Skip to main content
เบโธเฟนและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อการเมืองโลก
 
ท่ามกลางความโหดร้ายทารุณของไวรัสโควิด-19 ในเดือนนี้ก็มีข่าวอันน่าปิติของชาวยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันว่าครบรอบวันเกิดของคีตกวี (นักประพันธ์เพลงคู่ไปกับนักดนตรี) ชื่อดังและที่เป็นที่นิยมที่สุดของโลกนั่นคือลุดวิก ฟาน เบโธเฟน ถ้าหากเขายังมีชีวิต เขาจะอายุครบ 250 ปีพอดีในเดือนนี้ มีการจัดงานวันเกิดนั่นคือคอนเสิร์ตและการแสดงทางศิลปะเกี่ยวกับเบโธเฟนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ในกรุงบอนน์อันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันอย่างเต็มที่
 
ไม่มีใครรู้ว่าเบโธเฟนเกิดวันที่เท่าไร แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนคือเขาเข้าพิธีรับศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ปี 1770 ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันในปัจจุบัน คนจำนวนมากสันนิฐานว่าเขาอาจเกิดวันที่ 16 อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่านอกจากเบโธเฟนจะเป็นคตีกวีที่ดนตรีได้รับการเล่นมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เขายังเป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แห่งชาติอันสำคัญยิ่งของเยอรมัน นอกจากนี้ตัวตนและงานดนตรีของเบโธเฟนยังมีอิทธิพลต่อการเมืองโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะอยู่ฝั่งใดล้วนแต่พยายามหยิบฉวยงานของงานของเขาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง อย่างเช่นลัทธิเสรีนิยมถือว่าเบโธเฟนเป็นไอดอลเพราะนอกจากจะไม่ท้อถอยต่อโชคชะตาอย่างอาการหูหนวกแล้ว เขายังเป็นตัวอย่างของศิลปินกระฎุมพีผู้ขบถต่อจารีตประเพณี อย่างเช่นตอนเบโธเฟนกับกวีชื่อดังอย่างเช่น โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่เดินคุยกัน พวกเขาได้พบกับขบวนของเจ้านายพระองค์หนึ่ง เกอเธ่ค้อมตัวให้เจ้านายอย่างนอบน้อมในขณะที่เบโธเฟนเดินผ่านไปด้วยความเมินเฉย อันอาจบอกได้ว่าคีตกวีเอกมีแนวคิดคนเท่ากันตามแบบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับนิสัยเป็นคนเจ้าอารมณ์ไม่ยอมใคร เป็นตัวของตัวเองสูงของเบโธเฟนซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดปัจเจกนิยม (แต่คนรอบข้างเขาในสมัยนั้นอาจรู้สึกเอือมระอาเพราะเห็นว่าเป็นนิสัยเสียมากกว่า)
 
ส่วนงานดนตรีของเบโธเฟนก็ถูกพวกเสรีนิยมมองว่าเป็นการขบฎต่อดนตรียุคเก่านั้นคือการเปลี่ยนผ่านยุคคลาสสิกมาสู่ยุคโรแมนติกอย่างเช่นซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่เบโธเฟนเคยเขียนอุทิศให้นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต เมื่อนโปเลียนปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส เบโธเฟนก็ได้ขีดพระนามของพระองค์ออกจากสมุดด้วยความเดือดดาลแล้วใช้ชื่อว่า Eroica แทนอันสะท้อนถึงแนวคิดต่อต้านทรราช หรืออย่างซิมโฟนีหมายเลข 9 โดยเฉพาะท่อนที่ 4 ซึ่งเป็นเสียงร้องประสานเสียงชื่อ Ode to Joy ก็ถูกมองว่าเป็นภาพปรากฎของคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มของเบโธเฟนคือเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และอุปรากรเพียงเรื่องเดียวของเบโธเฟนคือ Fidelio ซึ่งเป็นเรื่องของสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายเข้าไปช่วยเหลือสามีนักหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกทรราชคุมขังไว้ในคุกใต้ดินอันเป็นการอุปมาถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัจเจกชนกับเผด็จการ
 
แม้แต่พวกฟาสซิสต์อย่างพรรคนาซีก็ให้ความสำคัญแก่เบโธเฟนเช่นเดียวกับริชาร์ด วาคเนอร์ นักแต่งอุปรากรขวัญใจของฮิตเลอร์ นักคิดของพรรคนาซีมีความพยายามอย่างยิ่งในการทำให้เบโธเฟนมีความเป็นอารยันให้มากที่สุด (แน่นอนว่าดนตรีของชาวยิวและแจ๊ซของคนผิวดำที่เคยแพร่หลายในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์จึงมีลักษณะต้องห้ามเพราะเป็นดนตรีอันต่ำช้า) ดังนั้นตระกูลของเบโธเฟนจึงมักถูกบันดาลให้เป็นเยอรมันแม้ว่าเขาจะบรรพบุรุษเชื้่อสายฟลิมมิชจากเบลเยี่ยม ทั้งนี้ไม่ต้องนับลักษณะร่างกายของเบโธเฟนซึ่งจะกลายเป็นคนผิวขาว สูงสง่า ในขณะที่ตัวจริงของเขาสันทัด ผิวค่อนข้างคล้ำ (คือถ้าใช้เกณฑ์ของชาวยุโรปก็อาจเป็นคนผิวดำได้) ในแวดวงของนาซีจึงมักยกย่องซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่นำการบรรเลงโดยวาทยกรชื่อดังอย่างวิลเฮล์ม เฟิร์ตแลงเลอร์ และยังกล่าวกันว่าฮิตเลอร์ถือว่าเบโธเฟนคือตัวแทนของเจตจำนงของคนเยอรมันทั้งผอง และจอมเผด็จการยังชอบซิมโฟนีหมายเลข 9 ถึงแม้เนื้อเพลงจะกล่าวถึงความรักที่คนทั้งโลกพึงมีให้กันและฮิตเลอร์มีปราถนาอันแรงกล้าในการลบล้างชาวยิวออกจากโลกใบนี้ก็ตาม
 
อนึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ช่วงเริ่มต้นของซิมโฟนีหมายเลข 5 ในการกระจายเสียงผ่านวิทยุเพื่อเป็นการเป็นการส่งรหัสมอสที่เป็นแทนตัว V หรือ Victory นั่นคือชัยชนะเหนือเยอรมัน และเมื่อสหรัฐฯ กับฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองเยอรมันภายหลังสงคราม พวกเขาซึ่งก็ชื่นชอบเบโธเฟนอยู่แล้วก็ยังเปิดให้มีการบรรเลงเพลงของเบโธเฟนได้โดยไม่ถือว่าเป็นดนตรีของพวกนาซีแต่ประการใด
 
สำหรับคอมมิวนิสต์นั้นย่อมประทับใจสำหรับเนื้อหา Ode to Joy ที่ เบโธเฟนดัดแปลงมาจากผลงานของกวีชื่อดังคือ ฟรีดิช ชิลเลอร์ซึ่งแสดงถึงความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นถึงความกลมเกลียวของบรรดาชนชั้นกรรมาชีพในการต่อสู้กับชนชั้นนายทุน ส่วนประเทศที่ให้ความเคารพแก่เบโธเฟนอย่างล้นพ้นคือเยอรมันตะวันออกนั้นเอง ประเทศซึ่งมีอายุยังน้อยเพราะถือกำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งหมายในการให้เบโธเฟนเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของประเทศตน เบโธเฟนจึงถูกขยายภาพเสียใหญ่โต เป็นคีตกวีผู้มีจิตใจมุ่งมั่น อุทิศงานให้แก่มนุษยชาติและความก้าวหน้าของอารยธรรม เยอรมันตะวันออกยังพยายามแย่งเบโธเฟนจากเยอรมันตะวันตกโดยมองว่าเพื่อนบ้านของตนเป็นพวกทุนนิยมที่แสนชั่วร้าย วัฒนธรรมฟอนเฟอะไม่เหมาะกับเบโธเฟนอย่างยิ่ง แม้ว่าบ้านเกิดของเขาจะอยู่ในกรุงบอนน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมันตะวันตก กระนั้นชาวเยอรมันตะวันออกซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ใช้เบโธเฟนเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้รัฐบาลเผด็จการ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าในช่วงที่เยอรมันรวมเป็นหนึ่งเดียวหลังการล่มสลายของเยอรมันตะวันออก งานอันสำคัญยิ่งในเชิงสัญลักษณ์คือการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่นำโดยวาทยกรชาวอเมริกันคือลีโอนาร์ด เบอร์สไตน์ที่ Konzerthaus กรุงเบอร์ลินเพียงไม่กี่เดือนหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายในปี 1989 (เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเบอร์สไตน์ยังได้ดัดแปลงชื่อ Ode to Joy เป็น Ode to Freedom)
 
สำหรับจีนนั้นเป็นเรื่องน่ากล่าวถึงอย่างยิ่งเพราะตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 จีนยังไม่เคยหยุดรักเบโธเฟนซึ่งพวกเขารู้จักมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 บุคลิกของเบโธเฟนผู้อาจหาญต่อชะตากรรมนั้นเป็นตัวอย่างที่เหมาะกับค่านิยมของจีนในการต่อสู้กับลิขิตฟ้า เช่นเดียวกับรูปแบบดนตรีของเบโธเฟนซึ่งมีลักษณะปฏิวัตินั้นช่างเหมาะกับอุดมการณ์ของจีนที่เข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งมีการล้มล้างแนวคิดเก่าๆ ดนตรีของเขาบางชิ้นอย่างซิมโฟนีหมายเลข 6 หรือ Pastoral Symphony ที่บรรยายถึงฉากและชีวิตของชาวนาในชนบทอาจถูกพรรคคอมมิวนิสต์ตีความว่าเป็นดนตรีแห่งชนชั้นกรรมชีพ และในทศวรรษที่ 50 มีการบรรเลงเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 พร้อมกับ Ode to Joy ที่ถูกแปลเป็นภาษาแมนดาริน อย่างไรก็ตามดนตรีของเบโธเฟนรวมไปถึงคีตกวีคนอื่นๆ ก็ต้องถูกสั่งห้ามในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่เห็นว่าดนตรีตะวันตกเป็นของชนชั้นกระฎุมพีอันแสนชั่วช้า นักดนตรี วาทยกรหลายคนก็พบกับชะตากรรมอันน่าแสนเศร้าจากฝีมือของเหล่าเรดการ์ด จนเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงได้เปิดประเทศจีนในปลายทศวรรษที่ 70 จึงได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกและดนตรีของเบโธเฟนอีกครั้ง และเมื่อนักศึกษาได้ทำการประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 พวกเขาได้เปิดเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ในช่วงระหว่างประท้วงด้วย
 
ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาดนั้นคือ Ode to Joy ยังกลายเป็นเพลงประจำสหภาพยุโรปซึ่งก่อนหน้านี้ก็กำลังประสบปัญหาเรื่องผู้อพยพและการอุบัติของพวกขวาจัด (ซึ่งก็อาจจะใช้เบโธเฟนเป็นเครื่องมือ) อีกด้วย
Alles Gute zum Geburtstag ,Herr Beethoven!

 

 

                            ซิมโฟนีหมายเลข 5 (เบทโฮเฟิน) - วิกิพีเดีย

ภาพจาก วิกิพีเดียไทย

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่