Skip to main content

 

(Atticus told me that)... it was a sin to kill a mockingbird. Well, I reckon because mockingbirds don't do anything but make music for us to enjoy. They don't eat people's gardens, don't nest in the corncrib, they don't do one thing but just sing their hearts out for us. 

Jean Louise Finch 


ปัญหาการเหยียดสีผิวหรือ Racism เป็นโรคเรื้อรังของสังคมอเมริกันมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศได้แล้วกระมัง ชาวแอฟริกันหลายล้านคนถูกพวกยุโรปจับไปเป็นทาสและนำไปรับใช้ชาวอาณานิคมอเมริกาเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่ออเมริกาประกาศตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1776 และชูธงเรื่องเสรีภาพกับสิทธิครอบครองทรัพย์สินอันเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ ดูเหมือนคนผิวดำจะไม่ได้การเหลียวแลเพราะบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสหรัฐฯ ต่างครอบครองทาสไว้เป็นของตัวเองคนละมาก ๆ เหมือนกัน จนเมื่ออับลาฮัม ลินคอร์น  ประธานาธิบดีคนที่ 16 ได้ประกาศเลิกทาสอันเป็นสาเหตุไปสู่สงครามกลางเมือง (1861–1865) คนผิวดำกลายเป็นเสรีชนแต่ชีวิตความเป็นอยู่ยังแร้นแค้นและอันตรายเหมือนเดิม ที่ว่าอันตรายนั้นคือเกิดขบวนการคนขาวผยอง (White Supremacy) ที่ชื่อว่า Klu Klux Klan พวกนี้มีเป้าหมายคือการปองร้ายคนผิวดำเป็นพิเศษ ภาพยนตร์แสนอื้อฉาวที่ได้ชื่อว่าเชิดชูหน้าชูตาคนเหล่านี้ก็คือ Birth of A Nation (1915)ของ D. W. Griffith ได้สร้างความประทับใจให้กับพวกคนขาวผยองด้วยฉากคนขาวจับคนผิวดำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อสังคมไปแขวนคอ

จนต้องรอมาถึงทศวรรษที่ห้าสิบนี่เองที่เกิดขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำที่นำโดยสาธุคุณ Martin Luther King จนประธานาธิบดี Lyndon B.Johnson ประธานาธิบดีของอเมริกาในช่วงกลางทศวรรษที่หกสิบต้องลงนาม ในกฏหมาย Civil Rights Act of 1964 ที่ยุติกิจกรรมการแบ่งแย่งสีผิวทั้งหมดเช่นอนุญาตให้คนผิวดำสามารถเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกับคนผิวขาวได้ กระนั้น คนผิวดำก็ยังเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ดี คนผิวดำจำนวนมากยังอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม การศึกษาและรายได้โดยเฉลี่ยก็ต่ำกว่ามาตรฐาน นักการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็สัญญากับคนผิวดำแบบลมๆ แล้งๆ เพื่อป้อยอขอคะแนนเสียง ส่วนหนังฮอลลี่วูดก็สมมติให้คนผิวดำเป็นโน้นเป็นนี่ มีตำแหน่งใหญ่โตในรัฐบาล เพื่อดึงดูดให้คนเข้าชมภาพยนตร์ของตน ทั้งที่โอกาสคนผิวดำจะได้เป็นอย่าง Condoleezza Rice หรือ Colin Powell รัฐมนตรีในรัฐบาลของบุชยุคก่อนก็มีน้อยมาก  หรือจะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ อย่างบารัก โอบามาก็คงเป็นได้แค่ยุคเดียว

To Kill A Mocking Bird เป็นภาพยนตร์ปี 1962 ที่สร้างมาจากนวนิยายรางวัล Pulitzer ปี 1960 ของ Harper Lee ที่ สะท้อนภาพของสังคมอเมริกันในประเด็นของการเหยียดสีผิวช่วงทศวรรษที่สามสิบได้อย่างแหลมคม ที่น่าสนใจก็คือ ลีนั้นเป็นเพื่อนตั้งแต่เด็กกับ Truman Capote นักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองถูกนำเสนอในหนังที่เอาชีวิตเสี้ยวหนึ่งของคาโปเต้มาเป็นข้อมูลนั้นคือเรื่อง Capote (2005) หากจะเทียบชั้นกันโดยไม่ใช้รางวัลพูลิท์เซอร์มาวัดแล้ว คาโปเต้เหนือว่าลีมาก นวนิยายที่เข้าทำเนียบหนังสือขายดีที่สุดในอเมริกาของเขาที่ชื่อ In Cold Blood ของเขาถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของประเภท (Genre) ใหม่ของวรรณกรรมที่มีชื่อว่า Non-Fiction Novel หรือนวนิยายที่อิงอยู่กับข้อเท็จจริง โดยผสมผสานลีลาทางวรรณกรรมเข้ากับรายงานอาชญากรรม หรือเรื่อง Breakfast at Tiffany's ของเขาก็ถูกสร้างเป็นหนังจนโด่งดัง ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่จะมีข่าวลือว่าคาโปเต้แท้ที่จริงเป็นผู้เขียนนวนิยาย To Kill A Mocking Bird เกือบทั้งหมด กระนั้นก็มีการพิสูจน์ได้ในภายหลังจากจดหมายของคาโปเท่ที่มีถึงป้าของเขาว่าข่าวลือเหล่านั้นไม่เป็นความจริง 

เมื่อ Robert Mulligan นำนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็สามารถกวาดรางวัลตุ๊กตาทองไปได้สามสาขาจากการส่งเข้าประกวดแปดสาขา ที่สำคัญพระเอกของเรื่องที่แสดงโดย Gregory Peck นอกจากจะได้รางวัลตุ๊กตาทองแล้ว ได้รับการจัดอันดับจากสมาคมภาพยนตร์อเมริกาหรือ AFI ให้เป็นพระเอกอันดับหนึ่งตลอดกาล (ตรงกันข้ามกับผู้ร้ายอันดับหนึ่งตลอดกาลนั้นคือ Hannibal Lecter ในหนังเรื่อง Silence of The Lamb) ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เสียงบรรยายประกอบและมุมมองเกือบทั้งหมดจากเด็กผู้หญิงที่แก่นแก้วเป็นทอมบอยคือ Jean Louise Finch ชื่อเล่นว่า Scout ผู้อาศัยอยู่กับพี่ชายที่มีชื่อเล่นว่า Jem และพ่อซึ่งต้องสูญเสียภรรยาไปตั้งแต่ลูก ๆ ยังไม่รู้ความนัก (ลักษณะเด่นของเรื่องนี้คือสเก๊าท์จะไม่เรียกพ่อของตัวเองว่าพ่อแต่จะเรียกชื่อจริงไปตลอดเรื่อง) ครอบครัวของเธออยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ลีคนเขียนนวนิยายจินตนาการขึ้นมาเองคือ Maycomb ในรัฐ Alabma ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐ ฯ ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในทศวรรษที่สามสิบ พ่อของเธอคือ Atticus Finch เป็นทนายที่มีชื่อของเมือง ๆ นี้ แน่นอนว่าบทบาทนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Gregory Peck และต่อมาเขาก็ยอมรับว่าชอบบทบาทนี้มากที่สุดในอาชีพนักแสดง

                

                                                 Vintage: Behind the Scenes from To Kill a Mockingbird (1962)

                                                          ภาพจาก  monovisions.com

ในช่วงเริ่มต้นของเรื่องสเก๊าท์ได้พาคนดูดื่มด่ำไปกับเป็นมุมมองของเด็กที่พบกับเหตุการณ์ปริศนาบางอย่างจากข่าวลือว่า บ้านที่อยู่ไม่ไกลนัก เจ้าของบ้านมีน้องเป็นชายผู้น่ากลัวนามว่า Boo อาศัยอยู่ในห้องใต้ดินโดยไม่ออกไปไหนเลยเป็นเวลาสี่ปี ทั้งเธอ พี่ชายและ Dill เด็กชายข้างบ้าน (ที่มีต้นแบบมาจากคาโปเท่เพื่อนของลีเองในวัยเด็ก) ต่างพยายามเข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงเช่นนี้ กระนั้นก็หาได้เจอตัวบูไม่ จนในตอนกลางเรื่องหนังก็ได้พาคนดูกลับไปยังแก่นของเรื่องจนได้ เมื่อชุมชนที่มีวิถีชีวิตราบเรียบแห่งนี้ได้พบกับคดีอันน่าตกอกตกใจนั้นคือ หญิงสาวผิวขาววัยสิบเก้าปีได้กล่าวหาว่าคนงานผิวดำนามว่า Tom Robinson พยายามลวนลามและข่มขืนเธอ โรบินสันถูกจับกุมแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา ถึงแม้ยังไม่มีการพิจารณาความผิดของเขาในศาล แต่เขาก็กลายเป็นเป้าหมายของความประสงค์ร้ายของชุมชนทางใต้ที่ยังเห็นคนผิวดำเป็นเดนมนุษย์ อย่าลืมว่าสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเพราะอเมริกาทางเหนือต้องการเลิกทาสแต่ทางใต้ยังต้องการคงทาสไว้ ดังนั้นทางใต้จึงยังเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและคงไว้ซึ่งลัทธิเหยียดสีผิวจนถึงปัจจุบัน

ในที่สุดอัตติกัสก็สร้างความประทับใจให้กับคนดูเมื่อเขาเสนอตัวเข้ามาเป็นทนายเพื่อแก้ต่างให้กับโรบินสัน จึงไม่น่าประหลาดใจว่าเขาจะกลายเป็นแกะดำในสายตาของพวกคนขาวที่ใช้อคติของตนในการสร้างคำตอบให้กับพวกตนเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม หนังก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่หลายครั้งว่าคำตอบนั้นผิดพลาด กระนั้นครอบครัวของอัตติกัสจึงต้องพบกับความกดดันทางสังคมอย่างสูงเช่นการข่มขู่อย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึงจากพ่อของหญิงสาวผู้เสียหาย ส่วนตัวสเก็าท์เองก็ถูกเด็กๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ฉากหนึ่งที่มีส่วนให้อัตติกัสกลายเป็นพระเอกตลอดกาลก็คือความกล้าหาญของเขาในการเข้าไปขวางไม่ให้พวกชาวบ้านที่แห่กันจะพังคุกของอำเภอเพื่อลากโรบินสันไปแขวนคออย่างไม่ยินดียินร้ายต่ออาญาของบ้านเมือง เข้าทำนองกฎหมู่อยู่เหนือกฏหมาย แต่อัตติกัสเองต้องขอบคุณความกล้าหาญของพวกเด็ก ๆ ในการเข้าไปช่วยเขาจนเหตุการณ์คลี่คลายไปได้ และก็เกิดเรื่องที่ตาลปัดกัน ก็คือครอบครัวของอัตติคัสกลับได้รับความเห็นอกเห็นใจและความอบอุ่นจากพวกคนผิวดำ ซึ่งหนังก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นชนชายขอบที่น่าเห็นใจที่สุด ฉากที่ชัดเจนที่สุดคือตอนที่ครอบครัวของอัตติกัสเดินทางไปหาครอบครัวของโรบินสันเพื่อแจ้งข่าวร้าย ทำให้เราเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนผิวดำที่แสนจะอัตคัดยากไร้ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกสืบทอดโดยลูกหลานจนถึงปัจจุบัน 

 

                                        à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ to kill a mockingbird
                                                         ภาพจาก r.t.com
 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นหนังชีวิตแบบขึ้นโรงขึ้นศาลหรือ Court Room Drama ที่เข้มข้นแต่ก็คงความเสมือนจริงไว้นั้นคือไม่ได้มีการหักมุมแบบเหนือจริงอะไรให้คนดูได้ลุ้นแบบหนังน้ำเน่าทั่วไป ทว่าคุณค่าของหนังคือการสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการศาลในยุคนั้นที่ลูกขุนทั้งสิบสองคนล้วนแต่เป็นคนผิวขาวทั้งสิ้น ดังนั้นการตัดสินจึงอิงอยู่กับมุมมองแบบขาวผยองอย่างไม่ผิดเพี้ยน นอกจากนี้คุณค่าของหนังยังรวมไปถึงการนำเสนอสัญลักษณ์อันลึกซึ้งอย่างเช่นอาติคัสอธิบายให้ลูกฟังบนโต๊ะอาหารถึงธรรมชาติของ Mocking Birdเป็นนกที่ชอบเลียนแบบเสียงของนกอื่นได้อย่างไพเราะให้ความสุขกับผู้ได้ยินเป็นตัวแทนของผู้บริสุทธิ์ที่มีความดีงาม หรือเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับพล็อตเรื่องหลักเช่นตอนที่อัตติกัสกลับไปบ้านเพื่อยิงสุนัขบ้าที่เข้ามาป้วนเปี้ยนแถวบ้านเขา ที่สำคัญคือชายร่างใหญ่สติไม่สมประกอบที่พวกเด็ก ๆ กลัวคือ Boo Bradley (แสดงโดยปู่ Robert Duvall แกประเดิมชีวิตนักแสดงกับหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเลยล่ะ)ในช่วงต้นของเรื่องก็สามารถเข้ามามีบทบาทในตอนท้ายเรื่องได้อย่างที่คนดูคาดไม่ถึง หากเราดูจนจบเรื่องก็จะพบว่าหนังสามารถทักทอเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ให้เป็นสัญลักษณ์เข้าประเด็นหลักของเรื่องคืออคติหรือความเกลียดชังที่ผิวขาวมีต่อผิวดำ จนกลายเป็นชื่อของหนังที่ว่า To Kill a Mocking Bird ที่ผมขอแปลเป็นไทยได้ตรง ๆ คือ "การฆ่านกม็อคคิ่ง" ได้อย่างงดงาม (ส่วนหนังสือนั้นถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วและมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ผู้บริสุทธิ์")

จุดเด่นของ To Kill A Mocking Bird อีกประการหนึ่งคือการคงอนุรักษ์สีของหนังให้เป็นขาวดำ ในขณะที่หนังในยุคเดียวกันคือต้นทศวรรษที่หกสิบตบเท้าไปเป็นหนังสีธรรมชาติกันเป็นแถว ทำให้หนังดูเหมือนถูกสร้างในทศวรรษที่ห้าสิบมากกว่าหกสิบ โชคไม่ดีของหนังเรื่องนี้ก็คือถูกส่งไปประกวดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมร่วมกับหนังคลาสสิกอีกเรื่องคือ Lawrence of Arabia ซึ่งเกี่ยวชีวิตผจญภัยของนักเขียนอังกฤษที่ชื่อ T.E.Lawrence ในตะวันออกกลางช่วงสงครามโลกครั้งหนึ่ง หากพูดถึงความรู้สึกของชาวโลกคงจะรู้จักกับหนังเรื่องหลังมากกว่าเพราะมีฉากต่อสู้และสงครามที่น่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าจะให้เทียบกันจริง ๆ แล้วทั้งสองเรื่องคงจะมีคุณค่าแตกต่างกันไปคนละแบบ แต่สำหรับคณะกรรมการรางวัลออสก้าแล้ว หนังที่เชิดชูความกล้าหาญของผู้ชายผิวขาวเหนือชนผิวอื่น คือชาวตะวันออกกลาง คงจะมีภาษีดีกว่าความกล้าหาญของผู้ชายผิวขาวเพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าคนผิวดำนั้นดีงามและบริสุทธิ์เป็นแน่ Lawrence of Arabia จึงคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1962 ไปได้ แต่ผมคิดว่าความเป็นอมตะของ To Kill A Mocking Bird เกิดจากเป็นประจักษ์พยานของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคของมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกสีผิวหรือเชื้อชาติ หาใช่จากรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่งไม่



                                à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ to kill a mockingbird poster       

                                      ภาพจาก  AllPosters.com
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่