Skip to main content

นายยืนยง


ชื่อหนังสือ           :           824
ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะ
ประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552
จัดพิมพ์โดย        :           เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่ง จำกัด

หลังจากเงียบงำมาตั้งแต่ต้น ซีไรต์ปีนี้ก็ได้เวลาอวดโฉมกันเสียที ดูจากผลงานที่เข้ารอบและเจ้าของผลงานในฉากแรกแล้ว ไม่มีอันให้ต้องร้องยี้หรือแย้ แม้แต่เล่มเดียว นี่ดูจากคลื่นความถี่ของหัวใจตัวเองเท่านั้น ยังไม่นับว่าจะได้อ่านหรือยัง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยังไม่ได้อ่านสักเล่มเดียว

ถ้าใครยังเชื่อน้ำยาซีไรต์ว่า ยังเป็นเข็มทิศหรือคบไฟทางวรรณกรรมไทยอยู่ล่ะก็ เชิญรอลุ้นผลการตัดสินที่กำลังจะเยื้องกรายมาถึงก็แล้วกัน ก่อนอื่นมาดูหน้าค่าตาของผู้คนและผลงานที่เข้ารอบกัน

30 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ปีนี้ ได้ประกาศผลหนังสือนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 7 เล่ม จากผลงานทั้งหมด 76 เล่ม ดังนี้

1.วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ของ วิมล ไทรนิ่มนวล
2.เงาฝันของผีเสื้อ ของ เอื้อ อัญชลี
3.ทะเลน้ำนม ของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม
4.ประเทศใต้ ของ ชาคริต โภชะเรือง
5.โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ของ ฟ้า
6.โลกใบใหม่ของปอง ของ ไชยา วรรณศรี
7.ลับแลแก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล

และภายในเดือนสิงหาคมนี้ คณะกรรมการตัดสินจะประกาศผลออกมาว่า "ใคร" จะได้เก้าอี้ซีไรต์ปีนี้
ไม่ชวนให้ร้องยี้ใช่ไหม...

เป็นอันว่า คราวนี้น้ำยาซีไรต์มีรสชวนลิ้มลองไม่ใช่เล่น หากจะลองเชื่อน้ำยาซีไรต์ดูสักคราว ก็เชิญตัวเองไปหาทั้ง 7 เล่มมาอ่านตามสะดวกใจได้ รับรองว่ารสชาติ "ไม่เลว" เริ่มเล็งจาก ทะเลน้ำนม ของ ชัชวาลย์โคตรสงคราม ที่ชื่อเล่มก็อบอวลไปด้วยกลิ่นรสอันเย้ายวนเสียแล้ว เรียกว่าชื่อสวยเอามาก ๆ ทำเอาชื่อเล่มอื่นกลายเป็นวรรณกรรมเหมาโหลไปในพริบตา นี่เอาแค่ชื่อที่เปรียบเสมือนจูบแรกก่อนนะ

ไหน ๆ ก็ปักหลักให้ตัวเองอ่านตาม "หน้า" กรรมการแล้ว ก็จะไปหามาอ่านล่ะ
แถมรับประกันว่าจะเอามาเล่าสู่กันฟังตามประสา สวนหนังสือ ด้วย
ใครอยากแนะนำเล่มไหน บอกกล่าวกันได้ตามอัธยาศัยนะ

คราวนี้หันมาดูที่อ่านแล้ว แต่ไม่ใช่เล่มที่กระโดดเข้ารอบบ้าง ซึ่งก็หาดีได้เหมือนกันนะเออ

เริ่มจาก เจ้าแม่แห่งความสุข งามพรรณ เวชชาชีวะ กันเลย รวบเอานวนิยายใหม่เอี่ยมของเธอถึง 2 เล่ม ในคราวเดียว คือ เดียว และ 824

เดียว นั้นเคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ที่นิตยสารดิฉัน ในชื่อเรื่อง เพียงลมหายใจ พอรวมเป็นเล่มก็เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้สั้นกุดลงเหลือคำเดียว -เดียว- ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัวที่มีต่อเหตุการณ์เดียวกัน โดยแบ่งเป็นภาคอย่างชัดเจน (แหม.. อะไรจะ "เดียว" ได้ขนาดนั้น)

เดียว ว่าด้วยเรื่องราวของการตามหาความสุขให้กลับคืนมาสถิตในวิถีชีวิตของผัวเมียคู่หนึ่ง ที่จู่ ๆ ลูกชายคนเดียวก็ถูกลักพาตัวไป พ่อแม่ออกตามหาสุดกำลังแล้วก็พบแต่ความสิ้นหวัง กระทั่งเลิกหวังสิ้นเชิง

ต่อมาได้พบกับครอบครัวที่มีลูกแฝดชาย-หญิงคู่หนึ่ง ครอบครัวนี้ได้นำพากระแสเหตุการณ์ให้พ่อแม่คู่สิ้นหวังนี้ กลับมามีความหวังครั้งใหม่ว่าจะได้พบลูกชายที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อหลายปีก่อน เรื่องจบลงตรงที่ เมื่อพ่อแม่วิ่งตามความหวังอันลุกโชนนี้จนถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่ใช่ตัวต้นธารแห่งความสุขแต่กลับเป็นว่า เขาและเธอได้หัวใจดวงใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่ามาแทน

กล่าวคือ พ่อแม่คู่นั้นตามหาลูกชายที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานในเรือประมงเถื่อน ซึ่งทารุณกรรมแรงงานปางตาย กระทั่งพบคนที่พออนุมานตามหลักฐานว่า น่าจะเป็นคนเดียวกับลูกชายที่ถูกลักพาตัวไป ตอนนี้เด็กหนุ่มถูกทำร้ายเข้าขั้นโคม่าแล้ว สุดท้ายก็ตายลงโดยไม่มีใครรู้เลยว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นคนเดียวกับที่พวกเขาตามหาอยู่หรือเปล่า

นับเป็นผลงานที่สาวกตามหาความสุขทั้งหลายเป็นต้องร้องกรี๊ดอย่างไม่สบอารมณ์ เพราะงามพรรณกล้าหักมุมจบแบบไม่ถนอมน้ำใจคนอ่านที่มีรสนิยมเดียวกับการดูหนังกลางแปลง ด้วยเหตุผลอันหนักแน่นของงามพรรณเองแท้ ๆ เพราะสารัตถะของ "ความสุข" ที่เธอสถาปนาผ่าน "เดียว" นั้น ไม่ใช่ความสุขสำเร็จรูปที่เราคุ้นเคยอีกต่อไปแล้ว เพราะความสุขอย่างใหม่คือ ความอิ่มเอิบใจที่ได้เผื่อแผ่ความปรารถนาดีไปถึงชีวิตอื่น ซึ่งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ

บอกแล้วว่า งามพรรณ เธอเป็นเจ้าแม่แห่งความสุขโดยแท้ ดูอย่างความสุขของกะทิ นวนิยายซีไรต์งวดก่อนโน้นซี เล่มนี้ สุขกันจนกระฉ่อนออกเนอะ

ส่วนอีกเล่ม คือ 824 นวนิยายชื่อเท่อีกแล้ว และหอบความสุขมาฝากอีกแล้ว

เป็นบทที่ว่าด้วยความรัก น่าสังเกตว่า งามพรรณถนัดเหลือเกินที่จะจัดวางโครงสร้างของเรื่องให้ชัดเจน สอดรับกันอย่างกลมกลืน แถมด้วยภาษาแบบรัดกุม ทันอกทันใจ ซึ่งถือเป็นอาวุธหลักของเธอก็ว่าได้

824 เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง แบ่งเป็นตอนสั้น ๆ เหมือนความสุขของกะทิเป๊ะ

ตัวละคร "แปดสาแหรก" ที่อาศัยอยู่ในซอยอยู่สบาย ก็ล้วนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งอย่างใดของเรื่องทั้งสิ้น เช่น ลุงต่อ ที่บ้านแกอยู่กึ่งกลางซอย ระหว่างหน้าซอยที่ถนนลาดคอนกรีตอย่างดีกับท้ายซอยที่งบยังมาไม่ถึง จึงเป็นถนนดินกระโดกกระเดกอยู่ ขณะเดียวกันงามพรรณก็ให้ความสำคัญกับปมหลังของตัวละคร ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันด้วย

เรื่องเริ่มจาก 8 ตอนแรกที่เป็นการแนะนำตัวละคร

ที่มีทั้งชายแก่กับหญิงชราป่วย, ลุงขี้เมา (ดิบ) คือ แกล้งเมาอยู่กับขวดเหล้าที่บรรจุน้ำเปล่า กับหมาหัวใจสลาย, กะเทยแก่แรดกับหนุ่มนิสัยดี, พริ้ตตี้สาว "ปอด" สะท้านฟ้ากับพี่ทิดในคราบยามบริษัทจอมซื่อ เป็นภาพสัมพันธ์ระหว่างคนในซอยอยู่สบายแห่งนี้ ในเวลา 24 ชั่วโมง ที่ค่อย ๆ ทวีความเหนียวแน่นขึ้นตามแต่เหตุการณ์จะนำพาไป ที่บางเหตุการณ์นั้นเป็นความบังเอิญเสียมากกว่า

ลุงสุขกับป้าแสงดาว คู่รักนักลีลาศวัยเลยเกษียณที่กว่าจะสุขสมหวังในรักได้ ก็เล่นเอาป้าแสงดาวหัวแตกหัวแตน เพื่อให้ฟื้นคืนความทรงจำที่ขาดหายไป กล่าวได้ว่าสุขวิทย์หรือลุงสุขกับแสงดาวได้พบแสงดาวแห่งความสุขในบั้นปลายชีวิต ที่กิน "เนื้อที่" ของเรื่องไว้ราว 1 ใน 4 นั้น เป็นเพียงฉากหลังที่งามพรรณพยายามแสดงให้เห็นว่า

1.ความรักและความสุขไม่ได้จำกัดในเรื่องของวัยวุฒิ
2.ความรักระหว่างคนคู่นี้เป็นรักในอุดมคติ คือ รักและสามารถรอได้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

ถือเป็นการยืนพื้นเป็นหลักไว้

ส่วนคู่รักอื่น เช่นมีนาพริ้ตตี้สาวกับพี่ยามสันทัด ก็หวานชื่นและช่างสวนกระแสสังคม ที่รู้ ๆ กันว่าพริ้ตตี้สาวมักยอมเป็นเบาะรองนั่งชั่วคราวให้อาเสี่ยที่ไหนก็ได้ ขอให้เงินถึง แต่ไม่ใช่กับพริ้ตตี้อย่างมีนา เพราะเธอใฝ่ฝันถึงรักแท้แบบอุดมคติ

คู่ฮอตของเรื่องคือ กะเทยเฒ่าอย่างป้าแหวงกับวิชา หลานห่าง ๆ ในบัญชาการรัก ที่ทั้งคู่มีบทพิสูจน์รักอย่างโลดโผนโจนทะยานที่สุดในเรื่อง วิชาถึงขั้นบุกไฟที่โหมไหม้เพื่อไปช่วยชีวิตป้าแหวง ผู้มีพระคุณของเขา แต่เป็นการเข้าใจผิดไปถนัด เพราะคนที่ติดอยู่ในกองไฟ ไม่ใช่ป้าแหวงแต่เป็นมิเชล ทำให้หนุ่มฝรั่งเศส ผู้ไม่มีญาติพี่น้องมาเคาะประตูร้องเรียกด้วยความเป็นห่วง ไม่มีเพื่อนฝูง ที่จะนึกถึงในยามคับขัน รอดชีวิตมาได้  สุดท้ายวิชาบอกให้ป้าแหวง "รอ" แล้วผมจะกลับมาหาพี่ครับ วิชาจะกลับมาอย่างที่พูดจริงหรือเปล่า ป้าแหวงไม่รู้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่หัวใจรักของป้าแหวงสิ้นสุดการเดินทางที่ยืดเยื้อมายาวนาน และหยุดพักอย่างสุขสงบ ณ ตรงนี้ แล้วนับจากวันนี้สืบไป

ลุงต่อ ที่รักษาหน้าตา ไม่ยอมให้ใครดูถูกว่า "จน" ด้วยการแอบไปขายเลือดมาประทังชีวิต สู้อุตส่าห์เก็บงำความจนอันแสนลึกลับไว้ แต่เมื่อถึงคราวก็ต้องสารภาพ ระบายความอัดอั้นตันใจกับมิเชล หนุ่มฝรั่งเศสคลั่ง "ของ"ไทย แม้แกจะจนแต่ยังมีแก่ใจอุปการะไอ้มอมแมม สุนัขจรจัดหัวใจสลายไว้ในตอนสุดท้าย

เรื่องจบลงที่ ศาลเจ้า อันถือเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนา ที่เมื่อก่อนเคยรุ่งเรืองแต่เดี๋ยวนี้กลับซบเซา มีเพียงเจ๊ศรีเป็นคนดูแลศาลเจ้าแทนสามี ที่ตายจากไป ทั้งเจ๊ศรีและศาลเจ้ามีบุคลิกดุจเดียวกันคือ หงอยเหงา หดหู่เหมือนถูกทิ้งร้าง สุดท้ายก็ได้ตายไปพร้อมกันจริง ๆ

เมื่อมีเศรษฐีใหญ่ต้องการทำบุญศาลเจ้าครั้งใหญ่ อันเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ลามไปถึงบ้านช่องห้องหอของบรรดาตัวละครสำคัญในเรื่อง

เมื่อสัญลักษณ์ของศูนย์รวมใจผู้คนอย่างศาลเจ้าถูกทำลายลง (น่าสังเกตว่าผู้ที่เข้ามาทำลายศรัทธาในศาสนาอย่างศาลเจ้านี้ คือ เศรษฐี นับเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิบริโภคนิยมด้วย)  ความรักและศรัทธาระหว่างมนุษย์ด้วยกันจึงแตกหน่อก่อใบขึ้น เป็นศูนย์รวมใจอย่างใหม่ที่งามพรรณได้ลงแรงสถาปนาผ่านตัวละครของเธอ

กล่าวได้ว่า 824 ก็เป็นผลงานที่งามพรรณภูมิใจเสนอในนามของ "ความสุขที่พัฒนาแล้ว" อีกเล่มหนึ่งด้วย

เมื่อมองมุมกว้างแล้ว ความสุขที่ก่อร่างมาจากกองทุกข์ที่งามพรรณนำเสนอต่อเรานั้น ล้วนเป็นความสุขในแบบกระจายและช่างแจกแจงจนเกินไป ขณะเดียวกันกลับทันสมัย และเข้ากระแสแห่ง

"วิธีการแสวงหาความสุข" ของชนชั้นกลางอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นความสุขแบบที่ยกระดับขึ้นจากความสุขสมหวังในวัตถุเงินทอง ชื่อเสียงอันเป็นสุขอย่างจำเพาะ หรือเฉพาะตัวบุคคล อย่างที่เรียกว่าเป็นความสุขของชนชั้นกลางเก่า ที่ยังไม่มีท่าทีจะกระเตื้องขึ้นจะเป็นชนชั้นที่สูงขึ้นไปหรือเรียกว่าชนชั้นกลางระดับไฮคลาส

แม้นว่าตัวละครในเรื่องจะเป็นการผสมผสานระหว่างชนชั้นล่างถึงกลางก็ตาม ฉะนั้นความผิดพลาดของงามพรรณก็คือมุมมองที่เธอมองเห็น และได้จำลองภาพตัวละครออกมาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะว่าเธอไม่รู้จักคนชั้นล่าง ผู้ทุกข์ทนปนสุขจิ๊บ ๆ อย่างดีพอก็ว่าได้ แต่อาจถูกหาว่าอคติเกินไป

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่เป็นประเด็นสำคัญมากไปกว่า เจตนาแฝงที่งามพรรณได้สื่อไปถึงคนอ่าน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นชนชั้นกลาง ฉะนั้นก็เท่ากับว่าเธอได้ลงแรงผ่านนวนิยายของเธอ เพื่อสถาปนาความสุขสูตรใหม่ ป้อนให้ชนชั้นกลางผู้นิยมชมมหรรสพ อันเต็มไปด้วยข้อคิดและอรรถประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น (คล้ายคำปฏิญาณตนของลูกเสือ)

คล้ายกับว่า งามพรรณได้นำพาอุดมคติอย่างใหม่ มาแนะนำตัวเองต่อหน้าชนชั้นกลางที่กำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นชั้นผู้นำของสังคม ในนามของพลังใหม่ ดังที่ฝ่ายการเมืองได้ช่วยกันสถาปนาขึ้นและยกให้เป็นของขวัญปลอบใจแด่ชนชั้นกลาง นัยว่าพวกเขาล้วนเปี่ยมด้วยพลังมหาศาลที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีประกาศนียบัตรมอบให้ พร้อมจารึกอักขระว่าเป็นชนชั้นกลางเปี่ยมคุณภาพ

หากวรรณกรรมมีเจตนารมในเชิงสังคมอย่างเดียว จะถือว่างามพรรณสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเลอเลิศแล้วล่ะ แต่วรรณกรรมไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น เพราะวรรณกรรมคือศิลปะ ที่ต่อให้ไม่มีอุดมการณ์ทางชนชั้นแม้เพียงวลีเดียว ก็งดงามและทรงพลังได้ เนื่องจากศิลปะย่อมซึมซ่านเข้าสู่หัวใจของมนุษยชาติได้ทุกชนชั้น โดยไม่ต้องมีความพยายามใด ๆ จากปัจจัยทางการเมืองหรือสังคมมาชี้นำ อีกอย่างหนึ่ง วรรณกรรมย่อมไม่ใช่บทบรรยายทางคุณธรรม หรือชี้ให้เห็นทุกข์-สุขแบบกามตายด้าน หรือคุณว่าไง.

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…