัวต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากทั้งสามีภรรยาและ ลูกๆ ต้องตั้งวงดนตรีช่วยกันออกหาเงินจนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วยุโรป (แต่ในหนังไม่มีการตั้งวงหากินเพียงแต่ไปประกวดเฉยๆ แถมยังเป็นการประกวดที่ไม่ได้ตั้งใจเข้าร่วมด้วย) จนฮิตเลอร์ประทับใจมากเลยเชิญครอบครัวนี้ไปร้องเพลงที่งานวันเกิดของตน แต่ด้วยความเกลียดชังพวกนาซีเหมือนในหนังก็เลยปฏิเสธ สุดท้ายครอบครัวดนตรีนี้หลบหนีไปที่อิตาลีแทน มาเรียในตอนหลังเขียนบันทึกความจำออกเป็นหนังสือขายดิบขายดีชื่อ The Story of the Trapp Family Singers จนกลายมาเป็นภาพยนตร์เพลงอันโด่งดังที่เราได้ดูกัน
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948 และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์ จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21