Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

 

เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง จากแนวเพื่อชีวิตดั้งเดิมอยู่บ้างในบางส่วน แม้โดยตัวละคร ฉาก บรรยากาศ น้ำเสียงของผู้เขียน และองค์ประกอบอื่น แต่ในความเหมือนเราก็จะได้เห็นความต่าง อาจเปรียบได้ว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมีการปรับกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดให้ห้องเพื่อชีวิตรับแสงสว่างจากโลกเบื้องนอก..บานแล้วบานเล่า  และประตูบานนั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตรจากเรื่องสั้น สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อ ได้รับรางวัลโล่เงินในการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ เป็นประตูบานใหญ่ทีเดียวเมื่อเปรียบกับเรื่องสั้น ผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓
        
แม้ผ้าทอลายหางกระรอกจะมีความเป็นเพื่อชีวิตมากเพียงไร แต่หากพิจารณาถึงการเลือกใช้เหตุการณ์ของความรักเป็นเบื้องหลังหนึ่งของเรื่อง ซึ่งอาจดูเหมือนจะช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของเรื่องแนวดังกล่าวลงบ้าง แต่จริง ๆ แล้วการเลือกเช่นนั้นกลับเทน้ำหนักให้คิดไปในแนวทางที่เขม็งเกลียวความเคร่งมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องแนวเพื่อชีวิตมีลักษณะเด่นที่ศีลธรรมของเรื่อง ซึ่งมักผูกโยงให้เห็นความขัดแย้ง ๒ ขั้ว คือฝ่ายนายทุน ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ร้ายตลอดกาล กับอีกขั้วคือ “ไพร่ฟ้า”ประชาชนที่มีใบหน้าของการถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดกาลอีกเช่นกัน

แต่วิธีการของจำลองในเรื่องผ้าทอลายหางกระรอกนั้น ทำให้คิดไปได้ว่า โศกนาฏกรรมของการเอารัดเอาเปรียบนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ประหนึ่งว่าการกดขี่ข่มเหงเริ่มตั้งแต่ไก่โห่ มันติดตัว “ไพร่ฟ้า”มาตั้งแต่เกิดราวกับเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน เห็นชัดเจนได้จาก ความมุ่งหมายของกานดากับจรูญที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน แน่นอนอยู่แล้วที่คู่รักจะต้องมีลูก แต่การที่จรูญตั้งอกตั้งใจทอผ้าลายหางกระรอก เพื่อเป็นชุดเจ้าสาวของตัวในวันแต่งงาน เขาก็ถูกเงื่อนไขของนายทุนคือเถ้าแก่หว่า ที่ว่าชาวบ้านที่ทอผ้าต้องขายผ้าให้เขา เพราะเขาเป็นคนซื้อเส้นด้ายมาป้อนให้ทอแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจรูญต้องซื้อผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งเขาเป็นผู้ทอเองกับมือต่อจากเถ้าแก่หว่าด้วยราคาแพงอย่าน่าตกใจตาย และสุดท้ายจุดเริ่มต้นของการกดขี่จากขั้วนายทุนก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

นับว่าเรื่องสั้นนี้ จำลองเลือกหยิบเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบดั้งเดิม แต่เนื้อหาหรือศีลธรรมของเรื่องยังคงใช้เครื่องหมายเท่ากับ ( = ) ได้เมื่อเปรียบกับเนื้อหาของเรื่องสั้นแบบเก่า ยังมีจุดเด่นอีกข้อหนึ่งที่จำลองพยายามลบใบหน้าของเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของตัวเอง คือการเปรียบเปรยในหน้า ๖๕

นกเป็ดแดงฝูงหนึ่งกำลังดำหัวกินดอกสาหร่าย พอได้ยินเสียงคนมาก็บินพรึบ ๆ ขึ้นฟ้า  ส่งเสียงร้องแพ็บ ๆ หายไปท่ามกลางแผ่นฟ้าสีครึ้ม นกพวกนี้ทำรังอยู่ในกอหญ้ารกในทะเลสาบ มีจำนวนเป็นหมื่น ๆ ตั้งแต่ทะเลน้อยถึงลำปำ ยิ่งฤดูที่สาหร่ายออกดอกออกลูก นกพวกนี้ชุมที่สุด นกเป็ดหอม นกเป็ดลาย จะมาเมื่อปลายฤดูฝนจนทะเลสาบมีเสียงอึงมี่ เล่ากันว่า นกเป็ดหอม นกเป็ดลายมาจากทางเหนือของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น... พอแล้งก็บินกลับถิ่นฐานเหลือแต่นกปีกแดง กับนกเป็ดผีให้เฝ้าทะเลสาบ หากไม่ถูกมือดีดับชีพเสียก่อน...

หากย่อหน้าที่ยกมาจะไม่ได้มีไว้เพื่อแสดงภูมิความรู้ของจำลอง ก็อาจเป็นการใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยผู้คนสองกลุ่มในเขตลุ่มทะเลสาบ นั่นก็สอดคล้องกับตัวละคน ๒ ขั้ว คือชาวบ้านกับนายทุน หรือไม่ใช่?...

จากเรื่องผ้าทอลายหางกระรอก เราจะเห็นได้ชัดว่าประตูบานนั้นของจำลองเปิดออกไปสู่สิ่งใด? เพื่ออะไร? และแน่นอนว่ามันได้เปิดออกจริง!

เรื่อง สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อนั้น จำลองได้ใช้วิธีการเล่าแบบสบาย ๆ ไม่เน้นการจัดวางองค์ประกอบตามสูตรดั้งเดิมเพื่อเดินไปหาจุดมุ่งหมายของเนื้อหา คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีการจัดงานศพที่จงใจให้เป็นเรื่องการค้ากำไรโดยไม่จี้ไปที่จุดขัดแย้ง ราวกับปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา

และด้วยน้ำเสียงของการเปรียบเทียบแบบประชดประชัน ดันทุรัง กระทบนั่นนิดนี่หน่อย และการใช้คำอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเรียกร้องอารมณ์ร่วมจากผู้อ่าน จนได้บรรยากาศของคำว่าจริงใจไปเต็มกระบุงนั้น นอกจากเป็นการเปิดประตูบานใหญ่จากห้องเพื่อชีวิตแล้ว เขายังได้ทำให้กระบวนความแหลมคมบิดเบี้ยวไปเลย นอกเหนือจากลีลาการเขียนเหมือนอย่างหลงคารมตัวเองไปอีกข้อหนึ่ง

ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่มีต่อประตูแต่ละบานของนักเขียนในเล่มคลื่นทะเลใต้นั้น ไม่ได้เรียกร้องให้สงวนแนวทางดั้งเดิมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด เราต่างก็ซาบซึ้งกันดีว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและความซับซ้อนถูกกล่าวถึงจนปรุพรุนไปหมด

ดังนั้นแนวคิดที่เอื้ออิงกับทฤษฎีสังคมนิยมแบบมาร์ซที่พบในวรรณกรรมแนวนี้คงไม่เพียงพอจะตอบสนองโลกที่หมุนอย่างทารุณนี้ได้ และแน่นอนวรรณกรรมก็ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งหากจะตัดสินว่าเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่นั้น ผู้อ่านย่อมอุปมาเองได้
        
นอกจากเรื่องสั้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องสั้นที่ดำเนินเรื่องตามแนวทางดั้งเดิมอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักมวยดัง ของ ขจรฤทธิ์  รักษาซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ประจำปี ๒๕๓๓ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้เล่าเรื่องเป็นเส้นวงกลม คือเริ่มต้นและจบในจุดเดียวกัน ขณะที่ขจรฤทธิ์ได้เลือกหยิบแง่มุมเดียวที่ชัดเจน แหลมคม เพื่อพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีด้วยน้ำเสียงแบบโศกนาฏกรรม

เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ยอมฆ่าความนับถือตัวเองเพื่อแลกกับเงิน แลกกับบางอย่าง โดย ๒ ตัวละครที่มีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่คนอย่างพี่นงค์ นักมวยดังรุ่นพี่ “ยอม”เพื่อแลกเงิน กับ “ผม”นักมวยรุ่นน้อง “ยอม”เพื่อแลกกับศรัทธาในชีวิต  ถือเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านยิ่ง ด้วยภาษากระชับ กินความอย่างองอาจ หนักหน่วงเหมือนหมัดของนักมวยบนสังเวียนแห่งชีวิต

ซึ่งจับคู่ได้กับเรื่องสั้น ว่าวสีขาวของ ประมวล มณีโรจน์เป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓ ที่พูดถึงความเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ พูดถึงศักดิ์ศรีและความไม่ยอมแพ้ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่ายกย่องของมนุษย์เป็นโศกนาฎกรรมของเด็กชายผู้หัวไม่ดี แต่เก่งกาจกับเรื่องที่อยู่นอกโรงเรียนอย่าง “ก็อง”จุดที่แสดงอารมณ์สูงสุดของเรื่องอยู่ตรงช่วงที่ก็องปีนต้นไผ่ลำเท่าแขนเด็กเพื่อโน้ม โหนตัวไปเอาว่าวสีขาวที่ปลิวไปติดอยู่บนยอดต้นกอหลาโอน ซึ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม สุดท้ายก็องก็ได้ว่าวของเขาคืนแม้ร่างกายจะระบมด้วยแผลจากหนามเกี่ยวตำ แต่ “รอยยิ้มแห่งชัยชนะก็แต้มพราวบนริมฝีปากดำเกรียม”

ตลอดทั้งเรื่อง ประมวลได้ใช้กลวิธีที่แยบยลเพื่อพูดถึงศีลธรรมของเรื่องอย่างที่เรียกได้ว่า ไม่ยัดเยียด หรือเทศนา แต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังใช้พลังในการสร้างสรรค์ได้เต็มเปี่ยม เพื่อปลุกเร้าจิตวิญญาณที่หลับใหลอ่อนแอให้ลุกขึ้นสู้ได้ วิธีการที่แยบยลดั่งเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากชีวิตจริงหรือแนวสัจจะนิยมนี้ มักได้ใจจากผู้อ่านท่วมท้น

เช่นเดียวกับเรื่อง คลื่นหัวเดิ่งของ พนม นันทพฤกษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๒ ที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่พนมได้เน้นให้เห็นถึงต้นเหตุหรือภูมิหลังของเรื่องราวอย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้จะยังแบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ คือนายทุนกับชาวบ้านเช่นเดิม แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำและยืนหยัดลุกขึ้นสู้

ความคล้ายกันระหว่างเรื่องว่าวสีขาวและคลื่นหัวเดิ่งคือการชี้ทางออกให้กับปัญหาที่นำเสนอ ด้วยการไม่ยอมและลุกขึ้นสู้ด้วยศักยภาพของตัวเองนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องแบบเนิบนาบอย่าง ขวดปากกว้างใบที่ยี่สิบเอ็ด ของ อัตถากร บำรุง ที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๕ นั้น ไม่เน้นการวางโครงเรื่องตามแบบดั้งเดิม ไม่เน้นจุดขัดแย้งของเรื่อง แต่เป็นการเล่าด้วยน้ำเสียงกระทบกระเทียบและคาดหวังต่อตัวละครในเรื่องที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งต้องการยาปลุกสมรรถภาพทางเพศจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชรา

อัตถากรเล่าโดยไม่กระตุ้นให้ผู้อ่านใฝ่หาแต่จุดจบของเรื่องอย่างเดียว แต่เขาใช้วิธีการกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านไปเรื่อย ขณะเดียวกันก็มีเสียงที่เรียกร้องจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชราอยู่เป็นเนือง ๆ  เสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นแสดงนัยยะของ

อัตถากรเอง ซึ่งได้พูดถึงความซื่อสัตย์และจิตสำนึกที่ดีงาม โดยเขาได้บอกผ่านคำพูดของหมอยาพื้นบ้านผู้ชราในหน้า ๑๖๕ ว่า “คุณอาจจะไม่เข้าใจ นี่มันเป็นรายละเอียดของเรื่องจริยธรรม...มันเหมือนกับจิตสำนึกของนักการเมืองที่ดี ซึ่งควรจะซื่อสัตยต่อประชาชนของเขา”

อัตถากรยังคาดหวังแม้ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องโดยทิ้งประโยคในจิตสำนึกของผู้อำนวยการขณะขับรถกลับออกจากบ้านหมอยา ที่เสียงหัวเราะของหมอยาชรายังคงกังวานอยู่ว่า “มันช่างชัดเจนราวกับว่า เขากำลังหัวเราะอยู่เอง...”
        
เห็นได้ว่ารวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เป็นกระบวนเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่กำลังขยับปรับเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมแทบทุกเรื่อง และโดยวิธีของนักเขียนมือรางวัลแต่ละคนก็ล้วนแสดงออกถึงลักษณะจำเพาะของทัศนะคติในนักเขียน

ถึงตัวละคร ฉาก บรรยากาศในแต่ละเรื่องจะมีลักษณะเป็น “ใต้”ตามแนวคิดของคณะผู้จัดพิมพ์ และนักเขียนก็ประณีตบรรจงในการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตอย่าง “คนใต้”ออกมาด้วยทัศนะที่ทั้งรักทั้งชังนั้น

แต่ภายใต้ความเป็น“ใต้”เหล่านั้นเอง ที่ประกาศให้เรื่องสั้นเหล่านั้นยังคงน่าอ่าน น่าชื่นชมมาจนทุกวันนี้.


    

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม