ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
เรื่องราวของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ประมุขที่ 264 แห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกอีกครั้งเมื่อทรงประกาศลาออกจากตำแหน่งซึ่งจะมีผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจที่จะนำมาใคร่ครวญในฐานะกระจกที่จะส่องให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน
โดยส่วนตัว ผู้เขียนมีความประทับใจที่ต่อพระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 2 ในแง่ที่ทรงสังกัดคณะเบเนดิกทีนซึ่งมีชื่อว่าได้ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อวิถีแห่งนักพรตที่ขัดเกลาตนเองอย่างสูง อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้จักพระองค์ก็คือการนิพนธ์หนังสือที่น่าอ่านมากเล่มหนึ่งคือ “พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ” (จัดพิมพ์โดยสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ปี 2553) การประกาศลาออกจากตำแหน่งสูงสุดในพระศาสนจักรของพระองค์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจมากสำหรับผู้เขียน
ความน่าประทับใจไม่ได้อยู่ที่ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในรอบ 600 ปีนับจากพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 12 (ที่ทรงสละตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 1958) ในเอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักวาติกัน พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงระบุว่า การตัดสินพระทัยสละตำแหน่งครั้งนี้เป็นการตัดสินพระทัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการดำรงอยู่ของพระศาสนจักร (the decision of the great importance for the life of the Church) พระองค์ได้ไตร่ตรอง ณ เบื้องหน้าของพระเป็นเจ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแน่พระทัยแล้วว่าพระชนมายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นี้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติพระกรณียกิจในตำแหน่งพระสันตะปาปา กรณียกิจต่าง ๆ ที่พระศาสนจักรจะเกี่ยวข้องด้วยนั้นต้องอาศัยความเข้มแข็งทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย โลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและถูกเขย่าด้วยคำถามอันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตทางจิตวิญญาณมากมาย ได้ทำให้ทรงตระหนักว่า พระองค์ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้กิจการของพระศาสนจักรบรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาพี่น้องคาทอลิก ในท้ายคำประกาศลาออกทรงขออภัยต่อบรรดาภารดาทั้งหลาย (Brothers) เกี่ยวกับข้อบกพร่องทั้งหมดของพระองค์และขอให้ทุกคนไว้วางใจต่อพระศาสนจักร พร้อมทั้งแจ้งว่า พระองค์จะยังคงอุทิศตนรับใช้พระศาสนจักรของพระเป็นเจ้าต่อไปโดยการสวดภาวนาเยี่ยงนักพรตผู้สันโดษ [1]
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ใน “มหาปรินิพพานสูตร” ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นบทสนทนาที่ให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นบทสนทนาที่แสดงถึงตระหนักรู้ในความสำคัญของกาลเวลาที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และภารกิจที่จะพึงกระทำ และการที่จะกำหนดรู้ว่าตนเองได้เดินทางมาถึงแห่งหนใดในจุดหมายปลายทางของชีวิตและจิตวิญญาณ
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนจะทรงปลงพระชนมายุสังขาร (ทรงประกาศว่าจะปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า) พระพุทธองค์ทรงอาพาธอย่างหนัก พระไตรปิฎกพรรณนาไว้ว่าหนักเสียจนปริ่มว่าจะปรินิพพาน ครั้งนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่พระอานนท์ผู้ทำหน้าที่ดูแลพระพุทธองค์รู้สึกทุกข์ใจเป็นที่สุด เมื่อพระพุทธองค์ฟื้นจากอาพาธใหม่ ๆ พระอานนท์ได้พาไปประทับนั่งพักผ่อนใต้ร่มเงาพระวิหาร ขณะที่นั่งอยู่นั้นพระอานนท์ก็ได้กราบทูลถึงความรู้สึกตนเองว่า
“เมื่อได้เห็นสุขภาพของพระพุทธองค์และการที่ทรงอดกลั้นต่อทุกขเวทนาอย่างหนักนั้น ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยดุจคนเมา รู้สึกมืดมนไปทุกด้าน ธรรมก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว แต่กระนั้นก็ยังพอมีความเบาใจอยู่หน่อยว่า พระพุทธองค์จะยังไม่ทรงปรินิพพานตราบเท่าที่ยังไม่ได้ตรัสพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่พระสงฆ์”
ถ้อยคำของพระอานนท์ที่เล่าถึงความอ่อนเปลี้ยของร่างกาย และอาการมืดมนไปทุกด้านจน “ธรรมไม่ปรากฏ” นั้นบ่งบอกถึงความวิตกกังวลใจ ความห่วงใย ในบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็ได้บอกเล่าถึงความเบาใจของตนที่เกิดขึ้นหลังปลอบประโลมใจตนเองว่า”พระพุทธองค์” จะยังไม่ด่วนจากไปเร็วนัก พระพุทธเจ้าทรงสดับดังนั้นจึงตรัสตอบพระทำนองว่า พระสงฆ์จะพึงคาดหวังอะไรจากพระองค์อีกเล่า พระองค์เองไม่ได้คิดว่าจะทรงบริหารคณะสงฆ์ตลอดไป หรือคาดหวังว่าพระสงฆ์ควรจะยึดถือเอาพระองค์เท่านั้นเป็นหลัก พระองค์ได้ทรงเปิดเผยธรรมต่าง ๆ จนหมดสิ้นแล้ว เหตุไฉนพระองค์จะต้องตรัสพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่พระสงฆ์อีก
“บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน ผ่านวัยมามาก เรามีวัย 80 ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็นไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตยังสบายขึ้นก็เพราะเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และเพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น” (ที.ม. 10/164-165)
พุทธพจน์นี้นอกจากให้ภาพเกี่ยวกับวัยชราของพระพุทธองค์ ที่ต้องเผชิญกับสภาพสังขารที่ไม่อำนวยแล้วยังแสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของพระพุทธองค์ที่มีต่อสภาพร่างกายของพระองค์เองอีกด้วย ทรงชี้ให้พระอานนท์มองเห็นอนิจจลักษณะของชีวิตและเตือนให้ละความยึดมั่นผูกพันที่มีต่อพระองค์ อย่าคาดหวังว่าจะทรงดำรงอยู่กับสาวกทั้งหลายตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ภาพของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎนี้ไม่แตกต่างออกไปจากคนธรรมดาที่พอถึงวันหนึ่งสภาพร่างกายจะต้องทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในที่นี้เราได้พบบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า ในฐานะผู้ที่ตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของพระองค์เองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกาย ทรงตระหนักถึงวิถีแห่งความจริงที่พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่น่าประทับใจคือเรื่องนี้ทำให้เห็นวิถีแห่งการเผชิญความจริงตามแนวทางของพุทธศาสนา
บทสนทนานี้เกิดขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงปลงพระชนมายุสังขารไม่นานนัก เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อเนื่องกันไปกับเรื่องราวอื่น ๆ ในมหาปรินิพานสูตรโดยเฉพาะการปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า เราได้เห็นข้อที่น่าสนใจอย่างน้อยสามประการ หนึ่งคือ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงตระหนักถึงสัจธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระพลานามัยของพระองค์เอง สองคือการที่ได้ทรงตระหนักว่า กรณียกิจที่พระองค์ทรงกระทำไว้นั้นเพียงพอที่จะให้ศาสนธรรมดำรงมั่นต่อไปได้ และสามคือทรงตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงยุติบทบาทโดยการปรินิพพาน แล้วมอบภารกิจด้านศาสนธรรมหรือด้านจิตวิญญาณให้กับคณะสงฆ์สืบสานกันต่อไป
แม้ว่าในมหาปรินิพพานสูตรจะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติศาสนกิจวาระสุดท้ายมาถึง แต่ภาพที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็คือการที่พระองค์ทรงรู้ตระหนักถึงความจริงและรู้จักประมาณตน ทรงตระหนักถึงสัจธรรมในชีวิต ตระหนักถึงข้อจำกัดของสภาพร่างกายสังขารอันมีผลต่อการปฏิบัติศาสนกิจในอนาคต
เช่นเดียวกันกับภาพที่เราได้ เมื่อพิจารณาจากเอกสารการประกาศสละตำแหน่งของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 สิ่งที่พระองค์ตระหนักก็คือสัจธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระพลานามัยของพระองค์เอง เมื่อมองโดยสัมพันธ์กับภารกิจที่สำนักวาติกันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในโลกอันกว้าง ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับชีวิตทางจิตวิญญาณที่จะต้องเข้าไปช่วยแก้ไข พระองค์ก็ตระหนักว่านั่นเป็นเวลาอันสมควรที่จะทรงจัดการมอบภาระหน้าที่ให้คนอื่น ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมเข้ามาดำเนินการต่อไป
การเรียกร้องให้ตระหนัก “สัญญะแห่งกาลเวลา” (Sign of the time) ดูเหมือนจะเป็นจิตวิญญาณอันหนึ่งของคาทอลิก เพราะสัญญะแห่งกาลเวลาจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักรู้ถึงภารกิจในฐานะผู้รับใช้พระเป็นเจ้า ความหมายก็คงจะไม่ตรงจากการเรียกร้องให้ชาวพุทธได้ตระหนักรู้ในความเป็นอนิจลักษณะของสังขารมากนัก การตระหนักรู้ถึงอนิจจลักษณะของสังขารย่อมจะครอบคลุมเรื่องทั่วไปนับตั้งแต่เรื่องภายในตัวเราจนกระทั่งเรื่องที่ไกลออกไประดับจักรวาล การตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตน (“การประมาณตน” ในคำสอนเรื่อง สัปปุริสธรรม 7) ย่อมจะเกี่ยวข้องกับการรู้จักประมาณ (การตระหนักรู้) ความจริง การประมาณตนอย่างถูกต้องจึงไม่เพียงแต่เป็นการกำหนดวงไว้ที่ตัวเองโดยไม่สัมพันธ์กับปริมณฑลภายนอกที่กว้างขวางกว่า เพราะหากไม่มีข้อเปรียบเทียบจะรู้ตนเองได้ชัดเจนขึ้นได้อย่างไร
วิธีที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ประเมินพระองค์ในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ก็อาศัยกรอบอันยิ่งใหญ่คือโลกกว้างที่พระองค์หรือศาสนจักรจะต้องไปเกี่ยวข้อง ซึ่งทรงเห็นว่าภายใต้ภารกิจอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ พระองค์ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับมือและนั่นก็อาจไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว การประเมินศักยภาพตนเองและทรงประกาศลาออกเช่นนี้แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อความจริง ต่อโลกและต่อผู้อื่น ความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระสันตะปาปานี้ ยังแสดงออกด้วยความตั้งใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตสวดภาวนาเยี่ยงนักบวชธรรมดาคนหนึ่ง [2]
โลกของชาวคาทอลิกนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แม้ว่าในเชิงพื้นที่ทางกายภาพแล้วจะมีเพียงนิดเดียวแต่เมื่อมองในแง่เครือข่ายทางจิตวิญญาณและศาสนาที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก เราย่อมสามารถตระหนักได้ว่าสถานภาพของพระประมุขแห่งโรมันคาทอลิกนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อเทียบกับประเทศไทย ซึ่งโดยกายภาพของพื้นที่แล้วก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรและยิ่งเมื่อเทียบสถานภาพในฐานะประมุขทางศาสนาของไทยแล้ว ก็น่าจะมองเห็นตนเองได้ชัดเจนขึ้นว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน คนไทยจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีองค์กรสงฆ์ที่ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข แต่ดูเหมือนว่ากรณีคณะสงฆ์ไทยนั้น ภาพแห่งความตระหนักรู้ในสัจธรรม การอ่อนน้อมถ่อมตนและความกรุณาต่อสรรพสัตว์ (หรือชาวโลก) นั้นไม่ได้แสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจากคณะสงฆ์ในฐานะองค์กรสูงสุดที่รับผิดชอบต่อชาวพุทธทั้งมวลในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งสถาบันต่าง ๆ ที่อ้างว่ากล่อมเกลาหรือวางรากฐานบนพุทธศาสนธรรม
ว่ากันในส่วนสถาบันสงฆ์ การนิ่งเงียบและการปล่อยให้เรื่องราวของประมุขสงฆ์อยู่ในความอึมครึมนั้น ดูเหมือนจะเป็นปัญหาการเมืองเรื่องนิกายสงฆ์ภายในประเทศ คณะสงฆ์ไทยก็ได้ชื่อว่าผู้สืบทอดเจตนารมณ์อันถูกต้องของพุทธศาสนาหรืออย่างน้อยก็อวดอ้างไว้เช่นนั้นตลอดมา แต่ว่ากันตามตรง เราไม่ได้เห็นประจักษ์พยานแห่งธรรมที่จะแสดงออกผ่านกระบวนการงาน หรือที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตประจำวันของพระสงฆ์โดยรวมเท่าใดนัก อย่างน้อยที่สุดเราไม่ได้เห็น “หัวใจอันปล่อยวาง” อันเป็นผลมาจากการตระหนักรู้ถึงศักยภาพแห่งตนในอันที่จะเผชิญกับปัญหาอันเป็นหัวใจสำคัญของศาสนา เช่น ความทุกข์ของมนุษย์ที่นับวันขยายใหญ่ขึ้นตามความซับซ้อนของสังคมและชีวิตมนุษย์ ในกรณีการสืบทอดประมุขสงฆ์
เมื่อขยายเรื่องนี้ออกสู่ปริมณฑลของชาวพุทธไทยที่เป็นผู้นำสังคม หรือชนชั้นผู้นำที่มีอำนาจในสังคมทั้งหลาย เรายิ่งไม่เห็นการแสดงออกแห่งวิถีแห่งตระหนักรู้ เคารพ และยอมรับความจริง การปล่อยวาง หรือการลดทอนตนเองลง ณ เบื้องหน้าของความเป็นจริง เราได้เห็นแต่บุคคลและสถาบันที่มุ่งจะหลีกเลี่ยง ปกปิดและกลบเกลื่อนความจริงด้วยอำนาจทางกฎหมายที่ออกมาเพื่อตอบสนองชนชั้นของตนเอง เช่น เราได้เห็นกลไกความยุติธรรมที่กล่าวอ้างไว้ใน “พระธรรมศาสตร” (กฎหมายตราสามดวง) ว่าเป็นกลไกที่จะช่วยให้ทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์ปรากฏต่อประชากรของพระองค์นั้น กลายเป็นเครื่องมือ “กดทับ/กีดกัน/กลบเกลื่อน”ความจริง ในขณะที่พุทธศาสนาสอนให้ตระหนักรู้ความจริงและสอนให้พูดความจริง กลไกรัฐที่ชาวพุทธอยากให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น กลับไม่สะท้อนจิตวิญญาณของการเป็นพุทธศาสนาที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าอย่างที่ควรจะเป็น เครื่องมือของสถาบันอันเป็นควรเป็นที่ตั้งแห่งความกรุณาดังปรากฎในตำนานพระธรรมศาสตร์กลับกลายเป็นเครื่องมือที่บดขยี้ชีวิตผู้อื่นโดยไม่เหลือความกรุณาใด ๆ ไว้ อย่างเช่น กรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรืออากง เป็นต้น
เราได้เห็นการมุ่งที่จะขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบการปกครอง (แบบประชาธิปไตย) ของบรรดาชนชั้นผู้นำทางการเมือง และความพยายามที่จะเกาะเกี่ยวยึดมั่นในตำแหน่งแห่งที่ที่อำนาจของตนจะได้ใช้โดยไม่ตระหนักถึงศักยภาพความสามารถที่ตน เราได้เห็นการยึดมั่นอย่างไม่ผ่อนคลายเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในส่วนฆราวาสและพระสงฆ์ เราไม่รู้ว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ แต่เมื่อมองผ่านเรื่องของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และเรื่องเล่าในมหาปรินิพพานสูตรเราก็ได้เห็นแง่มุมที่อาจขยายความต่อไปได้อีกมากในแง่การไม่ตระหนักถึง “ความเป็นอนิจจลักษณะของสังขาร” ที่ศาสนธรรมพร่ำสอน
พุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตาและการสละละวาง “ทิฐิ” (ความเห็น) “มานะ” (ความถือตัว) เนื่องจากการยึดมั่นตัวตนและทิฐิมานะย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุธรรมขั้นสูง (สังโยชน์) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมพุทธศาสนาทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสถาบันนั้น เรารู้สึกได้ถึง “จิตอันยึดมั่นในตัวกู ของกู” ที่ก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในฐานะผู้ทรงศีล คนดี ผู้รู้และผู้แจ่มแจ้งในเรื่องศาสนาและจิตวิญญาณ โดยมักจะแสดงท่าทีว่าเป็นคนดีและผู้รู้มากกว่าใคร ๆ เช่น เมื่อพระพูดหรือเทศนาสั่งสอน ฆราวาสจะต้องยกมือขึ้นสาธุ ทั้งที่ในบางกรณีนั้นพระก็ไม่ได้นำเสนอหรือแสดงธรรมเทศนาอะไรที่ดูลึกซึ้งหรือเถียงไม่ได้ หากแต่ฆราวาสเองก็ไม่อยากจะเถียงกับท่านเพราะหวั่นเกรงในสถานะความศักดิ์สิทธิ์
พูดจากแง่มุมของสถาบันสงฆ์ การที่ผู้ปกครองสงฆ์มองไม่เห็นว่าสถาบันสงฆ์นั้นสัมพันธ์กับโลกที่อยู่รายรอบตัวเองอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ตนได้รับจากโลก และอะไรคือสิ่งที่ตนเองก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกทั้งในแง่บวกและแง่ลบ พร้อมทั้งมองโลกและสังคมโดยใช้สถาบันตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางนั้น “อัตตา” ของสถาบันได้ก่อตัวขึ้นและบดบังชีวิตอื่น ๆ เมื่ออัตตาของสถาบันได้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะทำให้มองไม่เห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ของสถาบันเอง การไม่พิจารณาสัจจะอย่างสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของตนย่อมทำให้“ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน” ต่อสัจจะและต่อผู้อื่น ตัวอย่างการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อสัจจะอย่างหนึ่งที่คนมักมองไม่เห็นก็คือ การยอมรับว่าตนเองหรือสถาบันสามารถจะทำสิ่งที่ผิดพลาดได้ และเมื่อผิดพลาดด้วยก็รู้จัก “ขอโทษ” ต่อผลกระทบใด ๆ ที่เกิดขึ้นในนามสถาบันหรือที่สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง
สถาบันทางสังคมจำนวนมากของเราก็ทำนองเดียวกัน คือได้กลายเป็น “สถาบันศักดิ์สิทธิ์” ที่ทำผิดไม่เป็นหรือมัวหมองไม่ได้ เจ้าหน้าที่ทหารออกมาฆ่าคนตายในกรณีตากใบก็ดี กรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงก็ดีล้วนแต่ปราศจากความผิดและการรับผิด ราวกับว่าสถาบันทหารเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำผิดไม่ได้ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นแง่มุมอันดีสำหรับการพิจารณาในเรื่องนี้ บุคคลหรือสถาบันที่ไม่ตระหนักรู้หรือไม่กล้าจะยอมรับความจริง โดยเฉพาะความจริงในแง่ลบของตนนั้นย่อมสะท้อนความมีอัตตาสูง ความเย่อหยิ่ง การไม่ยอมรับผู้อื่นและการไม่อ่อนน้อมถ่อมตน
เหล่านี้ย่อมสัมพันธ์กับการไม่ตระหนักถึงสัจธรรมอันเป็นอนิจจลักษณะ สภาวะที่ความถูกต้องไม่อาจผูกขาดไว้ในนามของบุคคลใดคนหนึ่งหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง และสภาวะที่ซึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ตราบใดที่เรายังคงเป็นมนุษย์สามัญธรรมดาคนหนึ่งและดำรงอยู่ในโลกอันซับซ้อน ผลในเชิงจริยะของการไม่ตระหนักรู้ข้อนี้ก็คือทำให้เราขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งต่อความจริงอันยิ่งใหญ่และผู้อื่น ด้านหนึ่งก็มีผลทำลาย “ความเมตตากรุณา” อันเป็นคุณธรรมของนักบวชหรือคำสอนสำคัญทางศาสนา เช่นมองไม่เห็นว่าตนเองจะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรต่อ “บาปธรรม” ที่ก่อขึ้นโดยสมาชิกของสถาบันสงฆ์ (หรือแม้สถาบันอื่น ๆ ที่กำลังเบียดเบียนชีวิตคนเล็กคนน้อยให้กลายเป็นผุยผงใต้ฝ่าเท้าอยู่นั้นก็เช่นเดียวกัน) แต่ปล่อยให้ “บาปธรรม” นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ในบางกรณีคนเหล่านั้นไม่ได้มีความผิดแต่ประการใด
การประกาศสละตำแหน่งพระประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิกของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จึงเป็นบทเรียนที่น่าพิจารณา ในแง่ที่ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะตระหนักเห็นข้อจำกัดของตนเองในการเผชิญโลกอันเปลี่ยนแปลงหลากหลายและมีคำถามใหม่ ๆ ให้ต้องเผชิญหรือจัดการอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ไม่เพียงแต่เป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อสัจจะ แต่ยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งความกรุณาต่อผู้อื่นและต่อชาวโลกด้วย
ในเอกสารที่เผยแพร่ออกมาโดยวาติกัน เราได้เห็นการยึดเอาศาสนธรรมเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ มิใช่การยึดเอาเปลือกนอกหรือตัวตนของตนเป็นหลัก เราได้เห็นความเมตตากรุณาที่ออกมาจากการลดทอนตัวเองลงต่อหน้าพระเป็นเจ้า ดังได้เห็นว่าพระสันตะปาปาได้กระทำการส่งต่ออำนาจหน้าที่อย่างใคร่ครวญและระมัดระวัง ลงมือกระทำในขณะที่ยังสติสมบูรณ์พร้อมย่อมดีกว่าลงมือทำเมื่อไร้สติสัมปชัญญะ เพราะเมื่อไร้สติสัมปชัญญะแล้ว เราก็ไม่อาจกระทำการใดให้ดีงามสมบูรณ์ได้ หากตนเองยังยึดมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางของกิจการต่าง ๆ ทั้งที่สภาพสังขารและจิตใจไม่เอื้ออำนวยแล้ว อนาคตเบื้องหน้าจะเป็นอย่างไร ความทุกข์ทางจิตวิญญาณของชาวโลกควรอยู่ในมือของผู้ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะเผชิญอย่างเข็มแข็ง มิใช่อยู่ในมือของผู้ที่อ่อนหล้า นี่คือสิ่งที่เรามองได้ว่าเป็นความกรุณาต่อผู้อื่น
เมื่อเราลดทอนตัวตนลงก็จะเห็นสัจจะอันยิ่งใหญ่ มองเห็น “การดำรงอยู่” ของคนอื่น ๆ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์และสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของเรา สัมพันธ์กับความสุขทุกข์โดยรวมของชีวิต
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และเผยแพร่ธรรม เราเชื่อว่าพระองค์ทรงยิ่งใหญ่ แต่ท้ายที่สุด เราก็ได้เห็นว่าพระองค์ได้ตระหนักถึงความอ่อนล้าของสังขาร ตระหนักถึงข้อจำกัดของพระองค์เอง และตัดสินพระทัยว่าถึงเวลาที่พระองค์ต้องไป พระองค์ฝากความหวังไว้กับผู้ซึ่งจะมาทีหลังในนามของสงฆ์ มิใช่ในนามของ “บุคคล” นี่ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้เช่นเดียวกันกับที่เราควรได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติของศาสนิกชนอื่น ๆ เช่น กรณีพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่งเพื่อให้เหล่าภารดาทั้งหลายได้สานต่อในนามพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก
รายการอ้างอิง
[1] “Pope Benedict Resignation Announcement (FULL TEXT)” http://www.huffingtonpost.com/2013/02/11/text-of-pope-announcement_n_2660811.html เข้าถึงเมื่อ 15-2-2013
[2] คุณพ่อเฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าววาติกันยืนยันว่า หลังสละตำแหน่งพระสันตะปาปาจะดำเนินชีวิตสวดภาวนาแบบสันโดษเช่นนักพรตในเขตอารามวาติกัน http://www.popereport.com/2013/02/blog-post_775.html เข้าถึงเมื่อ 15-2-2013
บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชื่อบทความเดิม:
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร