สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ในบทความ “ดวงแก้วกลางพุง สตีฟ จ็อบส์” (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 14-20 ก.ย.55) อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปว่า
ผมแน่ใจว่า กรณี สตีฟ จ็อบส์ จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายของธรรมกาย เดี๋ยวก็จะมีธรรมเทศนาแปลกๆ ออกมาอีก และชาวพุทธในสายปัญญาชนก็จะออกมาประณามต่อต้านกันอีก โดยมหาเถรไม่ได้ทำอะไร นอกจากทำตาปริบๆ (เพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่)
ฉะนั้น น่าจะถึงเวลาเสียที ที่คนไทยทั้งหมดจะหันมาพิจารณากันอีกทีว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐให้เด็ดขาดเสียที
เริ่มต้นด้วยการยุบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติลงเสียก่อนดีไหมครับ?
ผมไม่ได้มีปัญหากับ “การตีความ” หลักธรรมทางพุทธศาสนาของธรรมกายเช่นที่ตีความว่านิพพานเป็นอัตตา ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็หาหลักฐานมาโต้แย้งกันไป ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ทำ และก็ไม่ได้มีปัญหากับระบบของ “วัดพระธรรมกาย” หรือความศรัทธาของผู้คน แต่ประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือ เมื่อมี “วินัยสงฆ์” ห้ามไว้ชัดแจ้ง แล้วมีการกระทำของตัวบุคคล (เจ้าอาวาส) ที่ตั้งคำถามได้ว่า อาจจะเข้าข่ายละเมิดวินัยสงฆ์ สมควรจะถูกตรวจสอบโดยองค์กรสงฆ์ที่วัดธรรมกายสังกัดหรือไม่
เหมือนกับผู้นำกองทัพออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองในระดับเดียวกับนักการเมืองผ่านสื่อมวลชนบ่อยๆ ทั้งที่มี “วินัยทหาร” ห้ามไม่ให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควรที่หน่วยงานต้นสังกัด เช่นกระทรวงกลาโหมจะตรวจสอบเอาผิดทางวินัยทหารหรือไม่ การอ้างว่าผู้นำกองทัพคนก่อนๆ ก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น (พระชื่อดังหลายรูปก็อวดอุตตริกันทั้งนั้น) เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลหรือไม่ (บางคนบอกว่าจะเอาเรื่องศาสนาไปเทียบกับข้าราชการได้ไง แต่ศาสนาก็ขึ้นต่อรัฐ มหาเถรและเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายฉบับเดียวกัน)
แต่เอาล่ะ ประเด็นนั้นได้พูดไปชัดเจนแล้วในบทความก่อนๆ ผมสนใจข้อเสนอของ อ.นิธิที่ว่าฉะนั้น น่าจะถึงเวลาเสียที ที่คนไทยทั้งหมดจะหันมาพิจารณากันอีกทีว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐให้เด็ดขาดเสียที เริ่มต้นด้วยการยุบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติลงเสียก่อนดีไหมครับ? ผมว่าข้อเสนอนี้น่าสนใจ (รวมทั้งข้องเสนอของ อ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) และเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกยาวเนื่องจากพุทธศาสนาไทยขึ้นต่อรัฐมานาน ดังสรุปให้เห็นภาพต่อไปนี้ (ข้อมูลจากเว็บสำนักพุทธฯ)
การบริหารกิจการพระศาสนานั้น เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ แต่เนื่องจากอาณาจักรและศาสนจักรต้องประสานกันเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ รัฐบาลในฐานะผู้รับสนองพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกิจการทางศาสนา ตามประวัติและพัฒนาการโดยลำดับ ดังนี้
- สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา มีราชบัณฑิต และ หมื่นราชสังฆการี รับมอบหมายภารกิจด้านการศาสนา
- ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน่วยงานรับผิดชอบ 3 หน่วยงานคือ กรมธรรมการ กรมสังฆการี และกรมราชบัณฑิต
พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้ง กรมศึกษาธิการ ขึ้นดูแลโรงเรียนต่างๆ ในขณะนั้น
พ.ศ. 2435 รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์สถาน และกรมศึกษาธิการ เป็นกระทรวงธรรมการ
พ.ศ. 2441 “ ประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง “ ให้ราษฎรมีความรับผิดชอบ และให้รู้จักการประกอบอาชีพ ในทางสุจริต โดยให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้สั่งสอนอบรม (พ.ศ. 2442 กระทรวงมหาดไทย ได้โอนหน้าที่การอุดหนุนการศึกษา ให้กระทรวงธรรมการตามเดิม)
พ.ศ. 2445 ประกาศใช้ “ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งมีบัญญัติให้พระสงฆ์ทุกระดับ มีหน้าที่บำรุงการศึกษาในวัดอีกด้วย
พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการปรับปรุงตำแหน่งหน้าที่ ในกระทรวงธรรมการ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีกองบัญชาการและแบ่งกรมใหญ่มีหัวหน้าเป็นอธิบดี 2 กรม คือ กรมธรรมการ และ กรมศึกษาธิการ และใน 2 กรมดังกล่าว ก็มีกรมเล็ก ๆ ซึ่งหัวหน้ามีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอยู่ในสังกัด คือ กรมสังฆการี กรมพระอาราม กองอธิกรณ์ ขึ้นอยู่กับกรมธรรมการ ส่วนกรมราชบัณฑิต กรมวิสามัญศึกษา กรมสามัญศึกษา ขึ้นกับกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2462 ได้มีการเปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็น กระทรวงศึกษาธิการ และโปรดให้ย้ายกรมธรรมการ ไปรวมอยู่ในพระราชสำนักตามประเพณีเดิม ซึ่งรวมกรมสังฆการีอยู่ด้วยกันไปสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ ทั้งนี้ “โดยที่ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาไม่ควรจะแยกจากวัด”
พ.ศ. 2469 เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงธรรมการ อีกครั้งหนึ่ง และย้ายกรมธรรมการ ซึ่งรวมกรมสังฆการีอยู่ด้วยกัน ไปสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ ทั้งนี้ “โดยที่ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาไม่ควรจะแยกจากวัด”
พ.ศ. 2474 มีการเปลี่ยนแปลงราชการในกระทรวงธรรมการและกรมสังฆการีเข้าด้วยเช่นเดิม กรมธรรมการยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการเรื่อยมา แม้ภายหลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. 2484 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็น กระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อ กรมธรรมการ เป็น กรมการศาสนา
พ.ศ. 2545 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ได้มีการแบ่งส่วนราชการกรมการศาสนาเดิม ออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ กรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้
จะเห็นว่าเหตุผลที่พุทธศาสนาต้องขึ้นต่อรัฐ (ศาสนาอื่นๆ ในไทยก็ขึ้นต่อรัฐ ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนาด้วย) ในลักษณะที่ “การบริหารกิจการพระศาสนานั้น เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ” และรัฐเข้ามามีส่วนร่วมใน “การดำเนินงานกิจการทางศาสนาในฐานะผู้รับสนองพระราชภาระของพระมหากษัตริย์” ผ่านหน่วยงานที่มีชื่อต่างๆ ที่มีพัฒนาการมาโดยลำดับข้างต้นนั้น เป็นเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” (เนื่องจากอาณาจักรและศาสนจักรต้องประสานกันเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ) ฉะนั้น นิยามความมั่นคงของชาติจึงสัมพันธ์กับความมั่นคงของพุทธศาสนาด้วย สมัยราชาธิปไตยกษัตริย์คือรัฐ และกษัตริย์ต้องนับถือพุทธ จนแม้เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ยังบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่ากษัตริย์ต้องเป็น “พุทธมามกะ” หรือยังยึดถืออุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่ต้องมั่นคงไปด้วยกัน การจะแยกศาสนาออกจากรัฐจึงต้องเผชิญกับอุดมการณ์ “ความมั่นคง” ที่ว่านี้
หากดูพัฒนาการของหน่วยงานรัฐที่เข้ามารับผิดชอบดำเนินงานกิจการทางศาสนาในฐานะผู้รับสนองพระราชภาระของพระมหากษัตริย์นั้น จะเห็นว่าไม่ใช่หน่วยงานที่มีความสำคัญโดดเด่นอะไร ข้าราชการเองก็คงไม่มีใครอยากจะแย่งกันไต่เต้าเป็นใหญ่เป็นโตในหน่วยงานทางศาสนานัก แต่ระยะหลังชาวพุทธ พระสงฆ์ และนักวิชาการพุทธออกมาเรียกร้องให้ตั้ง “กระทรวงพุทธศาสนา” แต่ในที่สุดก็ได้ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีมาแทน ในปี 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบันหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านพุทธศาสนาจึงมีสองหน่วยงานคือ สำนักพุทธฯเป็นหน่วยงานหลัก และกรมการศาสนาดูแลงานพุทธศาสนาบางส่วน และดูแลงานของศาสนาอื่นๆ ด้วย
สำนักพุทธฯ (ที่ อ.นิธิเสนอให้ยุบเลิกอันดับแรก) จึงเป็นผลพวงของการต่อสู้เรียกร้องของคณะสงฆ์และชาวพุทธที่เพิ่งได้มาราวทศวรรษเศษๆ นี่เอง ปัจจุบันสำนักพุทธฯ ดูแลงานด้านพุทธศาสนาในส่วนรับสนองงานด้านการบริหารคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคม งานการศึกษา การปฏิบัติธรรมของวัดทั่วประเทศที่มีพระสงฆ์รวมทั้งสิ้น 290,331 รูป สามเณร 62,478 รูป (สถิติจากสำนักพุทธฯเมื่อ 31 ธ.ค.54) นอกจากนี้ยังรวมการดูแลศาสนสถาน งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของรัฐที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคราชาธิปไตยอีกจำนวนมาก ในปี 2556 สำนักพุทธฯได้รับงบประมาณ 4,300 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงข้าราชการลูกจ้างของสำนักพุทธฯ ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน อีกส่วนหนึ่งสนับสนุนการศึกษา การปฏิบัติธรรม การบริหารคณะสงฆ์
ส่วนมหาเถรสมาคมนั้นเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการ มีพระราชาคณะชั้นสมเด็จเป็นกรรมการ องค์กรดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ตรงที่พระสงฆ์ที่จะขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรยึดอาวุโสโดยสมณศักดิ์ โดยอำนาจสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและสมณศักดิ์ทุกระดับชั้นเป็น “พระราชอำนาจ” และองค์กรดังกล่าวนี้ก็ตั้งขึ้นโดยอำนาจรัฐ (ปัจจุบันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505) ฉะนั้น องค์กรดังกล่าวจึงไม่เป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน เพราะไม่ได้มาจากเจตจำนงทั่วไปของพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วประเทศ
สำหรับธรรมกายนั้น ถามว่าเราจะมองธรรมกายเหมือนสันติอโศกได้หรือไม่? มีรายละเอียดที่ซับซ้อนอยู่ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว โดยพฤตินัยสันติอโศกประกาศตนไม่ขึ้นต่อมหาเถร และวิจารณ์มหาเถรมาเป็นสิบๆ ปีกว่าที่จะถูกแยกออกไปเป็นอิสระจากมหาเถรทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย (อาจเรียกได้ว่าสันติอโศกคือ “ศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” ในปัจจุบัน) ส่วนธรรมกายนั้นสมัครใจขึ้นต่อมหาเถร มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน รับสมณศักดิ์เช่นกัน (ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพญาณมหามุนี”) รับงบประมาณอุหนุนจากสำนักพุทธ และสิทธิประโยชน์ทุกอย่างเช่นกัน
ข้อแตกต่างอยู่ที่ธรรมกายเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีแนวทาง วิธีบริหารจัดการที่เป็นตัวของตัวเอง (สะท้อนข้อเท็จจริงว่ามหาเถรก็ไม่สามารถครอบงำ ควบคุม “สำนัก” ต่างๆ ได้จริง หากสำนักนั้นๆ จะมีแนวทางที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ได้ เช่น สวนโมกข์ วัดหนองป่าพง และฯลฯ ก็มีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเอง) ในทาง “พฤตินัย” ดูเหมือนจะมีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชน มีการบิหารจัดการที่เป็นอิสระ สามารถระดมทุนได้จำนวนมากจากทั้งเอกชน และจากหน่วยงานรัฐ
หากเปรียบเทียบกันแล้ว มหาเถรคือองค์กรศาสนาขึ้นต่อรัฐที่พยายามรักษาระบบเก่า ศาสนสมบัติเก่าเช่นวัดวาอาราม ศาสนวัตถุ ที่ธรณีสงฆ์ ฯลฯ แต่ธรรมกายคือองค์กรศาสนาขึ้นต่อรัฐที่พยายามสร้างระบบบริหารจัดการแบบใหม่ และแสวงหาทรัพยากรจากรัฐสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ามหาเถรอย่างเทียบกันไม่ได้ เช่น การใช้ทรัพยากร “ที่ดิน” ของรัฐ ที่ดินสวยๆ อากาศดี กลางหุบเขา เช่นที่เขาใหญ่ เชียงใหม่ เลย และอีกหลายๆ ที่ การจะได้ที่ดินเช่นนั้นมากๆ นอกจากต้องใช้เงินจำนวนมากแล้วยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ นักการเมืองที่เป็นศิษย์วัดพระธรรมกาย (เป็นต้น) ด้วยอย่างแน่นอน หากดูตามนิตินัย ธรรมกายคือองค์กรศาสนาขึ้นต่อรัฐ สถานปฏิบัติธรรมกลางหุบเขา หรือพื้นที่สวยๆ เหล่านั้นก็น่าจะเป็น “ศาสนสมบัติของรัฐ” ด้วย แต่ดูจากรูปแบบการดำเนินการที่เป็นอยู่ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐกันแน่
สถานปฏิบัติธรรมของธรรมกาย World Peace Valley (เขาใหญ่)
อีกอย่างหนึ่ง การที่ธรรมกายระดมคนร่วมพิธีกรรมทางศาสนาและปฏิบัติธรรมได้ทีละมากๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินการแบบเอกชน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการใช้กลไกของรัฐ คงจำกันได้ว่าเมื่อปี 2553 มีข่าวว่า กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ปัญญาชน 43 คนนำโดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำหนังสือลง ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นขอให้ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และ สมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวอ้างว่าเพื่อยกระดับมาตรฐานศีลธรรมเชิงบูรณาการ มีแผนการการใช้งบของรัฐกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะอบรมเยาวชนจำนวนถึง 10 ล้านคน พร้อมกับข้าราชการครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น อีกเป็นจำนวนถึง 700,000 คน และสถานศึกษาอีก 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ ต่อมาเรื่องดังกล่าวก็เงียบไป
ปัจจุบันเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โครงการดังกล่าวก็ถูกหยิบขึ้นมาดำเนินการอีก เช่นที่เพิ่งมีการอบรมครูของคุรุสภาที่คัดมาจากทั่วประเทศ จำนวน 370 คน ณ สถานปฏิบัติธรรมของธรรมกายที่เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 11-14 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้เข้าอบรมได้รับเบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทาง ใครที่นำรถส่วนตัวมาเองจากจังหวัดไกลๆ ได้ไปคนละหมื่นกว่าบาทก็มี (คิดค่าน้ำมันรถ กม.ละ 4 บาท) ว่ากันว่าการอบรมธรรมะแก่ครูทั่วประเทศปีนี้ใช้งบประมาณของรัฐราว 35 ล้านบาท แม้จะมีการกระจายการอบรมไปยังสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดต่างๆ แต่ผู้เสนอและผลักดันรวมทั้งเป็นผู้อบรมหลัก (จัดอบรมระดับชาติ) ในโครงการปฏิบัติธรรมดังกล่าวคือธรรมกาย นี่ยังไม่นับการอบรมนักเรียนระดับประถม มัธยมอีกทั่วประเทศ
โครงการเดินธุดงค์โรยกลีบกุหลาบเข้ากรุงเทพฯ ก็ได้รับงบสนับสนุนจากสำนักพุทธฯ แน่นอนว่าการจัดบิณฑบาตพระสงฆ์ 10,000 รูป ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด (ธรรมกายตั้งเป้าหมายให้จัดกิจกรรมบิณฑบาต ครบ 1,000,000 รูป ทั่วประเทศ) ก็ย่อมใช้กลไกรัฐในการระดมคนมาใส่บาตร ใช้งบประมาณของรัฐในการขนส่งพระเป็นหมื่นรูปมาบิณฑบาตในแต่ละครั้ง
ฉะนั้น ข้อเท็จจริงจึงกลายเป็นว่าธรรมกายต่างหากที่เป็นองค์กรศาสนาขึ้นต่อรัฐที่มี power ในการใช้ทรัพยากร งบประมาณของรัฐ และกลไกรัฐสมัยใหม่ในการดำเนินกิจการทางศาสนา “ตามแนวทางของตน” ได้อย่างมหาศาล เป็นผู้สามารถเข้าไปใช้ที่ดินกลางหุบเขาของรัฐ เป็นผู้ผูกขาดสัมปทานการอบรมตามโครงการปฏิบัติธรรมของรัฐ (ที่เสนอและผลักดันโดยธรรมกายเองให้โครงการของตนเป็น “โครงการของรัฐ”) ที่ใช้งบประมาณกว่าพันล้าน เป็นต้น ซึ่งองค์กรอย่างมหาเถรไม่มีทางทำได้เช่นนี้เลย
แต่โดยความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่นกับมหาเถร โดยผลงานของธรรมกายในด้านการจัดการศึกษาปริยัติธรรมแผนกนักธรรม-บาลี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การขยายสาขาไปทั่วโลกกว่า 100 แห่ง การเผยแผ่ศาสนา การจัดงานมหกรรมทางศาสนาระดับชาติ ผลงานการช่วยเหลือพระทั่วประเทศและ 3 จังหวัดภาคใต้ ฯลฯ และโดยที่ถ้าอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรแล้วธรรมกายจะสะดวกมากกว่าในเรื่องการใช้ทรัพยากร งบประมาณของรัฐ และกลไกรัฐในการทำงานเผยแผ่ศาสนาตามแนวทางของตน เราจึงไม่อาจมองธรรมกายให้เหมือน “สันติอโศก” ได้เลย
ยิ่งกว่านั้น หากศาสนายังไม่เป็นอิสระจากรัฐอยู่ต่อไปเช่นนี้ ธรรมกายนั่นแหละจะก้าวขึ้นมามีอำนาจในมหาเถรสมาคมในอนาคต ถึงวันนั้นประเทศของเราอาจจะมีการจัดงานมหกรรมทางศาสนากันอย่างครึกครื้น มีการถ่ายทอดสดทางทีวีพูล
ว่าแต่ก่อนจะถึงวันนั้น สังคมไทยจะปลดล็อกให้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐได้อย่างไร ถ้าวันนี้ธรรมกายประกาศตัวเป็นอิสระจากมหาเถรไปเป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐเหมือนสันติอโศกเลยก็ดีไป (แต่เขาคงไม่เลือกเช่นนั้นแน่ ยกเว้นมหาเถรจะดำเนินการเอาผิดทางวินัยสงฆ์ แต่มหาเถรก็ไม่มีทางจะทำอีกแหละ) ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐจึงยังเป็นโจทย์ที่ยากมาก และการจะเป็นอิสระจริงๆ ทำให้คณะสงฆ์และชาวพุทธปกครองกันเองด้วยหลักการพระธรรมวินัยจริงๆ ก็ต้อง “ยกเลิกสมณศักดิ์” และระบบมหาเถร ซึ่งก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “พระราชอำนาจ”
คิดไปคิดมา ก็หนีไม่พ้นที่สังคมเราต้องช่วยกันปลดล็อกให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก่อน การทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ หรือรัฐฆราวาส จึงจะมีทางเป็นไปได้จริง!
ปล. การจัดโครงการปฏิบัติธรรม หรืองานมหกรรมทางศาสนาใหญ่ๆ ย่อมไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากกระทำกันโดยเอกชน ไม่ใช่ทำโดยใช้งบประมาณของรัฐ (ซึ่งเป็นภาษีของคนทุกศาสนา) และไม่ใช้กลไกรัฐในการเกณฑ์หรือระดมคนเข้าร่วมกิจกรรม