Skip to main content
                                                                                                                     
                                                                                                                                                               ขออุทิศบทความนี้ให้กับ "อาจารย์ยิ้ม"
 
ชาวสยามคงจะรู้จักทำนองของเพลงเต้นรำหรือวอลซ์ ที่ชื่อ The Blue Danube (เช่นเดียวกับเพลง The Emperor Waltz) เป็นอย่างดี เข้าใจว่าชนชั้นนำของสยามประเทศได้นำเข้ามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ในงานบอลล์ ที่ผู้เต้นจะใส่สูทหรือกระโปรงคลุมแบบวิกตอเรียนเต้นรำอย่างสง่างามบนฟลอร์ จนมาถึงไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ก็เป็นเพลงประกอบการ์ตูนของค่ายการ์ตูนดิสนีย์ ไม่ว่าตอนที่ มิกกี เมาส์หรือเจ้าหมาพลูโตแสดงเป็นพระเอกหรือสำหรับคอภาพยนตร์ ผู้กำกับอัจฉริยะอย่างสแตนลีย์ คิวบริกได้หยิบยืมเพลงดังกล่าวมาประกอบกับส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สุดคลาสสิกของเขาคือ  2001:A Space Odyssey (1968) เป็นเวลาเกือบ 7 นาที  ปัจจุบันเพลงนี้ยังกลายเป็นเพลงประกอบโฆษณา เพลงริงค์โทน ฯลฯ แต่คงมีน้อยรายที่รู้ว่าเพลงนี้ชื่ออะไร และก็คงมีน้อยลงไปอีกว่าคนแต่งคือ  Johann Strauss หรือ Johann Strauss Jr. (หรือจะใช้คำว่า Younger หรือ "อ่อนกว่า" ก็ได้)  ต่อไปนี้เป็นบทความเกี่ยวกับตัวเขา อันแปลมาจาก http://www.straussfestival.com ซึ่งเขียนโดยใครก็ไม่ทราบ ส่วนบทความที่เกี่ยวกับเพลงบูลดานูบที่โด่งดังไปทั่วโลกแปลมาจาก Wikipedia.com
 
โยฮันน์ ชเตราสส์จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1825 เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 5 คน คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่จำนวนมากจะโดนพ่อแม่คัดค้านเมื่อพวกเขาตั้งใจจะประกอบอาชีพทางดนตรี แต่ชเตราสส์จูเนียร์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่หนักหนาที่สุด ชเตราสส์ ซีเนียร์ บิดาของเขาเห็นว่าครอบครัวนี้มีนักดนตรีเพียงคนเดียวก็พอแล้วและได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะกีดกันไม่ให้บรรดาลูกชายเจริญรอยตามตัวเอง แต่เป็นเรื่องตลกที่ว่าลูกชายสามคนทั้งหมดคือ ชเตราสส์จูเนียร์, โจเซฟ (1827-1870) และเอดูอาร์ด (1835-1916) ล้วนประสบควาสำเร็จในอาชีพนักดนตรีทั้งสิ้น เพราะเป็น มารดานั้นเองที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกเดินไปตามความฝัน แอนนาได้ซื้อไวโอลินคันแรกเพื่อให้ลูกนำไปเรียนดนตรี โยฮันน้อยแอบเรียนการเล่นไวโอลินและได้พยายามเป็นครั้งแรกที่จะเขียนเพลงวอลซ์ (Waltz) เมื่ออายุเพียง 6 ขวบ
 
 
ตั้งแต่ปี 1841 ชเตราสส์จูเนียร์เข้าเรียนที่โรงเรียนโพลิเทคนิก แต่หาได้สนใจการทำบัญชีไม่ (พ่ออยากให้เป็นนายธนาคาร -ผู้แปล)  2 ปีต่อมาเขาโดนไล่ออกด้วยข้อหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีใครสามารถช่วยเขาได้แม้แต่ครูที่มาสอนพิเศษที่บ้าน ชเตราสส์จูเนียร์หนีเรียนพิเศษเพื่ออุทิศเวลาให้กับการเล่นดนตรี เขายังหัดเล่นไวโอลินจากแม่และก็รับใบอนุญาตจากตำรวจในการเล่นให้กับวงออเคสตราที่มีสมาชิกจำนวน 12 ถึง 15 คนในผับในวันที่ 15 ตุลาคม 1844 ด้วยอายุเพียง19 ปี ชเตราสส์จูเนียร์ก็เปิดการแสดงเป็นของตัวเองครั้งแรกที่ร้านกาแฟชื่อดอมมาเยอร์ ในเมือง ฮีตซิก เขามีอารมณ์และพลังของคนหนุ่มที่พลุ่งพล่านยิ่งกว่าบิดาเสียอีก คนดูในคืนนั้นได้เป็นประจักษ์พยานของการเริ่มต้นของนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ เมื่อจบการแสดง บรรดาคนดูได้เรียกร้องขอให้นักดนตรีกลับมาเล่นอีกครั้ง (Encore) ถึง19 ครั้ง ชเตราสส์จูเนียร์เล่นเพลงวอลซ์เพลงหนึ่งของพ่อ เขายังยึดมั่นมาตลอดชีวิตว่าบิดาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นภาพในอุดมคติที่ตนไม่เคยก้าวล้ำ หลังจากนั้นอีกไม่นานผลประพันธ์ของเขาชิ้นแรกก็ได้รับการตีพิมพ์โดยเมเคตตี 
 
บัดนี้ การแข่งขันกันเป็นเจ้าดนตรีก็อุบัติขึ้นระหว่างพ่อกับลูก ในปี 1845 ชเตราสส์จูเนียร์ได้กลายเป็นวาทยากรของกองพันของพลเรือนที่ 2  ในขณะที่ชเตราสส์ซีเนียร์กำกับวงของกองพันของพลเรือนที่ 1 ตั้งแต่ปี 1834 เมื่อได้เวลาการเดินสวนสนามของกองทัพ สองพ่อลูกก็นำวงแข่งกันอยู่ในด้านเดียวกันทำให้ผู้คนรู้สึกอิหลักอิเหลื่อเป็นอย่างยิ่ง เป็นเวลา 5 ปีที่สองชเตราสส์จะแบ่งกันปกครองโลกแห่งเพลงเต้นรำของกรุงเวียนนาออกเป็นสองส่วน เมื่อบิดาเสียชีวิตในเดือนกันยายน 1849 ชเตราสส์ (ต่อไปนี้ขอตัดคำว่าจูเนียร์ออก -ผู้แปล)ก็ได้รับช่วงต่อวงออเคสตร้าจากพ่อ แต่นักดนตรีเก่าไม่ยอมรับเพราะติดใจกับความขัดแย้งของสองพ่อลูกในอดีต ในช่วงปี 1852 ถึง 1865 เขากลายเป็นวาทยากรนำวงในงานบอลล์คาร์นิวัลที่จัดโดยบรรดานักศึกษาวิทยาลัยกฏหมายและเทคโนโลยี ... 
 
                                         
 
 
 
 
ภายหลังงานคาร์นิวัลในปี 1853 ชเตราสส์ล้มป่วยหนักจนไม่สามารถนำวงได้ถึงครึ่งปี น้องชายของเขาคือโจเซฟทำหน้าที่นี้แทน เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1853 ชเตราสส์ก็ฟื้นจากอาการไข้และในปี 1854 แล้วกลับไปประพันธ์เพลงอีกครั้ง ถึงแม้สาว ๆ จะเชิดชูบูชาเขา แต่ชเตราสส์ก็ไม่แต่งงานจนอายุอานามล่วงมาถึงปลายๆ 30 ใน ปี1862 เขาได้แต่งงานกับนักร้องสาวนามว่าเฮนรีตเต เทรฟ์ฟซ์ หรือ เจตตี ที่สเตนฟานส์ดอมหรือวิหารเซนต์สเตเฟน ทั้งคู่ย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านใกล้กับ ชลอสปาร์ก ของพระราชวังเชนบรุนน์  ชเตราสส์หลงใหลในตัวศรีภรรยาเป็นหนักหนาในช่วง 10 ปีแรก แต่ 5 ปีต่อมาถึงแม้จะไม่ซื่อสัตย์กับหล่อนแต่ก็ยังอุทิศตนให้อยู่เสมอ เจตตีกลายเป็นผู้จัดการให้กับวงดนตรีของเขา เธอทำหน้าที่จัดตารางการออกแสดงคอนเสิร์ต ,สัญญากับโรงละคร และอื่นๆ เจตตีที่จริงแล้วเป็นผู้ที่นำชเตราสส์ไปสู่การประพันธ์ Operetta (คล้ายๆ กับโอเปราแต่เนื้อเรื่องจะเบาๆ ชวนหัว- ผู้แปล) แต่แล้วเธอก็พลันมาจากไปด้วยโรคหัวใจเมื่อปี 1878 ยังความโศกเศร้ามาให้ชเตราสส์อย่างมากล้น เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แม้จะเข้าร่วมในงานศพเธอ
 
ชเตราสส์ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ได้ ดังนั้นแค่ 7 อาทิตย์หลังจากภรรยาเสียชีวิต เขาก็แต่งงานใหม่แม้วัยจะล่วงถึง 52  ปีก็ตาม เจ้าสาวเป็นดาราละครและนักร้องนามว่าเองเจลิกา ดีตทริช  หรือลิลลี่ และมีอายุน้อยกว่าเจ้าบ่าวถึง 30 ปี ต่อมาลิลลี่พบว่าเธอได้แต่งงานกับคีตกวีที่บ้างานและมีวิถีชีวิตที่เธอไม่อาจจะเข้าใจได้ เธอได้ทำให้เขาต้องร้าวรานใจและขายขี้หน้าชาวเวียนนาอย่างมากมายด้วยการแอบไปมีชายคนใหม่ แค่แต่งงานได้ 4  ปี เธอก็หนีชเตราสส์ไปกับผู้กำกับวงดนตรี ด้วยความบอบช้ำทางใจจากการแต่งงานครั้งที่ 2  ชเตราสส์หามุมเลียแผลใจจากสตรีที่ยังสาวและทรงเสน่ห์นามว่าอาเดเล ดอยช์ ซึ่งทำให้คีตกวีวัย 56 ปีตกหลุมรักอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ทางคริสต์จักรจะไม่ยอมรับการหย่าของชเตราสส์กับลิลลี่ อาเดเลก็ได้มาพักอยู่กับชเตราสส์ และได้เข้ามาเติมเต็มในช่องว่างที่ภรรยาคนแรกของเขาทิ้งไว้ ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้แต่งงานอย่างถูกกฏหมายในปี 1887 
 
ในช่วงสุดท้ายของอาชีพ ชเตราสส์ได้หาช่องทางของอาชีพที่กว้างกว่าเดิมนั้นคือโรงละคร เขาเขียนโอเปเรตตาถึง 17 ชิ้น Die Fledermaus (ค้าวคาว, 1874) and Der Zigeunerbaron (The Gypsy Baron, 1885) ประสบความสำเร็จมากที่สุด จุดสุดยอดของอาชีพของชเตราสส์เกิดขึ้นพร้อมกับงานเฉลิมฉลองเป็นอาทิตย์ ๆในเดือนตุลาคม 1894 ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองครบ50 ปีของการเปิดแสดงดนตรีครั้งแรกของเขา ทั้งจดหมายและช่อดอกไม้ถูกส่งมาจากทั่วโลก ชเตราสส์มีความปลื้มปิติอย่างยิ่งต่อความชื่นชมที่ได้รับ ในการพูดที่แสนน่าประทับ เขาได้กล่าวยกย่องความเป็นอัจฉริยะของบิดาว่าเป็นแรงบันดาลใจสำหรับศิลปะของเขาและ... "กรุงเวียนนาอันที่เป็นรักของข้าพเจ้า ซึ่งพื้นปฐพีคือที่หยั่งลึกของพลังของข้าพเจ้าทั้งมวล รวมไปถึงบรรยากาศที่พาบทเพลงที่หัวใจของข้าพเจ้าดื่มด่ำและนำมือของข้าพเจ้าสร้างสรรค์เป็นตัวโน้ตออกมา"
 
ในระหว่างกำลังเขียนเพลงประกอบบัลเล่ต์ชื่อ Aschenbroedel ชเตราสส์เกิดล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ จนกลายเป็นปอดบวม เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1899 ด้วยอายุ 73 ปีท่ามกลางอ้อมกอดของ อาเดเล ภรรยาผู้ซื่อสัตย์
 
 
                                          
 
                                   
 
เพลงบูลดานูบเป็นชื่อภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาเยอรมันคือ An der schoenen blauen Donau op. 314 (หรือ "ริมแม่น้ำบูลดานูบอันสวยงาม")แต่งโดยชเตราสส์ในปี 1867 และถูกนำออกมาแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ในคอนเสิร์ตของวีเนอร์ เมเนอร์เกซังส์เวไรน์หรือสมาคมร้องประสานเสียงของผู้ชายชาวเวียนนา ถือได้ว่าบูลดานูบเป็นดนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาเพลงคลาสสิกทั้งหลาย ถึงแม้การแสดงครั้งแรกจะประสบความสำเร็จแบบกลาง ๆ 
 
บูลดานูบแต่เดิมมีเนื้อร้องประกอบโดยโจเซฟ วียล์  แต่ชเตราสส์ได้ดัดแปลงมันเป็นรูปแบบออเคสตราเพียงอย่างเดียวสำหรับงานเวิร์ดส์แฟร์ ในกรุงปารีสในปีเดียวกัน และมันได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกลายเป็นเป็นเพลงบรรเลงที่เล่นมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เนื้อร้องประกอบอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เขียนโดยฟรานซ์ ฟอน เกอร์เนอร์ทที่ชื่อว่า Donau so blau (แม่น้ำดานูบช่างสีฟ้าเสียจริง) ก็ถูกนำมาใช้เป็นครั้งเป็นคราว ความนิยมอย่างมากที่ชาวเวียนนามีต่อดนตรีชิ้นนี้ได้ยกให้มันกลายเป็นเพลงประจำชาติอย่างไม่เป็นทางการของออสเตรีย และเป็นเพลงที่มักจะถูกเรียกร้องให้เล่นอีกคร้งในคอนเสิร์ตฉลองปีใหม่ของกรุงเวียนนาในทุกปี 
 
โยฮันเนส บาร์มส์ คีตกวีอีกท่านหนึ่งรักบูลดานูบมาก นอร์แมน ลอยด์ได้เขียนรายงานใน เอ็นไซคลอพิเดียดนตรีเล่มทอง ว่าเมื่อภรรยาของชเตราสส์ได้ขอลายเซนจากบราห์มส์ เขาได้เขียนเส้นขีดจังหวะของโน้ตดนตรีของบูลดานูบท่อนหนึ่งลงในพัดของหล่อนและเขียนประโยคไว้ข้างล่างว่า "อนิจจา ไม่ได้เขียนโดย โยฮันเนส บาร์มส์"
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ