Skip to main content

นายยืนยง 

  
นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์

ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง

มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น  ในชีวิตหนึ่งกับเป้าหมายของพัฒนาการทางสังคมประชาธิปไตย ฉันมีส่วนร่วมซึ่งเรียกว่าแทบไม่ได้ไปร่วมแรงร่วมใจอะไรเลย เป็นได้เท่านั้น

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ ฉันอาจหันหลังให้ภาคการเมือง ทำหมันการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตัวเอง ดำรงตนเหมือนคนที่ในอดีตฉันเคยดูแคลนว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่สนใจสังคมการเมือง มองเห็นแต่เล็บตีนของตัวเอง เพราะฉันเริ่มเชื่อแล้วละว่า การเมืองต้องแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง การลุกขึ้นมาเดินขบวนเรียกร้องความไม่เป็นธรรมนั้น เป็นเพียงตัวกระตุ้นหนึ่งที่อาจมีค่าความสำคัญขึ้นมาก็ต่อเมื่อสำนักข่าวให้ความสนใจจะทำข่าว และฉันเชื่อแล้วว่า การเมืองไม่อาจเยียวยาโรคเรื้อรังที่ลุกลามเป็นปัญหาสังคมได้ ไม่เท่านั้น การเมืองยังทำลายภูมิคุ้มกันของคนในสังคมไปพร้อมกันด้วย

ที่สุดแล้วฉันเลิกเชื่อในสิ่งที่เป็นภาพแบบมหภาค เช่น พวกตัวเลขจีดีพี อัตราการว่างงาน เปอร์เซ็นต์การเติบโตทางธุรกิจ แม้นักวิชาการจะปรารภว่าปัญหาของประเทศเราเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็ตาม

ฉันกำลังให้ความสนใจในเรื่องที่เป็นจุลภาค สิ่งเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้มือเรา ไม่ต้องกระเสือกกระสนสร้างภาพให้ดูดีเมื่อมองผ่านกล้องโทรทัศน์ในมุมไกล แต่เราจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า ด้วยตาของเราเอง

เช่นเดียวกับนิตยสาร ควน ป่า นา เล ที่ออกเป็นรายเดือนจากฝีมือกลุ่มศิลปะวรรณกรรมควน ป่า นา เล จังหวัดสงขลา ที่ให้ภาพพจน์สำคัญแก่วิถีชุมชน ภายใต้แนวคิด "โลกทัศน์ชาวบ้าน จิตวิญญาณชุมชน"  ที่ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาแบบจุลภาค ให้ความสำคัญกับสิ่งใกล้ตัว ที่เราผูกพันอยู่ทุกวี่วัน

ควน ป่า นา เล ฉบับที่ 4 นี้ ให้ชื่อว่า "เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์" โดยในบทบรรณาธิการ คุณวัฒนชัย มะโนมะยา

ได้เขียนให้เห็นภาพพจน์ของคำว่า วิถีของเมล็ดพันธุ์ ที่นอกจากมีการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์แล้ว ยังมีอุปสรรคของการหยั่งรากลงดิน ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องอยู่กับ วิถีชีวิตตามหลักธรรมชาตินิยม

เขาเขียนไว้ว่า
ผมอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเติบโตตามธรรมชาติ ออกดอกออกผลตามฤดูกาล และแผ่ขยายพันธุ์ออกไปอย่างอุดมสมบูรณ์ โดยมีเงื้อมมือมนุษย์เข้าไปข้องเกี่ยวกับชีวิตมันให้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน บทความที่เผยแพร่อยู่ในควน ป่า นา เล เล่มนี้ ส่วนใหญ่ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เติบโต แตกหน่อ ผลิใบ หรือแม้แต่กำลังร่วงโรยอยู่ในผืนดินแห่งศตวรรษที่ 21 โดยพยายามให้ความสำคัญของรากเหง้าที่เคยแข็งแกร่งในอดีต และกำลังกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งในปัจจุบัน เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของ อิหม่ามรอหีม สะอุ บุรุษผู้ฟังเสียงปลา หรือ ตังเกหูเรดาร์ ผู้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากลึกในผืนดิน เติบโตให้ร่มเงา ดอกผลแก่ผืนดินนั้น

อิหม่ามรอหีม สะอุ เรียนรู้การฟังเสียงปลาในทะเล อันเป็นวิถีชีวิตของชาวประมงมาแต่ครั้งบรรพชน กระทั่งทุกวันนี้ อุปกรณ์หาเลี้ยงชีพของชาวประมงได้พัฒนามาถึงขั้นกวาดล้างทรัพยากรธรรมชาติให้เหี้ยนเตียนไปหมดในคราวเดียวได้ ก็ถึงคราวที่คนในชุมชนจะได้ตระหนักว่า วิถีชีวิตแบบไหนที่ยั่งยืน อย่างไหนเป็นเพียงกระแส โดยอิหม่ามรอหีมได้ยกเอาพระราชดำรัสในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นที่ตั้ง

วิถีพอเพียงนั้นแท้จริงแล้วได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อยู่อาศัยแบบเกื้อกูลธรรมชาติ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในกระแสพัฒนาเศรษฐกิจ วิถีชีวิตดั้งเดิมก็ถูกทำลายลง ทั้งคนและธรรมชาติแวดล้อม

การที่จะหวนคืนกลับมาใช้ชีวิตในวิถีดั้งเดิมได้อีกครั้งนั้น จะเริ่มต้นจากจุดไหน หากพึ่งโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีภาคการเมืองแบบองค์รวม ต้องใช้เวลากี่สิบปี ดังนั้นการเริ่มต้นจากจุดเล็กสุดก็ต้องเริ่มด้วยมือเราเอง กล่าวได้ว่า วิธีการแก้ปัญหาที่จะเป็นมรรคผลทั้งต่อตัวเองและสังคมนั้น ต้องเริ่มจากตัวเราเสียก่อน

ยกตัวอย่าง อิหม่านรอหีมที่ปลุกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง และขายให้กับโรงพยาบาลหาดใหญ่

สร้างเครือข่ายร่วมกับคนในชุมชน ให้หวนกลับมาดำรงชีวิตด้วยวิถีดั้งเดิม เกื้อกูลธรรมชาติ ถือเป็นกระบวนการเยียวยารักษาโรคเทคโนโลยีเป็นพิษด้วยต้วเอง ไม่ต้องพึ่งนโยบายของรัฐบาล ชุมชนก็สามารถยืนหยัดขึ้นได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ ในควน ป่า นา เล ยังมีบทความน่าสนใจที่เป็นประโยชน์ ให้แง่คิด เกร็ดความรู้ ทั้งในแง่กฎหมายที่ควรรู้ มีภาษาท้องถิ่นแนะนำ รวมทั้งให้น้ำหนักกับงานวรรณกรรม เรื่องสั้น บทกวีอยู่พอสมควร หากแต่ละชุมชนจะมีนิตยสารหรือมีสื่อเป็นของตัวเองเช่นนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่ดีงามของสังคมไม่น้อยไปกว่ามีเงินกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการประชานิยมทั้งหลายแหล่

แม้มีการกล่าวถึงหรือนำเสนอวิถีชีวิตเช่นเดียวกันนี้ในหลายสื่อ มีความพยายามสร้างภาพให้เป็นกระแสหลักอยู่พอสมควร แต่ภาพที่ผ่านกระบวนการตัดต่อโดยองค์กรสื่อจะถือเป็นภาพที่ซื่อสัตย์ได้กี่มากน้อย อย่างมากฉันเห็นเป็นแค่การนำเที่ยวชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นเอง นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อของชุมชนเอง อย่างนิตยสารควน ป่า นา เล ที่เป็นนิตยสารระดับตำบล สร้างสรรค์โดยคนในพื้นที่ที่รู้เห็น เกี่ยวเนื่องผูกพันอยู่จริง ตามที่เขาโปรยหัวนิตยสารไว้ว่า นิตยสารระดับตำบล สำหรับคนทั่วประเทศ

หากถามว่า ตำแหน่งแห่งที่ของชุมชนหรือจุลภาคนั้น เป็นส่วนหนึ่งของประเทศของมหภาคไม่ใช่หรือ ก็แน่นอนว่าใช่ แต่การร่วมมือลงแรงของคนในพื้นที่ด้วยแรงบันดาลใจส่วนตัวย่อมมีพลังอยู่ในตัวเอง

ฉันเห็นว่าสื่อประเภทนี้มีความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว อันนี้ไม่ได้หมายความว่า นิตยสารจะขายดิบดีหรือมีผลกำไรให้สานต่อเป็นรูปเล่มหนังสือ หากแต่ยั่งยืนในแง่ของการพัฒนาสังคม และสร้างสรรค์ให้เกิดคุณภาพชีวิตที่แผ่ขยายออกไปสู่คนรุ่นต่อไปได้ ด้วยแนวคิดหรือด้วยการประสานงานระหว่างคนในชุมชนเอง โดยไม่ต้องรอคอย ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการแต่อย่างใด

ฉันเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง สักวันหนึ่ง คำโฆษณาชวนเชื่อของนักการเมืองจะกลายเป็นแค่ขี้ปากของคนใส่สูทกระจอก ๆ ที่ชวนอ้วก สักวัน เราจะไม่ต้องยืนทำท่าสงบเสงี่ยมเจียมตัว มือกุมเป้ากางเกง อ้อนวอนนักการเมืองขอถนน ขอเงินกองทุนหมู่บ้าน ฉันว่าตอนนั้น คำว่า ประชาธิปไตยคงไม่มีใครพูดถึงให้เปลืองน้ำลาย

ดังนั้นจึงน่าสนับสนุน หากความเข้มแข็งจะดำรงอยู่ในป้จเจกชนคนธรรมดา ในเครือข่ายที่ก่อกำเนิดขึ้นด้วยลำแข้งของตัวเอง

นิตยสาร ควน ป่า นา เล ของชุมชน จึงเป็นพื้นที่เผยแพร่ความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้แก่คนในชุมชนได้มากกว่าที่จะให้เรื่องราวเหล่านี้ไปปรากฏเป็นตัวประกอบให้กับสถานีข่าวกระแสหลัก เพราะแม้แต่สถานีทีวีไทยที่ดำรงนโยบายงี่เง่าแห่งชาติอย่างเหนียวแน่น ก็ทำข่าวชุมชนด้วยอาการดัดจริต ไม่ทราบจะมัวกระดืบคืบคลานเกาะชายกระโปรงรัฐบาลอภิสิทธิ์ไปเพื่ออะไร ไม่เชื่อถามใครที่ดู ทีวีไทย ก็ได้

พอจะมีพิธีทำหน้าที่ได้น่าชื่นใจสักคนหนึ่งก็มันอันต้องดับไปอีก เพราะหล่อนสวมเสื้อตัวในสีแดงทำหน้าที่พิธีกร ไม่ทราบตอนนี้หล่อนระเห็จหายไปจากหน้าที่พิธีกรไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ปล่อยให้เพื่อนร่วมงานพูดผิด ๆ ถูก ๆ ทุก 5 นาที ออกมาเริงร่าแทน เวลาสัมภาษณ์ก็สวมวิญญาณนักศึกษาจดแล็คเชอร์ พยักหน้าค่ะ ๆ อยู่นั่นเอง

แน่นอน เรายังมีสื่อทางเลือกให้สรรหามาเสพตามอัตภาพ แต่สังคมไทย ยังขาดสื่อหลักของชุมชนอันจะเป็นปากเป็นเสียงของคนในชุมชนเอง เพราะขนาดไฟไหม้อยู่หน้าปากซอย เรายังเห็นภาพควันไฟโขมงโฉงเฉงอยู่หน้าจอทีวีก่อนเปิดหน้าต่างมองภาพด้วยตาของตัวเองด้วยซ้ำ นี่ยังไม่เกี่ยวกับ "ความน่าเชื่อถือ" ของสื่ออีกต่างหาก

ดูไปแล้ว กระแสความรับรู้ที่มีต่อสื่อนั้น เราได้ฝากความหวังไว้ที่ "คนอื่น" ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเรา และเรามักยอมรับสื่อที่ถูก "ปรุงแต่ง" มาให้พร้อมสรรพ พร้อมบริโภคเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากกว่าเงยหน้าขึ้นมองด้วยตาของตัวเอง ยิ่งถูกสื่อต่าง ๆ ป้อนมาให้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ผู้บริโภคอย่างเราแม้อิ่มตื้อแค่ไหนก็ต้องกล้ำกลืนกินเข้าไป เพื่อให้ได้ปริมาณและมีความรอบคอบ หลากหลาย โดยเฉพาะเพื่อแสวงหา "ความเป็นกลาง" หรือ "ความเที่ยงธรรม"

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีสื่อใด ๆ จะเป็นกลางสมบูรณ์แบบ ที่เมื่อบริโภคแล้วทำให้รู้รอบ รู้ลึก ดังนั้น เพื่อบรรลุถึงอุดมการณ์ของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร เราต้องเสพข่าวอย่างหลากหลาย คัดสรรกลั่นกรอง ให้ได้มาซึ่ง "เนื้อหา" ที่เที่ยงธรรมที่สุด แต่ขอโทษที ฉันเหนื่อยปางตาย แทบสูญเสียการมองเห็นไปชั่วขณะเมื่อต้องอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน วันละสี่ฉบับ ต้องอ่านนิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน ต้องติดตามดูข่าวต้นชั่วโมง ต้องจ้องหน้าจอเว็บไซต์ ดูคลิปนักการเมืองให้สัมภาษณ์ อ่านข่าวที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในสื่อกระแส วันละสองชั่วโมง

และวันนี้ฉันขอหยุดตัวเองไว้แค่นี้ ปิดหน้าจอ ขี่มอเตอร์ไซด์ พาลูกชายนั่งหน้า ไปตระเวนดูตามศาลากลางจังหวัดที่เมื่อเช้าเห็นแว้บ ๆ มีทหารรักษาความปลอดภัยตั้งซุ้มมือปืน เอ้ย ไม่ใช่ ซุ้มรักษาความปลอดภัยเต็มพรืด ไปนั่งสูบมวนนิโคตินรับลมดูมวลชนเสื้อแดงแถวนั้น ให้เสียงจากลำโพงแหบ ๆ วิ่งผ่าโสตประสาท ถือเป็นการล้างหูไปในตัว เผลอ ๆ อาจต้องวิ่งไปหากระดาษแผ่นใหญ่ เขียนตัวอักษรร่วมสดุดีให้ได้อารมณ์

อำมาตยาธิปไตยจงเจริญ ทุนนิยมสามานย์จงเจริญ สาธุ!.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…