Skip to main content

คุณคิดอย่างไรกับการใช้เครื่องสำอางเสริมความงาม และการแต่งหน้าบ้างคะ?

อันที่จริง ฉันเป็นคนไม่แต่งหน้าเลยค่ะ นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น ยาสีฟัน สบู่ แชมพูที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ฉันไม่แตะต้องเครื่องสำอางประเภทอื่นอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสีสันที่เอามาป้ายหน้า ไม่มีทาง! ในชีวิตนี้ฉันแต่งหน้านับครั้งได้ (นอกจากงานโรงเรียนสมัยประถมที่ให้เด็ก ๆ ออกไปร้องรำทำเพลงแล้ว ก็มีแค่รับปริญญาอีกงานเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ถูกอาจารย์บังคับจับแต่ง) มาสคาร่าใช้ทำอะไร แตกต่างอย่างไรกับอายแชโดว์ฉันก็ไม่รู้ ถ้าเอาเครื่องสำอางมาวางเรียงตรงหน้า ฉันก็เรียกชื่อมันไม่ถูก ในความรู้สึกของฉัน หน้าที่แต่งแล้วมันหนัก ให้ความรู้สึกว่าหายใจไม่ออก สิ้นเปลือง แล้วเวลาเทรนด์ไหนเกิดฮิตขึ้นมา เด็กสาว ๆ ก็จะแต่งตาม ๆ กันไปตั้งแต่หัวถนนจนท้ายถนน เหมือนกันเปี๊ยบอย่างกับโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน มันน่าสะพรึงออกจะตาย!

แต่นั่นเป็นความคิดที่มาจากมุมมองของคนที่ไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสกับข้อดีของการใช้เครื่องสำอางด้วยตัวเองเท่านั้นค่ะ

ครั้งแรกที่เห็นหน้าปกของ ‘อยากจะสวย เราช่วยได้’ (cosme-no mahout) ผลงานของอาจารย์ Momolo Aikawa ที่จัดพิมพ์โดยบงกชคอมมิคส์ ฉันก็คิดว่ามันจะต้องเป็นการ์ตูนบริโภคนิยมที่อวดอ้างสรรพคุณอันน่ามหัศจรรย์ของเครื่องสำอาง ที่สามารถใช้สีสันเปลี่ยนแปลงเด็กสาวธรรมดา ๆ ให้โดดเด่นสะดุดตาน่ามองเหมือนใช้เวทมนต์ นำมาผูกเข้ากับดราม่าอีกนิดหน่อย ออกมาเป็นการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายขายความฝันให้เด็กสาว ๆ ซื้อไปอ่าน แล้วจิตนาการเอาว่าถ้าใช้เครื่องสำอางแล้วตัวเองก็สามารถเปลี่ยนเป็นคนสวยแบบตัวละครในเรื่องได้เหมือนกัน

แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่เลยค่ะ

‘อยากจะสวย เราช่วยได้’ นำเสนอเรื่องราวแบบเป็นตอน ๆ โดยมีทาคางิ เรโกะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามประจำเคาท์เตอร์เครื่องสำอางมาเบล (หรือที่รุ่นน้องและเพื่อนร่วมงานแอบเรียกลับหลังว่าแม่มดเครื่องสำอาง) เป็นตัวละครที่จะยืนเป็นหลักอยู่ทุกตอน (พร้อมกับประโยคติดปากว่า ‘การละเลยความงามเป็นความผิดมหันต์!!) และในแต่ละตอน ก็จะนำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวแต่ละคน ที่มีชีวิต มีปัญหา และทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป

การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ขายเครื่องสำอางค่ะ ตรงกันข้าม ทาคางิ เรโกะต่อต้านการซื้อเครื่องสำอางมากมายหรือการใช้ของราคาแพงโดยไม่มีความจำเป็นเนื่องจากแนวคิดที่ผิดๆ ว่า ยิ่งใช้เครื่องสำอางมากชนิด หรือยิ่งใช้ของที่ราคาแพงมาก ก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เรื่องนี้เน้นย้ำคือ คุณต้องเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวคุณ โดยไม่ต้องตามกระแส รักษามาตรฐานที่เคยทำได้ไว้ให้สม่ำเสมอ และต้องให้เวลากับการใส่ใจตัวเองและคนรอบข้าง

แม้ว่าจะมีเครื่องสำอางเป็นส่วนประกอบของแกนเรื่องหลักอยู่ทุกตอน แต่เนื้อหาสาระที่แท้จริงของการ์ตูนเรื่องนี้กลับอยู่ที่เรื่องราวของบรรดาหญิงสาวที่เป็นตัวเอกในแต่ละตอน หญิงสาวเหล่านี้เป็นตัวแทนของคนจริง ๆ ที่เราอาจพบได้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่บางครั้งเธอเหล่านั้นอาจจะอยู่ในตัวของเราเองก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่กระหน่ำซื้อเครื่องสำอางโดยไม่สนใจว่าจะได้ใช้หรือไม่เพียงเพื่อคลายเครียด, คนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยสนใจคิดถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเองเลย และต้องเครียดเพียงเพราะพนักงานขายบอกให้เลือกเครื่องสำอางเอง, คนที่ต่อต้านการใช้เครื่องสำอาง เนื่องจากคิดว่ามันเป็นเครื่องมือสร้างหน้ากากที่ปิดบังความจริง มีแม้กระทั่งคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ประเภทที่ต้องล้างมือเป็นสิบ ๆ ครั้งในแต่ละวัน

ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องสำอางและคำแนะนำในการใช้ที่ถูกวิธีเหมาะสมกับแต่ละคนจากทาคางิ เรโกะ พวกเธอเหล่านั้นก็สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ในที่สุด ที่ทำได้ไม่ใช่เพราะเครื่องสำอางมีพลังพิเศษ ไม่ใช่เพราะความสวยจากการแต่งหน้าที่ช่วยให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่การ์ตูนเรื่องนี้กำลังบอกให้เราคิดทางบวก และรักตัวเองให้มาก ๆ ค่ะ

การใช้เครื่องสำอางที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงการระบายสีบนใบหน้าอย่างที่เรามักจะเข้าใจเท่านั้น แต่ขั้นตอนที่สำคัญคือขั้นตอนพื้นฐานอย่างการบำรุงรักษาร่างกายให้มีสุขภาพดีต่างหาก ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความกดดันและเร่งรีบ คนเรามักเหนื่อยล้าและเคร่งเครียดกับการงานมากจนอยากจะใช้เวลาว่างที่เหลือทั้งหมดไปกับการนอน หรือทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ต้องออกแรง เช่นการดูโทรทัศน์ จนคิดไปว่าการบำรุงผิวพรรณ หรือเส้นผมนอกเหนือจากการทำความสะอาดเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก สิ้นเปลือง และเบียดบังเวลาอันมีค่าไป แต่ความจริงแล้ว การบำรุงรักษาร่างกายมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะมันทำให้เรารู้สึกตัวว่า นานเท่าไรแล้วที่เราไม่ได้มองกระจก นานเท่าไรแล้วที่เราทุ่มเทเวลาให้กับอย่างอื่นในโลกมากมาย แต่ไม่เคยเหลือเวลาให้กับตัวเอง นานเท่าไรแล้วที่เราไม่เคยได้ยินสัญญาณร้องขอการพักผ่อนอย่างแท้จริง และมากมายแค่ไหนแล้ว ที่ร่างกายของเราต้องทนแบกรับความเหนื่อยล้า ความเบื่อหน่าย ความตึงเครียด ทั้งจากการเรียน การงาน และการใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรนในสังคมปัจจุบันเอาไว้

ยิ่งให้เวลากับการดูแลตัวเองมากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีเวลาสำหรับย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ทุกขั้นตอนที่ดูเหมือนยุ่งยาก ความจริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอด้วยความเอาใจใส่ เมื่อเราจดจ่อกับมัน ก็จะเหมือนการทำสมาธิที่ทำให้จิตใจและร่างกายได้ผ่อนคลายไปพร้อม ๆ กัน เพราะในเวลานั้น เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องงาน หรือปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดความเครียด การดูแลร่างกายเป็นกิจกรรมที่ละเอียดอ่อน และให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถูกรัก

เมื่อเราเริ่มต้นด้วยการรักและให้ความสำคัญกับตัวเองแล้ว ต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะให้ความรักและ ความสำคัญกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความนุ่มนวลเอาใจใส่

ในทรรศนะของทาคางิ เรโกะ การแต่งหน้าก็ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเติมสีสันบนใบหน้าเพื่อให้ชวนมองขึ้นเท่านั้น แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความรู้จักกับตัวเอง นั่งลงตรงหน้ากระจก พิจารณาถึงจุดเด่นและจุดด้อยอย่างตรงไปตรงมา ดึงเอาสิ่งที่ดีออกมาใช้ แก้ไขจุดด้อยที่เป็นอยู่ เนื่องจากใบหน้าของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแต่งหน้าตามสมัยนิยมจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง และนั่นเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ยอดเยี่ยม จริงไหมคะ?

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้ยังให้เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาการใช้สีที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของผู้พบเห็น ประเภท ลักษณะ และการผสมผสานของสี (ซึ่งฉันแอบเอาไปปรับใช้กับการวาดรูปและลงสีตัวการ์ตูน :p) วิธีการเลือกและใช้เครื่องสำอางที่ถูกต้องเหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวเอง รวมไปถึงเทคนิควิธีการแต่งหน้าแบบต่าง ๆ ซึ่งเมื่อนำมานำเสนอในรูปแบบการ์ตูน ก็ทำให้เข้าใจและจำได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับเด็กวัยรุ่นที่กำลังคิดจะเริ่มต้นดูแลตัวเองอย่างจริงจังค่ะ

ถ้ากำลังมองหาการ์ตูนสักเรื่องที่จะเพิ่มพลังทางบวกให้กับตัวเอง ลองหยิบ ‘อยากจะสวย เราช่วยได้’ มาลองอ่านกันดูนะคะ แล้วคุณจะได้เรียนรู้ถึงวิธีง่าย ๆ ที่จะเปล่งประกายความสวยอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณเองได้โดยไม่ต้องตามแฟชั่นค่ะ.

 

บล็อกของ Carousal

Carousal
คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า ในโลกอันกว้างใหญ่ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไปด้วยแรงขับดันจากพละกำลังของมนุษย์เช่นทุกวันนี้ แท้ที่จริงแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ร่วมเป็นเจ้าของด้วยเหมือนกัน?เมื่อสามสัปดาห์ก่อน รายการ ‘คนค้นฅน’ ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หมอล็อต’ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งรับหน้าที่รักษาช้าง ผู้ป่วยของคุณหมอมีทั้งช้างบ้าน (มีบ้างที่ผู้ป่วยมาหาหมอ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมอจะเป็นฝ่ายขับรถไปหาผู้ป่วย) และช้างป่า (อันนี้หมอต้องหาพรานนำทางบุกเข้าป่าไปหาผู้ป่วยด้วยตัวเองสถานเดียว) ดูแล้วคิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาทันทีWildlife…
Carousal
‘Wild horses run unbridled or their spirit dies’ทุกครั้งที่ได้ยินประโยคนี้จากเพลง ฉันจะคิดถึงการ์ตูนอนิเมชั่นของ Dreamwork เรื่อง Spirit : Stallion of the Cimarron หรือในชื่อไทย สปิริต ม้าแสนรู้ มหัศจรรย์ผจญภัยคุณเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้ไหมคะ? มันเป็นเรื่องของม้าป่าในทวีปอเมริกา ในยุคที่คนขาวจากยุโรปอพยพย้ายเข้าไปอยู่ได้ระยะหนึ่งแล้ว กำลังทำสงครามต่อสู้ติดพันกับอินเดียนแดง และกำลังสร้างทางรถไฟพาดผ่านแผ่นดินจากตะวันออกสู่ตะวันตก Spirit เป็นม้าป่าไร้ชื่อที่กำเนิดในฝูงม้าที่มีเพียงทุ่งหญ้าและสายลมเป็นเจ้าของ มันเติบโตขึ้นเป็นม้าหนุ่มฉกรรจ์ รับหน้าที่เป็นผู้นำฝูง…
Carousal
ทุกวัน ทุกเช้า ทุกคืน ทุกครั้งที่ใช้มีดหั่นลงไปบนเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิต และใช้ส้อมจิ้มมันเข้าปาก คุณเคยคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับการกินและความหมายของการสืบทอดจากชีวิตสู่ชีวิตบ้างไหมคะ?ถ้าเคย บางทีการ์ตูนเล่มนี้อาจจะให้คำตอบแก่สิ่งที่คุณสงสัย และแนวคิดใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่งแก่คุณค่ะ22XX เป็นผลงานเล่มเดียวจบของชิมิสึ เรโกะ (ผู้เขียน Moon Child, Kaguyahime) โดยจับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด การพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเหมือนมนุษย์ทุกประการก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป แจ็ค ไนเจล คือหนึ่งในนั้น เขามีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์…
Carousal
คุณคิดอย่างไรกับการใช้เครื่องสำอางเสริมความงาม และการแต่งหน้าบ้างคะ?อันที่จริง ฉันเป็นคนไม่แต่งหน้าเลยค่ะ นอกจากผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น ยาสีฟัน สบู่ แชมพูที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ฉันไม่แตะต้องเครื่องสำอางประเภทอื่นอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสีสันที่เอามาป้ายหน้า ไม่มีทาง! ในชีวิตนี้ฉันแต่งหน้านับครั้งได้ (นอกจากงานโรงเรียนสมัยประถมที่ให้เด็ก ๆ ออกไปร้องรำทำเพลงแล้ว ก็มีแค่รับปริญญาอีกงานเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ถูกอาจารย์บังคับจับแต่ง) มาสคาร่าใช้ทำอะไร แตกต่างอย่างไรกับอายแชโดว์ฉันก็ไม่รู้ ถ้าเอาเครื่องสำอางมาวางเรียงตรงหน้า ฉันก็เรียกชื่อมันไม่ถูก ในความรู้สึกของฉัน หน้าที่แต่งแล้วมันหนัก…
Carousal
เมื่อรัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ปรับเปลี่ยนบทลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์จากโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต มาเป็นการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ที่ต้องใช้แรงงานอุทิศตนเพื่อประชาชนไปจนวันตาย ทางรัฐบาลจึงต้องทำการทดลองนำร่องเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นเป็นเหตุผลที่นักโทษประหารคนหนึ่งถูกนำตัวออกมาจากห้องมืดของเรือนจำ เพื่อรับข้อเสนอให้อุทิศตนเป็นตัวอย่างทดลองสำหรับโครงการนี้ แลกกับการได้กลับไปสู่โลกแห่งแสงสว่างและเสรีภาพผู้ที่ได้รับเลือกคือ ทาจิมะ เรียวเฮย์ นักโทษประหารหมายเลข 042ก่อนหน้าที่จะได้อ่านเรื่อง ‘นักโทษประการ 042’ ฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น…
Carousal
ฉันได้ยินชื่อ Elfen Lied เป็นครั้งแรกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างของบรรดาสมาชิกห้องการ์ตูน เฉลิมไทย พันทิปดอทคอม ในฐานะการ์ตูนและอนิเมชั่นที่ดีที่สุดในรอบปีถัดจากนั้นมาไม่นานนัก ฉันกลับได้ยินชื่อของ Elfen Lied อีกครั้งจากรายงานข่าวการตรวจค้นร้านการ์ตูนและเมดคาเฟ่ชื่อดังย่านสยามสแควร์ ในฐานะสื่อลามกที่สมควรจะถูกกวาดล้างให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยความขัดแย้งของข่าวสองกระแส ทำให้ฉันสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่การ์ตูนเรื่องหนึ่ง จะเป็นทั้งการ์ตูนที่ดีที่สุด และสื่อลามกได้ในเวลาเดียวกัน ฉันจึงไปหามาอ่านดูบ้าง หลังจากพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้ว ฉันก็ได้ข้อสรุปว่า สำหรับฉัน Elfen Lied…