Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

 

เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง จากแนวเพื่อชีวิตดั้งเดิมอยู่บ้างในบางส่วน แม้โดยตัวละคร ฉาก บรรยากาศ น้ำเสียงของผู้เขียน และองค์ประกอบอื่น แต่ในความเหมือนเราก็จะได้เห็นความต่าง อาจเปรียบได้ว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมีการปรับกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดให้ห้องเพื่อชีวิตรับแสงสว่างจากโลกเบื้องนอก..บานแล้วบานเล่า  และประตูบานนั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตรจากเรื่องสั้น สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อ ได้รับรางวัลโล่เงินในการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ เป็นประตูบานใหญ่ทีเดียวเมื่อเปรียบกับเรื่องสั้น ผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓
        
แม้ผ้าทอลายหางกระรอกจะมีความเป็นเพื่อชีวิตมากเพียงไร แต่หากพิจารณาถึงการเลือกใช้เหตุการณ์ของความรักเป็นเบื้องหลังหนึ่งของเรื่อง ซึ่งอาจดูเหมือนจะช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของเรื่องแนวดังกล่าวลงบ้าง แต่จริง ๆ แล้วการเลือกเช่นนั้นกลับเทน้ำหนักให้คิดไปในแนวทางที่เขม็งเกลียวความเคร่งมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องแนวเพื่อชีวิตมีลักษณะเด่นที่ศีลธรรมของเรื่อง ซึ่งมักผูกโยงให้เห็นความขัดแย้ง ๒ ขั้ว คือฝ่ายนายทุน ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ร้ายตลอดกาล กับอีกขั้วคือ “ไพร่ฟ้า”ประชาชนที่มีใบหน้าของการถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดกาลอีกเช่นกัน

แต่วิธีการของจำลองในเรื่องผ้าทอลายหางกระรอกนั้น ทำให้คิดไปได้ว่า โศกนาฏกรรมของการเอารัดเอาเปรียบนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ประหนึ่งว่าการกดขี่ข่มเหงเริ่มตั้งแต่ไก่โห่ มันติดตัว “ไพร่ฟ้า”มาตั้งแต่เกิดราวกับเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน เห็นชัดเจนได้จาก ความมุ่งหมายของกานดากับจรูญที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน แน่นอนอยู่แล้วที่คู่รักจะต้องมีลูก แต่การที่จรูญตั้งอกตั้งใจทอผ้าลายหางกระรอก เพื่อเป็นชุดเจ้าสาวของตัวในวันแต่งงาน เขาก็ถูกเงื่อนไขของนายทุนคือเถ้าแก่หว่า ที่ว่าชาวบ้านที่ทอผ้าต้องขายผ้าให้เขา เพราะเขาเป็นคนซื้อเส้นด้ายมาป้อนให้ทอแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจรูญต้องซื้อผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งเขาเป็นผู้ทอเองกับมือต่อจากเถ้าแก่หว่าด้วยราคาแพงอย่าน่าตกใจตาย และสุดท้ายจุดเริ่มต้นของการกดขี่จากขั้วนายทุนก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

นับว่าเรื่องสั้นนี้ จำลองเลือกหยิบเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบดั้งเดิม แต่เนื้อหาหรือศีลธรรมของเรื่องยังคงใช้เครื่องหมายเท่ากับ ( = ) ได้เมื่อเปรียบกับเนื้อหาของเรื่องสั้นแบบเก่า ยังมีจุดเด่นอีกข้อหนึ่งที่จำลองพยายามลบใบหน้าของเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของตัวเอง คือการเปรียบเปรยในหน้า ๖๕

นกเป็ดแดงฝูงหนึ่งกำลังดำหัวกินดอกสาหร่าย พอได้ยินเสียงคนมาก็บินพรึบ ๆ ขึ้นฟ้า  ส่งเสียงร้องแพ็บ ๆ หายไปท่ามกลางแผ่นฟ้าสีครึ้ม นกพวกนี้ทำรังอยู่ในกอหญ้ารกในทะเลสาบ มีจำนวนเป็นหมื่น ๆ ตั้งแต่ทะเลน้อยถึงลำปำ ยิ่งฤดูที่สาหร่ายออกดอกออกลูก นกพวกนี้ชุมที่สุด นกเป็ดหอม นกเป็ดลาย จะมาเมื่อปลายฤดูฝนจนทะเลสาบมีเสียงอึงมี่ เล่ากันว่า นกเป็ดหอม นกเป็ดลายมาจากทางเหนือของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น... พอแล้งก็บินกลับถิ่นฐานเหลือแต่นกปีกแดง กับนกเป็ดผีให้เฝ้าทะเลสาบ หากไม่ถูกมือดีดับชีพเสียก่อน...

หากย่อหน้าที่ยกมาจะไม่ได้มีไว้เพื่อแสดงภูมิความรู้ของจำลอง ก็อาจเป็นการใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยผู้คนสองกลุ่มในเขตลุ่มทะเลสาบ นั่นก็สอดคล้องกับตัวละคน ๒ ขั้ว คือชาวบ้านกับนายทุน หรือไม่ใช่?...

จากเรื่องผ้าทอลายหางกระรอก เราจะเห็นได้ชัดว่าประตูบานนั้นของจำลองเปิดออกไปสู่สิ่งใด? เพื่ออะไร? และแน่นอนว่ามันได้เปิดออกจริง!

เรื่อง สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อนั้น จำลองได้ใช้วิธีการเล่าแบบสบาย ๆ ไม่เน้นการจัดวางองค์ประกอบตามสูตรดั้งเดิมเพื่อเดินไปหาจุดมุ่งหมายของเนื้อหา คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีการจัดงานศพที่จงใจให้เป็นเรื่องการค้ากำไรโดยไม่จี้ไปที่จุดขัดแย้ง ราวกับปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา

และด้วยน้ำเสียงของการเปรียบเทียบแบบประชดประชัน ดันทุรัง กระทบนั่นนิดนี่หน่อย และการใช้คำอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเรียกร้องอารมณ์ร่วมจากผู้อ่าน จนได้บรรยากาศของคำว่าจริงใจไปเต็มกระบุงนั้น นอกจากเป็นการเปิดประตูบานใหญ่จากห้องเพื่อชีวิตแล้ว เขายังได้ทำให้กระบวนความแหลมคมบิดเบี้ยวไปเลย นอกเหนือจากลีลาการเขียนเหมือนอย่างหลงคารมตัวเองไปอีกข้อหนึ่ง

ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่มีต่อประตูแต่ละบานของนักเขียนในเล่มคลื่นทะเลใต้นั้น ไม่ได้เรียกร้องให้สงวนแนวทางดั้งเดิมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด เราต่างก็ซาบซึ้งกันดีว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและความซับซ้อนถูกกล่าวถึงจนปรุพรุนไปหมด

ดังนั้นแนวคิดที่เอื้ออิงกับทฤษฎีสังคมนิยมแบบมาร์ซที่พบในวรรณกรรมแนวนี้คงไม่เพียงพอจะตอบสนองโลกที่หมุนอย่างทารุณนี้ได้ และแน่นอนวรรณกรรมก็ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งหากจะตัดสินว่าเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่นั้น ผู้อ่านย่อมอุปมาเองได้
        
นอกจากเรื่องสั้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องสั้นที่ดำเนินเรื่องตามแนวทางดั้งเดิมอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักมวยดัง ของ ขจรฤทธิ์  รักษาซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ประจำปี ๒๕๓๓ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้เล่าเรื่องเป็นเส้นวงกลม คือเริ่มต้นและจบในจุดเดียวกัน ขณะที่ขจรฤทธิ์ได้เลือกหยิบแง่มุมเดียวที่ชัดเจน แหลมคม เพื่อพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีด้วยน้ำเสียงแบบโศกนาฏกรรม

เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ยอมฆ่าความนับถือตัวเองเพื่อแลกกับเงิน แลกกับบางอย่าง โดย ๒ ตัวละครที่มีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่คนอย่างพี่นงค์ นักมวยดังรุ่นพี่ “ยอม”เพื่อแลกเงิน กับ “ผม”นักมวยรุ่นน้อง “ยอม”เพื่อแลกกับศรัทธาในชีวิต  ถือเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านยิ่ง ด้วยภาษากระชับ กินความอย่างองอาจ หนักหน่วงเหมือนหมัดของนักมวยบนสังเวียนแห่งชีวิต

ซึ่งจับคู่ได้กับเรื่องสั้น ว่าวสีขาวของ ประมวล มณีโรจน์เป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓ ที่พูดถึงความเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ พูดถึงศักดิ์ศรีและความไม่ยอมแพ้ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่ายกย่องของมนุษย์เป็นโศกนาฎกรรมของเด็กชายผู้หัวไม่ดี แต่เก่งกาจกับเรื่องที่อยู่นอกโรงเรียนอย่าง “ก็อง”จุดที่แสดงอารมณ์สูงสุดของเรื่องอยู่ตรงช่วงที่ก็องปีนต้นไผ่ลำเท่าแขนเด็กเพื่อโน้ม โหนตัวไปเอาว่าวสีขาวที่ปลิวไปติดอยู่บนยอดต้นกอหลาโอน ซึ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม สุดท้ายก็องก็ได้ว่าวของเขาคืนแม้ร่างกายจะระบมด้วยแผลจากหนามเกี่ยวตำ แต่ “รอยยิ้มแห่งชัยชนะก็แต้มพราวบนริมฝีปากดำเกรียม”

ตลอดทั้งเรื่อง ประมวลได้ใช้กลวิธีที่แยบยลเพื่อพูดถึงศีลธรรมของเรื่องอย่างที่เรียกได้ว่า ไม่ยัดเยียด หรือเทศนา แต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังใช้พลังในการสร้างสรรค์ได้เต็มเปี่ยม เพื่อปลุกเร้าจิตวิญญาณที่หลับใหลอ่อนแอให้ลุกขึ้นสู้ได้ วิธีการที่แยบยลดั่งเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากชีวิตจริงหรือแนวสัจจะนิยมนี้ มักได้ใจจากผู้อ่านท่วมท้น

เช่นเดียวกับเรื่อง คลื่นหัวเดิ่งของ พนม นันทพฤกษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๒ ที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่พนมได้เน้นให้เห็นถึงต้นเหตุหรือภูมิหลังของเรื่องราวอย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้จะยังแบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ คือนายทุนกับชาวบ้านเช่นเดิม แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำและยืนหยัดลุกขึ้นสู้

ความคล้ายกันระหว่างเรื่องว่าวสีขาวและคลื่นหัวเดิ่งคือการชี้ทางออกให้กับปัญหาที่นำเสนอ ด้วยการไม่ยอมและลุกขึ้นสู้ด้วยศักยภาพของตัวเองนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องแบบเนิบนาบอย่าง ขวดปากกว้างใบที่ยี่สิบเอ็ด ของ อัตถากร บำรุง ที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๕ นั้น ไม่เน้นการวางโครงเรื่องตามแบบดั้งเดิม ไม่เน้นจุดขัดแย้งของเรื่อง แต่เป็นการเล่าด้วยน้ำเสียงกระทบกระเทียบและคาดหวังต่อตัวละครในเรื่องที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งต้องการยาปลุกสมรรถภาพทางเพศจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชรา

อัตถากรเล่าโดยไม่กระตุ้นให้ผู้อ่านใฝ่หาแต่จุดจบของเรื่องอย่างเดียว แต่เขาใช้วิธีการกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านไปเรื่อย ขณะเดียวกันก็มีเสียงที่เรียกร้องจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชราอยู่เป็นเนือง ๆ  เสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นแสดงนัยยะของ

อัตถากรเอง ซึ่งได้พูดถึงความซื่อสัตย์และจิตสำนึกที่ดีงาม โดยเขาได้บอกผ่านคำพูดของหมอยาพื้นบ้านผู้ชราในหน้า ๑๖๕ ว่า “คุณอาจจะไม่เข้าใจ นี่มันเป็นรายละเอียดของเรื่องจริยธรรม...มันเหมือนกับจิตสำนึกของนักการเมืองที่ดี ซึ่งควรจะซื่อสัตยต่อประชาชนของเขา”

อัตถากรยังคาดหวังแม้ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องโดยทิ้งประโยคในจิตสำนึกของผู้อำนวยการขณะขับรถกลับออกจากบ้านหมอยา ที่เสียงหัวเราะของหมอยาชรายังคงกังวานอยู่ว่า “มันช่างชัดเจนราวกับว่า เขากำลังหัวเราะอยู่เอง...”
        
เห็นได้ว่ารวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เป็นกระบวนเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่กำลังขยับปรับเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมแทบทุกเรื่อง และโดยวิธีของนักเขียนมือรางวัลแต่ละคนก็ล้วนแสดงออกถึงลักษณะจำเพาะของทัศนะคติในนักเขียน

ถึงตัวละคร ฉาก บรรยากาศในแต่ละเรื่องจะมีลักษณะเป็น “ใต้”ตามแนวคิดของคณะผู้จัดพิมพ์ และนักเขียนก็ประณีตบรรจงในการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตอย่าง “คนใต้”ออกมาด้วยทัศนะที่ทั้งรักทั้งชังนั้น

แต่ภายใต้ความเป็น“ใต้”เหล่านั้นเอง ที่ประกาศให้เรื่องสั้นเหล่านั้นยังคงน่าอ่าน น่าชื่นชมมาจนทุกวันนี้.


    

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ชื่อหนังสือ : เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ ผู้เขียน : ประไพ วิเศษธานี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2536 ไปเจอหนังสือเก่าสภาพดีเล่มหนึ่งเข้าที่ตลาดนัดหนังสือใกล้บ้าน เป็นความถูกใจที่วิเศษสุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่คิดว่าหายากแล้ว ไม่เท่านั้นเนื้อหายังเป็นตำราทางการประพันธ์ เหมาะทั้งคนที่เป็นนักเขียนและนักอ่าน นำมาตัดทอนให้อ่านสนุก ๆ เผื่อว่าจะได้ใช้ในคราวบังเอิญ เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการเล่มนี้ ผู้เขียนใช้นามปากกา ประไพ วิเศษธานี ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นสักเท่าไร แต่หากบอกว่านามปากกานี้เป็นอีกสมัญญาหนึ่งของนายผี อัศนี พลจันทร ล่ะก็…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : อาถรรพ์แห่งพงไพร ผู้เขียน : ดอกเกด ผู้แปล : ศรีสุดา ชมพันธุ์ ประเภท : นวนิยายรางวัลซีไรต์ พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย กลับบ้านสวนคราวที่แล้ว ตู้หนังสือยังคงสภาพเดิม ละอองฝุ่นเหมือนได้ห่อหุ้มมันให้พ้นจากสายตาผู้คน ไม่ก็ผู้คนเองต่างหากเล่าที่ห่อหุ้มตัวเองให้พ้นจากหนังสือ นอกจากตู้หนังสือที่เงียบเหงาแล้ว รู้สึกมีสมาชิกใหม่มาเข้าร่วมขบวนความเหงาอีกสามสิบกว่าเล่ม น่าจะเป็นของน้องสาวที่ขนเอามาฝากไว้ ฉันจึงจัดเรียงมันใหม่ในตู้ใบเล็กที่วางอยู่ข้างกัน ดูเป็นบ้านที่หนังสือเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เจ้าหญิงน้อย (A Little Princess) ผู้เขียน : ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ (Frances Hodgson Burnett) ผู้แปล : เนื่องน้อย ศรัทธา ประเภท : วรรณกรรมเยาวชน พิมพ์ครั้งที่ 3 กรกฎาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : แพรวเยาวชน ปีกลายที่ผ่านมา มีหนังสือขายดีติดอันดับเล่มหนึ่งที่สร้างกระแสให้เกิดการเขียนหนังสืออธิบาย เพื่อตอบสนองความสนใจผู้อ่านต่อเนื่องอีกหลายเล่ม ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์เอย ด้านมายาจิตเอย ทำให้หลายคนหันมาสนใจเรื่องความคิดเป็นจริงเป็นจัง หนังสือเล่มดังกล่าวนั่นคงไม่เกินเลยความคาดหมาย มันคือ เดอะซีเคร็ต ใครเคยอ่านบ้าง?…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2551 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ ชวนอ่านเรื่องสั้นมหัศจรรย์ ปลายกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคมปีนี้ ข่าวสารที่ได้รับค่อนไปทางรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐที่ส่อเค้าว่าจะลุกลามไปทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน หุ้นร่วงรูดเป็นประวัติการณ์ ชวนให้บรรดานักเก็งกำไรอกสั่นขวัญแขวน ไม่กี่วันจากนั้น รัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงค์สวัสดิ์ ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่วัน ก็ได้ใช้อำนาจทำร้ายประชาชนอย่างไร้ยางอาย ตลอดวันที่ 7 ตุลาคม 2551…
สวนหนังสือ
นายยืนยง นวนิยายเรื่อง : บ้านก้านมะยม สำนักพิมพ์ : นิลุบล ผู้แต่ง : ประภัสสร เสวิกุล อาขยาน เป็นบทท่องจำที่เด็กวัยประถมล้วนมีประสบการณ์ในการท่องจนเสียงแหบแห้งมาบ้างแล้ว ทุกครั้งที่แว่วเสียง ... แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา หรือ มานี มานะ จะปะกระทะ มะระ อะไร จะไป จะดู หรือ บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี ฯลฯ เมื่อนั้น..ความรู้สึกจากอดีตเหมือนได้ลอยอ้อยอิ่งออกมาจากความทรงจำ ช่างเป็นภาพแสนอบอุ่น ทั้งรอยยิ้มและไม้เรียวของคุณครู ทั้งเสียงหัวเราะและเสียงกระซิบกระซาบจากเพื่อน ๆ ตัวน้อยในวัยเยาว์ของเรา…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ ผู้เขียน : ชมัยภร แสงกระจ่าง ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2551 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ คมบาง เมื่อคืนพายุฝนสาดซัดเข้ามาทั่วทิศทาง กระหน่ำเม็ดราวเป็นคืนแห่งวาตะภัย มันเริ่มตั้งแต่หกทุ่มเศษ และโหมเข้า สาดเข้า ถ้าเป็นหลังคาสังกะสี ฉันคงเจ็บปางตายเพราะฝนเม็ดหนานัก มันพุ่งแรงเหลือเกิน ต่อเนื่องและเยือกฉ่ำ ฉันลุกขึ้นมาเปิดไฟ เผชิญกับความกลัวที่ว่าบ้านจะพังไหม? ตัดเรือน เสา ที่เป็นไม้ (เก่า) ฐานรากที่แช่อยู่ในดินชุ่มฉ่ำ โถ..บ้านชราภาพจะทนทานไปได้กี่น้ำ นั่งอยู่ข้างบนก็รู้หรอกว่า ที่ใต้ถุนนั่น น้ำคงเนืองนอง…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มาลัยสามชาย ผู้เขียน : ว.วินิจฉัยกุล ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : บริษัท ศรีสารา จำกัด หนังสือที่ได้รับรางวัลดีเด่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะส่งผลกระทบหรือสะท้อนนัยยะใดบ้าง เป็นเรื่องที่น่าจับตาอีกเรื่องหนึ่ง แม้รางวัลจะประกาศนานแล้ว แต่เนื้อหาในนวนิยายจะยังคงอยู่กับผู้อ่าน เพราะหนังสือรางวัลทั้งหลายมีผลพวงต่อยอดขายที่กระตือรือร้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเภทวรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ โดยในปีนี้ นวนิยายเรื่อง มาลัยสามชาย ผลงานของ ว.วินิจฉัยกุล ได้รับรางวัลดีเด่น ประจำปี 2551…
สวนหนังสือ
นายยืนยง        ชื่อหนังสือ : อาหารรสวิเศษของคนโบราณ      ผู้เขียน : ประยูร อุลุชาฎะ      ฉบับปรับปรุง : กันยายน 2542      จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แสงแดดใครที่เคยแก่อายุเข้าแล้ว พออากาศไม่เหมาะก็กินอะไรไม่ถูกปาก ลิ้นไม่ทำหน้าที่ซึมซับรสอันโอชาเสียแล้ว อาหารจึงกลายเป็นเรื่องยากประจำวันทีเดียว ไม่เหมือนเด็ก ๆ หรือคนวัยกำลังกินกำลังนอน ที่กินอะไรก็เอร็ดอร่อยไปหมด จนน่าอิจฉา คราวนี้จะพึ่งแม่ครัวประจำตัวก็ไม่เป็นผลแล้ว ต้องหาของแปลกลิ้นมาชุบชูชีวิตชีวาให้กลับคืนมา…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : แม่ใหม่ที่รัก ( Sarah, Plain and Tall ) ผู้เขียน : แพทริเซีย แมคลาแคลน ผู้แปล : เพชรรัตน์ ประเภท : วรรณกรรมเยาวชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2544 จัดพิมพ์โดย : แพรวเยาวชน หากใครเคยพยายามบ่มเพาะให้เด็กมีนิสัยรักหนังสือ รักการอ่าน ย่อมเคยประสบคำถามจากเด็ก ๆ ของท่านทำนองว่า หนังสือจำเป็นกับชีวิตมากปานนั้นหรือ? เราจะตายไหมถ้าไม่อ่านหนังสือ? หรือเราจะมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่อ่านหนังสือจะได้ไหม? กระทั่งบ่อยครั้งผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็อาจหาคำตอบที่สมเหตุสมผลมาตอบอย่างซื่อสัตย์ได้ไม่ง่ายนัก เป็นที่แน่นอนอยู่ว่า ผู้ใหญ่บางคนมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ต่างแต่ว่า…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ก่อนเริ่มโรงเรียนวิชาหนังสือ (สูจิบัตรในงาน ‘หนังสือ ก่อนและหลังเป็นหนังสือ’ ) จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ สัปดาห์ก่อนไปมีปัญหาเรื่องซื้อหนังสือกับพนักงานขายของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ด้วยเพราะหนังสือที่จะซื้อมีราคาไม่เป็นจำนวนถ้วน คือ ราคาขายมีเศษสตางค์ เป็นเงิน 19.50 บาท เครื่องคิดราคาไม่ยอมขายให้เรา ทำเอาพนักงานวิ่งถามหัวหน้ากันจ้าละหวั่น ต้องรอหัวหน้าใหญ่เขามาแก้ไขราคาให้เป็น 20.00 บาทถ้วน เครื่องคิดราคาจึงยอมขายให้เรา เออ..อย่างนี้ก็มีด้วย เดี๋ยวนี้เศษสตางค์มันไร้ค่าจนเป็นแค่สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เท่านั้นเอง หนังสือเล่มดังกล่าวนั้น…
สวนหนังสือ
นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 45 (กรกฎาคม – กันยายน 2551) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา ใครที่เคยติดตามอ่านช่อการะเกด นิตยสารเรื่องสั้นรายไตรมาส เล่มเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ ย่อมมีใจรักในงานเขียนเรื่องสั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าผลงานเรื่องสั้นที่ปรากฏ “ผ่านเกิด” ภายใต้รสนิยมบรรณาธิการนาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้นจะต้องรสนิยมคนชื่นชอบเรื่องสั้นมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ค่อยปรากฏกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใดเลย ทั้งที่ตอนประชาสัมพันธ์เปิดรับต้นฉบับเรื่องสั้น…
สวนหนังสือ
นายยืนยง วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งประกวด ประจำปี 2551 จำนวน 76 เล่ม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือรวมเรื่องสั้น 9 เล่ม ดังนี้   1.ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่น ๆ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 2.เคหวัตถุ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ 3.ตามหาชั่วชีวิต ของ ‘เสาวรี’ 4.บริษัทไทยไม่จำกัด ของ สนั่น ชูสกุล 5.ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ ของ เงาจันทร์ 6.เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ของ วัชระ สัจจะสารสิน 7.เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของ…