Skip to main content

โดย นายยืนยง

ปกหนังสือ สายรุ้ง รุ่งเยือน
เรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทย
ผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์


ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ 

โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์

ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น  ค่อนข้างจะมีนัยยะโน้มไปทางที่ หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้เขียนกับผลงานกวีนิพนธ์ของเขาเอง  และเฉพาะอย่างยิ่งในบทนำจากผู้เขียน ที่ได้ลงท้ายว่า เป็นความจำเป็นสำหรับเวลาอันเป็นธรรม ด้วยความสังวรยิ่ง .เหล่านี้  ล้วนเป็นรสสัมผัสอันเปรียบได้กับลมหนาวแรกของปี ที่พัดแผ่วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นรสสัมผัสอันประหลาดล้ำ...

ลมหนาวในแดดเทาอมฟ้า เหมือนละอองแห่งชีวิตที่ถูกล้อมโอบด้วยความรู้สึก...ในหมู่ไม้พันธุ์ ยืนต้น หรือทอดยอด ออกดอกพวงระย้า ช่างดูสงบ อ่อนหวาน อย่างมีนัยยะเกี่ยวถึงทรรศนะของสังคมมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น  ภุชงคประยาตฉันท์  ชื่อบทว่า  เด็ดยอดแม่ดอกตำลึง
ที่ณรงค์ยุทธได้ปลุกชีวิตของยอดเครือตำลึง พืชพันธุ์สามัญริมรั้ว ให้ตื่นฟื้น งามขึ้นในหัวใจของฉัน
จาก     

    สไบบางเสบียงรุด        ระรื่นดุจประมาณถึง
    ขจียอดคะเนพึง            ผะดาแดดตะวันวาย
  ฯลฯ     ( หน้า ๑๐๖ )

สำหรับ ณรงค์ยุทธ เขียนบทนี้ออกมาเหมือนจะสะท้อนทรรศนะที่จัดวางอยู่ในคำฉันท์และตัวตนของเขา  เขียนออกมาจากสภาวะของเถาเครือตำลึง ที่ทนแล้ง อิ่มฝน และรอคอยที่จะชูยอดใบแห่งชีวิต   นี่คือ ประการแรกที่ตัวตนกับผลงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน

สายรุ้ง รุ่งเยือน ไม่เพียงเขียนถึงพืชพันธุ์รูปธรรม เช่น กระถิน ตำลึง เท่านั้น ณรงค์ยุทธ ยังเขียนถึงพืชพันธุ์นามธรรมที่แตกผลิอยู่ในดวงใจของเขาด้วย และถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้  นี่คือ กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่พื้นหลักเป็นโคลงสี่สุภาพ

ดั่งลมหนาวในแดดสายปลายมิถุนายน แดดอุ่นและลมหนาวของยามสาย เป็นปรากฎการณ์ของลมฟ้
อากาศที่เกี่ยวเนื่องกับอนุภาคละเอียดอ่อนในวันคืน

ณรงค์ยุทธ เขียนโคลงสี่สุภาพอย่างกวีฝึกหัดพึงกระทำ และยิ่งอ่านจะยิ่งรับรู้ร่วมไปกับเขาเลยทีเดียวว่า แบบฝึกหัดการเขียนโคลงสี่สุภาพนั้น เป็นแบบฝึกเล่มหนาเทียบเท่าวงศ์อายุของผู้เขียนนั่นเทียว

ใน สายรุ้ง รุ่งเยือน จะสัมผัสรู้ถึงรอยก้าวย่างของการฝึกเพียร เคี่ยวเค้น อย่างหนักหน่วง  หากสังเกตตรงท้ายบท จะมีข้อความบอกถึงห้วงเวลาที่เขียน ทำให้มองได้ถึงพัฒนาการของผู้เขียนได้ในด้านหนึ่งด้วย  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้

ก้าวย่างที่กินเวลายาวนาน ทำให้มองเห็นถึงกลเม็ดในคำโคลง อย่างเช่นบท มืดมิด(จิตใจ) บทนี้เป็นตัวอย่างการเขียนโคลงสี่สุภาพแบบเอกเจ็ดโทสี่  ไม่มีกลเม็ดใดมากกว่าลักษณะการบังคับคำ ตำแหน่งเสียง  แต่การจัดวางรูปคำที่ให้ความรู้สึกมากกว่าการจัดเรียงคำ ดังบาทแรกนี้

        เวลาช่างเหว่ว้า            เวลา  ฯลฯ ( หน้า ๘๐ )

ถือเป็นสำนวนโคลงที่หาได้ยากในมือของกวีฝึกหัด หรือ อีกตัวอย่าง บท  คลื่นชีวิต

        เหลียวฝีพายต่างจ้ำ        ห่างทุกข์
        สรรเสพสำราญสุข        เสกได้
        คลุกเศร้าผ่านเคล้าทุกข์        คราครอบ
        กางกรอบฝ่าคลื่นให้        เคลื่อนร้างลับหาย
    (หน้า ๘๕ )

เป็นบทอุปมาชีวิตกับการพายเรือ ซึ่งให้ได้มากกว่าความไพเราะของคำโคลง  เพราะให้ทั้งภาพจินตนาการในความคิดและมีคติธรรมแฝงอยู่

    ลองดู บท  ปัจเจกปัจจุบัน

        ปัจจุบันปัจเจกชั้น        ชนเหวย
        งกเงี่ยนงกงมเงย        งอกแง้ม 
   ฯลฯ   ( หน้า ๖๘ )

เป็นการแสดงออกถึงทักษะอีกขั้นหนึ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน โดยอาศัยลักษณะสัมผัสพยัญชนะเดียวทั้งบาท  เป็นอีกกลเม็ดของคำโคลง  กระโดดข้ามมาถึง   บท  ห้วงฝัน, ฝั่งขวัญเอย    

        หงายเฉียบเลียบค่ายครื้น        เงียบฉาย
        ร่างสอบสั้นยาวสาย        รอบข้าง
        อาจโอ้ อก อด อาย        โอกาส
        การณ์ทื่อวางถือบ้าง        ถ่างบื้อคือฐาน
   ฯลฯ    ( หน้า ๙๔ )

ในคำที่ขีดเส้นใต้  ผู้เขียนได้ใช้การผวนคำ แล้วจัดวาง คล้ายกลบทแบบอย่างโบราณ ทำให้อ่านสนุกและดูเหมือนผู้เขียนได้ผ่านมาอีกขั้น   และล่วงไปถึงการเล่นกลบท หงษ์ทองลีลา  เช่น บท ข้าพเจ้ายังรู้จักโลกสังคมน้อยนัก

        ให้บุพกาลร่ำร้าง            ใจถึง
        โลกกระพริบดาวดึงส์        ดื่มร้อย
        ให้ผลัดส่องกระซิบพึง        พาเยี่ยม
        โลกออกตกเหนือน้อย        นิ่งหน้าทิศทาง
   ฯลฯ    ( หน้า ๔๙ )

หรือกลบทครอบจักรวาล  เช่น บท     จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

        หวังสุญญา...ว่างแร้น        โลกหวัง
        ฟื้นตื่นเช้าสายดัง        เท่าฟื้น
        โลกจินตพลบภวังค์        กอบโลก
        ถือระยะย่ำย้ำพื้น        วาดถือ
   ฯลฯ          ( หน้า ๙๘ )

จุดเด่นของโคลงสี่สุภาพของณรงค์ยุทธนี้  สังเกตได้ชัดคือ การเลือกใช้คำโดด ซึ่งแปลกต่างจากคำโคลงที่คุ้นเคย คือนิยมใช้คำสมาส สนธิ หรือคำผสม  แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่มากเกินไป  
เป็นธรรมชาติที่ทำให้บางครั้ง ก็อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นเดียวกัน
 
ด้วยธรรมชาติของคำโดดแล้ว   เมื่อวางเรียงกัน อาจทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก เพราะต้องมีคำเชื่อม  ต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยขึ้นใหม่ในวงการอ่าน 

แม้เสน่ห์ของการเลือกใช้คำโดดในกวีนิพนธ์ของณรงค์ยุทธ จะเป็นรสคำที่แปลกไปบ้าง แต่การเลือกใช้อุปมาโวหาร ผสมเข้ามา ก็ช่วยเสริมเนื้อหาให้เต็มแน่นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย   เช่น  บท  จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

    สูง – ต่ำ, ทางแอ่นเกี้ยว        กราดแกร็น
    สูง – ต่ำ, ยูงรำแพน        กรีดเยื้อง
    สูง – ต่ำ, หากหื่นแหน        แหวกเหยียบ
    สูง – ต่ำ, ผูกพลั้งเปลื้อง        ปรับหมุน
         ฯลฯ   (หน้า ๙๘)

การเทียบสัญลักษณ์ของนกยูง และท่าทางการเคลื่อนไหวของมัน จะสะท้อนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งใด
โดยปกติ นกยูง จะมีนัยยะถึงความสูงส่ง สง่างาม แต่การเลือกใช้คำเกี่ยวข้อง เช่น  หากหื่นแหน นั้น
ดูขัดแย้ง แต่หากอ่านสืบเนื่องทั้งบทนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำเพื่อต้องการจะเสียดสี
เยาะหยันนกยูง หรือนัยยะแฝงที่ผู้เขียนนั่นเอง

นอกเหนือจากสัญลักษณ์แล้ว  จุดเด่นที่ต้องกล่าวถึงคือ  วิธีการเรียงร้อยหรือ กลวิธีการประพันธ์

กวีนิพนธ์เล่มนี้  ผู้เขียนได้จารึกถึงความรู้สึก นึก คิด ของตัวผู้เขียนเอง ผ่านเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมของภาษาไทย ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย แม้กระทั่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์  โดยอาศัยการสร้างวลีใหม่ ที่ตรึงใจผู้อ่านได้   เช่น  บท  แลดอกมะลิพันธุ์ ข้าฯ ฝันถึง

    อารมณ์ร่วงต่อพื้น    เตรียมพาน     หรือ
    หวั่นน้อยใจพรั่นท้อ    พวงขาว           ( หน้า ๒๗ )

และยังมีอีกหลายบทหลายบาท  ที่ผู้เขียนได้เรียงร้อยไว้ต่ออารมณ์สัมผัสของผู้อ่าน  ซึ่งจะได้ทั้งความรู้สึกแปลก ร่วมสมัย และสะเทือนใจเศร้าโศกร่วมไปกับเขาด้วย 

โดยสรุปแล้ว  สายรุ้ง  รุ่งเยือน เปรียบได้ดั่งทัศนียภาพอันแปลกตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัย  แต่เนื้อหาที่เขาบอกเล่า  กลับเป็นเรื่องราวที่หลายคนอาจคุ้นเคย เคยรู้สึกอย่างนั้น  จนต้องกล่าวว่า  ณรงค์ยุทธ เขียนออกมาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึก แทนใจของผู้คนในยุคแห่งปัจเจกชนอันหม่นมัว ซับซ้อน เต็มไปด้วยความหวั่นระแวง ได้อย่างละเอียดลออและประณีตทีเดียว   เนื่องด้วยถ้อยคำของเขา เรียงร้อยออกมาได้หมดจิตหมดใจ ซึ่งสะท้อนได้ว่า เขามีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยแท้

เนื้อหาโดยหลักใหญ่ที่ถ่ายทอด หรือแฝงเร้นอยู่ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ มักมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม  ซึ่งคล้ายกับมีวิถีชีวิตที่ด้านชากับความน่ารังเกียจ อันปรากฏจนดาษดื่นในความเป็นจริง  โดยเขาไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ความน่ารังเกียจเหล่านั้น หรือ ด่าทอชนชั้นนายทุนตามแบบฉบับของกวีนิพนธ์เพื่อชีวิตทั่วไป แต่เขาจำใจกะเทาะเปลือกอันหนาเทอะทะของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในสังคม ทั้งในนามของบุคคลและกลุ่มก้อนของชนชั้นต่าง ๆ

ทั้งนี้ จุดหมายหรือความใฝ่ฝันของเขา ที่ปรากฏอยู่ในหลายบทนั้น น่ามุ่งให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกที่จะมีน้ำใจให้กัน  มองเห็นความสำคัญกับคนอื่น  ดูเขาจะเน้นเรื่องความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากทีเดียว  ดังบทไร้ฉันทลักษณ์   ชื่อ แรงโน้มถ่วงของมิตรภาพ  ( หน้า ๔๒ )

ที่กล่าวถึงความรับผิดชอบระหว่างชีวิตต่อชีวิต  อารมณ์ต่ออารมณ์  ซึ่งกันและกัน   หรือ  จากปกหลังของเล่ม  ที่เขียนว่า

    จารจรดสายเรื่อรุ้ง        รุ่งเยือน
    อาจสั่งฝนสืบเตือน        ต่อกล้า
    ยามลมแดดแกร่งเหมือน        มามอบ
    แด่มิ่งขวัญจักรวาลฟ้า        แผ่นหล้าอเนกอนันต์.

หนังสือกวีนิพนธ์ “สายรุ้ง รุ่งเยือน” ของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ออกมาในช่วงเวลาที่หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามบอกกันว่า กวีตายแล้ว  พร้อมกับฤดูลมฝนอันแปลกต่อความรู้สึกผู้คน ไม่เท่านั้น โดยเนื้อหาของกวีนิพนธ์ โดยรูปแบบฉันทลักษณ์ในเล่ม ก็ถือได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ให้แก่ยุคสมัยได้มาก  เนื่องจาก สำนักพิมพ์ทุกวันนี้  หาจะพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ได้ยากเหลือเกิน แต่สำหรับเขาแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้ให้โอกาสอันสง่างามแก่เขา

ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ได้ว่า กวีนิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพนั้น ไม่เคยพ้นหาย หรือ ตายไปจากสังคมมนุษย์  เท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงกำลังใจสำหรับคนรุ่นใหม่  ที่มุ่งมั่นฝันใฝ่จะก้าวเข้ามาในถนนสายกวีนิพนธ์  เพื่อสืบต่อช่วงซึ่งกันและกัน.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…