ผลพวงแห่งความคับแค้นหรือ The Grapes of Wrath เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวโจดส์ที่อาศัยอยู่ใน รัฐโอกลาโอมา พวกเขาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ หมื่นครอบครัวของชนชั้นระดับรากหญ้าของอเมริกาที่ต้องพบกับความยากลำบากของชีวิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ในทศวรรษที่ 30 ซึ่งสหรัฐฯเป็นต้นกำเนิดนั้นเอง (ถ้าเทียบกับสยามก็ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475) พวกเขาต้องพบกับปัญหาภัยทางธรรมชาติ อันนำไปสู่การเก็บเกี่ยวพืชผลไม่ตามเป้าหมาย อีกทั้งเศรษฐกิจไม่ดี จนต้องกู้หนี้ยืมสินเอาที่ดินไปจำนองกับธนาคารและถูกธนาคารยึดในที่สุด (อ่านดูแล้วคุ้นๆ ไหม ก็เหมือนกับกระดูกสันหลังของบ้านเรานั้นแหละ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไป) เรื่องเริ่มต้นเมื่อตัวเอกของนวนิยายและหนังเรื่องนี้คือ ทอม โจด ลูกชายของตาเฒ่าโจดเดินทางกลับมาบ้านภายหลังจากที่ชดใช้กรรมในคุกเสียหลายปีข้อหาฆ่าคนตาย แต่แล้วก็มาพบกับความว่างเปล่าของบ้าน ที่ถูกกระหน่ำด้วยพายุทราย เขาได้ทราบข่าวว่าครอบครัวของตนถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินที่ปู่ย่าตาของเขามาตั้งรกรากด้วยน้ำพักน้ำแรงจากธนาคารผู้แสนชั่วร้าย ในที่สุดโจดก็พบกับครอบครัวของเขาที่เป็นครอบครัวขยายคือประกอบด้วยสมาชิกกว่า 11 คน ก่อนที่พวกเขาทั้งหมดจะตัดสินใจเดินทางไปกับรถบรรทุกปุโรทั่งเพียงคันเดียวเพื่อเดินทางไปหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่แคลิฟอร์เนีย แต่แล้วทั้งหมดก็พบว่ามีอีกหลายพันหลายหมื่นครอบครัวที่พบชะตากรรมเดียวกับพวกเขาและกำลังเดินทางไปขุดทองที่แคลิฟอร์เนียเช่นกัน...
ยอดผู้กำกับของหนังขาวดำอันยิ่งใหญ่เรื่องนี้คือจอห์น ฟอร์ด (1894-1973) เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชเพราะพ่อแม่เกิดที่ประเทศไอร์แลนด์ ผลงานของเขาที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบจะเป็นหนังคาวบอย(หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Western Film) อมตะและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่ว่าเรื่อง Stagecoach (1939) The Searchers (1956) ที่จอห์น เวย์น ดาราเจ้าประจำของฟอร์ดเป็นคาวบอยตามหาหลานสาวที่ถูกลักพาตัวโดยอินเดียนแดง รวมไปถึง The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ทั้งนี้ไม่นับ The Informer (1935) เกี่ยวกับขบถที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เมื่อปี 1922 ที่สำคัญเขาเป็นผู้กำกับเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูดที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถึง 4 ครั้ง !! (ในขณะที่ฮัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ซึ่งยิ่งใหญ่พอๆ กันไม่ได้สักรางวัลเลย เอาอะไรกันหนักกันหนากับมาตรฐานของตุ๊กตาทอง ?) ฟอร์ดถือว่าเป็นผู้กำกับที่มีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นหลังอย่างมากไม่ว่าอาคิระ คุโรซาวา, อิงมาร์ เบิร์กแมน, แซมเพกินพาห์ หรือแม้แต่ออร์สัน เวลส์ เจ้าของภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลกคือ Citizen Kane ก็ยอมรับว่าเขาก็เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลต่อตนเช่นกัน
ผู้ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับภาพยนตร์ของบทความนี้พอๆ กับฟอร์ดก็คือผู้อำนวยการผลิต มือทองอย่างดาร์รีล เอฟ ซานุก ผู้ตัดสินใจซื้อนวนิยาย Grapes of Wrath ของจอห์น สไตน์เบ็ค เจ้าของรางวัลโนเบล ปี 1962 ด้วยจำนวนเงินถึงหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาลในสมัยนั้น ผลพวงแห่งความคับแค้นได้รับการตีพิมพ์ในปี 1939 และได้รางวัลพูลิเซอร์ในปีถัดมา กระนั้นทันทีที่หนังสือลืมตาขึ้นมาดูโลกวรรณกรรม ทางการรีบสั่งแบนด้วยเหตุผลแสนไร้สาระคือภาษาหยาบเกินไปและมีตอนโป๊ปนอยู่ด้วย ตอนที่โป๊นั้นคือผู้หญิงเปลือยอกให้นมลูก แน่นอนว่ามันต้องมีเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้องเป็นแน่
ผู้แสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมากทั้งมืออาชีพและไม่อาชีพสามารถแสดงได้ดีลดหลั่นกันไป สำหรับเฮนรี ฟอนดา บิดาของดาราดังยุคทศวรรษที่ 70 อย่างปีเตอร์และเจน ฟอนดา ดาราผู้มากด้วยพรสวรรค์สามารถแปลงโฉมเป็นทอม ผู้ชายอารมณ์รุนแรงและหัวขบถได้อย่างถึงแก่นของวิญญาณ สไตน์เบ็คเจ้าของนวนิยายนี้ถึงกลับออกปากชมว่าฟอนดาทำให้เขา "เชื่อมั่นในประโยคที่ตัวเองเขียน" ผู้ที่มีบทบาทที่เด่นที่สุดในเรื่องอีกคนหนึ่งคือ แม่ของทอม (แสดงโดยเจน ดาร์เวลล์) ในฐานะเสาหลักของครอบครัวสามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงพลังแฝงของผู้หญิงต่อครอบครัวและเกิดความสะเทือนใจต่อชะตากรรมของชนชั้นรากหญ้าผ่านสายตาของแม่และเมียได้อย่างดี และเธอนี่แหละที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงสมบทยอดเยี่ยมไป สำหรับฟอนดานั้นน่าเสียดายที่ไม่ได้อะไรเลยแต่ก็นับว่า หนังเรื่องนี้เป็นใบเบิกทางจะทำให้เขาได้รับบทดัง ๆ อีกหลายเรื่องจนมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา แต่การที่ฟอร์ดที่ได้รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรเพราะความอัจฉริยะของเขาในการนำตัวหนังสือมาเป็นภาพโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มโดยได้รับคำชมจากเจ้าของนวนิยาย และแฟน ๆ โดยมีหลายครั้งที่ผู้กำกับจำนวนมากโดนก่นด่าจากคนเหล่านั้นเพราะไปปู้ยี่ปู้ยำวรรณกรรมที่แสนรักของตน กระนั้นฟอร์ดได้ซื่อสัตย์ต่อนวนิยายชนิดหน้าต่อหน้าเฉพาะในช่วงแรก ๆ แต่ในช่วงหลังเริ่มมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ของสไตน์เบ็คจงใจเขียนให้ตัวละครพบกับความหายนะของชีวิตแต่ของฟอร์ดจะให้คนเหล่านั้นได้มีชีวิตที่ดีกว่า อาจเพราะเหตุผลทางการตลาด นั่นคือไม่ต้องการทำร้ายจิตใจคนดูจนเกินไป และต้องการเอาใจทางการอยู่บ้าง เพราะพวกโจดได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากค่ายสงเคราะห์คนจนของรัฐบาล
ภาพจาก filmlinc.org
มีการผสมผสานระหว่างแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างน่าประหลาดในหนังเรื่องนี้ ในขณะที่ฟอร์ดนิยมชมชอบพรรคเดโมแครต และหลายคนคิดว่าเขาเป็นพวกขวาจัดเพราะชอบคบค้าสมาคมกับนักแสดงหัวเอียงไปทางนั้นเช่นจอห์น เวยน์ หรือเจมส์ สจ๊วต ส่วนสไตน์เบ็คได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์เช่นชื่อเรื่องเขาก็เอามาจากเพลงปลุกใจที่หยิบยืมคำมาจากทางศาสนา และชื่อ Joad ก็เพี้ยนมาจากคำว่า Job ในพระคัมภีร์ อีกเช่นกัน แต่ ผลพวงแห่งความคับแค้น ทั้งนวนิยายและภาพยนตร์ก็ถูกประนามว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อของพวกซ้าย หรือพวกคอมมิวนิสต์ ด้วยการพรรณนาถึงความคับแค้นใจของชนรากหญ้าต่อปัญหาเรื่องปากและท้อง แถมถูกกระหน่ำโดยการกดขี่ข่มเห่งจากนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฉ้อฉล บ้าอำนาจ สำหรับบ้านเรา นวนิยายได้รับการแปลโดยคุณ ณรงค์ จันทร์เรืองและมีชื่อตรงกับภาษาอังกฤษเป๊ะเลยนั่นคือ "ผลพวงแห่งความคับแค้น" ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับอารมณ์ของหนุ่มสาวในช่วงทศวรรษที่ 10-20 ที่ดื่มด่ำกับแนวคิดสังคมนิยม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการจัดโดยสมาคมภาพยนตร์อเมริกันให้เป็นอันดับที่ 7 ใน 100 ภาพยนตร์อเมริกันยอดเยี่ยมในรอบ100 ปี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ควรจะดูหนังเรื่องนี้บ่อย ๆ จะได้เข้าอกเข้าใจชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ใส่ใจกับกระเป๋าของนายทุน เหมือนรัฐบาลของประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948 และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์ จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21