บทวิจารณ์ "พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์" (สุพจน์ ด่านตระกูล)

จันทร์ ปริเทวะ
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

วัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆ ชอบโยงศาสนาเข้าหาวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาตะวันตก เพื่อจะได้สรุปปิดท้ายว่า "พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบและประกาศ [องค์ความรู้นั้น] มาแล้วถึง 2,500 กว่าปี" ก่อนหน้านักวิทยาศาสตร์เป็นไหนๆ แนวคิดจับแพะชนแกะลักษณะนี้มาจากอคติว่าสัจธรรมหรือความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ปราชญ์ท่านใดที่รวบรวม ค้นพบ และประกาศสัจธรรมย่อมประกาศอะไรที่คล้ายๆ กันหมด เพราะ "การเรียนรู้และสอนความเป็นจริงนั้น ย่อมจะตรงกันหรือละม้ายคล้ายคลึงกันในทุกหนแห่ง ทุกชาติทุกภาษาและทุกกาลเวลา" ถ้าปราชญ์ของเราคิดได้ก่อนหน้าปราชญ์ของเขา ก็เป็นความเหนือกว่าที่เราควรจะภาคภูมิใจ

นี่คือสิ่งที่สุพจน์ ด่านตระกูลพยายามทำในบทความ คอมมิวนิสต์ทำลายศาสนา? อันเป็นปฐมบทของหนังสือ พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์   สุพจน์แยกพุทธศาสนาและคอมมิวนิสต์ออกเป็นองค์ประกอบย่อยๆ และชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกัน เช่น พุทธศาสนาแยกสรรพสิ่งเป็นรูปธรรมและนามธรรม คอมมิวนิสต์ก็แยกสรรพสิ่งเป็นสสารและจิต   พุทธศาสนาสอนให้พึ่งตนเอง คอมมิวนิสต์ก็สอนให้พึ่งตนเองเหมือนกัน ฯลฯ

พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ มีชื่อเดิมคือ โลกคอมมิวนิสต์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2518 ณ ช่วงเวลาซึ่งความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์และวัฒนธรรมไทยดำเนินไปจนเกือบถึงจุดแตกหัก   คำพูดของมาร์กซ์ "ศาสนาเป็นยาฝิ่นของประชาชน" ถูกนำไปเผยแพร่บิดเบือน   "คอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด" กลายเป็นคำพูดติดปากคนส่วนใหญ่   จึงไม่น่าแปลกใจที่สุพจน์จะย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า คอมมิวนิสต์เหมือนพุทธศาสนา "เพราะฉะนั้นการต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ไม่ผิดอะไรกับการต่อต้านพระนิพพาน"

อันที่จริงปรัชญาตะวันตกแทบทุกสาขาสามารถสาวกลับไปหาปรัชญากรีกโบราณได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับที่พุทธศาสนามีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาฮินดูโบราณ   หากเชื่อว่าผู้คนใน "สังคมปฐมสหการ" (หมายถึงสังคมดั้งเดิมของมนุษย์ ในสมัยโบราณ) ไม่ว่าจะในชมพูทวีปหรือทวีปยุโรปมีความเชื่อไม่แตกต่างกันนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่พุทธศาสนาจะมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดีความพยายามจับคู่ดังกล่าว มักเป็นแต่กระพี้   ธรรมชาติของสรรพวิชาอะไรก็แล้วแต่อยู่ในองค์รวม   ต่อให้แต่ละชิ้นส่วนเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเอามาประกอบกันแล้วจะได้ของอย่างเดียวกัน   ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ความแตกต่างมากกว่าความเหมือน   ในปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน คอมมิวนิสต์วิเคราะห์ไว้อย่างไร พุทธศาสนาวิเคราะห์ไว้อย่างไรบ้าง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร   ดังเช่นบทความที่สองในหนังสือเล่่มนี้ คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ ซึ่งพยายามพูดถึงความเหมือนในความต่างระหว่างสองวิชา มากกว่าแค่ความเหมือน   

สุพจน์จับเอาโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า "คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ" มากลับหัวกลับหาง โดยบอกว่า "พุทธศานาเองก็ทำลายชาติ"   "ชาติ" ที่คอมมิวนิสต์ทำลายเกิดขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างเผ่าพันธุ์   จากที่มนุษย์เคยมองทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง จู่ๆ คนที่พูดภาษาแตกต่างจากเรา ผิวพรรณคนละสีกับเรา ก็กลายเป็นคนอื่น เป็นศัตรู   ชาติยังรวมไปถึงกระบวนการแบ่งแยกภายในเผ่าพันธุ์หรือประเทศเดียวกันเอง ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง   ชาติคือกฏหมายเผด็จการของชนชั้นนำที่ตราขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเอง   "คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ" ในที่นี้จึงหมายถึงการทำลายชนชั้นและอาณาเขตระหว่างประเทศ   ส่วน "ชาติ" ที่พุทธศาสนาทำลายคือชาติภพ   "ชา-ติ = การเกิดขึ้นของกิเลสตัณหา"   พุทธศาสนาสอนให้ทำลายชาติ เพราะ "เมื่อชาติไม่มีความตายก็ย่อมไม่มี" หรือสภาพนิพพานนั่นเอง

สุพจน์ตีความอวิชชาหรือความยึดมั่นถือมั่น โดยใส่แง่มุมทางสังคม กลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้น เผ่าพันธุ์หรือ "ชาติ"   ส่วนอวิชชาในทางจิตคือกิเลสตัณหาหรือ "ชาติ"   ศานติสุขจึงเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีทั้งพุทธศาสนาและคอมมิวนิสต์   

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ลำพังแค่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือวิทยาศาสตร์สังคม โดยตัวของมันเองแล้วจะสามารถนำความอุดมสมบูรณ์ มาสู่มวลมนุษย์ชาติได้อย่างแน่นอน...(เพราะมีมาตรการทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมหรือทางสภาพแวดล้อม) แต่จะไม่สามารถยังความสงบศานติที่แท้จริง...ให้กับมวลมนุษย์ชาติได้อย่างเป็นการถาวร...และก็เช่นกัน ลำพังแต่พุทธศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ทางจิตโดยตัวของตัวเองแล้ว จะไม่สามารถนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่มวลมนุษยชาติได้...(เพราะไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หรือทางสภาพแวดล้อม) และถึงแม้ว่าจะสามารถนำความสงบศานติที่แท้จริงมาสู่ผู้ปฏิบัติได้ก็เป็นการเฉพาะตัวผู้ปฏิบัติเท่านั้น...และเมื่อเป็นเช่นนั้นพุทธศาสนาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของมนุษย์ชาติหรือสังคมได้อย่างถึงที่สุด

หนังสือที่ดีนั้น แม้คนอ่านจะไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน ก็ยังสามารถถกเถียงกับตัวเอง เพื่อรังสรรค์ความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา   พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ คือหนังสือที่ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2518 ให้คงความถูกต้องทางเนื้อหาจนถึงปัจจุบันก็ยากเต็มทน   บางอย่างถ้าไม่เก่าไปเสียแล้ว ถึงขั้นผิดเลยก็มี (เช่น "จิตธรรม" หรือ Ideology ที่ผู้เขียนเข้าใจว่าหมายถึง "สภาวะและการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นไปโดยอภิเทวดาหรือผู้วิเศษบันดาล" นั้นไม่ใช่จิตธรรมตามความเข้าใจของเฮเกลหรือมาร์กซ์แน่นอน)

อันที่จริง 2518 หรือ 1975 ก็เริ่มเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์ตอนปลายแล้ว   ค่อนข้างแน่ชัดว่าสังคมอุดมคติแบบมาร์กซิสจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน มิหนำซ้ำความโหดร้ายของระบบเผด็จการสตาลิน เหมา อูลบริช หรือผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ก็เริ่มแพร่หลายในโลกตะวันตก   น่ากังขาว่าคนไทยในสมัยนั้นรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน (แม้แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองก็เหมือนไม่ค่อยอ้างเหตุการณ์เหล่านี้ไปคัดง้างกับฝ่ายซ้าย) พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ แตะประเด็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพไว้เล็กน้อย โดยบอกว่า "จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีอยู่ในชั่วระยะหนึ่ง"   ตามตรรกะของผู้เขียน ระบบเผด็จการเกิดขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำ   ในเมื่อคอมมิวนิสต์ทำลายชนชั้นไปหมดแล้ว ถึงจะมีผู้นำเผด็จการ แต่ก็เป็น "เผด็จการในนามของคนส่วนใหญ่ต่อคนส่วนน้อย"   

สุพจน์เรียกระบบเผด็จการดังกล่าวว่า "ธรรมาธิปไตย" หรือการปกครองแบบเผด็จการโดยผู้มีคุณธรรม   ถึงหนังสือเล่มนี้จะเป็นของฝ่ายซ้าย แต่น่าขบคิด (และน่าขบขัน) ว่านี่เองใช่หรือเปล่าระบบที่กลุ่มเอียงขวาในเมืองไทยร้องแรกแหกกระเชอจะเอาหนักเอาหนาในตอนนี้ 

หมายเหตุ:ผู้อ่านที่สนใจในการติดตามความกิจกรรมเคลื่อนไหวของกลุ่ม"พุทธศาสน์ของราษฎร"สามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจ"พุทธศาสน์ของราษฎร"ได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

อันที่จริงผมก็ว่าดีนะ ถ้าเรามีเผด็จการแบบ "ธรรมาธิปไตย" ได้จริงๆ

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ใครละจะมาตัดสินคัดเลือก "คนดี" มาปกครอง
หากมอบหมายให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทำการคัดเลือก
คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดนั้นแหละจะกลายเป็นเผด็จการเสียเอง
และ "คนดี" ที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาอาจกลายเป็น "หุ่นเชิด" ไปทันที

คือพวกเราต่างพากันกลัว "เผด็จการ" กันมากจนขี้ขึ้นสมองกันหมดแล้ว
เมื่อขี้ขึ้นสมอง ต่างคนต่างหูอื้อตาลาย ไม่รู้อะไรเป็นอะไรกันแล้ว

ฝ่ายหนึ่งก็กลัวเผด็จการที่ใช้อาจเงินซื้อหาอำนาจทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
อีกฝ่ายหนึ่งก็กลัวเผด็จการที่มีทหาร-ตุลาการอยู่ในมือแล้วชูคุณธรรมนำหน้าแสวงหาผลประโยชน์เช่นกัน
คือทั้งสองฝ่ายเขาก็ต่อสู้ห้ำหั่นกันไป ต่างก็มีกองเชียร์ของตนเอง ที่ยังต้องประลองกำลังกันต่อไปเรื่อยๆ

บางทีต่อสู้กันจนลืมไปว่าจะหาทางออกกันอย่างไร จะหาข้อยุติกันอย่างไรดี
ต่างคนต่างก็อาจคิดว่าตนยังถือไพ่เหนือกว่า จึงไม่มีทางยอมกันง่ายๆ

ผมเชื่อว่าคนไทยเราทุกคนรักประเทศตนเอง มีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ
แต่ความรู้สึกความเข้าใจถึงความเป็นเจ้าของประเทศนั้นแตกต่างกัน
ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตนเองฉลาดล้ำเลิศ และมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นโง่บัดซบสิ้นดี
จริงๆแล้วอาจจะฉลาดล้ำเลิศพอๆกัน หรืออาจจะโง่บัดซบพอๆกันก็เป็นได้
และดูเหมือนยังไม่สามารถที่จะจูนให้มาในทิศทางเดียวกันได้โดยง่ายในเร็ววัน

ผมก็ได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งคนไทยเราจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศในทิศทางเดียวกันได้

ขอโทษนะครับที่ออกนอกเรื่องไปไกล...พอเจอคำว่า"ธรรมาธิปไตย"แล้ว มันอดไถลไปไม่ได้

Submitted by 000 on

ดูเหมือนฝ่ายก้าวหน้าจะรุกเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสังคมในทุกด้าน ทั้งด้านรัฐสภา ด้านกฎหมาย(นิติราษฎร์) ด้านสร้างมวลชน และด้านความเชื่อทางศาสนา
ด้านที่น่่าสนใจที่สุด คือด้านความเชื่อทางศาสนา ถ้าผมเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผมจะกลัวความเชื่อทางศาสนามากที่สุด เพราะเป็นฐานความคิดของคนและเป็นนามธรรม ความศรัทธา จัดการได้ยาก ควบคุมได้ยาก หากความเชื่อของคนเปลี่ยนทุกอย่างก็จะเปลี่ยนหมด (การจัดความสัมพันธ์ของคน โครงสร้างที่เป็นแกนจัดความสัมพันธ์ของคน ศูนย์กลางอำนาจ ฯลฯ)
ประเด็นสำคัญ กระบวนการนำเสนอความเชื่อ (ที่เกิดจากการตีความหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาของกลุ่มพุทธศาสน์เพื่อราษฎร์) ไปสู่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้คล้อยตาม โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ที่จะนำไปขยายแนวคิดต่อนั้นควรทำอย่างไร ในกลุ่มนี้นอกไม่มีพระสงฆ์สักรูป ซ้ำเห็นต่างหรือมีทัศนะเชิงลบต่อพระสงฆ์อีก การตีความหลักคำสอนไม่เพียงจะไม่นำไปสู่การยอมรับของคนส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีโต้แย้งและต่อต้านมากกว่า (ในระดับเชิงวิชาการอาจจะเป็นเรื่องดีซึ่งเป็นเรื่องของ(ปัจเจก)บุคคล แต่ในการสร้างพลังมวลชนแล้วจะตรงกันข้าม)
ในทางยุทธศาสตร์ คุณควรจะดึงกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของความเชื่อเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสนาไปสู่เป้าหมายตามที่กลุ่มต้องการ ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้นำทางความเชื่อหรือศาสนาจะลดตนลงมาคล้อยตามคงเป็นไปได้ยาก นอกจากเขาจะตีความและเสนอความคิดเองซึ่งก็น่าจะยากเช่นกัน
หากทางกลุ่มจะขับเคลื่อนเอง ก็น่าจะประสบผลสำเร็จต่อกลุ่มคนที่เป็นนักคิด นักวิชาการ แต่ในระดับมวลชนทั่วไปแล้วก็คงยาก เพราะความน่าเชื่อถือ(ด้านจิตใจ-ศรัทธา)ของสังคมต่อบุคคล(ตีความหลักคำสอน)ที่เป็นบุคคลทั่วไปแล้วย่อมมีสถานะของการได้รับการยอมรับย่อมแตกต่างจากบุคคลทางศาสนาอย่างแน่นอน
ยกเว้นเป้าหมายเป้าหมายของกลุ่มเพียงเพื่อการตีความหลักคำสอนทางเชิงวิชาการ ก่อใ้ห้เกิดข้อถกเถียงและในรับการยอมรับในหม๋ปัญญาชนด้วยกัน ไม่ได้มุ่งมวลชนแล้วก็คงจะบรรลุผลระัดับหนึ่ง
ส่วนประเด็นเนื้อหาของบทความ ผมไม่มีความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

คือผมก็งงๆอยู่ว่าไอ้คอมมิวนิสต์มันมายุ่งอะไรกันกับพุทธศานา
ผมก็รู้จักมั่งไม่รู้จักมั่งกับเรื่องราวของทั้งสองอย่างนี้

แค่มองไปเผินๆว่าคอมมิวนิสต์เขามองไปในเรื่องของวัตถุ
เน้นเรื่องการบริหารทรัพยากรในสังคมเป็นหลัก
ยึดเอาทรัพยากรจากศักดินาและนายทุนมาเขย่าใหม่
แล้วเอามาให้ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกอย่างในชาติร่วมกัน
พวกเราสามารถเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างได้ร่วมกัน

ผมมองว่าศาสนาพุทธน่าจะเกิดขึ้นมาเพื่อเขย่าความเชื่อแต่เดิม
ความเชื่อแต่เดิมนั้นเหมือนตัวเรามีเจ้าของอยู่ เราเป็นทาสรับใช้ของสิ่งนั้นสิ่งนี้
เราจะต้องพึ่งพาสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราจะต้องอ้อนวอนต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ดลบันดาลให้เป็นไปดั่งหวัง
แต่ศาสนาพุทธนั้นได้เสนอแนวทางที่ไม่เหมือนกับความเชื่อแต่เดิมเหล่านั้น
ให้เราเป็นเจ้าของตัวเราเอง ให้เราเชื่อในตัวเราเอง
สิ่งใดจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเราเอง
เมื่อเราต้องการผลลัพท์ที่ดีๆ เราก็ต้องทำแต่สิ่งที่ดีๆด้วยตัวเราเอง
หากเราทำไม่ดี เราก็ไม่อาจไปขอสิ่งดีๆจากใครที่ไหนให้ช่วยเราได้

แต่ไปๆมาๆไม่รู้สั่งสอนสืบต่อกันมาอีท่าไหน
คนที่อ้างว่านับถือศาสนาพุทธกันอยู่นั้น
กลับไม่ได้มีความเชื่ออย่างที่ควรจะเป็น

มัวแต่ไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนความเชื่อดั้งเดิม
สรรสร้างบทสวดมนต์กันขึ้นมาที่กลายเป็นเหมือนคำอ้อนวอนเทพเจ้า
เหมือนเป็นคำถวายตัวเพื่อเป็นทาสรับใข้ต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้เหมือนความเชื่อดั้งเดิม

แนวคิดการบริจาคที่ควรจะเป็นเพื่อการแบ่งปันกัน ความเอื้อเฟื้อต่อกัน
กลับกลายเป็นการทำบุญที่เหมือนเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตในภพหน้าของตนเอง
วัดกลายเป็นเหมือนที่ทำการไปรษณีย์บุญ พระกลายเป็นบุรุษไปรษณีย์เพื่อส่งบุญไปภพหน้า

แล้วก็มีคนหัวใสทำธุรกิจสืบค้นประวัติการกระทำ อาจจะเรียกว่าสแกนกรรมหรืออะไรทำนองนั้น
แล้วก็มีธุรกิจรับจ้างแก้ผลของการกระทำ (แก้กรรม) ก็ไม่รู้มันจะไปแกกันยังไง...แต่ที่แน่ๆเสียตังค์...เฮ้อออ...
ไปๆมาๆเลยเถิดไปอ้างถึงสารพัดเทพเจ้าเข้าทรง นี่ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประกาศว่าท่านนิพพานแล้ว
ท่าทางคงมีคนอ้างพระพุทธเจ้ามาเข้าทรงกันเกร่อแน่ๆเลย...พระพุทธเจ้าท่านยังกะรู้ทันพวกเข้าทรงเนาะ

บ่นอีกแล้วเรา...สงสัยเกิดมาบ่นโดยเฉพาะ

Submitted by คิดบ้างมั้ย on

พระเยซูสอนไว้ เขาตบแก้มซ้าย ให้ยื่นแก้มขวาให้เขาตบอีกให้พอใจ ท่านเองก็ต่อสู้เพื่อคนอื่นจนต้องถูกตรึงกางเขน เป็นภาพอนาถให้คนเคารพนับถือในคุณงามความดีไปทั่ว แต่ก็ไม่มีใครทำตามทั้งที่บอกกันว่านับถือพระเจ้า นับถือพระเยซู สงครามโลกสองครั้งมีเหตุมาจากพวกยุโรปที่นับถือคริสต์กันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็เช่นกันเห็นภาพสลดใจ การเกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์ของโลภโกรธหลง ราคะตัณหา เลยสอนให้สานุศิษย์ละทางโลกีย์ หรือเดินตามโลกอย่างสายกลาง ละโลภโกรธหลง แต่เวลาผ่านไป 2600 ปี คนก็ยังหลงโกรธโลภกันอยู่ แม้แต่ประเทศไทยที่นับถือพุทธ 95 % หรือในเนปาล อินเดียเองศาสนาพุทธก็ไม่อาจอยู่ได้ เจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์เห็นความทุกข์ยากของชนชั้นต่ำ กรรมกรชาวนา ก็อยากให้ทุกคนเสมอภาคกัน ไม่เอาเปรียบชนชั้นล่าง โดยการให้ชนชั้นต่ำขึ้นมามีอำนาจบริหารบ้านเมือง ทำลายล้างนายทุน แต่เวลาผ่านไปร้อยกว่าปี ก็ไม่อาจเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์หรือสัตว์สองเท้าได้ ตัวใหญ่ แข็งแรงกว่า ก็กินตัวเล็กต่อไป สหภาพโซเวียดก็ล่มสลาย จีนกลายเป็นทุนใหญ่เกือบที่สุดในโลกไปแล้ว แสดงว่าธรรมชาติของมนุษย์ชนะทุกสิ่ง จิตใต้สำนึกใหญ่กว่าทุกอย่าง อคติ โทสะ โมหะ โลภะ ยิ่งใหญ่กว่าทุกศาสนา โลกแล้ง น้ำท่วมโลก ก็เป็นเพราะมนุษย์ทั้งนั้น โดยเฉพาะมนุษย์ตัวใหญ่ ๆ ที่เรียกกันว่า ผู้นำ

Submitted by dk on

พลังของวิทยาศาสตร์ ไปยกระดับทุนนิยมไม่ให้ตาย
แถมยืดชีวิตสืบต่อ ทำให้คอมมิวนิสต์ในจีน ต้องยอมผ่อนปรน และยอมรับการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
มิฉะนั้น จะไม่ทัน หรือล้าหลัง ทุนนิยมตะวันตก ที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว

ทุนนิยม มีพลังขับ คือ ความโลภของปัจเจก ไปสร้างวิริยภาพการผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยผ่อนแรง

มิติเชิงอำนาจระหว่างรัฐ ประเทศ จึงไปกำหนด รูปแบบการปกครองที่ต้องสมดุลกับการกระจายทรัพยากรภายใน

และศาสนามักถูกนำมารองรับอำนาจการปกครอง เพื่อ สร้างความชอบธรรมของการจัดระเบียบสังคม

Submitted by NTW on

เห็นด้วยกับผู้เขียนซะส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนควรเข้าใจ ระบบ"คอมมิวนิสต์" และระบบ "เหมาอิสต์"
ให้กระจ่าง จีนก็ดี รัสเซียนก็ดี ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็น"ทุนนิยมโดยรัฐ"