Skip to main content

ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็เน้นมากหน่อยโดยเฉพาะสหรัฐฯ กับสมรภูมิดีเดย์ที่นอร์มังดีในปี 1944 ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การปลดปล่อยยุโรปและการพ่ายแพ้ของเยอรมันนาซี สำหรับประเทศที่เน้นยิ่งกว่าเสียมากๆ โดยมักมีการเดินขบวนสวนสนามของกองทัพก็คือ จีน รัสเซีย และเบลารุสอันเกี่ยวข้องกับลัทธิชาตินิยมและกองทัพนิยมที่ผู้นำเผด็จการมักใช้เพื่อเสริมสร้างอำนาจของตัวเอง

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงรายการหนึ่งในยูทูบที่ตั้งคำถามว่าทำไมไทยถึงไม่มีการฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว อันเป็นคำถามที่ไม่ค่อยมีคนถามนักในสังคมไทย ผมก็เลยอยากจะลองหาคำตอบโดยตั้งข้อสังเกตเป็นข้อต่อไปนี้

1.กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสงครามโลก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของคนร่วมสมัยอย่างเราว่าไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น หรือว่าเป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นเหมือนจีนและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงชั่วโมงต้นๆ ที่ญี่ปุ่นบุกไทย ทั้งฝั่งไทยทั้งพลเรือน ตำรวจทหาร ยุวชนทหารได้ทำการต่อต้านอย่างกล้าหาญ ก่อนจะยุติจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม

แต่ในการปลูกฝังประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับชาตินิยมจนถึงปัจจุบันทั้งหนังสือเรียนและสื่อประชานิยมอย่างภาพยนตร์และละครก็ไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก เท่าที่จำได้ว่ามีภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างยุวชนทหารอยู่ไม่กี่เรื่อง อย่างเช่นยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบเมื่อปี 2543 สาเหตุที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงเท่าที่ควรอาจเป็นผลที่ได้ก็คือสุดท้ายก็พวกปกป้องชาติต้องปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ยุวชนทหารซึ่งเด่นกว่าคนอื่นก็เป็นผลผลิตของจอมพล ป.พิบูลสงคราม บุคคลที่ประวัติศาสตร์ไทยซึ่งอิงกับลัทธิราชาชาตินิยม (ชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นจุดศูนย์กลาง) ไม่ค่อยชอบนัก เช่นมักกล่าวถึงเขาไปเรื่อยๆ ไม่เน้นการสรรเสริญเหมือนพระมหากษัตริย์ หรือบางทีหนังสือหลายที่ก็เสนอภาพของเขาเป็นผู้ร้าย ทั้งที่มรดกของจอมพล ป.นั้นฝังรากลึกในสังคมไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ เช่นเดียวกับสมรภูมิที่ไทยทำสงครามกับฝรั่งเศสในปี 2484 (ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเสนอตัวมากไกลเกลี่ย) ซึ่งฝ่ายไทยก็อ้างถึงชัยชนะอย่างอลังการเหนือมหาอำนาจของตัวเองก็เกิดในยุคของจอมพลป.แต่ก็ไม่ได้รับการเน้นเท่าไรอีกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งคนจำนวนมากยังไม่รู้เลยว่าเกี่ยวกับการฉลองสมรภูมิดังกล่าวนอกเสียไปจากจุดเปลี่ยนรถไฟฟ้า ด้วยการที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือการส่งเสริมลัทธิเชิดชุบุคคลของจอมพล ป.ที่ไม่เข้ากับลัทธิราชานิยมในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

2.ขบวนการเสรีไทยหรือขบวนการใต้ดินช่วงญี่ปุ่นยึดครองไทยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่แพ้สงครามถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นอดีตมันสมองของคณะราษฎร และพวกอนุรักษ์นิยมยังเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์และอยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ดังนั้นคุณูประการของปรีดีจึงไม่ถูกเน้นในประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมจนถึงปัจจุบันนัก นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ชาติราชานิยมยังไม่มีการตอกย้ำหรือเน้นการที่นายปรีดีดิ้นรนเพื่อไม่ให้สหรัฐ ฯ ไม่ยอมรับว่าไทยเคยประกาศสงคราม (ตรงนี้ก็ยังมีเรื่องถกเถียงอีกโดยเฉพาะการอ้างของมรว.เสนีย์ ปราโมชเอกอัครทูตไทยประจำสหรัฐฯ ว่าตัวเองไม่ยอมประกาศสงครามตามคำสั่งของจอมพล ป.) และยังช่วยให้สหรัฐฯ เข้ามาคานอำนาจอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนอังกฤษไม่สามารถเล่นงานไทยเช่นเรียกปฏิกรรมสงครามสงครามแพงๆ หรือแบ่งประเทศไทยกับกองทัพเป็นส่วนๆ ตามเจตจำนงได้ แม้จะมีการเดินขบวนของบรรดาเสรีไทยโดยมีรัชกาลที่ 8 เป็นประธานในวันสันติภาพไทยแต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก หากไม่มีอินเทอร์เน็ต คิดว่าชาตินี้คนไทยเสียใหญ่ก็ไม่เห็นภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากจะต้องดั้นด้นไปถึงหอจดหมายเหตุที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตามก็มีทฤษฎีอีกเช่นว่าสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนนั้นมีความต้องการจะให้ไทยและเพื่อนบ้านไม่แพ้สงครามอยู่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์คือการผูกความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันจะเป็นการต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้ดูสง่างามเหมาะสำหรับการจัดงานฉลองที่อิงกับลัทธิชาตินิยมของไทยอีกเช่นกันเพราะเหมือนไทยเป็นแค่หมากตัวหนึ่งของฝรั่ง

3.ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนในทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาจนสามารถมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงไม่เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งในการผลิตซ้ำของสื่อไทยที่จะทำให้คนไทยรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูตัวฉกาจเพื่อส่งเสริมลัทธิชาตินิยม แม้ญี่ปุ่นจะถูกโจมตีจากพวกนักศึกษาไทยในช่วงทศวรรษที่ 70 ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงมักไม่เจอฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นเป็นศัตรูนัก อีกทั้งนวนิยายของคุณทมยันตีคือคู่กรรมยังเป็นเหมือน love letter ที่มีนัยยะคือฟอกขาวกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นลัทธิชาตินิยมไทยตั้งแต่ในอดีตจึงมักเน้นศัตรูในจินตนาการคือพม่าซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของอาณาจักรอยุธยา ทั้งที่นับตั้งแต่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับไทยอีกต่อไปแถมยังเป็นภัยคุกคามน้อยกว่าไทยยิ่งกว่า 3 ประเทศในอินโดจีนอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งตกเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมกันในปี 2519 เสียอีก เพราะพม่าตั้งแต่ปี 2505 ภายใต้การปกครองของนายพลเนวินก็ปิดประเทศ และยากจนอย่างรวดเร็ว เราจึงไม่ต้องเกรงอกเกรงใจพม่าเท่าไรนัก ผมว่าพม่าน่าจะยินดีเสียด้วยซ้ำเพราะยิ่งไทยตอกย้ำฉากที่พม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเสียจนราบเป็นหน้ากองในปี 2310 ก็ยิ่งตอกย้ำความเก่งของกองทัพพม่าอันจะเป็นการสร้างลัทธิชาตินิยมรวมไปถึงอิทธิพลของกองทัพซึ่งยังทรงอิทธิพลในประเทศพม่าเท่านั้น

4.ไทยขาดอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ หากไม่เกี่ยวกับเรื่องราชานิยมแล้ว แม้แต่วันชาติไทยเก่าก็คือวันที่ 24 มิถุนายนที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันซึ่งมักภูมิใจว่าการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 คือจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของประเทศตนอย่างเช่นพม่าซึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 เพราะบทบาทของนายพลอองซาน หัวหน้าขบวนการชาติหรืออินโดนีเซียซึ่งขบวนการชาตินิยมของซูการ์โนก็ต่อสู้กับดัชต์อย่างดุเดือดจนได้รับเอกราชในปี 2492 และผู้นำของทั้ง 2 ประเทศก็ยังได้รับความเคารพอย่างท่วมท้นจากคนในปัจจุบันในฐานะบิดาแห่งชาติ ไม่เหมือนกับจอมพลป.พิบูลสงครามและนายปรีดี พนมยงค์ ดังนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่ได้สำคัญอะไรในประวัติศาสตร์ของความเป็นรัฐไทยนัก นอกจากเหตุการณ์แห่งความคลุมเครือว่าตกลงเราดัดจริตหรือจำเป็นต้องเข้ากับฝ่ายอักษะหรือเป็นขี้ข้าญี่ปุ่นจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาระเบิดมาทิ้งจนคนตายกันเกลื่อน แล้วตกลงไทยแพ้หรือว่าไม่แพ้หรือว่าอะไร

5.องค์กรที่ปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยมที่ทรงอิทธิพลของไทยคือกองทัพไม่สามารถมีบทบาทที่น่าภูมิใจได้ในช่วงสงครามโลก อย่างเช่นตอนญี่ปุ่นบุกก็ถูกยุวชนทหารกลบบทบาท และมักถูกมองว่าไม่สามารถ "สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี" ได้ ซ้ำร้ายช่วงญี่ปุ่นอยู่ในไทยยังต้องร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นในการบุกประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจก็ถูกกองทัพมองว่าทอดทิ้งพวกตนจนต้องเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับมากรุงเทพฯ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 อันนำโดยจอมพลผิน ชุนหะวันนายทหารนอกราชการ ซึ่งเป็นการแผ่อิทธิพลครั้งใหญ่ของกองทัพเหนือการเมืองไทย

กองทัพเป็นองค์กรสำคัญสำหรับการปกป้องประเทศไทย (หากเรายังมองความมั่นคงในนิยามเดิม) และทหารจำนวนมากก็เสียสละความสุขและชีวิตเพื่อชาติไทย แต่ในหลายสิบปีนั้นกองทัพไทยไม่ได้มีผลงานต่อสู้กับอริราชศัตรูที่โดดเด่นจนเป็นฉากที่ต้องจดจำสำหรับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนักอย่างเช่นรบกับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นก็เป็นการสู้กับคนไทยด้วยกันและสุดท้ายพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ใช้นโยบาย 66/2523 เพื่อให้พวกคอมมิวนิสต์กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย สงครามระหว่างไทยกับลาวในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าปี 2531 ก็หาความชัดเจนไม่ได้ว่าใครแพ้ใครชนะ แถมยังมีข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับเบื้องหลังสงครามครั้งนี้ หรือความขัดแย้งทางทหารในเรื่องเขาพระวิหารกับพื้นที่รอบๆ กับกัมพูชา ก็ไม่ได้มีผลลัพธ์อะไรที่น่าภูมิใจนัก นอกจากเป็นการตรึงกำลังกันเสียมากกว่า และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศมากกว่าอย่าเช่นที่คนที่สนับสนุนรัฐบาลเครือข่ายทักษิณมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้เจรจากับรัฐบาลนายฮุนเซ็นเสียมากกว่าการทำสงครามอย่างพวกฮาร์ดคอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลแนะนำ จึงทำให้มติของคนในประเทศแตกแยกกัน หรือปัจจุบันแม้กองทัพเรือจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนก็โดนด่าเสียเละ

ดังน้นกองทัพจึงต้องหาฉากหรือ Scenario บางฉากที่สร้างความภูมิใจให้กับตนและคนไทยทั้งประเทศอันเป็นการสถาปนาอำนาจนำหรือ Hegemony ของกองทัพเหนือสังคมไทย นั่นก็คือฉากที่พระนเรศวรทำสงครามยุทธหัตถีกับมหาอุปราชอันกลายเป็นที่มาของวันกองทัพไทยนั้นเอง เช่นเดียวกับฉากที่พระนเรศวรทรงประกาศเอกราชของไทย (ซึ่งที่จริงคือกรุงศรีอยุธยา) ฉากทั้ง 2 ก็กลายเป็นความภูมิใจของชนชั้นนำไทย จึงไม่น่าประหลาดใจว่าชนชั้นนำและกองทัพไทยจะส่งเสริมให้มีภาพยนตร์อย่างสุริโยทัยซึ่งตัวเอกคือพระขนิษฐาของพระนเรศวร และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถึง 6 ภาคและแต่ละภาคล้วนใช้ทุนมหาศาล (ครั้งหนึ่งกองทัพถึงกลับเปิดให้คนไทยเข้าดูฟรี) แต่ไม่มีภาพยนตร์อันอลังการเกี่ยวกับเสรีไทยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพและการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ  Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913  และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 "Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois  ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3  ของเยอรมัน นั่นคือ Bach  Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก