Skip to main content

อาคิระ คุโรซาวาเป็นผู้กำกับญี่ปุ่นชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วยความยิ่งใหญ่จนถึงระดับคลาสสิกของภาพยนตร์ที่เขาสร้างหลายสิบเรื่องทำให้มีผู้ยกย่องเขาว่าเหมือนกับจักรพรรดิหรือแห่งวงการภาพยนตร์ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือแม้แต่ระดับนานาชาติคู่ไปกับสแตนลีย์ คิวบริก อัลเฟรด ฮิชต์ค็อก สัตยาจิต เรย์ ฯลฯ  (มีคนจัดให้คนเหล่านี้เป็น Auteur หรือผู้ที่สามารถสอดแทรกอิทธิพล รูปแบบและความคิดส่วนตนลงในภาพยนตร์ในเกือบทุกเรื่องจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองไป)  ต่อไปนี้ผมแปลมาจากบทความภาษาอังกฤษของจางอี้โหมวในนิตยสารไทม์เอเชีย ปี 1999  เกี่ยวกับคุโรซาวา สำหรับจางอี้ โหมว เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนที่คนไทยรู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จูโด้ , Not oneless, Hero หรือ The House of the Flying Dagger (จอมใจบ้านมีดบิน) และเขายังเป็นผู้กำกับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2008

 

ผม (จางอี้โหมว)ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับหนังเลยก่อนที่จะลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนการสร้างภาพยนตร์ที่กรุงปักกิ่งในปี 1978 การปฏิวัติวัฒนธรรมเพิ่งจะสิ้นสุดลง ผมซึ่งก่อนหน้านั้นทำงานในโรงงานแถบชนบท ต้องการไปเรียนที่วิทยาลัยเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง ถึงกลับเคยสมัครที่สถาบันพลศึกษาซีอาน

หนึ่งปีต่อมา ผมก็ได้ดูหนังของคุโรซาวาเป็นเรื่องแรกนั่นคือ Rashomon ผมถึงกลับตกตะลึง และหลายปีหลังจากนั้น ผมก็ได้นั่งอย่างสงบเสงี่ยมท่ามกลางคนดู เฝ้ามองคุโรซาวารับรางวัลความสำเร็จสูงสุด (Lifetime Achievement) ที่เมืองคานส์  ณ ตรงนั้นคือผู้กำกับจากตะวันออกที่เป็นที่รักและได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก ผมไม่เคยพบเขา ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยมีโอกาสก็ตาม ตอนนั้นผมกำลังเดินทางไปทำธุรกิจที่กรุงโตเกียว และได้รับการแนะนำจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นให้พบคุโรซาวาขณะกำลังถ่ายทำหนังเรื่อง Ran แต่ผมไม่กล้าไป ถึงอย่างไรเขาก็เป็น ดาชิ (ท่านอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่) ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในขณะที่ผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ในโลกภาพยนตร์

 คุโรซาวาเกิดที่กรุงโตเกียว ปี 1910 เป็นลูกคนที่ 7 ของบิดาที่เป็นทหารและเลี้ยงลูกเข้มงวด ความสนใจในช่วงแรกของเด็กชายคุโรซาวาคือศิลปะการวาดภาพและวรรณคดี รวมไปถึงวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่นในเวลานั้น ความสนใจนั้นต่อมาได้มีความสำคัญต่ออาชีพผู้กำกับของเขาตลอดไป มุมมองของศิลปินวาดภาพเป็นสิ่งที่ชัดเจนในภาพยนตร์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังของเขาในช่วงหลังๆ ที่อลังการและคุโรซาวาได้ดัดแปลงโครงเรื่องจากนักเขียนหลายคนเช่นของเช็กส์เปียร์ (2 ครั้ง) ดอสโตเยสกีและเอ็ด แม็คเบน นักเขียนทุ่มเทในเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน

 คุโรซาวาได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและผู้กำกับฉากหนุ่ม เขากำกับหนังเรื่องแรกคือ ซานชิโร ซึกาตะ ด้วยวัยเพียง 33 ปี และ 5 ปีต่อมาเขาได้กำกับหนังเรื่อง Drunken Angel  ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นภาพยนตร์แบบคุโรซาวาแท้ๆ เรื่องแรก ซึ่งยังอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกกับนักแสดง โตชิโร มิฟูเน ผู้ซึ่งจะร่วมงานกับเขาในภายหลัง อีก 15 เรื่อง (เขาเป็นโจรขี้เมาใน Rashomon หนึ่งในบทบาทการแสดงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20  และเขายังเป็นซามูไรที่ผันตัวมาจากลูกชาวนาในหนังเรื่องเจ็ดเซียนซามูไร (Seven Samurai) และเป็นแม็คเบ็ธชาวญี่ปุ่นในหนังเรื่อง Thorne of Blood)

Rashomon เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้คุโรซาวาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เขาที่ไม่พึงปรารถนากับชื่อเสียงซึ่งมีผลต่อตลอดชีวิตผู้กำกับของเขา คุโรซาวามีลักษณะคล้ายกับสเตนลีย์ คิวบลิก ที่ว่าเขามีพลังแห่งความเป็นศิลปินที่จะไม่ประนีประนอม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือธุรกิจ แม้แต่ผู้ผลิตหนังเรื่อง Rashomon ของเขาก็ไม่เข้าใจในตัวหนัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในญี่ปุ่นก็ต่อเมื่อเขาได้รับรางวัลนานาชาติ

 หลังจากนั้น คุโรซาวามีปัญหาในเรื่องรายได้เป็นครั้งเป็นคราว ถึงแม้ว่าหนังของเขาคือ Yojimbo จะทำรายได้ในญี่ปุ่นอย่างถล่มถลาย หนังช่วงสุดท้ายของเขาได้รับการสนับสนุนจากฮอลลีวูด และเงินจากผู้กำกับที่ชื่อดังเช่น จอร์จ ลูคัสและ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา สิ่งเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีในตะวันตกมากกว่าญี่ปุ่น ถึงแม้หนังของเขาจะเป็นญี่ปุ่นจ๋าและเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับญี่ปุ่นในช่วงศักดินาก็ตาม หลังจากเสียชีวิตในปี 1998 หรือ 4 ทศวรรษหลังจาก Rashomon ออกฉาย คุโรซาวาก็ถูกลืมจนเกือบหมดสิ้นในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่ก็ตาม

 

                            

                                      

                                               ภาพจาก www.media.aintitcool.com/

                                                    

นอกจากหนังสุดยอดของเขาเกี่ยวกับนักรบ ซึ่งรวมไปถึง Yojimbo และ Sanjuro  คุโรซาวาได้เล่าเรื่องที่ทิ่มแทงใจคนดู เกี่ยวกับชาวญี่ปุ่นสามัญในโลกปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ คนเป็นแค่คนกระจอกงอกง่อย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง High and Low ที่มิฟูเนแสดงเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่งแต่ถูกกลั่นแกล้งโดยโจรลักพาตัวจนๆ คนหนึ่ง หนังเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อผมอย่างใหญ่หลวงเพราะความสมจริงของมันและการสะท้อนภาพของสามัญชน

 ผมมีความรู้สึกว่า ภาพยนตร์ของคุโรซาวาทำให้เราเข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น และพลังภายในของคนญี่ปุ่น ถึงแม้เพื่อนร่วมชาติของเขาจำนวนมากจะหาว่าเขาสร้างหนังเพื่อให้คนต่างชาติดู ในช่วงทศวรรษที่ 50  Rashomon ถูกวิจารณ์ว่า แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาของสังคมญี่ปุ่นและความล้าหลังต่อโลกภายนอก แต่ข้อกล่าวหาเช่นนี้ดูเหมือนจะไร้สาระไปแล้วในปัจจุบัน

 ในประเทศจีน ผมก็พบกับคำวิจารณ์อันเผ็ดร้อนเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ผมก็ได้เอากรณีของคุโรซาวามาปลอบใจตัวเอง ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ผลก็ตาม อาจจะเป็นเวลา 20 หรือ 30 ปี ที่คนจีนจะไม่ตัดสินงานของผมด้วยทัศนคติอันคับแคบเช่นนี้อีก

 ในฐานะเป็นคนกำกับภาพ ผมรู้สึกทึ่งกับการเสนอภาพอันยิ่งใหญ่ อลังการของคุโรซาวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากสู้รบ แม้แต่ทุกวันนี้ ผมก็ยังนึกไม่ออกถึงวิธีการของเขา ผมได้ลองไปหาข้อมูลในห้องสมุดภาพยนตร์ของเราและพบว่าเขาใช้ม้าประมาณ 200 ตัวสำหรับฉากการต่อสู้ซึ่งทำให้คนดูเชื่อว่ามีกว่า 1,000 ตัว คนทำหนังอื่นๆ มีเงินมากกว่า มีเทคนิคที่ทันสมัยใหม่กว่าและใช้เทคนิคพิเศษกว่า แต่ไม่มีใครล้ำหน้าเขาได้

 ในปี 1989 ขณะกำลังแสดงภาพยนตร์ต่อสู้ ผมดันขาหักและต้องพักยาวถึง 3 เดือน ผู้กำกับได้เอาวีดิโอ 80 ม้วนมาให้ผมดู ซึ่งรวมไปถึงหนังเกือบทุกเรื่องของคุโรซาวา เพื่อนๆ ต่างมาแออัดกันอยู่ในรถพ่วงของผมเพื่อดูหนัง เพื่อที่จะหาคำตอบให้ได้ว่าท่านอาจารย์ได้สร้างหนังอันอลังการอย่างไร ช่วง 3 เดือนนั้นเป็นเวลาที่ผมได้รับความรู้อย่างมากมาย

 ประมาณสอง 3 อาทิตย์ต่อมา ผมก็ได้ถกกับทีมงานของผมถึงภาพยนตร์ต่อสู้ที่กำลังถ่ายทำกัน เรานึกถึงฉากซึ่งคนหลายคนเล่าถึงเรื่องราวของตัวเองจากมุมมองที่แตกต่างกัน และเราก็นึกขึ้นได้ว่า “เฮ้ยนั่นมัน Rashomon นี่หว่า” ผมแนะนำเพื่อนร่วมงานให้ฝืนใจอย่าลอกเลียนคุโรซาวา เพราะเป็นไปไม่ที่จะทำได้เยี่ยมกว่าของเขา แต่ อิทธิพลอันทรงพลังและยาวนานเช่นนั้นของ Rashomon ย่อมทำให้คนทำหนังทั่วไปอดใจไม่ไหว

 ผมไม่รู้เหมือนกันว่าโลกของคุโรซาวามีความเป็นญี่ปุ่นจริงๆ หรือไม่ เป็นที่แน่นอนว่า ญี่ปุ่นสำหรับผมในฐานะชาวต่างชาติ เป็นประเทศและผู้คนที่เต็มไปด้วยพลังแต่ถูกแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติหรือบางทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยฉากหลังแบบศิลปะอันแรงกล้า ไม่ใช่เพียงในสายตาของคนทำหนังเท่านั้น หากแต่ในภาพรวมของทั้งประเทศ คุโรซาวาได้สร้างตัวอย่างของหนังแบบชาตินิยมซึ่งเป็นที่นิยมและยอมรับของโลกภายนอก ผมพยายามนำมันมาเป็นบทเรียนในหนังเรื่อง Red Sorghum และ The story of Qiu Ju ด้วยโลกที่เล็กและแคบลง คุโรซาวาได้ทำให้ผมคงไว้ซึ่งตัวละครและรูปแบบจีนๆ อันนี้ถือได้ว่าเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ของเขาที่ได้ให้กับผู้กำกับหนังเอเชีย

ทุกวันนี้ ผู้กำกับชาวจีนจำนวนมากได้ไปฮอลลีวูด ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดอะไร แต่คุโรซาวาได้มุ่งเน้นหนังไปที่ประเทศของตน ผมจะไม่ไปฮอลลีวูดเช่นเดียวกับเขา ผมหวังว่าจะยืนหยัดในการทำหนังซึ่งหลุดโพ้นจากความเป็นชาติหรือประเทศ จากตะวันออกหรือตะวันตก จากจีนหรือญี่ปุ่น อารมณ์ ความคิดหรือการรับรู้โลกของเราอาจจะแตกต่างกันออกไปและจะไม่มีใครระลึกถึงหลังจากนั้นอีก100 ปี แต่ตัวละครที่โดดเด่นในหนังของเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปชั่วกาลปาวสาน หนังของผมนั้นเป็นจีนอย่างแท้จริง และผมมักจะขอบคุณคุโรซาวาซึ่งได้ให้ตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจและตราตรึงในใจผม

ผมมักจะจำถึงภาพของคุโรซาวาในหนังสารคดีเกี่ยวกับหนังและชีวิตของเขา นั่นคือเขากำลังอยู่ในสถานที่ถ่ายทำ สวมแว่นตากันแดดและหมวกใบเล็กๆ ผมเห็นเขาเดินนำลูกทีมพร้อมด้วยมือกุมหลัง มีผู้ชายคนหนึ่งถือม้านั่งตามไปติดๆ เป็นภาพที่น่าตลก คือเมื่อคุโรซาวาหยุด ลูกน้องก็จะกางม้านั่ง แต่เขาก็จะไม่ยอมนั่งและเดินต่อไป เมื่อตัวผู้แสดงทั้งหมดซึ่งเล่นเป็นนักรบที่ดุดันเห็นท่านอาจารย์เดินมาหา พวกเขาก็ลงจากหลังม้าและโค้งคำนับเขา เขาพูดเพียงไม่กี่คำในขณะที่คนเหล่านั้นฟังอย่างใจจดใจจ่อ คุโรซาวาดูเหมือนผู้บังคับบัญชาหรือพ่อสำหรับพวกเขา เช่นเดียวกับที่เขาเป็นสำหรับผู้กำกับหนังชาวเอเชียทุกคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกับผม        

 

 

                     

                              ภาพจาก  www.i.imgur.com/

 

ภาพยนตร์ของคุโรซาวาที่จัดกันว่าดีที่สุด 10 เรื่องโดยเดอะเกอร์เดียนของอังกฤษ (เรียงตามปี)   https://www.theguardian.com/film/filmblog/2010/mar/23/akira-kurosawa-100-google-doodle-anniversary

1) Drunken Angel (1948)

2) Stray Dog (1949)

3) Rashômon (1950)

4) The Idiot (1951)

5) Ikiru (1952)

6) Seven Samurai (1954)

7) Throne of Blood (1957)

8) The Hidden Fortress (1958)

9) Yojimbo (1961)

10) Ran (1985)

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ  Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913  และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 "Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois  ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3  ของเยอรมัน นั่นคือ Bach  Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก