ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396
เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
พุทธศาสนาเดินทางมายังประเทศตะวันตกในช่วงวิกฤตร้ายแรงของโลก วิกฤตที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ เราต่างรู้สึกป่วยใจและแปลกแยกจากชีวิตตัวเอง เราสูญเสียสายสัมพันธ์ทางความรู้สึกและสัญชาตญาณต่อสิ่งเติมเต็มชีวิต โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วสิ่งนั้นหน้าตาเป็นเช่นไร เราพยายามเสาะแสวงหาที่นั่นที่นี่ เพื่อหวังจะได้พบสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขความรู้สึกพร่อง อย่างน้อยชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี การบริโภคจึงทำหน้าที่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเสียแทน แฟนกีฬาบนอัฒจรรย์โห่ร้องหาความตื่นเต้นท้าทายของชีวิตที่ฉีกออกจากกรอบ การพักร้อนมีไว้เพื่อแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ ที่คนส่วนใหญ่สูญเสียไป จากตารางการทำงานที่อัดแน่นในแต่ละวัน เราหยุดงานเพื่อหนีจากงานหนักที่ซ้ำซากและไร้ซึ่งแรงบันดาลใจ งานที่ดูแล้วช่างไร้ความเป็นมิตรและผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นต่อชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง เรารู้สึกตัดขาดและแปลกแยกจากผู้คนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัวเราเอง เราย้ายที่อยู่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่เคยค้นพบรากหรือผืนดินที่เราพร้อมจะหยั่งรากแก้วแห่งชีวิตลงไป เครื่องบินเจ็ท คือ สัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ ที่ซึ่งเรากำลังบินอยู่ที่ความเร็วสูงลิ่ว
แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้พาเราไปไหน นอกจากออกไปไกลเป็นล้านๆ ไมล์จากผืนโลก ติดอยู่ในกล่องแคบๆ หลายชั่วโมงกับคนแปลกหน้าที่เต็มไปด้วยปัญหามากพอๆ กับเรา กับความหวั่นวิตกว่าเครื่องบินอาจตกได้ทุกเมื่อ เราจับเจ่าอยู่หน้าทีวี หน้าคอมพิวเตอร์ และวุ่นอยู่กับกิจกรรมต่างในชีวิตอันไร้ความหมาย เพื่อหลบเลี่ยง หลับใหล หรือหลงลืม ความไร้คุณค่าและความหมายของชีวิตในแต่ละวัน และแน่นอนว่าท้ายที่สุดมันก็ใช้ไม่ได้ผล เรากลับรู้สึกพร่องและสิ้นหวังยิ่งกว่าเก่า เราต่างเฝ้าตามหา ตามหา และตามหา อะไรบางสิ่งบางอย่าง แต่กลับไม่เคยพบสิ่งใดที่จะมาช่วยเติมเต็มความโหยหาอันแทบล้นทะลัก เพราะ “การหลอกลวงอันยิ่งใหญ่” แห่งวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ ที่ขายความเป็นไปได้แห่งสิ่งเติมเต็มสูงสุดในชีวิต ผ่านสิ่งบันเทิง สิ่งเย้ายวนใจ และก็ด้วยการถาโถมอย่างอื้ออึงและหนักหน่วงของกระแสโลกวัตถุนิยมที่ว่ามานี้เอง ทำให้เราไม่อาจแม้แต่จะตั้งคำถามหรือพูดคุยกับใครถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้เลย
ในภาพกว้างและในขั้นที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า วิกฤติร่วมสมัยที่กล่าวมานี้กำลังแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก เมื่อเรามองไปยังสภาวการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน เราจะพบได้กับความเสื่อมถอยและภัยพิบัติทั่วทุกหัวระแหง วัฒนธรรมพื้นเมืองอันเคยหยั่งรากลึกได้ถูกกระหน่ำและทำลายล้างด้วยบรรษัทข้ามชาติ และลัทธิบริโภคนิยมสมัยใหม่ ความโกลาหลทางสังคมจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งได้แพร่ระบาดอย่างน่าหวาดวิตก ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนได้ปรากฏขึ้นอย่างแทบไม่เชื่อสายตา จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในปัจจุบัน ในแต่ละปีเราพบกับโรคร้ายที่เพิ่มแสนยานุภาพในการทำลายล้างชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆบนโลก สงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนในประเทศสหรัฐอเมริกา โลกใบนี้ดูเหมือนกำลังจมดิ่งภายใต้ภาวะอันตกต่ำแห่งจิตใจของมนุษย์
ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤติปัญหาในโลกปัจจุบันที่ปรากฏให้เห็นทั้งในซีกโลกตะวันตกและส่วนอื่นของโลก แท้จริงแล้วคือ “วิกฤตการณ์แห่งความไม่อยู่กับเนื้อกับตัว” รากของสาเหตุแห่งความเลวร้ายนานัปการที่เกิดขึ้นสามารถมองย้อนไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เราได้ตัดขาดจากความสัมพันธ์ที่มีต่อร่างกายและการดำรงอยู่ในเนื้อในตัวโดยสิ้นเชิง เรานึกไปว่าสิ่งเติมเต็มในชีวิตสามารถพบได้นอกตัว ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง จากความทันสมัยทางวัตถุ หน้ากากทางอารมณ์ การยอมรับทางสังคม จากอำนาจ หรือบุคคลผู้น่าเกรงขาม จากเพื่อนฝูง คนรัก ครอบครัว งานอื่น เมืองใหญ่เมืองอื่น โลกอื่น หรือชีวิตอื่น ...เราเฝ้าตามหาการเติมเต็ม “นอกตัว” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากการกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวหมายถึงการอยู่กับชีวิตในปัจจุบันขณะโดยสมบูรณ์ และเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราเป็นอย่างสง่างาม ก็น่าจะพอมองเห็นได้ไม่ยากว่ามนุษย์แห่งโลกสมัยใหม่ คือ มนุษย์ที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวมากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแค่เราไม่เคยพอใจกับอะไร หรือ ไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งใดอย่างแท้จริง แต่เรายังเลือกที่จะแยกตัวเองออกมา และพยายามตามหาสิ่งที่เราปรารถนาจากที่อื่นอยู่โดยตลอด ความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของเราผูกโยงอย่างแนบแน่นกับความจริงที่ว่า เราอาศัยอยู่ในวัฒนธรรมที่อยู่รอดได้ด้วยการใช้สอยเพื่อประโยชน์ตนอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าเราจะเฉลียวฉลาดหรือไม่ เราต่างก็เป็นผู้เสพ ผู้ใช้ เราได้สูญเสียสายสัมพันธ์กับ “ผู้อื่น” จนต้องทำให้ตนเองรู้สึกดีด้วยการเปลี่ยนพวกเขาเหล่านั้นให้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกนำไปใช้ได้ หรือไม่เราก็ตกสู่วังวนแห่งการเสพ การบริโภค การถือเอาแต่ประโยชน์ตน จนกลายเป็นวิถีที่เรากระทำต่อโลก และสูญเสียความผูกพันต่อกันไปในท้ายที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม เราพบตนเองตกอยู่ในร่องของความเคยชิน ที่ซึ่งทุกผู้คน ทุกสิ่ง ทุกสถานการณ์ และทุกปรากฏการณ์ แม้แต่ผืนโลก ถูกมองว่าเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่สามารถถูกนำไปรองรับความสนใจหรือความปรารถนาของเรา จนกลายเป็นว่าไม่มีสิ่งใดที่มีคุณค่าในตัวมันเอง นอกเสียจากจะถูกนำมา “ใช้” ให้เป็นประโยชน์ แทนที่ทุกสิ่งจะมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติที่มันเป็น กลับต้องถูกจำแนกในฐานะวัตถุที่ต้องถูกตัดสิน ควบคุม ถูกใช้ ถูกแปรสภาพ หรือ ถูกทำลาย เพื่อจะได้ทำให้เราพึงพอใจ เป็นการตอบสนองความหิวกระหายอย่างผิดที่ผิดทาง เพื่อความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ความยิ่งใหญ่ทะเยอทะยาน และการเติมเต็มความพร่องอันไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง
ความไม่รู้ตัวคือสิ่งเดียวกันกับการตัดขาด หลุดลอย ไม่เชื่อมสัมพันธ์ จิตที่แยกแยะทุกอย่างให้เป็นวัตถุสามารถรับรู้และประเมินค่าแบบระนาบเดียว จนนำไปสู่การเข้าใจสรรพสิ่งในเชิงหลักการที่ไม่มีชีวิต เป็นสัจจะทางจิตที่แห้งแล้ง ไร้ซึ่งมิติทางคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวมันเอง เมื่อเรามองโลกเป็นวัตถุ เราคิดแต่หนทางที่จะนำวัตถุนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราได้สูญเสียสัมผัสอันลึกซึ้งแห่งความเป็นจริงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่มีความหมาย แนวโน้มนี้เองที่อธิบายความสำเร็จอันยิ่งใหญ่น่าสยองขวัญของวัฒนธรรมตะวันตก ที่ขออย่าได้เอ่ยถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนและวัฒนธรรมพื้นเมืองทั่วทั้งโลกในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้ การล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคม และความรุ่งเรืองของจักรวรรดินิยมอันฉาบฉวย ภาวะความตกต่ำทางจิตใจของผู้คนในอารยธรรมเหล่านั้น ความสยดสยองของลัทธิฟาสซิสม์และสงครามทำลายล้าง ลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอันโง่เขลาที่กำลังทำลายโลกทั้งใบ โดยคนส่วนใหญ่ยังลุ่มหลงในภาพของ “การพัฒนา” ที่บรรษัทข้ามชาติพยายามสร้างขึ้นมาชวนเชื่อ ทั้งหมดนี้คืออาการของเชื้อโรคร้าย ความเจ็บป่วยแห่งการตัดขาดกับร่างกายอย่างลึกซึ้ง
ผู้คนในโลกสมัยใหม่โดยมาก เกิด มีชีวิตอยู่ และตาย ทั้งหมดในหัว ด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งที่พวกเขาคิดคือความจริง และความรู้สึกตัดขาดโดยสมบูรณ์คือความเป็นธรรมดาของชีวิต ทว่าร่างกายแสดงให้เห็นถึงหนทางที่ต่างออกไปในการรับรู้และดำรงตนในโลก การรู้ตัว การอยู่ในเนื้อในตัว คือการที่เราอยู่ในสายสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเริ่มฝึกอยู่กับความรู้สึกทางกายในฐานะหนทางหลักของการสัมผัส รู้สึก และรับรู้โลก เมื่อนั้นความคิดจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับใช้ต่อการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงบนฐานกาย อันจะแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันกว้างใหญ่และใกล้ชิดกับทุกสิ่งตามที่เป็นจริง
การอยู่กับเนื้อกับตัว คือการตื่นอยู่กับสัมผัสทั้งหมดของร่างกายดั่งประตูเปิดไปสู่โลกอันศักดิ์สิทธิ์ การรู้เนื้อรู้ตัว คือการรู้สึกถึงความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้คนรอบข้างในฐานะเรื่องราวที่มีชีวิต มันคือการรู้ถึงการมีอยู่ของโลกแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ผืนดิน ท้องทะเล แม่น้ำ และขุนเขา ราวกับเครือญาติทางสายเลือด มันคือวิถีแห่งการชื่นชมความหลากหลายของสรรพชีวิต ที่กำลังหายใจเข้าออก ที่เปี่ยมด้วยเรื่องราว เป็นสิ่งที่น่าทึ่งที่ความรู้ของร่างกายมีความลุ่มลึก น่าเชื่อถือ และน่าไว้วางใจยิ่งกว่าความรู้ที่มาจากหลักคิดทางปรัชญาใดๆ ศาสตร์ทางมานุษยวิทยา ชีววิทยาพืชและสัตว์โบราณ ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าการรับรู้หลักผ่านร่างกายถือเป็นวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของมนุษย์ในยุคแรกเริ่ม ที่แสดงถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์มาตลอดหลายล้านปีบนโลกใบนี้
เราสามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างการ “สัมผัส” ชีวิตที่จำกัดอยู่แค่ในหัว ที่ซึ่งเรายึดเอาโลกทั้งใบเข้ามาในฐานะสัจธรรมเชิงความคิด กับการ “สัมผัส” ชีวิตที่ดำรงอยู่ผ่านสัญชาตญาณและความรู้สึกทางกายในฐานะรากฐานของการรับรู้ที่ละเอียดอ่อน
การที่เราสร้างสัมพันธ์กับโลกด้วยการทำมันให้เป็นวัตถุ โดยไม่เคยเปิดพื้นที่การรับรู้มากไปกว่าที่มีในหัว คือการจำกัดตัวเองอยู่ในสถานะของผู้ยึดครอง ควบคุม และสั่งการ เราได้ทำให้โลกอันเร้นลับมหัศจรรย์กลายเป็นโลกที่เชื่อง ด้วยการกรองมันผ่านร่างแหทางความคิด เพราะนั่นคือทางเดียวที่เราจะสามารถแสดงอำนาจเหนือมันได้ เราได้สถาปนาตนเองให้กลายเป็นเจ้าโลกและเจ้าชีวิตเชิงวัตถุธรรม ด้วยการทำให้มันมารับใช้วาระและความต้องการส่วนตัว
ในทางตรงกันข้าม หากเราดำรงอยู่ในเนื้อในตัวโดยสมบูรณ์ เราจะสามารถค้นพบ “ความมีราก” ในโลก ที่เราไม่ได้ล่องลอยอยู่เหนือโลกแต่ประการใด เราไม่ได้มีสถานะที่จะควบคุมหรือเอาชนะ แต่ธรรมชาติของมนุษย์ได้หยั่งรากลึกอยู่บนผืนโลกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เชื่อมต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น สรรพชีวิต และธรรมชาติ ประสบการณ์ของความมีรากแสดงออกด้วยความรุ่มรวยในแง่ของภาวะหลากหลายทางอารมณ์และการรับรู้ เราตระหนักว่า เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยสายสัมพันธ์กับเรื่องราวของชีวิตอันหลากหลาย บ้างก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา บ้างก็เป็นสัตว์หรือต้นไม้ บ้างก็เป็นภูเขา ลำธาร หรือดวงดาว การ “อยู่ร่วม” เช่นนี้ถือเป็นวิถีแห่งการตระหนักรู้และเคารพต่อการสร้างสรรค์ และต่อสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง มากกว่าวิถีแห่งโลกสมัยใหม่โดยทั่วไป ที่เอาแต่มุ่งเน้นการอยู่ “เหนือ” หรือ “เอาชนะ”
พุทธศาสนาได้เดินทางมาถึงโลกตะวันตกด้วยพันธสัญญาที่จะเตือนสติให้เราเข้าใจถึงภาวะความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้คนในสังคมสมัยใหม่และวิกฤตการณ์อันน่าเป็นห่วงของโลก ภูมิปัญญาอันล้ำลึกที่ถูกเก็บงำไว้ในคัมภีร์โบราณและเทคนิคการปฏิบัติในสายธรรมอันสืบทอดมาอย่างยาวนาน เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อความอันชัดแจ้งลึกซึ้ง รวมถึงหนทางอันเป็นไปได้ในการกลับไปสู่ความรู้เนื้อรู้ตัวอันเป็นรากฐานที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ที่แท้ วิถีปฏิบัติได้แสดงให้เราเห็นว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเผาไหม้ข่ายใยแห่งการยึดมั่นทางความคิดสุดโต่ง อันแสดงถึงแนวโน้มแห่งความไร้มนุษยธรรม การกดขี่ การฆ่า การทำลาย และการนิยมอำนาจ อันแพร่ระบาดไปทั่วทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ อีกทั้งยังแสดงถึงวิธีการที่จะนำมนุษย์ไปสู่การค้นพบชีวิตที่เปิดกว้างต่อการรู้แจ้งในสรรพสิ่งตามที่เป็นจริงผ่านการรู้ทั้งเนื้อทั้งตัว ที่ซึ่งเราจะมองเห็นผู้อื่นในฐานะเรื่องราวอันน่าสนใจใคร่รู้ ในฐานะเพื่อนผู้อยู่ร่วมในโลกใบนี้ และในฐานะ “ญาติสนิทมิตรสหาย” ดังคำกล่าวของชนเผ่าลาโกต้า ซู
ขณะที่พุทธศาสนาเปี่ยมล้นไปด้วยศักยภาพที่สามารถเผยให้เราเข้าใจถึงวิกฤตการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่กล่าวมานี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่กลับยังไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในสายธรรมอย่างเต็มที่ ทำไมจนบัดนี้พุทธศาสนาจึงยังไม่ได้แสดงให้ผู้คนในโลกเห็นถึงพลังแห่งการเยียวยาวิกฤติทางจิตวิญญาณแห่งมนุษยชาติ จะขอกล่าวซ้ำอีกครั้งตามความคิดเห็นของผมว่า ไม่เพียงแต่พุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่จะวิตกกังวลต่อการอยู่รอดของตัวเองในโลกที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังกังวลต่อความสำเร็จทางสังคมและทางเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้พุทธศาสนารับเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมทางเศรษฐกิจสังคมของบรรษัทข้ามชาติตะวันตก อันแสดงออกถึงค่านิยมการบริโภคเข้ามาอย่างไม่เคยเฉลียวใจ พุทธศาสนากำลังยืนอยู่ในจุดที่อันตรายต่อการกลายเป็นศาสนาจัดตั้งแบบใหม่อีกศาสนาหนึ่ง
ความพัวพันที่มีต่อบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่รายรอบไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ในพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทว่าในกรณีของโลกสมัยใหม่ ความพัวพันที่กล่าวมานี้นับเป็นภัยอย่างร้ายกาจต่อการอยู่รอดของคุณค่าทางจิตวิญญาณพุทธศาสนาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ด้วยเหตุผลที่ว่า หากต้องการประสบผลสำเร็จในตลาดการค้าของโลกสมัยใหม่ ดังที่พุทธศาสนาทุกวันนี้พยายามทำ ก็ดูจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับความเย้ายวนที่จะทำให้พุทธศาสนากลายเป็นหนึ่งในผู้กดขี่ หนึ่งในผู้แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ และหนึ่งในผู้ที่ไม่เคยรู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเลยแม้แต่น้อย
(บางส่วนจาก Touching Enlightenment: Finding Realization in the Body โดย Reginald A. Ray)
ชื่อบทความเดิม: