Skip to main content

หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเรื่องช่างมีพล็อตเรื่องที่คล้ายคลึงกันอะไรเช่นนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่า Alexander Payne (ซึ่งต่อมาก็กำกับหนังดี มีคุณภาพให้เราอีกเช่น Sideways) ย่อมได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนเช่น Wild Strawberries อย่างแรงกล้า หรือแม้แต่หนัง Deconstructing Harry ของผู้กำกับหนังระดับตำนานเช่น Woody Allen ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงคาราวะต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสุดซาบซึ้งใจ ทำไมพวกเขาถึงได้ประทับใจต่อหนังเรื่องนี้ขนาดนั้น ?
 

 

              ภาพจาก www.leninimports.com



Wild Strawberries (ต่อไปจะเรียกชื่อย่อ ๆว่า WS)เป็นภาพยนตร์ขาวดำของผู้กำกับนามอุโฆษสุดจะคลาสสิกตลอดกาลของสวีเดนและของโลก คือ Ingmar Bergman (1918-?) ที่ผมเคยเขียนวิเคราะห์ภาพยนตร์ของเขามาก่อนคือ Seventh Seal และภาพยนตร์สองเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปีเดียวกันคือ 1957 ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่า WS จะสื่อแนวคิดปรัชญาอันลึกซึ้งอย่างเกี่ยวกับมนุษย์เหมือนกับ Seventh Seal ตามแบบฉบับของผู้กำกับ Auteurism (1) เช่นเบิร์กแมน สำหรับ WS นี้หาได้อลังการเหมือนกับเรื่องหลังที่มีฉากเป็นสวีเดนในยุคกลางและตัวละครที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่หากแต่เป็นฉากปัจจุบันในเหตุการณ์อันสุดแสนจะราบเรียบ นั้นคือเป็นเรื่องราวของศาสตราจารย์ด้านการแพทย์หรืออาจารย์หมอวัย 78 ปี นามว่า Isak Borg (แสดงโดย Victor Sjostrom ผู้กำกับหนังเงียบชื่อดังของสวีเดน) ผู้เดินทางไปรับรางวัลที่มหาวิทยาลัยที่เคยทำงานก่อนเกษียณโดยรถยนต์พร้อมกับลูกสะใภ้ของตน ระหว่างทางนั้นเขาได้พบกับผู้ร่วมทางที่เป็นเด็กวัยรุ่นสามคน รวมไปถึงสามีภรรยาที่รถประสบอุบัติเหตุ ที่สำคัญเขาได้ผ่านไปยังบ้านหลังเก่าได้พบกับภาพแห่งความทรงจำในวัยเยาว์จนไปถึงวัยหนุ่ม พร้อมกับความฝันประหลาด ๆ จนได้ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิตในที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รางวัลออสการ์จากการถูกเสนอเพียงสาขาเดียวนั้นคือสาขาบทภาพยนตร์หรือ Screenplay ที่เบิร์กแมนเป็นคนเขียนเองในระหว่างที่เขากำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอื่น ๆ แต่ได้รางวัลที่ไม่ดังเท่าเช่น Golden Globe หรือ National Board of Review สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต่างประเทศ กระนั้นตามสไตล์ของเบิร์กแมนที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ารางวัลแม้แต่ออสการ์ก็ไม่สามารถจะตัดสินหนังของเขาที่เต็มไปด้วยความลุ่มลึกทางปรัชญาและศิลปะอันแสนงดงามรวมไปถึงการสะท้อนคนดูให้เห็นถึงสภาวะจิตใจของมนุษย์ ที่ถึงก้นบึ้งไม่ได้ตื้นเขินแบบละครตอนกลางคืนของโทรทัศน์ในบางประเทศที่ชอบอ้างแบบนี้ ถึงแม้ในหนังหลายเรื่องของเบิร์กแมนมักจะถูกโจมตีว่ามองธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยความเย็นชาและมองโลกในแง่ร้าย แต่สำหรับ WS แล้วถือได้ว่าเป็นการมองธรรมชาติของมนุษย์แม้จะขึ้นต้นแบบนั้นแต่ก็จบด้วยความอบอุ่นและความงดงามเช่นเดียวกับเรื่องของเคนจิ วาตานาเบ้ ข้าราชการผู้ใกล้ตายเพราะมะเร็งใน Ikiru ของคุโรซาวา


โปรดระวัง ต่อไปนี้เป็นการเล่าเรื่องเกือบทั้งหมดพร้อมกับบทวิเคราะห์บางส่วนแต่เนื่องจากเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องย่อยและสัญลักษณ์มากจึงขอผ่านบางส่วนไป 

ในช่วงต้นของ WS หนังได้แนะนำตัวอิซักผ่านเสียงพากย์ หรือ Voice Over ของเขาเองให้คนดูรู้ว่าเขาเป็นพ่อหม้าย ภรรยาได้เสียชีวิตไปหลายปีดีดัก แต่แม่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยวัย 96 ปี เขามีลูกชายเป็นหมออยู่ที่เมือง Lund ที่เขาเคยทำงานมาก่อน ผู้เป็นลูกแต่งงานแล้วกับสาวสวยแต่ยังไม่มีลูก รวมไป Miss Agda แม่บ้านที่ยังโสดแต่อ่อนกว่าเขาไม่กี่ปี ผู้อยู่ช่วยงานบ้านเขามาหลายสิบปี จากนั้นหนังก็ค่อยๆ แสดงให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันแท้จริงระหว่างเขากับคนเหล่านั้นไม่ว่า ความเหินห่างระหว่างเขากับลูกชายคือ Evald Borg (Gunnar Bjornstrand) แม้ลูกชายจะปรากฏตัวในตอนท้ายไม่กี่ฉาก แต่หนังก็แสดงให้เห็นอารมณ์เช่นนี้ได้อย่างชัดเจน และ ความขัดแย้งกับลูกสะไภ้ คือ Marianne Borg (Ingrid Thulin)ผู้สิ้นหวังกับความสัมพันธ์อันราวฉานระหว่างเธอกับลูกชายเขา และเธอเห็นว่าความเย็นชาของสามีเกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูที่ไร้ความรักของอิซักเองดังบทสนทนาอิวาลด์และมาเรียนตอนตอนกลางของเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ต้องการมีลูกแม้ว่าเธอจะตั้งครรภ์แล้วก็ตามก็เพราะเขาอ้างว่าเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับครอบครัวมาก่อน หนังดูเหมือนจะมีการดำเนินแบบเรียบๆ แต่เบิร์กแมนตั้งใจจะใช้รูปแบบ Surrealism หรือเหนือจริงเพื่อตอกย้ำสัญลักษณ์ที่มีอยู่มากมายในหนังผ่านความฝันประหลาด ๆ ของอิซักในคืนก่อนที่เขาจะเดินทางไปรับรางวัลเกียติยศที่เมืองลูน ไม่ว่าการเดินเข้าไปในเมืองร้าง ๆ ได้พบกับมนุษย์ตุ๊กตาที่ไร้หน้า นาฬิกาของเมืองที่ไร้เข็ม จนได้พบกับรถม้าที่ขนโลงศพ และเขาก็ตกใจเมื่อได้พบว่าตัวเขาเองอยู่ในโลงศพนั้น 

เมื่อชายชราสะดุ้งตื่นจึงเปลี่ยนแผนจากการนั่งเครื่องบินไปขับรถแทน ตรงจุดนี้ดูเหมือนกับเบิร์กแมนจะใช้ความเหนือจริงในความฝันเพื่อสะท้อนภาพความไร้สาระของชีวิตมนุษย์ ภาพของตัวเขาในโลงศพที่จับมือของเขาให้เข้ามาใกล้ๆ ราวกับจะทำใหอิซักได้ตระหนักถึงความตาย เขาจึงเกิดความเชื่อว่าตัวเองใกล้ตาย จึงใคร่อยากจะทำบางสิ่งบางอย่างในเวลาที่เหลือน้อยนี้ โดยมาเรียนซึ่งมาพักอยู่กับเขาอยู่ระยะหนึ่งก็ได้ขอติดรถไปด้วย และเธอก็ได้เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงที่เธอและสามีมีต่อเขา ระหว่างทางอิซักได้พามาเรียนไปแวะบ้านพักตากอากาศที่เขาในวัยเด็กพร้อมครอบครัวมาพักเสมอทุกฤดูร้อน เขาได้พบกับสตอร์เบอร์รี่ป่าที่เคยเห็นเมื่อยังเยาว์วัย สตอร์เบอร์รี่ป่านี่เองที่เป็นชื่อเรื่องและเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นแกนหลักของเรื่อง หนังยังให้อิซักพบกับภาพแห่งความทรงจำแบบราวกับว่าเขาได้ย้อนเวลากลับไปได้ (แบบให้ตัวผู้แสดงเข้าไปในอดีตเลย หากนึกเทคนิกไม่ออกก็ลองนึกถึงหนังเรื่องจูออน หรือ The Grudge) และอิซักก็ได้เห็น คู่รักของเขา(Bibi Andersson)ได้แอบพรอดรักกับ น้องชายของเขา และคนทั้งคู่ก็ทิ้งเขาไปอยู่กินด้วยกัน สิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนภาพของอิซักเองที่หนังต้องการจะบอกว่าคนรอบข้างเช่นคู่รักเก่าของเขามองเขาว่าเป็นคนที่เข้าถึงยากและซับซ้อนเกินไป รวมไปถึงภาพการชุมนุมของพี่น้องและญาติๆบนโต๊ะอาหารที่ปราศจากตัวอิซักทำให้เขาระลึกถึงวัยเยาว์เป็นยิ่งนัก 





(นาฬิกาไร้เข็มในฝันของอิซักหรือ สัญลักษณ์ของความไร้สาระของชีวิตที่มีจุดสุดท้ายคือความตาย)

แถวบ้านหลังนั้น เขาได้พบกับกลุ่มวัยรุ่นที่ประกอบด้วยเด็กสาวหนึ่งคนและเด็กหนุ่มสองคนซึ่งได้ขอติดรถของเขาไปลงที่เมืองลูนเพื่อจะต่อไปอิตาลี และด้วยความร่าเริงและเป็นมิตรกับคนของเด็กสาวนามว่า Sara (แสดงโดย Bibi Andersson อีกนั้นแหละ ราวกับหนังตั้งใจจะให้เธอมีสองภาค) ผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับคู่รักเก่าของอิซัก นี้เองที่สร้างความสดใสให้กับศาสตราจารย์เป็นยิ่งนัก หนังก็ไม่ได้ให้คนดูเห็นภาพว่าอิซักเป็นคนน่ารังเกียจเสียทีเดียวเพราะ พวกเด็กวัยรุ่นก็ประทับใจในตัวของศาสตราจารย์ผู้ชราคนนี้ ระหว่างทางนั้นรถของพวกเขาเกือบจะชนกับรถอีกคันที่ขับสวนทางมา รถคันนั้นประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ พวกเขาจึงให้การช่วยเหลือคนในรถซึ่งเป็นสามีภรรยาโดยการให้ติดรถไปด้วย ทั้งคู่ชอบทะเลาะกันจนสร้างความลำคาญให้กับคนอื่น ในที่สุดมาเรียนก็ไล่คนทั้งสองลงจากรถไป เหตุผลที่เบิร์กแมนได้ใส่ตัวละครทั้งสองให้มามีบทบาทนี้ค่อนข้างจะคลุมเคลือแต่ว่าพอจะตีความได้ว่าเขาต้องการจะสะท้อนภาพชีวิตคู่ที่เต็มไปด้วยความบาดหมางกันแต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงอาศัยกัน

ต่อมาหนังก็ได้ให้ภาพของอิซักอีกว่าเป็นคนที่มีผู้อื่นชอบอยู่ไม่น้อย เมื่อพวกเขามาถึงเมืองลูนและอิซักได้รับต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากเจ้าของปั้มและภรรยา หลังจากได้ไปเยี่ยมแม่ผู้เย็นชาของอิซัก แล้วในระหว่างที่พวกเขาก็เดินเพื่อที่จะไปที่บ้านของลูกชายของอิซัก เขาก็ได้ผล็อยหลับไปและฝันว่าตัวเองได้อยู่ในป่าอันเย็นเยือกน่ากลัว ทำให้คนดูตีความได้ว่าเป็นโลกที่ปราศจากการมีอยู่ของพระเจ้า ได้พบคู่รักเก่าต่อว่าเขาและพยายามให้เขาเห็นตัวเองผ่านกระจก ได้เห็นเด็กในเปล (เหมือนหนังจะบอกว่าเด็กคนนั้นก็คือตัวเขาหรือมนุษย์ที่ไร้เดียงสาท่ามกลางโลกอันน่ากลัว) และได้ไปที่ทำงานเก่าของเขาที่มีชายคนหนึ่งพิพากษาว่าเขาเป็นนายแพทย์ที่ไร้ความสามารถแล้วเฉลยว่าเป็นคำต่อว่าจากภรรยาของเขาเองที่เสียชีวิตไปแล้วและชายคนนั้นก็พาเขาไปเฝ้ามองภรรยาของเขาที่แอบไปมีอะไรกับผู้ชายคนอื่นในป่าและนินทาให้ผู้ชายคนนั้นว่าที่เธอเบื่ออิซักเพราะเขาเป็นคนที่ซับซ้อนและเย็นชาเกินไป (หนังค่อนข้างจะทำให้คลุมเคลือว่าที่ฝันนั้นเป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเองหรือว่าเป็นประสบการณ์ที่เขาเคยพบมาแล้ว แต่ที่แน่ ๆ About Schmidt ก็ยืมเรื่อง "ชู้" มาใช้อย่างออกหน้าออกตา) อย่างไรก็ตามผู้ชายในฝันก็ได้ให้บทเรียนแก่เขาว่าควรที่จะให้อภัยคนอื่น จนเมื่อเขาสะดุ้งตื่น ทั้งหมดมาถึงบ้านของลูกชายของอิซักแล้ว พวกวัยรุ่นขอพักอาศัยด้วยเพื่อร่วมงานรับรางวัลของอิซัก เช่นเดียวกับแอ็คด้าแม่บ้านที่นั่งเครื่องบินมาถึงก่อน งานรับรางวัลผ่านไปอย่างยิ่งใหญ่ อลังการ (จนทำให้นึกถึงงานมอบรางวัลโนเบลขึ้นมา) แต่อิซักหาได้สนใจมันไปเท่ากับพบว่าความรู้สึกของเขาที่เปลี่ยนไป เขารู้สึกโหยหาความสัมพันธ์และได้รักคนรอบข้างมากขึ้นเพราะประสบการณ์ทั้งในโลกความจริงและความฝันกึ่งความฝันได้สอนเขา ฉากที่แสนน่าประทับใจก็คือพวกวัยรุ่นได้ร้องเพลงและเล่นกีตาร์ให้อิซักฟังก่อนนอน แล้วพวกเขาก็อำลาเพื่อเดินทางต่อไป หนังได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความรักและความผูกพันต่อเพื่อนมนุษย์ ได้กลับมาหาความรู้สึกของอิซักอีกครั้ง ดังคำล่ำลาของซาราก่อนจากไป

Sara: Good-bye, father Isak. Can't you see you're the one I love? Today, tomorrow and forever 

(ลาก่อน คุณพ่ออิซัก คุณไม่รู้หรือว่าคุณคือคนที่หนูรัก ? ทั้งวันนี้ วันพรุ่งนี้และตลอดไป)

Isak Borg: I'll keep that in mind 

(ยิ้มจนแก้มปริ : แล้วฉันจะจำไว้)


หนังของเบิร์กแมนเรื่องนี้จบแบบเรียกว่า Happy Ending ซึ่งเป็นการจบแบบที่ไม่ค่อยมีในหนังส่วนใหญ่ของเขานัก ลูกชายและลูกสะไภ้ของเขากลับมาคืนดีกัน ลูกสะไภ้ก็เปลี่ยนจากความเกลียดชังมาเข้าใจและรักเขา ส่วนเขาก็รักคนทั้งสองมากขึ้น ในคืนก่อนนอนนั้น อิซักได้ระลึกถึงวัยเด็กของเขาในช่วงฤดูร้อนที่มีความสุขกับครอบครัวในบ้านพักตากอากาศหลังนั้น ได้พบกับอดีตคู่รักของเขา เธอได้จูงมือเขาไปพบกับพ่อแม่ของเขาที่กำลังตกปลาอยู่บนโขดหินริมทะเล อิซักยิ้มอย่างมีความสุขทั้งในภาพแห่งความคิดคำนึงและความจริงตอนเขานอนอยู่บนเตียง แล้วเรื่องก็จบลงโดยไม่ได้บอกว่าอิซักตายหรือไม่ แต่ถือได้ว่าเป็นเสน์ห์ของหนังอย่างแท้จริง

 

       à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ wild strawberries ingmar bergman dvd

                     ภาพจาก www.blu-ray.com



ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อว่า Wild Strawberries ? คำตอบก็คือหนังเรื่องนี้มีชื่อเป็นภาษาสวีดิชคือ Smultronstollet ที่มีความหมายเดียวกันแต่สำหรับบริบทของภาษาแล้ว สตอร์เบอร์รี่ป่าหมายถึงความร่าเริง อ่อนวัยและความเป็นอนิจจัง โดยมีซารา (ไม่ว่าทั้งภาคอดีตคู่รักหรือเด็กสาว)เป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำสารนี้อีกที การที่อิชักได้หวนระลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์จากการตัดสินใจเดินทางโดยรถแล้วมาพบกับสตอร์เบอร์รี่ป่าก็ไม่แตกอะไรกับ George Baily พระเอกในหนังเรื่อง It's A Wonderful Life (ดูได้ในส่วน Movie)ที่บรรลุสัจธรรมจากการเนรมิตของเทวดา อิซักนั้นความจริงหาใช่คนที่หยาบกระด้างไม่หากแต่เขาเป็นผู้ใช้ชีวิตแบบนักปราชญ์ มีระเบียบแบบแผนและมี เหินห่าง เย็นชาอยู่บ้างจนทำให้คนรอบข้างเหินห่างเพราะเขาไม่เข้าใจว่าคนรอบข้างเช่นอดีตคู่รักหรือภรรยาต้องการอะไร ในตอนจบของเรื่อง อิซักจึงได้พบว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการให้อภัยและความรักที่ไร้เดียงสาแต่เปี่ยมด้วยความอบอุ่นเหมือนฤดูร้อนย่อมทำให้ชีวิตของมนุษย์นั้นมีความสุขและมีความหมายอย่างยิ่ง 

ฉากหนึ่งในหนังที่ผมคิดว่าน่าประทับใจที่สุดก็คือตอนที่อิซักกำลังเดินแถวเพื่อไปรับรางวัลเกียรติยศ ซารา ได้อยู่ในกลุ่มฝูงชนและส่งเสียงให้กำลังใจแก่ท่านศาสตาจารย์ นั่นคือท่ามกลางพิธีกรรมที่แสนจะศักดิ์สิทธิ์แต่น่าเบื่อซึ่งเป็นภาพสะท้อนชีวิตทั้งชีวิตของอิซัก ซาราได้ทำให้ความเคร่งขรึมนั้นลดลง กลายเป็นความรู้สึกอันแสนอบอุ่นที่อิซักสามารถสัมผัสได้แทน หากเปรียบกับ Seventh Seal หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงอภิปรัชญาเช่นชีวิตหลังความตายหรือการมีอยู่ของพระเจ้ามากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวต่อความตายที่เบิร์กแมนสารภาพว่าเคยมีอย่างเต็มเปี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้เขาก็ยังสามารถโยงไปถึงเรื่องอภิปรัชญาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจโดยให้เด็กหนุ่มเพื่อนของซาราคนหนึ่งต้องการบวชเป็นพระและถกเถียงกับอีกคนว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ ซึ่งตามความจริงมีน้อยรายที่คนในวัยรุ่นจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ WS หันมาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความลึกซึ้งทางจิตวิทยา แน่นอนว่าอิซักคนหนึ่งก็เป็นร่างอวตารของเบิร์กแมนผู้เขียนบทนั้นเอง หนังจึงเปรียบได้ดัง Semi-Autobiography หรือกึ่งอัตชีวประวัติที่เบิร์กแมนต้องการสารภาพว่าเขาก็มีปัญหาในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (บังเอิญที่ชื่อของเขาคือ Bergman สามารถแปลได้ว่ามนุษย์ก้อนน้ำแข็งพอดี !!) และหนังจำนวนกว่าสิบเรื่องหลังจากนั้นก็ได้บ่งบอกถึงสิ่งนี้ได้อย่างดี เช่นเดียวกับความตั้งใจที่เขาใส่คู่สามีภรรยาลงไปในเรื่อง WS ทั้งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพล็อตเรื่องหลังเลย แต่ถ้าเราพิจารณาถึงการหย่าร้างของเบิร์กแมนที่มีถึงสี่ครั้ง ก็ไม่น่าประหลาดอะไรนักแต่สิ่งที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นกระจกบานใหญ่ให้เราได้เห็นตัวของเราเองต่างหาก


....................................................................

(1) ผู้กำกับที่สามารถสร้างสรรค์งานได้เป็นอิสระและหนังมีลักษณะซับซ้อน เป็นศิลปะและมีความเป็นตัวเองสูง 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่