Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

 

เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง จากแนวเพื่อชีวิตดั้งเดิมอยู่บ้างในบางส่วน แม้โดยตัวละคร ฉาก บรรยากาศ น้ำเสียงของผู้เขียน และองค์ประกอบอื่น แต่ในความเหมือนเราก็จะได้เห็นความต่าง อาจเปรียบได้ว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมีการปรับกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดให้ห้องเพื่อชีวิตรับแสงสว่างจากโลกเบื้องนอก..บานแล้วบานเล่า  และประตูบานนั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตรจากเรื่องสั้น สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อ ได้รับรางวัลโล่เงินในการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ เป็นประตูบานใหญ่ทีเดียวเมื่อเปรียบกับเรื่องสั้น ผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓
        
แม้ผ้าทอลายหางกระรอกจะมีความเป็นเพื่อชีวิตมากเพียงไร แต่หากพิจารณาถึงการเลือกใช้เหตุการณ์ของความรักเป็นเบื้องหลังหนึ่งของเรื่อง ซึ่งอาจดูเหมือนจะช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของเรื่องแนวดังกล่าวลงบ้าง แต่จริง ๆ แล้วการเลือกเช่นนั้นกลับเทน้ำหนักให้คิดไปในแนวทางที่เขม็งเกลียวความเคร่งมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องแนวเพื่อชีวิตมีลักษณะเด่นที่ศีลธรรมของเรื่อง ซึ่งมักผูกโยงให้เห็นความขัดแย้ง ๒ ขั้ว คือฝ่ายนายทุน ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ร้ายตลอดกาล กับอีกขั้วคือ “ไพร่ฟ้า”ประชาชนที่มีใบหน้าของการถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดกาลอีกเช่นกัน

แต่วิธีการของจำลองในเรื่องผ้าทอลายหางกระรอกนั้น ทำให้คิดไปได้ว่า โศกนาฏกรรมของการเอารัดเอาเปรียบนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ประหนึ่งว่าการกดขี่ข่มเหงเริ่มตั้งแต่ไก่โห่ มันติดตัว “ไพร่ฟ้า”มาตั้งแต่เกิดราวกับเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน เห็นชัดเจนได้จาก ความมุ่งหมายของกานดากับจรูญที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน แน่นอนอยู่แล้วที่คู่รักจะต้องมีลูก แต่การที่จรูญตั้งอกตั้งใจทอผ้าลายหางกระรอก เพื่อเป็นชุดเจ้าสาวของตัวในวันแต่งงาน เขาก็ถูกเงื่อนไขของนายทุนคือเถ้าแก่หว่า ที่ว่าชาวบ้านที่ทอผ้าต้องขายผ้าให้เขา เพราะเขาเป็นคนซื้อเส้นด้ายมาป้อนให้ทอแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจรูญต้องซื้อผ้าทอลายหางกระรอกซึ่งเขาเป็นผู้ทอเองกับมือต่อจากเถ้าแก่หว่าด้วยราคาแพงอย่าน่าตกใจตาย และสุดท้ายจุดเริ่มต้นของการกดขี่จากขั้วนายทุนก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

นับว่าเรื่องสั้นนี้ จำลองเลือกหยิบเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบดั้งเดิม แต่เนื้อหาหรือศีลธรรมของเรื่องยังคงใช้เครื่องหมายเท่ากับ ( = ) ได้เมื่อเปรียบกับเนื้อหาของเรื่องสั้นแบบเก่า ยังมีจุดเด่นอีกข้อหนึ่งที่จำลองพยายามลบใบหน้าของเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของตัวเอง คือการเปรียบเปรยในหน้า ๖๕

นกเป็ดแดงฝูงหนึ่งกำลังดำหัวกินดอกสาหร่าย พอได้ยินเสียงคนมาก็บินพรึบ ๆ ขึ้นฟ้า  ส่งเสียงร้องแพ็บ ๆ หายไปท่ามกลางแผ่นฟ้าสีครึ้ม นกพวกนี้ทำรังอยู่ในกอหญ้ารกในทะเลสาบ มีจำนวนเป็นหมื่น ๆ ตั้งแต่ทะเลน้อยถึงลำปำ ยิ่งฤดูที่สาหร่ายออกดอกออกลูก นกพวกนี้ชุมที่สุด นกเป็ดหอม นกเป็ดลาย จะมาเมื่อปลายฤดูฝนจนทะเลสาบมีเสียงอึงมี่ เล่ากันว่า นกเป็ดหอม นกเป็ดลายมาจากทางเหนือของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น... พอแล้งก็บินกลับถิ่นฐานเหลือแต่นกปีกแดง กับนกเป็ดผีให้เฝ้าทะเลสาบ หากไม่ถูกมือดีดับชีพเสียก่อน...

หากย่อหน้าที่ยกมาจะไม่ได้มีไว้เพื่อแสดงภูมิความรู้ของจำลอง ก็อาจเป็นการใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยผู้คนสองกลุ่มในเขตลุ่มทะเลสาบ นั่นก็สอดคล้องกับตัวละคน ๒ ขั้ว คือชาวบ้านกับนายทุน หรือไม่ใช่?...

จากเรื่องผ้าทอลายหางกระรอก เราจะเห็นได้ชัดว่าประตูบานนั้นของจำลองเปิดออกไปสู่สิ่งใด? เพื่ออะไร? และแน่นอนว่ามันได้เปิดออกจริง!

เรื่อง สิ่งซึ่งเหลือจากพ่อนั้น จำลองได้ใช้วิธีการเล่าแบบสบาย ๆ ไม่เน้นการจัดวางองค์ประกอบตามสูตรดั้งเดิมเพื่อเดินไปหาจุดมุ่งหมายของเนื้อหา คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีการจัดงานศพที่จงใจให้เป็นเรื่องการค้ากำไรโดยไม่จี้ไปที่จุดขัดแย้ง ราวกับปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา

และด้วยน้ำเสียงของการเปรียบเทียบแบบประชดประชัน ดันทุรัง กระทบนั่นนิดนี่หน่อย และการใช้คำอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเรียกร้องอารมณ์ร่วมจากผู้อ่าน จนได้บรรยากาศของคำว่าจริงใจไปเต็มกระบุงนั้น นอกจากเป็นการเปิดประตูบานใหญ่จากห้องเพื่อชีวิตแล้ว เขายังได้ทำให้กระบวนความแหลมคมบิดเบี้ยวไปเลย นอกเหนือจากลีลาการเขียนเหมือนอย่างหลงคารมตัวเองไปอีกข้อหนึ่ง

ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่มีต่อประตูแต่ละบานของนักเขียนในเล่มคลื่นทะเลใต้นั้น ไม่ได้เรียกร้องให้สงวนแนวทางดั้งเดิมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด เราต่างก็ซาบซึ้งกันดีว่า โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและความซับซ้อนถูกกล่าวถึงจนปรุพรุนไปหมด

ดังนั้นแนวคิดที่เอื้ออิงกับทฤษฎีสังคมนิยมแบบมาร์ซที่พบในวรรณกรรมแนวนี้คงไม่เพียงพอจะตอบสนองโลกที่หมุนอย่างทารุณนี้ได้ และแน่นอนวรรณกรรมก็ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งหากจะตัดสินว่าเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่นั้น ผู้อ่านย่อมอุปมาเองได้
        
นอกจากเรื่องสั้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องสั้นที่ดำเนินเรื่องตามแนวทางดั้งเดิมอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักมวยดัง ของ ขจรฤทธิ์  รักษาซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ประจำปี ๒๕๓๓ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้เล่าเรื่องเป็นเส้นวงกลม คือเริ่มต้นและจบในจุดเดียวกัน ขณะที่ขจรฤทธิ์ได้เลือกหยิบแง่มุมเดียวที่ชัดเจน แหลมคม เพื่อพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีด้วยน้ำเสียงแบบโศกนาฏกรรม

เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ยอมฆ่าความนับถือตัวเองเพื่อแลกกับเงิน แลกกับบางอย่าง โดย ๒ ตัวละครที่มีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่คนอย่างพี่นงค์ นักมวยดังรุ่นพี่ “ยอม”เพื่อแลกเงิน กับ “ผม”นักมวยรุ่นน้อง “ยอม”เพื่อแลกกับศรัทธาในชีวิต  ถือเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านยิ่ง ด้วยภาษากระชับ กินความอย่างองอาจ หนักหน่วงเหมือนหมัดของนักมวยบนสังเวียนแห่งชีวิต

ซึ่งจับคู่ได้กับเรื่องสั้น ว่าวสีขาวของ ประมวล มณีโรจน์เป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๓ ที่พูดถึงความเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ พูดถึงศักดิ์ศรีและความไม่ยอมแพ้ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่ายกย่องของมนุษย์เป็นโศกนาฎกรรมของเด็กชายผู้หัวไม่ดี แต่เก่งกาจกับเรื่องที่อยู่นอกโรงเรียนอย่าง “ก็อง”จุดที่แสดงอารมณ์สูงสุดของเรื่องอยู่ตรงช่วงที่ก็องปีนต้นไผ่ลำเท่าแขนเด็กเพื่อโน้ม โหนตัวไปเอาว่าวสีขาวที่ปลิวไปติดอยู่บนยอดต้นกอหลาโอน ซึ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม สุดท้ายก็องก็ได้ว่าวของเขาคืนแม้ร่างกายจะระบมด้วยแผลจากหนามเกี่ยวตำ แต่ “รอยยิ้มแห่งชัยชนะก็แต้มพราวบนริมฝีปากดำเกรียม”

ตลอดทั้งเรื่อง ประมวลได้ใช้กลวิธีที่แยบยลเพื่อพูดถึงศีลธรรมของเรื่องอย่างที่เรียกได้ว่า ไม่ยัดเยียด หรือเทศนา แต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังใช้พลังในการสร้างสรรค์ได้เต็มเปี่ยม เพื่อปลุกเร้าจิตวิญญาณที่หลับใหลอ่อนแอให้ลุกขึ้นสู้ได้ วิธีการที่แยบยลดั่งเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากชีวิตจริงหรือแนวสัจจะนิยมนี้ มักได้ใจจากผู้อ่านท่วมท้น

เช่นเดียวกับเรื่อง คลื่นหัวเดิ่งของ พนม นันทพฤกษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๒๒ ที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่พนมได้เน้นให้เห็นถึงต้นเหตุหรือภูมิหลังของเรื่องราวอย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้จะยังแบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ คือนายทุนกับชาวบ้านเช่นเดิม แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำและยืนหยัดลุกขึ้นสู้

ความคล้ายกันระหว่างเรื่องว่าวสีขาวและคลื่นหัวเดิ่งคือการชี้ทางออกให้กับปัญหาที่นำเสนอ ด้วยการไม่ยอมและลุกขึ้นสู้ด้วยศักยภาพของตัวเองนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องแบบเนิบนาบอย่าง ขวดปากกว้างใบที่ยี่สิบเอ็ด ของ อัตถากร บำรุง ที่ได้รางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๕ นั้น ไม่เน้นการวางโครงเรื่องตามแบบดั้งเดิม ไม่เน้นจุดขัดแย้งของเรื่อง แต่เป็นการเล่าด้วยน้ำเสียงกระทบกระเทียบและคาดหวังต่อตัวละครในเรื่องที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งต้องการยาปลุกสมรรถภาพทางเพศจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชรา

อัตถากรเล่าโดยไม่กระตุ้นให้ผู้อ่านใฝ่หาแต่จุดจบของเรื่องอย่างเดียว แต่เขาใช้วิธีการกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านไปเรื่อย ขณะเดียวกันก็มีเสียงที่เรียกร้องจากหมอยาพื้นบ้านผู้ชราอยู่เป็นเนือง ๆ  เสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นแสดงนัยยะของ

อัตถากรเอง ซึ่งได้พูดถึงความซื่อสัตย์และจิตสำนึกที่ดีงาม โดยเขาได้บอกผ่านคำพูดของหมอยาพื้นบ้านผู้ชราในหน้า ๑๖๕ ว่า “คุณอาจจะไม่เข้าใจ นี่มันเป็นรายละเอียดของเรื่องจริยธรรม...มันเหมือนกับจิตสำนึกของนักการเมืองที่ดี ซึ่งควรจะซื่อสัตยต่อประชาชนของเขา”

อัตถากรยังคาดหวังแม้ในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องโดยทิ้งประโยคในจิตสำนึกของผู้อำนวยการขณะขับรถกลับออกจากบ้านหมอยา ที่เสียงหัวเราะของหมอยาชรายังคงกังวานอยู่ว่า “มันช่างชัดเจนราวกับว่า เขากำลังหัวเราะอยู่เอง...”
        
เห็นได้ว่ารวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เป็นกระบวนเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตที่กำลังขยับปรับเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมแทบทุกเรื่อง และโดยวิธีของนักเขียนมือรางวัลแต่ละคนก็ล้วนแสดงออกถึงลักษณะจำเพาะของทัศนะคติในนักเขียน

ถึงตัวละคร ฉาก บรรยากาศในแต่ละเรื่องจะมีลักษณะเป็น “ใต้”ตามแนวคิดของคณะผู้จัดพิมพ์ และนักเขียนก็ประณีตบรรจงในการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตอย่าง “คนใต้”ออกมาด้วยทัศนะที่ทั้งรักทั้งชังนั้น

แต่ภายใต้ความเป็น“ใต้”เหล่านั้นเอง ที่ประกาศให้เรื่องสั้นเหล่านั้นยังคงน่าอ่าน น่าชื่นชมมาจนทุกวันนี้.


    

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…