"Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers."
Blanche Dubois
ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพิงความเมตตาจากคนแปลกหน้าเสมอ
บลังช์ ดูบัวส์
(ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาทั้งหมด)
ก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 1951 รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา หรือ A Streetcar Named Desire เคยเป็นละครบรอดเวย์มาหลายปีดีดัก ละครเรื่องนี้เปิดการแสดงครั้งแรกในปี 1947 ที่โรงละครอีเทล แบร์รีมอร์ มหานครนิวยอร์ก เป็นผลงานของนักเขียนบทละครชื่อดังนามว่าเทนเนสซี วิลเลียมส์ซึ่งก็ได้รับรางวัลพูลิเซอร์จากละครเรื่องนี้ ส่วนในเมืองไทยนั้น ตอนผมยังเด็กจำได้ว่าละครหรือภาพยนตร์เรื่องนี้เคยถูกนำมาสร้างเป็นแบบไทยๆ ด้วยแต่เนื้อหาจะถูกเปลี่ยนอย่างไรก็จำไม่ได้แต่แน่ใจว่าโทรทัศน์สมัยนั้นยังขาวดำอยู่เลย สำหรับผู้ที่นำละครเวทีเรื่องนี้มาโลดแล่นสู่โลกเซลลูลอยด์นั้นคืออีเลีย คาร์ซานที่เคยสร้างชื่อมาแล้วกับหนังระดับรางวัลออสการ์คือ Gentleman's Agreement (1947) รวมไปถึงหนังหลังจากนั้นคือ On the Waterfront (1954) จะว่าด้วยโชคชะตาหรือเนื้อหาในหนังของเขาก็เลยแต่ ไม่นานนักเขาก็โดนมรสุมชีวิตคือถูกคณะกรรมการสืบสวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน (HUAC) ในยุคล่าคอมมิวนิสต์เล่นงานจนแทบเอาตัวไม่รอด
ภาพจาก www.filmsite.org
รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (ขอเขียนเป็นชื่อสั้้นๆ ว่า "รถรางฯ") เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวนามว่าบลังช์ ดูบัวส์ สาวผู้ดีตกยากที่เคยมีนิวาสสถานที่เมืองลอเรล รัฐมิสซิปซิปี เธอเดินทางมาเยี่ยมและพักอาศัยอยู่กับน้องสาวคือสเตลลา โควัลสกีที่มาตั้งครอบครัวใหม่ในเมือง นิวออร์ลีนส์ ณ ที่นั่นเธอก็ได้ตกใจ ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้น้องเขยจากชนชั้นล่างที่สุดแสนจะเถื่อนและกักขฬะอย่างเช่นชายหนุ่มเชื้อสายโปแลนด์นามว่าสแตนลีย์ โควัลสกี โชคร้ายสำหรับสเเตลลาที่ทั้งคู่ไม่ชอบขี้หน้ากัน และเป็นสแตนลีย์นั่นเองที่ไปสืบค้นหาความลับของบลองช์ที่พยายามซ่อนไว้ภายใต้ลักษณะท่าทางผู้ดีเก่า เป็นสาวบริสุทธิ์ใสซื่อ อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมของบลองช์ในที่สุด
คนที่มารับบทเป็นบลองช์นั้นแต่เดิมในบรอดเวย์คือเจสซิกา แทนดี แต่เมื่อกลายเป็นหนัง ผู้มารับบทกลับเป็นวิเวียน ลีห์ ผู้ที่ทำให้เราทั้งรักปนหมั่นไส้กับสการ์เลตต์ โอ ฮาราในหนังมหากาพย์ "วิมานลอย"หรือ Gone With The Wind ในฉากสุดท้าย ความมุ่งมั่นของเธอที่จะผลิกฟื้นแผ่นดินบ้านเกิดและนำคนรัก (แสดงโดยคลาก เกเบิล) กลับมาสู่อ้อมกอดของเธออีกครั้ง ทำให้คนดูรู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่น่าซบตักที่สุดในโลกเลยทีเดียว แต่ถ้าเห็นเธอในหนังเรื่องรถราง ฯ แล้วจะตกใจ เพราะในวิมานลอย เธออายุ 27แต่ถูกจับแต่งตัวให้อายุเพียง16 แต่ในรถรางฯ นี้เราต้องบวกอายุเข้าไปอีก 10 ปี แม้จะมีเค้าความสวยหลงเหลืออยู่บ้างแต่เครื่องสำอางซึ่งแต่หน้าทำให้ลีห์ดูแก่และโทรมกว่าอายุจริงไม่น้อยพร้อมกับท่าทางอะไรบางอย่างที่ทำให้คนดูรู้ว่าเธอไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป ส่วนสแตนลีย์ มีคนมารับบทบาทนี้มากหน้าหลายตา แต่ที่โดดเด่นที่สุดทั้งในละครเวทีและภาพยนตร์คือ มาร์ลอน แบรนด์โด ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักนัก ผู้ชมยุคใหม่จะคุ้นเคยและรู้จักกับแบรนโดตอนแก่โดยเฉพาะบทบาทดอน คารีโอเนใน The Godfather แต่ในรถรางฯ ดูตั้งใจจะให้เป็นหนุ่มโฉดหรือ Bad Guy ที่มีเสน่ห์ทางเพศต่อผู้หญิง ความเถื่อนถ่อยของเขาจะเป็นตัวผลักดันเรื่องให้มีพลังเช่นเดียวกับโศกนาฎกรรมของบลองช์ ส่วนผู้แสดงเด่นรองลงมาอีก 2 คนคือคิม ฮันเตอร์ ผู้แสดงเป็นสแตลลาซึ่งสามารถแสดงความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่ต้องพบกับความขัดแย้งระหว่างความเป็นน้องสาวและภรรยาได้มีพลังเช่นเดียวกับคาร์ล มาเดน ที่รับบทมิทช์เพื่อนของสแตนลีย์ผู้แสนซื่อที่แตกหลุมรักและพยายามจีบบลองช์ได้อย่างดี
รถราง ฯ ได้รางวัลออสการ์แค่ 4 สาขาจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 12 สาขา 3 รางวัลแรกเป็นดารานำ 3 คน สำหรับแบรนโดน่าจะได้เหมือนกันเพียงแต่ว่าในปีนั้นดาราชายอีกคนที่มีบารมีเหนือเขาอย่างเทียบไม่ติดคือฮัมฟรี โบการ์ด สามารถแสดงบทนักเดินเรือในหนังเรื่อง African Queen ได้อย่างสุดยอดคู่กับคาธอรีน แฮปเบิร์น ซึ่งเข้าถูกเสนอชื่อเข้าชิงเหมือนกันแต่แพ้วิเวียน ลีห์ไปอย่างน่าเสียดาย รถราง ฯถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ100 ปีของสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน
เป็นที่น่าสนใจว่ากฏหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของอเมริกาในทศวรรษที่ 50 อิงอยู่บนแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเข้มงวดอย่างยิ่งโดยเฉพาะฉากโป๊เปลือย จึงไม่มีวันให้ผู้แสดงหญิงโชว์เนื้อหนังภายใต้ร่มผ้าจนเกินไป (ยกเว้นตอนใส่ชุดว่ายน้ำ) ผู้แสดงทั้งชายและหญิงต้องจูบแบบแค่เอาปากมาแตะกัน ห้ามท่า French Kiss หรือเอาลิ้นมาพัวพันกันเป็นอันขาด จากนั้นก็เป็นท่าบังคับคือพระเอกกับนางเอกต้องเอาแก้มแนบกัน หากยังจูบกันอยู่และภาพตัดไปก็ให้คนดูคิดเอาเองว่าทั้งคู่ได้กันไปแล้ว น่าสนใจว่าแนวโน้มเช่นนี้ได้รับการเสริมแรงจากองค์กรทางศาสนาโดยเฉพาะของนิกายคาทอลิก และละครไทยก็ดูราวกับลอกกลยุทธ์เช่นนี้มาใช้ไม่ผิดเพี้ยนเพราะหน่วยงานที่ดูและเนื้อหาละครและภาพยนตร์ของไทยก็เป็นอวตารของหน่วยงานในสหรัฐฯ เมื่อเกินครึ่งศตวรรษก่อนมาเป็นแน่
รถราง ฯ นี้จึงได้รับการจงใจสร้างให้เป็นหนังคลุมเครือเพื่อแสดงเรื่องทางเพศไม่ชัดเจนหนักเป็นเชิงท้าทายกรรไกรของแผนกเซนเซอร์ อย่างเช่นหนังทั่วไปอาจจะแค่เน้นทรวดทรงของฝ่ายหญิงภายใต้ร่มผ้าแต่รถรางฯ กลับเน้นมุมมองจากฝ่ายหญิงคือให้บลองช์รู้สึกหวั่นไหวไปกับรูปร่างบึกบึนของสแตนลีย์ในช่วงแรกที่ทั้งคู่พบกัน เข้าใจว่ากฏหมายเซ็นเซอร์คงไม่ได้ใส่ใจกับเรือนร่างของผู้ชายนัก ตามแบบของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เช่นเดียวกับสเเตลลาถึงแม้จะเกลียดชังสามีในเรื่องความก้าวร้าวของเขาและการปฏิบัติไม่ดีต่อพี่สาวของเธอแต่ดูเหมือนจะถูกพันธนาการโดยเสน่ห์ทางเพศของสามี ส่วนที่ทำให้คนดูในอเมริกายุคนั้นน่าจะตกใจคือพฤติกรรมในอดีตของบลองช์ที่ค่อย ๆ โผล่ออกมา เช่นการสารภาพของเธอต่อมิทช์ ในงานเต้นรำ เธอบอกเขาว่าเธอเคยแต่งงานกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งแต่แล้วก็ต่อว่าเขาหลังจากล้มเหลวเรื่องบนเตียงทำให้สามีไปฆ่าตัวตาย หนังไม่ได้บอกชัดเจนว่าทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย แต่ในละครบอกชัดเจนว่า เพราะความกดดันที่ตัวเองเป็นพวกแอบจิต หากเป็นปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมเมื่อ 60 ปีที่แล้วของอเมริกาน่าจะมองพวกรักร่วมเพศเป็นพวกาลีบ้านกาลีเมืองอะไรทำนองนั้น
แต่ที่ทำให้คนดูตกใจยิ่งกว่าคือการไปเสาะแสวงหาข้อมูลของสแตนลีย์ว่าที่จริงแล้วที่บลองช์ถูกไล่ออกจากอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเพราะไปมีความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหนุ่มและเธอก็ผันอาชีพไปเป็นโสเภณีโดยมีนิวาสสถานอยู่ในโรงแรมชั้นสอง ส่วนบ้านถูกธนาคารยึด แต่ในหนังตอนที่เธอยอมรับอดีตของตัวเองกับมิทช์ก็ไม่ได้บอกแบบตรงๆ เพียงแต่เป็นเชิงเปรียบเปรยอย่างเช่น
Blanche DuBois: Tarantula was the name of it. I stayed at a hotel called the Tarantula Arms.
บลังช์ :ทารันทูลาเป็นชื่อของมัน ฉันอาศัยอยู่ที่โรงแรมชื่อว่า ทารันทูราอาร์มส์
Mitch: Tarantula Arms?
มิทช์ : ทารันทูราอาร์มส์ ?
Blanche DuBois: Yes, a big spider. That's where I brought my victims. Yes, I've had many meetings with strangers.
บลังช์: ใช่ แมงมุมยักษ์ มันเป็นที่ฉันพาเหยื่อมา ใช่แล้วฉันได้พบกับคนแปลกหน้าหลายต่อหลายครั้ง
ประโยคสุดท้ายนี้คือตัวอย่างของความยอดเยี่ยมของคาซานผู้กำกับในการนำเอาสัญลักษณ์มาใช้ในหนังมากกว่าจะพูดถึงแบบตรงๆ อันนอกจากจะทำให้หนังสวยงามแล้วยังหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อีกมากมายที่หนังนำเสนอเพื่อสื่อแบบตรงไปตรงมาหรือขัดแย้งกันเองเช่นชื่อของบลองช์ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสีขาว ดูจะขัดแย้งกับปมอดีตที่ดำข้นของเธอ และเธอมักจะชอบอยู่ในความมืด อันส่อให้เห็นว่าเธอชอบซ่อนเร้นตัวจากภาพลักษณ์อันเลวร้ายที่เมือง อีกด้วย เช่นเดียวกับชื่อเรื่องที่ว่า A Streetcar Named Desire ซึ่งปกติแล้วเป็นชื่อของรถรางในเมืองนิวออร์ลีนที่บลองช์ในโดยสารไปบ้านน้องสาว แต่ความปรารถนาในที่นี้น่าจะหมายถึงของความรู้สึกของบลองช์เอง จะว่าการที่เธอเป็นโสเภณีก็หาใช่เพราะความยากแค้นเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากความปรารถนาของตัวเองที่เกิดจากความเหงาลึกๆ แต่ทางวงการจิตวิทยากลับเรียกว่า Nymphomania (ไม่ใช่ Hysteria อย่างที่คุ้นเคย เพราะโรคนั้นหมายถึงการชักกระตุก หรือตัวสั่นเหมือนกับผีเข้าสิง) พร้อม ๆ กับอาการโรคประสาทที่ลีห์สามารถแสดงได้อย่างดีเยี่ยมนับตั้งแต่ในระดับที่คนทั่วไปสังเกตไม่ชัดเจน แม้แต่สเเตลลาผู้เป็นน้องสาว ซึ่งอาการโรคประสาทนี้จะเป็นเหมือนกับเกราะที่สร้างโลกส่วนตัวให้กับบลองช์หลงละเมอว่าเธอยังเป็นสาวผู้ดีและมีหนุ่มไฮโซมาพัวพันเธออยู่เหมือนเดิม
ภาพจาก www.asset1.net
ต่อมาสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อเธอพบว่าทั้งสแตนลีย์และมิทช์ต่างรู้อดีตของตน โดยเฉพาะมิทช์ถึงกลับปฏิเสธไม่ยอมขอเธอแต่งงานดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก และเป็นฟางเส้นสุดท้ายในคืนวันที่สเเตลลาไปคลอดลูก เธอถูกสแตนลีย์ข่มขืน หากเป็นสมัยนี้คงจะมีฉากที่เร้าใจน่าดู (แต่ก็มีม่านหมอกแห่งคุณธรรมบังก้นพระเอกหรือนมนางเอกไว้)แต่ในสมัยนั้น หนังได้ฉลาดในการตัดภาพจากสแตนลีย์กำลังฉุดไม้ฉุดมือเธอไปยังรูปของเธอในกระจกข้างผนังและกระจกที่แตกร้าวอย่างรวดเร็วเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า โลกมายาที่เธอเฝ้าทะนุทะนอมได้แตกสลายลงจากน้ำมือของผู้ชายที่เธอเห็นว่าชั้นต่ำ บลองช์จึงเข้าไปสู่โลกแห่งความบ้าอย่างสมบูรณ์เหมือนกับนอร์มา เดสมอนด์ นางเอกในหนังเรื่อง Sunset Boulevard เรื่องจึงจบลงที่สแตนลีย์ให้เจ้าหน้าที่ 2 คนจากโรงพยาบาลบ้ามารับบลองช์ไปรักษา ซึ่งเธอก็ยินยอมโดยดีพร้อมกับพูดประโยคที่แสนจะโด่งดังและบทความได้ยกมาข้างบนสุด นั่นคือเธอจะพึ่งได้กับคนแปลกหน้าเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้าก็ เธอก็ใช้ผู้ชายแปลกหน้าในการบรรเทาความเหงาและตอนจบ คนแปลกหน้าก็มาช่วยพาเธออกไปจากกลุ่มคนที่เธอรู้จักแต่ทำให้ร้าวรานใจ ราวกับจะเป็นการพลิกสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่เห็นว่าคนรู้จักดีกว่าคนแปลกหน้า
และทุกคนราวกับจะรู้ว่าสแตลีย์ได้ทำอะไรลงไปกับบลองช์ (แม้ในหนัง บลองช์จะไม่ได้บอกก็ตาม)สแตลลาถึงกลับอุ้มลูกหนีขึ้นไปอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการลงโทษสแตนลีย์ โดยไม่สนใจคำอ้อนวอนของเขาอีกต่อไป จุดนี้จะต้องตรงกันข้ามกับในละครที่สุดท้ายเธอก็กลับมาหาเขาเหมือนเดิมเพราะไม่สามารถขัดขืนความรัก (หรือว่าเซ็กส์ ?) ที่มีต่อสามีไม่ไหว ดังนั้นคำว่า ความปรารถนาจึงรวมไปถึงความต้องการกันและกันของสแตลลาและแสตนลีย์อีกด้วย สามีและภรรยาคู่นี้มักจะมีความสัมพันธ์กันแบบที่เราเห็นกับหลายคู่ คือทั้งสามีจะรุนแรงกับภรรยาสลับกันไปจนโกรธกัน แต่ต่อมาทั้งคู่ก็จะคืนดีกันแบบเหมือนไม่มีอะไรอันเป็นคำตอบว่าทำไมผู้หญิงถึงชอบผู้ชายเลว ๆ อาจเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความสุขในฐานะถูกกระทำหรือ Masochism มากกว่าผู้ชายก็เป็นได้ แต่เพราะกองเซนเซอร์ของอเมริกาซึ่งเคร่งครัดศีลธรรมต้องการให้หนังลงโทษผู้กระทำผิด หนังจึงดูอ่อนลงในเรื่องการสื่อความปรารถนาสุดท้ายที่ละครมี จนรถรางสายปรารถนาจะกลายเป็นรถรางสายคุณธรรมไป
ลืมบอกไปว่ารางวัลออสการ์ตัวที่ 4 ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับคือสาขาการสร้างฉากซึ่งหนังทั้งเรื่องใช้ฉากในสตูดิโอทั้งหมด สิ่งที่พิสูจน์รางวัลนี้ได้อย่างดีคือตอนที่บลองช์เดินทางมาถึงเมืองนิวออร์ลินใหม่ ๆ หนังซึ่งเป็นขาวดำใช้แสงเงาทำให้คนดูรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ชั่วร้ายแต่ยั่วยวนใจกำลังแฝงเร้นอยู่ในเมืองๆ นี้ สิ่งนี้มีพลังยิ่งขึ้นจากดนตรีของอาเล็กซ์ นอร์ท (ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเหมือนกัน) แต่จะว่าจริงๆ แล้วถ้าเทียบหนังเรื่องนี้ก็หนังที่ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)ในปีเดียวกันคือ หนังเพลง An American in Paris ของ จีน เคลลี ก็ถือว่ากรรมการมีอคติไม่น้อย เพราะจากการได้ดูหนังทั้งสองเรื่องผมรู้สึกว่า รถราง ฯ ยอดเยี่ยมกว่ามาก เพียงแต่ท้ายทายต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมในยุคนั้น คงเหมือนกับใครหลายคนที่ร้องยี้เพราะ Crashแย่งรางวัลสาขานี้ไปจาก Brokeback Mountain ในปี 2005 กระนั้นเราต้องขอบคุณตัวเองที่เกิดมาในยุคดีวีดี ราคาแค่ไม่กี่ร้อย (แต่ต้นทุนไม่เกินสิบบาท) หรือสามารถไปหาจากดูจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ใช่ยุคทศวรรษที่ 50 เพราะนอกจากจะมีการบูรณะฟิล์มเสียใหม่ แล้วผู้ทำดีวีดีได้นำหลายฉากที่เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ผู้แสนดีในยุคโน้นได้ตัดออกไปกลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้ง
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ? และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly หรือ คุณนายผีเสื้อ เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่