Skip to main content

นายยืนยง

 

 

 


 

ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ

ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร

 



ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน


เหมือนจะเป็นการออกตัวตามมารยาทเท่านั้น การเสแสร้งใด ๆ ฉันคิดว่าผู้อ่านเท่านั้นจะตัดสินได้


คราวที่แล้วยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกผลงานของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์หรือ แดนอรัญ แสงทอง มาเขียนถึงก่อน แต่ตอนนี้หยิบ นิทานประเทศ ของกนกพงศ์ มาอ่านอีกแล้ว ส่วนเงาสีขาว ทำหน้าบึ้งตึงอยู่บนโต๊ะ ด้วยความหนาเตอะ และคำนำของหนังสือเงาสีขาว ที่ทำเอาฉันขนหัวลุก ใครที่เส้นศีลธรรมเปราะบางอาจขว้างทิ้งก็เป็นได้ เนื่องจากแดนอรัญ แสงทอง เขียนคำนำอันยาวเหยียด ดุเดือดเลือดพล่าน โดยใช้คำประเภท มึง ๆ กู ๆ ออกอารมณ์ขำขันชวนสยอง อีกอย่าง..ไม่รู้เป็นอะไร พักนี้ใจมันหวิวชอบกล จึงต้องพักงานเขียนประเภทหนักหน่วงไว้ก่อน นี่ก็ใกล้ปีใหม่แล้ว นัยว่าไม่อยากเสพพาราเซตามอลแทนเค้กปีใหม่


เข้าเรื่องนิทานประเทศของนักเขียนผู้ล่วงลับกันดีกว่า


นิทานประเทศเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นขนาดยาวจำนวน 11 เรื่อง อันได้แก่

ชาวบ้านป่า บ้านเมืองของเขา คนขายโรตีจากศรีลังกา บ้านเคยอยู่ (เพื่อชีวิต) หมูขี้พร้า เพื่อนบ้าน สมชายชาญ (เรื่องนี้ขำสุด ๆ ) กลางป่าลึก เสียงนาฬิกา ธรรมชาติของการตาย น้ำตก (2547)


รูปลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้ ด้วยภาพปก (ฝีมือ ปริทรรศ หุตางกูร) และประกอบภายในเรื่อง (ฝีมือ ผศ.แฉล้ม สถานพร) สีสัน รวมแล้วถือได้ว่าเป็นผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ได้ทันที นั่นเป็นกลิ่นแรกที่สัมผัสได้ด้วยตา และเมื่ออ่านเนื้อเรื่องฉันก็พบว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ ไม่ใช่หัวใจของ นิทานประเทศ เล่มนี้หรอก หากแต่กลิ่นอายที่ตำนาน เรื่องเล่าของบรรพบุรุษซึ่งได้ฝังรากหยัดอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งเป็นดั่งมรดกตกทอด กำลังถูกรุกรานโดยอำนาจของทุนนิยม และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เป็นกลิ่นอายที่อวลอลในแบบเมจิกคัลฯ


แน่นอนว่า ทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กนกพงศ์ใช้ รถแบ็คโฮ นากุ้ง เลื่อยไฟฟ้า เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทน ล้วนตกเป็นจำเลยที่หนึ่ง ในข้อหาฆาตกรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษ อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม และโศกนาฏกรรมทำนองนี้ก็คล้ายจะเป็นเพียงตำนานแห่งวรรณกรรมสไตล์เพื่อชีวิตไปเสียแล้ว


นิทานประเทศเล่มนี้ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น งานศิลปะแนวเมจิกคัลเรียลลิสม์ได้เต็มหัวใจก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรมนั่นเอง โดยศีลธรรมที่เป็นหลักเกณฑ์ซึ่งกดทับอยู่ในวรรณกรรมสไตล์เพื่อชีวิตก็คือ การกดขี่ของนายทุน (ทุนนิยม) การรุกรานวิถีชีวิตของชาวบ้าน คนจน ผู้ด้อยโอกาส ของ กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในนามของรัฐและนายทุน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และศีลธรรมข้อนี้เองที่เป็นหลักใหญ่ในความของวรรณกรรมแนวนี้


กล่าวโดยทั่วไปในวรรณกรรมหรืองานศิลปะนั้น

ตัวศีลธรรมนี่เองที่เป็นตัวปลุกเร้า กระตุ้นให้อารมณ์ผู้เสพเบี่ยงเบนออกไปจากความงามซึ่งเป็นเรื่องของสุนทรียรสที่แท้จริง เพราะความงามถือเป็นความสัมบูรณ์ในตัวเอง หาต้องมีปัจจัยอื่นเพื่อเป็นตัวแปรเร่งให้เข้าถึงความงามในนิยามอื่น


ความงามไม่ใช่ขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้มลทิน แต่อย่างเดียว หรือไม่ใช่ และโศกนาฏกรรมก็ย่อมจะนำ

สุนทรียรส มาสู่ผู้เสพได้ เว้นเสียแต่ว่า โศกนาฏกรรมนั้น ๆ ได้ถั่งเทไปในทางชี้ถูกต้อง ชี้ชั่วดี ผิดถูกแล้วล่ะก็ ถือเป็นข้อยกเว้น


สิ่งเดียวที่กีดกั้นผลงานของกนกพงศ์ออกไปจากงานศิลปะบริสูทธิ์ก็คือ แนวคิด หรือศีลธรรมของงานเขียนสไตล์เพื่อชีวิต ซึ่งเป็นแนวการเขียนที่เขาจริงจัง เคร่งขรึม กับมันมากราวกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

ขณะเดียวกัน คำว่า “เพื่อชีวิต” ก็หาใช่อาชญากรแห่งโลกวรรณกรรมแต่อย่างใด

เพียงแต่ว่า นักเขียนแนวเพื่อชีวิตต้อง “ตาม” สังคมให้ทัน และก้าวข้ามมันไปให้ได้ เพื่อจะมองเห็นมันอย่างเที่ยงธรรม ฉันย้ำเสมอว่า แนวทางของเพื่อชีวิต ยังมีเส้นให้เดินอยู่อีกมาก ขออย่างเดียวนักเขียนต้องไม่พยายามยัดเยียดข้อหาให้จำเลย ซึ่งแน่นอนคือ ไอ้ทุนนิยมสามานย์ หรือไอ้นายทุนหน้าเลือด อย่างมักง่าย และต้องไม่พยายามชื่นชม บูชา วิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษแบบไม่ลืมหูลืมตาด้วย


ดังนั้น หากกนกพงศ์จะฝ่าปราการของแนวเพื่อชีวิตออกมาสู่โลกของศิลปะอันโลดโผนได้ งานเขียนของเขาจะไม่ต้องการแม้แต่คำโฆษณาชวนเชื่อของสำนักพิมพ์นาครแต่อย่างใด เพราะเราต้องยอมรับว่า

กนกพงศ์เป็นคนฉลาด ในที่นี้หมายถึง มีหัวไว และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำ ย่ำอยู่กับที่ อันถือเป็นพลังวิเศษสุดที่นักเขียนพึงมี นอกจากนั้น เขายังอุดมด้วยวัตถุดิบที่สดสะพรั่ง ดั่งสวนผลไม้นานาพันธุ์ และวัตถุดิบในมือเขานั้น มันช่างวิเศษเหลือเกิน มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากฉันเป็นนักเขียนอย่างกนกพงศ์ ฉันจะไม่หมดศรัทธาต่อชีวิตนักเขียน และจะไม่ยอมตายง่าย ๆ หรอก


กนกพงศ์เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ฉันให้ความสำคัญต่อผลงานของเขาตลอดมา

เฝ้าสังเกตสังกา เฝ้าอ่านอย่างเพลิดเพลิน และบังเอิญกับนิสัยของวิพากษ์วิจารณ์ (อีกนัยหนึ่งเรียกว่าคอยจับผิด) จึงมองเห็นและกล้าพูดว่า

งานเขียนของกนกพงศ์จะสมบูรณ์ในตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเขายุติบทบาทในการตัดสินชะตากรรมของตัวละคร วางอำนาจนั้นไว้ในกำมือของผู้อ่านเสีย และฉันยังกล้าพูดอีกว่า ในบรรดานักเขียนปักษ์ใต้บ้านเรา เราจะฝากความหวังไว้ที่เขาได้โดยไม่ลังเล


จากนั้น เราก็รอคอยอ่านผลงานของเขาไปตามปกติสุขของเรา แต่ใครจะรู้ได้ว่า บางทีนักเขียนคนหนึ่งก็ตายจากเราไปง่าย ๆ ทั้งที่เขาน่าจะมีโอกาสทำงานเขียนของเขา (ความหวังของเรา)ต่อไปอีกนาน

ให้ตายเถอะ... เขาตายไปอย่างกับจะกลายเป็นตำนานอย่างนั้นแหละ นี่ฉันยังหัวเสียไม่หายเลย


จากเล่ม นิทานประเทศ นี้ กนกพงศ์ เขียนเรื่อง สมชายชาญ ได้สนุก มีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยม ฉันถือเป็นเรื่องสั้นเล็ก ๆ ของพลพรรครักการพี้ ที่มีสุนทรียรสตลบอบอวล เป็นโศกนาฏกรรมของลิงเสน ที่ “แปรพักตร์กลายเป็นพวกผู้ชายสายน้ำไป” (ติดเหล้า) ในที่สุด สำนวนภาษาก็เหมาะเจาะลงตัว ไม่มีติดขัดอะไรแม้แต่น้อย ไม่เงื้อง่าราคาแพงให้สมกับเป็นงานเขียนอันทรงเกียรติแต่อย่างใด ราวกับเขาเป็นอิสระจากหลักการวรรณกรรมทั้งปวง แต่แล้วเขาก็อดไม่ได้ที่จะเทศนาบทสรุปไว้ให้ อา...ศีลธรรมของวรรณกรรมสไตล์เพื่อชีวิต สุดท้ายก็คือบาปที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เขาสรุปไว้ในหน้า 232 ว่า


หรือนี่จะเป็นกฎธรรมชาติอีกข้อที่ว่า เมื่อใดที่ชีวิตดิ้นรนไปเพื่อเป็นในสิ่งซึ่งไม่ใช่ตัวเอง ย่อมต้องประสบพบแต่โศกนาฏกรรม?... ผมไม่รู้หรอก ผมแค่คิดขึ้นมาเรื่อยเปื่อยตามประสาคนเมากัญชา ความจริงแล้วผมไม่รู้อะไรเลย


ศีลธรรมของเขา หรือ อาจเรียกว่า ความจริง ในทัศนคติของกนกพงศ์ คือ กฎข้อเดียวนี้หรือ?


นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบมาจากเรื่องสั้นขนาดไม่ยาวจากเล่มนี้ แต่สำหรับเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องอื่นล้วนมีข้อสังเกตคล้ายคลึงกันคือ การนำตำนาน เรื่องเล่า ที่อาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ เหลวไหลในมุมมองของวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นบรรยากาศของเรื่อง ซึ่งเป็นวิธีของเมจิกคัลฯ นั่นเอง และก่อนจะลงรายละเอียดให้มากกว่านี้ ฉันเห็นว่าได้กล่าวถึงผลงานของกนกพงศ์ในด้านลบนิด ๆ มาพอสมควรแล้ว น่าจะหยิบยกมุมมองที่น่าชื่นชมมาอวดกันบ้าง


กนกพงศ์มีความเป็นนักเขียนมืออาชีพอยู่เต็มเปี่ยม คงไม่มีใครปฏิเสธหากดูจากปริมาณผลงานที่ออกมาอวดสายตาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ หรือความเรียง ดังนี้

1.ป่าน้ำค้าง ปี 2532 รวมบทกวีนิพนธ์

2.สะพานขาด ปี 2534 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 1 รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2535

3.คนใบเลี้ยงเดี่ยว ปี 2535 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2

4.แผ่นดินอื่น ปี 2539 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 รางวัลซีไรต์ ปี 2539

5.บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร ปี 2544 ความเรียบเชิงบันทึกทัศนะ

6.ยามเช้าของชีวิต ปี 2546 เรื่องเล่าเชิงบันทึกทัศนะ

7.โลกหมุนรอบตัวเอง ปี 2548 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 4

8.นิทานประเทศ ปี 2549 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 5

(ยกมาจากปกในหนังสือ)

นอกจากความต่อเนื่องของงานแล้ว ในเนื้องานโดยเฉพาะเรื่องสั้น ฉันได้มองเห็นเสน่ห์ของการเขียนหนังสือซึ่งเรื่องนี้จะหาได้ไม่ง่ายนัก และมักจะพบเจอแต่ในนักเขียนมืออาชีพเป็นส่วนใหญ่


เสน่ห์ที่ว่าคืออะไร

ฉันเองคงให้คำจำกัดความได้ไม่ดีนัก แต่จับเป็นห้วงความรู้สึกก็พอได้อยู่ นั่นคือ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผุดขึ้นระหว่างบรรทัด และมันช่างมหัศจรรย์ ก่อนอื่นเราควรมาดูกระบวนการทำงานของนักเขียนกันก่อน


เมื่อเรื่องราวที่นักเขียนวาดเค้าโครงไว้ในสมองดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ตอนนั้นเขาก็จะลงมือเขียน อย่างที่เขาชอบพูดกันว่า

เรื่องมันขังอยู่ในหัวมาเป็นปี ๆ พอเวลาเขียนก็ลื่นไหลปรี๊ดปร๊าดออกมา

และเมื่อลงมือเขียนไปตามลำดับสมองบัญชาการอย่างดื่มด่ำ นักเขียนก็จมอยู่ในโลกแห่งอรรถรสซึ่งเขาเป็นคนเสกสรรมันขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องราวนั้นกลับมีอำนาจบงการให้เขาเขียนในสิ่งซึ่งอาจจะไม่เคยอยู่ในหัวสมองมาก่อน แต่มันกลับผุดมีชีวิตเป็นตัวอักษรออกมาอย่างไม่ได้ตั้งใจไว้ และอย่างน่าอัศจรรย์ มันช่างเป็นถ้อยคำวิเศษราวกับสรวงสวรรค์บันดาล ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเขียนได้ดีอย่างนี้ มันทำเอานักเขียนขนลุก หัวใจฟู


อารมณ์อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ถูกจับมือเขียน และฉันได้พบกับมันในผลงานเล่มนี้ของกนกพงศ์


ในหน้า 246 เรื่อง กลางป่าลึก อันยาวเหยียดและปลุกเร้าอย่างยิ่ง เขาเขียนไว้ว่า

นิทาน-ที่สนิมไม่อาจกร่อนทำลาย

ไม่อยากอธิบายว่า ถ้อยคำนี้มันจะมหัศจรรย์ตรงไหน เพราะถ้าได้ลองหามาอ่าน คำว่าเสน่ห์ที่เราเข้าใจ ซาบซึ้งอาจจะไม่ใช่ประโยคเดียวกันก็เป็นได้


แต่สำหรับฉันรู้สึกได้เลยว่า ประโยคนี้ ถูกเขียนขึ้นด้วยตัวมันเอง มันอยู่เกินขอบเขตแห่งอำนาจของนักเขียน


อารมณ์รวม ๆ ของเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างฟายฟุ้ง กระจายเหมือนเมฆหมอกบนหุบเขา แต่กลับทรงพลังอำนาจ

มันทำเอาฉันซึ้ง และซึมไปเลย


อีกอย่างหนึ่ง

การเลือกใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ ผม ในเรื่องสั้นส่วนของชุดนี้ ก็ไม่ควรลืมที่จะนำมากล่าวถึง

กนกพงศ์มีเจตนาหลายอย่างที่จำเพาะเจาะจง เป็นเหตุเป็นผล แต่ฉันกลับรู้สึกว่า มีเสียงแว่ว ๆ ของ

กนกพงศ์เหมือนจะพูดว่า เลิกหากินกับคนจนเสียทีเถิด เพื่อนนักเขียนเพื่อชีวิตทั้งหลาย


เนื่องจากเราคุ้นเคยกับคำว่า นักเขียนเป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วหยิบจับประเด็นมาเขียน แต่กนกพงศ์ไม่ใช่อีกทั้งเขาพยายามจะบอกด้วยว่า เราควรให้เกียรติมนุษย์ที่เป็นต้นธารงานเขียนของเราให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าใช้คำว่า ผู้สังเกตการณ์อย่างมักง่าย ขณะเดียวกันเขาได้เลือกที่จะก้าวเข้าไปเป็นผู้ร่วมชะตากรรมกับตัวละครของเขา เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อซึมซับ ร่วมรู้สึกและเพื่อจะถ่ายทอดออกมาให้หมดจด


อีกนัยหนึ่งอาจเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทัศนะของเรื่องแต่ง เสริมพลังให้เรื่องแต่งนั้น ๆ มีคุณค่าราวกับเป็นเรื่องจริง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงอย่างไร้ขัอครหา และเพื่อคลี่คลายบรรยากาศที่เรียกกันว่า ยัดเยียดปรัชญา สู่ผู้อ่าน


คงไม่จบง่าย ๆ เพราะยังคงมีนัยยะซ่อนแฝง ที่ถ้าเอามาเขียนให้หนำใจ หนังสือคงผุพังไปเลย ขณะเดียวกันถ้าเล่นกันเปรอะขนาดนั้น ฉันว่าควรมานั่งเขียนเรื่องสั้นเองดีกว่า แต่ก็อย่างว่า ประเด็นนี้ไม่เขียนถึงไม่ได้เด็ดขาด เนื่องจากมันเชื่อมโยงอยู่กับแนวการเขียนแบบเมจิกคัลเรียลลิสม์ที่ยกมาเป็นใหญ่


ขอเวลาไปอ่านทวนอีกนิดหนึ่ง ก็กลางค่ำกลางคืนจะให้อ่านผลงานของกนกพงศ์มันก็กระไรอยู่ไม่ใช่เหรอ.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …