Skip to main content


ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร


นับเป็นโชคดีของคอละครที่ไม่ต้องนั่งพนมมือรับฟังเทศนาธรรมของพระเซเล็บหลังละคร แรงเงา อวสาน ถึงจะมีเมดเล่ย์ธรรมเทศนาจากปากตัวละคร แต่นั่นก็ถือว่ายังพอรับไหว และไม่กระชากอารมณ์อย่างรุนแรงเกินไปนัก ความโด่งดังของละครเรื่องนี้วางอยู่บนขนบละครโทรทัศน์ของไทยอย่างน้อย 2 ข้อ นั่นคือ เป็นละครรีเมกและเป็นละครที่มีเนื้อหาครบเครื่อง โดยมีแกนหลักว่าด้วยเรื่องฉาวๆคาวๆในครัวเรือน แรงเงาเวอร์ชั่นนี้ไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง หรือเครื่องมือสอนใจเท่านั้น มันยังถูกตีความโดยมีนัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองผ่านบทความณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ในบทความที่ชื่อ “โครงสร้างความสัมพันธ์ของสังคมไทยใน 'แรงเงา' ”

ละครเรื่องนี้เริ่มออนแอร์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ไปจบลงในวันที่ 4 ธันวาคม 2555  แน่นอนว่าความโด่งดังไม่ได้เกิดในช่วงข้ามคืน แต่อยู่บนความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง และบทบาทเชือดเฉือนของตัวละครที่อยู่บนคมมาตรฐานศีลธรรมอันหมิ่นเหม่ บทละครได้สร้างพัฒนาการความเลวร้ายของตัวละคร รวมไปถึงยกระดับสถานการณ์อันล่อแหลมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง เซ็กซ์ ยาเสพติด ความไม่ตรงไปตรงมาทางเพศ และการนอกใจที่ให้อารมณ์ที่ฉูดฉาดราวกับหนังสือพิมพ์หัวสี อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ประสบการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องมายาแฟนตาซีอะไร แต่ล้วนเคยเกิดขึ้นรอบตัวและเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนดูด้วย

ในช่วงที่ละครออนแอร์ เราจะเห็นความเป็นห่วงเป็นใยของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพื่อสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา ตามกระแสของละครที่พุ่งทะยานและเป็นที่กล่าวขวางกันอย่างกว้างขวาง เช่น “แรงเงา เนื้อหารุนแรง!! ร้องวธ.คุมเข้ม ชี้ ควรฉายหลังสี่ทุ่ม” (24 ต.ค.55),  “รมว.วธ.สั่งด่วน เร่งแก้ เด็ก8ขวบผูกคอเลียนแบบ‘แรงเงา’ นางเอก‘เจนี่’ชี้ละครมีคำเตือนแต่แรก” (2 พ.ย. 55),  “จวก “แรงเงา” แพร่ฉากปล่อยคลิปฉาว ผิด กม.แต่ไม่เตือนคนดู”  (4 ธ.ค. 55) ฯลฯ

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตหนึ่งก็คือ กลุ่มเป้าหมายของละคร พบว่าส่วนใหญ่เป็นคอละครที่เป็นคนทำงานในเมือง มีประสบการณ์ในออฟฟิศทั้งราชการและเอกชน หรือกระทั่งนักศึกษา การเช็คเรทติ้งช่วงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2555 บอกว่า แม้กระแสในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กจะโด่งดังถล่มทลาย แต่การวัดเรทติ้งของเอซี นีลเส็น  ก็ยังแพ้ ป่านางเสือ ของช่อง 7[i] โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แม้จะมีคำวิจารณ์กันว่า การเปลี่ยนแปลงมหาศาลผู้บริโภคอาจทำให้มาตรฐานการวัดเรทติ้งแบบเดิมไม่น่าเชื่อถือมากนักก็ตาม แต่นั่นแสดงให้เห็นฐานคนดูคนละชุดกัน 

ประวัติศาสตร์แรงกรรม

"คนเราไม่เหมือนกัน กรรมมันมาต่างกันจะให้มันเหมือนกันได้ยังไง"
แปลก (พ่อมุตตา) บอกกับมุตตา
กล่าวใน ตอนแรก ออกอากาศวันที่ 1 ตุลาคม 2555[ii]



ผู้เขียนไม่ได้ค้นคว้าว่า บทละครของแรงเงาในภาคก่อนๆ เป็นอย่างไร แต่จากแรงเงาเวอร์ชั่นนี้ จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ของเรื่องถูกสิ่งเหนือธรรมชาติที่ได้กำหนดทุกอย่างสิ่งทุกอย่างไว้แล้วนั่นก็คือ “กรรม” ลักษณะของกรรมในเรื่องนี้มีทั้งกรรมเวอร์ชั่นข้ามภพ ข้ามชาติ และกรรมที่หมายถึง ผลของการกระทำของตัวละครในปัจจุบัน ที่มีผลอย่างมากต่อการดำเนินเรื่อง และกำหนดโชคชะตาของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะเมื่อกรรมส่งผลให้กับฝาแฝดตัวเอกของเรื่องอย่าง มุนินทร์ และมุตตา จงสวัสดิ์ (เจนนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ) ซึ่งทั้งคู่คือ เงาของกันและกันมาตลอด

มุตตาตกอยู่ในคำสาปและกลายเป็น “เหยื่อ” ของกรรมแบบแรกที่ถูกกำหนดว่า จะเสียคนโดยผู้ชาย ด้วยคำทำนายของหมอดูตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่เพชรบูรณ์ ขณะที่มุนินทร์ถูกหมอดูคนเดียวกันทำนายว่า จะเป็นเจ้าคนนายคน มีฐานะ มียศ มีอำนาจ พ่อแม่จะได้พึ่ง คำทำนายดังกล่าวได้สร้างความหวังและความเชื่อผิดๆให้กับครอบครัวจงสวัสดิ์ตราบไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของมุตตา แม้แทบทั้งหมดจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลคำทำนาย เราจะพบว่ามุนินทร์พยายามต่อต้านคำทำนายนั้น เลือกจะเชื่อกรรมที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดเองเสียมากว่า และไม่ยี่หระกับกรรมข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม รากฐานของพลังทำลายล้างอันน่ากลัว ก็อยู่ที่ครอบครัวนั่นเอง เราจะเห็นปม “ลูกรักลูกชัง” ปรากฏผลกระทบต่อชีวิตอย่างสูงไม่ว่าจะครอบครัวของมุนินทร์-มุตตา และครอบครัวของนพนภา คู่ฝาแฝดต่างก็มีปมดังกล่าวมัดขึงอยู่ในใจ ทั้งคู่ก็ถูกสลับกันระหว่างความเป็นลูกรักลูกชัง จนทั้งคู่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้รักตัวเองเหมือนๆกัน

ความกดดันดังกล่าว ทำให้ทั้งสองเลือกที่จะอัปเปหิตัวเองออกไปจากบ้าน มุนินทร์ไปเรียนโทต่างประเทศ ส่วนมุตตาเข้ากรุงเทพฯ แต่ปมของมุตตาใหญ่หลวงกว่า นอกจากสภาพกดดันจากทางบ้านแล้ว ยังถูกเงาของมุนินทร์ที่เป็นคนเก่งมีความสามารถ หาเงินเลี้ยงพ่อแม่ได้บดบังรัศมีและความมั่นใจในชีวิต แม้จะมีความสวยเป็นเจ้าเรือน แต่มุตตา ก็ไม่สามารถควบคุมอำนาจความสวยของตัวเองเพื่อต่อรองกับสภาพแวดล้อมได้ มุตตาเคยมีค่าดังแก้วมุกดาในวัยเด็ก มีคุณสมบัติของกุลสตรีอย่างเพียบพร้อม กลับถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของแม่บังเกิดเกล้า ผสมโรงไปกับคำทำนายของหมอดู คนที่ทำมุตตาหมดโอกาสที่จะเรียนรู้เพศชายก็คือแม่ ในที่สุดก็ทำให้มุตตาปิดตัว ปิดใจ เข้าไปอยู่ในความรัก ความฝันอันโรแมนติกโดยไม่ได้เรียนรู้ผู้ชายตัวเป็นๆ ที่อยู่ในโลกแห่งความจริง และเรายังไม่เห็นว่า พ่อมีบทบาทใดที่จะช่วยให้มุตตาพ้นเงื้อมมืออันโหดร้ายของแม่ แม้กระทั่งเวลามาอยู่กรุงเทพฯ แม่ก็สั่งให้พ่อโทร.มาสอดส่องความประพฤติ

ผลต่อเนื่องก็คือ การที่มุตตามาพบกับ “ความเป็นชายในอุดมคติ” ในคาแรคเตอร์ของ ผอ.เจนภพ (รวิชญ์ เทิดวงส์) ทำให้ความรักและความใคร่ที่ถูกปิดกั้นมาอย่างยาวนาน พังทลาย จนยอมถวายหัว ถวายตัว ถวายหัวใจให้กับคนกะล่อนอย่าง ผอ.เจนภพ ในสายตาของมุตตามันคือความรัก แต่ในการคำนวณของเจนภพมันคือ ความสุข ทั้งคู่ทำให้เกิดคู่ความขัดแย้งใหม่นั่นคือ “เมียหลวง-เมียน้อย” ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนและชักนำให้ล้อเกวียนแห่งกำบดขยี้ไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ของมัน

นพนภา (ธัญญาเรศ รามณรงค์) คือ เมียลูกสามที่ท้องก่อนแต่ง นี่คือ ตราบาปที่ละครเรื่องนี้มอบให้แต่แรก นอกจากนั้นเธอคือกธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน และเป็นเมียรวยที่เป็นที่พึ่งของผัวจนที่มีแต่บุญเก่าของตระกูลแก่ ความร้ายของเมียหลวง ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เธอพัฒนาทักษะด้านนี้มาก่อนที่จะเจอมุตตา เพราะความเจ้าชู้ของผัวเธอนั่นเอง

ยักษ์มารในใจนพนภาได้อาละวาดต่อมุตตาที่ไร้ทางสู้ด้วยการประจันหน้า ท้าทาย ลงมือลงไม้ แถมซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ การส่งคนไปทำร้าย ส่วนมุตตา ไม่ได้พ่ายแพ้เพราะการใช้กำลังของนพนภา แต่จำนนกับคนไร้หัวใจอย่างผอ.ที่กล่าวปฏฺิเสธเธออย่างเลือดเย็น มุตตาจึงกลายเป็นนกปีกหัก จำใจบินกลับไปยังคุกแห่งเดิมที่เพชรบูรณ์ แต่ความเจ็บปวดนั้นหนักหนาเกินกว่าคุกแห่งนั้นจะเยียวยา ซ้ำร้ายในสังคมนอกเมืองหลวงที่มีแต่คนจับจ้อง มีแต่คนสอดรู้สอดเห็น สังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทไม่ได้เอื้ออาทรแบบที่โปสการ์ด และนักวิชาการชุมชนนิยมแซ่ซ้อง มันได้ทำให้มุตตาเลือกความตายพร้อมกับลูกในท้องเป็นคำตอบดีกว่าจะจมกองทุกข์ไปชั่วชีวิต

มุตตาตายแล้วไปไหน เราไม่ทราบ แต่คำสอนเรื่องกรรมยิ่งตอกย้ำว่า เธอควรจะได้รับกรรมหนัก และต้องไปเกิดแล้วฆ่าตัวตายอย่างนี้อีกหลายชาตินัก ขณะที่มุนินทร์พยายามอธิบายตลอดเวลาว่า มุตตา ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระไปแล้ว

นี่คือ ปฐมบทของแรงเงาที่ตัวตนของมุตตาจากไปพร้อมด้วยจดหมายที่มุนินทร์ไม่ได้อ่านว่า มุตตานั้นตั้งใจอโหสิกรรมให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นมุนินทร์นี่เองที่ไม่ยอมให้มุตตาตายจากไป แต่ใช้โอกาสนี้เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดในใจตัวเองที่เคยทำไม่ดีกับน้องมาตั้งแต่ยังเด็ก ไม่เพียงเท่านั้นการแก้แค้นของมุนินทร์ยังอาจเป็นอุปลักษณ์ของ ผู้ปราบมารที่อวตารไปเป็นมุตตาเพื่อกลับมาบดขยี้ความเลวร้ายทั้งหลายที่มุตตาเคยได้รับ

การทำ “ผู้มีกรรม” ให้เป็นเหยื่อ และคุกที่เรียกว่า ครอบครัว

"พ่อว่าเจ้ากรรมนายเวร น่าจะมีจริง"
แปลก (พ่อมุตตา) บอกกับมุตตา
กล่าวใน ตอนแรก ออกอากาศวันที่ 1 ตุลาคม 25555[iii]



แม้ตัวละครมักจะบอกว่า กรรมเป็นเรื่องซับซ้อน แต่เราก็มักจะเห็นการออกโรงของกรรมมักจะโผล่มาอย่างตรงไปตรงมา ในที่นี้จะโฟกัสไปที่คฤหาสน์ของนพนภา นอกจากคนใช้ในเรื่องแล้ว ทุกคนต้องมีปัญหาชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอาจเรียกได้ว่า คฤหาสน์ของนพนภา คือ ศูนย์กลางแห่งความเลวร้ายทั้งปวง

ละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนชั้นกลางธรรมดา เช่น ลูกสาวคนโตติดยา คบเพื่อนเลว ลูกสาวที่ผิดปกติและยังถูกเลี้ยงด้วยคนใช้ โตขึ้นมากับความรุนแรงในละครหลังข่าว แม้แต่ลูกชายลูกรักของแม่ก็ยังถูกละครเรื่องนี้ผนึกตราให้เห็นถึง ความบกพร่องทางเพศ เนื่องจากว่าชอบพอกับผู้ชายที่เชียร์ทีมลิเวอร์พูลด้วยกัน

อย่างไรก็ตามปมนี้ก็มีที่มาจากปัญหาที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “คุกในจินตนาการ”  ที่เรียกว่า ครอบครัว ปมลูกรักลูกชังทำงานอีกครั้ง คราวนี้กำหนดให้นพนภาเป็นที่อิจฉาริษยาแก่ เนตรนภิศ (เจนสุดา ปานโต) น้องสาว ทำให้น้องสาวคนนี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตอกลิ่มความขัดแย้งในคุกของนพนภา และในท้ายเรื่องเนตรนภิศนี้เองที่ประสบชะตากรรมอันเลวทรามกว่าพี่สาวของตน นั่นคือ สูญเสียทั้งความไว้วางใจของแม่-ลูก, สูญเสียสามีให้กับผู้ชาย 

ในด้านกลับของมุนินทร์ นางเอกมาดร้ายที่ไม่ยี่หระกับการแปดเปื้อนความสกปรกเพื่อล้างแค้น ก็ยังมีตัวละครอีกหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ รัชนก (จอย ชลธิชา) เธอเป็นคนที่ดิ้นรนมีชีวิตอยู่โดยไม่เลือกวิธี บางคนอาจมองว่าเธอเป็นแค่สิบแปดมงกุฎหลอกหากินไปวันๆ แต่ถ้าดูเบื้องหลังความเป็นลูกแม่เล้า และลูกเลี้ยงเจ้าของบ่อนใหญ่แล้ว รัชนกก็เคยเป็นนกที่เคยถูกขังอยู่ในกรงที่เรียกว่า ครอบครัวเช่นเดียวกัน การโบยบินของรัชนกมาอยู่ภายนอก ต้องการความอยู่รอดบนลำแข้ง โดยอาศัยความสามารถในการ “ตีสองหน้า” พร้อมจะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และเครื่องมือแบล็คเมล์

รัชนกกับมุนินทร์นับเป็นมวยที่ถูกคู่ เสียแต่ว่า นอกจากฉากที่มุนินทร์ถีบผลักให้ล้มหน้าคว่ำไปครั้งหนึ่ง ก็ไม่มีฉากการปะทะกันโดยตรงอีกเลย แม้ในตอนจบมุนินทร์กลับตัว รัชนกเองก็ไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดความแรงได้ การแต่งหน้าที่เข้มหนักยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่แคร์ถึงศีลธรรมจอมปลวก จอมปลอมใดๆ

อย่างไรก็ตามการถูกจับได้และไล่ออกจากที่ทำงานในสถานะลูกจ้างชั่วคราว ก็ทำให้เธอกลับไปยังคุกแห่งนั้นอีกครั้ง

พล็อตองคุลีมาล คนชั่วที่กลับใจเป็นอรหันต์

“ฉันมุนินทร์ มาขออโหสิกรรมจากคุณค่ะ คุณนพนภา”
มุนินทร์ จงสวัสดิ์
ตอนจบ 4 ธันวาคม 2555[iv] 




สำนวนวางดาบแล้วเป็นอรหันต์ นอกจากจะปรากฏในนิยายจีนกำลังภายในแล้ว ยังพ้องกันกับเรื่องเล่าปรัมปราที่เราได้ยินกันบ่อยก็คือ เรื่องขององคุลีมาล เขาได้รับคำทำนายในฐานะที่เกิดมาใต้ดาวโจรจึงได้ชื่อว่า อหิงสกะ (ผู้ไม่เบียดเบียน)  ในช่วงวัยเรียนก็ปรากฏว่า ถูกชักจูงจากการสอนที่บิดเบือน โดยชี้นำให้เห็นว่า หากจะสำเร็จวิชาจะต้องฆ่าคนให้ครบพันคน อย่างไรก็ตามแม้จะฆ่าคนมา 999 คน องคุลีมาลก็ยังไม่ถูกปิดกั้นจากทางนิพพานเมื่อมาเจอคำสอนของพุทธะ การบวชขององคุลีมาล ไม่ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์แบบง่ายดายสำเร็จรูป พระในสมัยนั้นจำเป็นต้องออกบิณฑบาตและพบปะกับชาวบ้าน การไปถึงหมู่บ้านต่างๆพระองคุลีมาลในตอนแรกก็สร้างความตระหนกให้แก่ชาวบ้าน แต่พอรู้ว่าองคุลีมาลไม่ใช่นักฆ่าผู้โหดร้ายอีกต่อไป ก็ทำการแก้แค้นโดยการปาด้วยก้อนหินและท่อนไม้ ทำร้ายจนจีวรฉีกขาด นี่คือ กรรมในชาตินี้ที่ส่งผลอย่างชัดเจน ในที่สุดก็เข้าสู่ภาวะความเป็นอรหันต์

ผู้เขียนเห็นว่าฉากบู๊เชือดเฉือนของมุนินทร์ จึงไม่ต่างอะไรกับตอนที่องคุลีมาลสมัยที่ยังเป็นโจร  กรรมใหญ่ของมุนินทร์ที่ทำการล่าผลาญครอบครัวนพนภา จึงอาจเปรียบกับ การฆ่า 999 ศพ สิ่งที่มุนินทร์กระทำโดยตรงก็คือ การเอาตัวเข้าแลกกับผอ.เจนภพเพื่อใกล้ชิดและสร้างความปวดร้าวให้กับนพนภาโดยตรง เรียกได้ว่า ทำทีเป็นควงผัวของตัวเองมาเย้ย ผ่านการจ้องมองทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ โดยมีเนตรนภิศ และรัชนก เป็นฝ่ายเสือหมอบแมวเซา หาข่าว และเติมเชื้อไฟ

มุนินทร์แคล้วคลาดจากการทำร้ายของคนไกลตัว แต่ที่สุดก็พลาดพลั้งให้กับวีกิจ ผู้ที่คอยติดตาม ดูแล และทนุถนอมเธอนั่นเอง แม้ว่าในตอนจบทั้งสองคนจะ “ได้กัน” ก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่ทำตัวเปรี้ยวและเอาตัวเข้าแลกเพื่อแก้แค้นผอ. และนพนภาแล้ว การถูกทำให้ลงเอยเช่นนี้ก็อาจจะสาสมอยู่บ้าง และอาจเรียกได้ว่าเป็น ผลกรรมร้ายอย่างเดียวที่มุนินทร์ประสบ เมื่อเอาตัวเข้าแลกเพื่อทำลายครอบครัวเขา ก็ต้องถูกเอาคืนด้วยการพรากพรหมจรรย์?

แต่สิ่งที่ทำให้มุนินทร์สำนึกจริงๆ ไม่ใช่การถูกเจาะไข่แดง แต่เป็นการได้อ่านจดหมายขออโหสิกรรมของมุตตา และยอมกลับใจไปกราบนพนภาถึงตัก น้ำตาไหลพรากๆ สมกับเป็นนางเอก พลานุภาพความดีงามชนะทุกสิ่งเหมือนกับที่องคุลีมาลวางดาบกลับใจ บวช และในที่สุดก็กลายเป็นอรหันต์

การกลับใจยังปรากฏอย่างเด่นชัดกับตัวละครหลักอีกตัวคือ ผอ.เจนภพ หากไม่นับปัจจัยครอบครัวแล้ว ผอ.เจนภพนับเป็นตัวปัญหาต้นๆ ความเจ้าชู้ของ ผอ.เป็นที่รู้กันดี ซึ่งความร้ายกาจของผอ. ปั่นหัวนพนภาได้ทั้งเรื่อง กรรมที่ตามทันผอ.ก็คือ สิ่งที่ชนชั้นกลางทั้งหลายหวาดกลัวนั่นคือ อาณาจักรครอบครัวที่ล่ม ซึ่งถูกบ่อนเซาะตลอดมาด้วยการกลับมาล้างแค้นของมุนินทร์ที่แสดงตนแบบลักกะปิดลักกะเปิดว่าเป็น “มุตตา” เหมือนแรงเงา แรงอาฆาตของผีที่ตามหลอกหลอน

กว่าที่ ผอ.เจนภพจะได้สำนึกก็หลังจากที่นพนภา ตกบันไดนอนเป็นผักอยู่บนเตียงแล้ว สิ่งที่พิสูจน์ว่า ผอ.กลับตัว ก็คือ ช็อตที่ผู้เขียนบทส่ง ไสวรินทร์ (ญาญ่าหญิง) มายั่วถึงห้องพัก แต่ผอ.ตัดใจไม่ยุ่งด้วย อย่างไรก็ตาม มีมิตรสหายท่านหนึ่งให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า จริงๆแล้ว มันน่าจะเป็นการแสดงถึงความหมดสมรรถภาพทางเพศของ ผอ. กระทั่งคล้ายคลึงกับกางปลดปลงในสภาพของการกลายเป็นนักบวช ผอ.เจนภพ จึงกลายเป็นหนึ่งในองคุลีมาลที่จำแลงมาอีกคน

ตัวละครสอนกรรม

"ในทางพระพุทธศาสนาเนี่ย ไม่มีคำว่าเหตุบังเอิญ
ไม่มีคำว่าชีวิตไม่ไม่ความยุติธรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ"

ลูกศร สั่งสอนมุนินทร์
ตอนจบ 4 ธันวาคม 2555[v]



บทของละครเรื่องนี้วางเรื่องกรรมเป็นโครงหลักของเรื่องไม่พอ ยังตอกย้ำด้วยการยัดคำพูดใส่ตัวละครอย่างบรรจงตั้งใจ ตัวละครหลักที่ทำตัวดุจนางชีคนแรก ก็คือ สร้อยคำ (น้ำฝน สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ) แม่ของวีกิจ ผู้เขียนไม่ทราบว่าเป็นหม้ายผัวตาย หรือหม้ายผัวหย่า แต่สถานะอันลึกลับนี้เอง ทำให้แม่วีกิจทำตัวประดุจแม่พระ ที่คอยดูแลและเป็นที่ปรึกษาของนพนภาในยามที่ไร้พึ่ง ในสถานะที่เป็นพี่สะใภ้ในแบบฉบับที่ดี แต่เราก็พบอารมณ์ปุถุชนของหล่อนหลายครั้งที่ “ยึดติด” กับความเข้าใจผิดอยู่เป็นเวลานาน

หากแม่ของวีกิจคือตัวแทนของนางชีแล้ว ลูกศร (มิณฑิตา วัฒนกุล) เพื่อนสนิทของมุนินทร์ก็เป็นภาพตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่นับถือพุทธด้วยการแสดงออกด้วยคำพูดที่พร่ำสอนเพื่อน บทที่กระดอนออกจากปากลูกศร ดูคลับคล้ายคลับคลากับ เนื้อหาในธรรมสำเร็จรูปที่มีขายตามคอนวีเนี่ยนสโตร์ ในแง่ธรรมะกับคนรุ่นใหม่ไปกันได้ดีอย่างยิ่ง ลูกศรสามารถแนะนำมุนินทร์ได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ว่าในละครไม่มีที่มากพอให้ลูกศรทดสอบตัวเองกับช่วงที่โหดร้ายของชีวิต

ขณะที่ แจงจิต (ตุ๊ยตุ่ย) ที่เป็นเลขาฯของผอ.ก็เป็นแบบฉบับของคนดี ข้าราชการที่ดี ที่พยายามวางตัวเป็นกลาง สั่งสอนคนในที่ทำงานในมาตรฐานที่ถูกที่ควร เป็นคนที่ทำตัวคล้ายกับสติกเกอร์หลังรถที่เขียนว่า “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดีคนเก่ง” หรือแบบที่ป๋อ ณัฐวุฒิ เคยพูดในละครช่อง 3 ซักเรื่องว่า “หน้าที่ของข้าราชการคือต้องรับใช้ประชาชน” และแน่นอนเธอยังวางตัวอย่างมีระยะกับเหตุฉาวทั้งหลาย เอาตัวรอดได้อย่างน่ายกย่องในสังคมคาวๆ

อาจกล่าวได้ว่า แม่วีกิจเป็นนางชีประจำบ้าน, ลูกศรเป็นนางชีที่เป็นมิตรสหายท่านหนึ่ง ขณะที่แจงจิตเป็นนางชีที่อยู่ในที่ทำงาน ทั้งสามอยู่ใน space ที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจกล่าวได้ว่า ใน space ไหนๆ เราก็หนีตัวละครสอนกรรมเราไปไม่พ้น

จริงหรือทีไม่มีใครใหญ่กว่ากรรม

“โอเคค่ะ คุณชนะ เฮ้อ พวกคุณทำลายฝันฉันหมดเลย...
ฉันกะจะเก็บไปให้ถึงซีสิบเอ็ดก่อนน่ะซีคะ
แล้วถึงจะออกนี่ได้แค่ซี 4 กระจอกๆ กับซี 8 ที่เกือบหมดน้ำยาเท่านั้นเอง”

รัชนก กล่าวกับ ผอ.เจนภพ
ตอนจบ 4 ธันวาคม 2555[vi]



ดูเผินๆแล้ว จะพบว่าแทบทุกคนโดนเล่นงานจากกรรมชั่วของตนเองทั้งสิ้น ทั้งจากกรรมแบบข้ามชาติ และกรรมในปัจจุบัน ดังที่เราพบว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรรมที่สุดก็คือ นพนภา ที่แม้จะมีทุกอย่างกลับมาเป็นของตัวเองในตอนท้าย แต่กลับกลายเป็นผักอยู่บนเตียงนอน น่าสมเพชเวทนายิ่งนัก เช่นเดียวกับเนตรนภิศที่สูญเสียแทบทุกอย่างไปในตอนจบด้วยการกระทำอันน่ารังเกียจของเธอเอง ที่เหลือก็โดนแบบแบ่งๆกันไป

วีกิจ (เคน ภูภูมิ) เป็นตัวละครที่ดูไร้มลทินที่มีบทบาทที่สุดในเรื่อง เขารับรู้แทบทุกเรื่อง เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคฤหาสน์สยองขวัญของนพนภา บ้านของเขา พื้นที่ในกระทรวง และสายใยกับมุนินทร์และมุตตา ดูเผินๆวีกิจเป็นคนที่ใสซื่อบริสุทธิ์แสนดี สุภาพอ่อนโยน วีกิจแทบจะยอมฝาแฝดแทบทุกเรื่อง วีกิจไม่ได้รับรักตอบจากมุตตา ในทางตรงกันข้ามเขาบรรลุถึงสิ่งนั้นจากมุนินทร์ แต่สิ่งที่คนที่เขารักประเคนความรวดร้าวมอบให้อยู่อย่างไม่วาเว้นก็คือ เพลิงแค้นที่กระหน่ำใส่ครอบครัวนพนภา ครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดความดีของเขาก็สุดกลั้น และปล่อยให้แตกเลอะเปรอะเปื้อนด้วยกิจกรรมคาวโลกีย์ต่อมุนินทร์ ในภาษากฎหมายการร่วมเพศที่ไม่สมยอมนี้อาจเรียกได้ว่า ข่มขืน แน่นอนเราแทบไม่พบว่า วีกิจต้องรับผลกรรมใดๆ ในมุมมองของคนดู การข่มขืนมุนินนทร์เพื่อแก้แค้น และอาจทำไปด้วยความรัก อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เสียด้วยซ้ำ

แต่สำหรับ รัชนก (จอย ชลธิชา) ฉายานกสองหัวแล้ว เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกดึงเข้ามาเป็นสปายให้กับนพนภา เบื้องหน้าของเธอคือ ผู้หญิงที่เรียบร้อยพูดจาไพเราะหวานหู ขี้สงสารเห็นใจ ข้างหลังของรัชนกเป็นอีกอย่างเป็นคนที่สุภาษิตไทยเรียกว่า “ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ” บางคนว่าหล่อนเป็นงูพิษ กระทั่งชื่อ “รัชนก” ขึ้นหิ้งเป็นคำด่ากันไปแล้ว เบื้องหลังของนกสองหัวยังดาร์กไปกว่านั้น เธอกินอยู่กับพี่ชายฉันผัวเมีย ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ เธอมักจะทำการลวงหลอกผู้ชายให้มามีความสัมพันธ์ด้วยแล้วพี่ชายของเธอก็ถ่ายทำคลิปเก็บไว้เพื่อแบล็คเมล์อีกรอบ แม้ว่าในท้ายที่สุดเธอจะโดนไล่ออกเพราะเธอไปละเมิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของผอ.จนต้องระเห็จจากกระทรวงแห่งนั้น แต่ความรอบจัดของเธอของเธอก็ยังแรงอย่างต่อเนื่อง เมื่อบทเปิดเผยว่า ภูมิหลังของเธอนั้นมืดมนกว่าที่ทุกคนคิด ในฐานะลูกแม่เล้าชายแดน พ่อเลี้ยงเป็นเจ้าของบ่อน พี่ชายที่ได้กันก็คือลูกของพ่อเลี้ยงอีกต่างหาก

รัชนกที่เลวร้ายมากในสายตาคนดู ได้รับกรรมเช่นใด บทละครไม่ได้เขียนลงทัณฑ์ให้กรรมใดกล้ำกราย นอกจากการแทรกความสัมพันธ์ใหม่กับ ประพงส์ (ปัญญาพล เดชสงค์) มาเฟียที่เคย ร่วมธุรกิจและมีความสัมพันธ์กับน้องต้อง ลูกของนพนภาและผอ.มาแล้ว ผู้เขียนบทละครอาจเห็นได้ว่าเขียนแบบนี้อาจเข้าทำนอง “ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาเจอกัน” แต่ตามหลักประพันธกรตายไปแล้ว สำหรับผู้เขียนบทความไม่เห็นว่าทางที่รัชนกจะก้าวไปจะเป็นทางที่มืดมนเท่าใดนัก กรรมอาจไม่สามารถทำอะไรกับรัชนก แห่งแรงเงาเลยก็เป็นได้


น่าเสียดายว่า ผู้เขียนไม่มีโอกาสดูแรงเงาในเวอร์ชั่นอื่นๆเปรียบเทียบ แต่แรงเงาในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ มีพล็อตที่เข้มแข็งอยู่บนตาข่ายความสัมพันธ์ของพระเจ้าที่ชื่อ “กฎแห่งกรรม” ความโด่งดังของละครนี้มาจากความคละคลุ้งคาวโลกีย์ ความรุนแรง และการเชือดเฉือนที่สร้างขึ้นมาได้อย่างลงตัวเหลือร้าย อาจเรียกได้ว่า เป็นละครที่ไปกันได้ดีกับการเมืองและสังคมไทยร่วมสมัยที่ปากอย่างใจอย่าง ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ขณะเดียวกันก็ไร้น้ำยาจะจัดการกับปัญหาจนต้องเรียกร้องให้ พระเจ้ากฎแห่งกรรมทำงานเพื่อกำจัดความชั่วร้ายแทนตัวเอง 

ดังนั้น ผู้เขียนจะไม่แปลกใจเลยว่า ถ้ามันจะมีสิ่งที่เรียกว่า รัฐประหารในนามของศีลธรรมอันดีงามอีกครั้ง และอีกครั้ง


[i] Positioning. "ละครออนไลน์ เรตติ้งของตัวจริง ไม่มั่วนิ่ม". http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=95625 (30 พฤศจิกายน 2555 )

[ii] แรงเงา Ep 1 (01/10/12). https://www.youtube.com/watch?v=kGgMHaRemoA (2 ตุลาคม 2555)

[iii] แรงเงา Ep 1 (01/10/12). https://www.youtube.com/watch?v=kGgMHaRemoA (2 ตุลาคม 2555)

[iv] ASTVผู้จัดการออนไลน์. "แรงเงา ตอนที่ 18 จบบริบูรณ์". http://www.manager.co.th/drama/ViewNews.aspx?NewsID=9550000139888&Page=4&TabID=3& (4 ธันวาคม 2555)

[v] Pantip. "ประโยคที่ลูกศรที่พูดกับมุนินทร์เมื่อคืน[แรงเงา]". http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A13020806/A13020806.html (4 ธันวาคม 2555)

[vi] ASTVผู้จัดการออนไลน์. "แรงเงา ตอนที่ 18 จบบริบูรณ์". http://www.manager.co.th/drama/ViewNews.aspx?NewsID=9550000139888&Page=1&TabID=3 (4 ธันวาคม 2555)

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร