เมื่อรัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ปรับเปลี่ยนบทลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์จากโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต มาเป็นการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมในฐานะผู้ที่ต้องใช้แรงงานอุทิศตนเพื่อประชาชนไปจนวันตาย ทางรัฐบาลจึงต้องทำการทดลองนำร่องเพื่อเก็บข้อมูล และนั่นเป็นเหตุผลที่นักโทษประหารคนหนึ่งถูกนำตัวออกมาจากห้องมืดของเรือนจำ เพื่อรับข้อเสนอให้อุทิศตนเป็นตัวอย่างทดลองสำหรับโครงการนี้ แลกกับการได้กลับไปสู่โลกแห่งแสงสว่างและเสรีภาพ
ผู้ที่ได้รับเลือกคือ ทาจิมะ เรียวเฮย์ นักโทษประหารหมายเลข 042
ก่อนหน้าที่จะได้อ่านเรื่อง ‘นักโทษประการ 042’ ฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ควรมีจุดประสงค์เพื่อการปรับปรุงนักโทษ บำบัดปมทางจิตหรือทัศนคติที่ผิดต่อสังคมส่วนรวม เพื่อให้นักโทษสามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้ตามวิถีทางที่เหมาะสม หรือมีจุดประสงค์เพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายกันแน่
ถ้าเพื่อนักโทษ แล้วความรู้สึกของผู้ที่ต้องเจ็บปวดสูญเสียจากการกระทำของนักโทษเล่า? แล้วถ้าเพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย การลงโทษที่เด็ดขาดรุนแรงอย่างการประหารหรือจำคุกตลอดชีวิตเป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องจริงหรือ? นักโทษเหล่านั้นมีปมในจิตใจ หรือสาเหตุอะไรอื่นอีกหรือเปล่านอกเหนือจากความเลวร้ายที่ผลักดันให้เขาก่อคดีขึ้น? เราจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา อย่างเช่นความยากตน ความบกพร่องของสถาบันครอบครัว แล้วชี้หน้ากล่าวโทษผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเหยื่อของปัญหาเหล่านั้นให้รับบาปแต่เพียงผู้เดียวได้ลงคอจริงหรือ?
ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้พบการ์ตูนเรื่องนักโทษประหาร 042 ฉันจึงไม่ลังเลใจเลยที่จะหยิบมันมาอ่าน เพื่อจะได้รู้ว่าคนอื่นมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้
ทาจิมะ เรียวเฮย์ หรือที่ทุกคนเรียกว่า ‘042’ ตามรหัสประจำตัวที่ได้รับจากเรือนจำในฐานะนักโทษประการนั้น เป็นฆาตกรที่ฆ่าคนตายมาแล้วเจ็ดศพ (นับเฉพาะที่พบหลักฐานชัดเจน) ตอนที่ถูกเลือกให้เป็นตัวอย่างทดลองรายแรก 042 อายุสามสิบปี ทีมวิจัยได้ผ่าตัดฝังชิปแผ่นหนึ่งเข้าไปในสมองของเขา ชิปแผ่นนี้จะทำหน้าที่ตรวจจับอารมณ์และความรู้สึก เมื่อใดก็ตามที่ 042 มีอารมณ์รุนแรงถึงขั้นที่สามารถฆ่าคนได้ ชิปแผ่นนี้จะระเบิด และ 042 จะเสียชีวิตทันที
มันเป็นการแลกเปลี่ยนง่ายๆ ถ้า 042 สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้วิธีการเข้าสังคม และปรับตัวให้เข้ากับคนหมู่มากได้ เขาก็จะได้มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และโครงการส่งนักโทษมาทำงานเพื่อสังคมก็จะได้รับการอนุมัติ แต่ถ้าพลาด ชิปในหัวของเขาก็จะระเบิด โครงการจะจบลง พร้อมกับชีวิตของ 042
สังคมจำลองนอกเรือนจำแห่งแรกที่ 042 ได้ไปอยู่ คือโรงเรียนมัธยมชูเอย์ ที่นั่น 042 ได้รับมอบหมายให้ทำงานจิปาถะประเภททำความสะอาด ดูแสสวนต้นไม้ โดยมีผู้คุมและทีมนักวิจัยจำนวนหนึ่งคอยตรวจสอบพฤติกรรมตลอดเวลาผ่านกล้องทีวีวงจรปิดที่ติดไว้ทั่วโรงเรียน และเครื่องส่งสัญญาณที่ติดไว้ที่ขา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพูด ทำ หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงจังหวะการเต้นของหัวใจและการหายใจ จะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด
ในตอนแรก ฉันคิดว่าอุปสรรคสำคัญของโครงการนี้น่าจะอยู่ที่ตัว 042 เนื่องจากเขาเป็นนักโทษประหาร เป็นฆาตกรที่ก่อคดีฆาตกรรม เขาน่าจะมีความผิดปกติทางจิตที่ทำให้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์หรือการปรับตัวเข้ากับสังคม แต่เปล่าเลย ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ที่การยอมรับของผู้คนในสังคมต่างหาก ตั้งแต่วันแรกที่ออกสู่โลกภายนอก 042 ก็ถูกพวกนักเรียนรังเกียจ คนที่กลัวก็หลบเลี่ยงทำท่าหวาดผวา คนที่กล้าหน่อยก็ตะโกนด่าให้เขากลับเข้าเรือนจำ มีกลุ่มเด็กเกเรจงใจมายั่วยุเพื่อให้เขาโกรธเพราะอยากเห็นหัวคนระเบิดต่อหน้าต่อตา แม้แต่ญาติผู้เสียชีวิตและประชาชนทั่วไปก็มาชุมนุมกันที่หน้าโรงเรียน เพื่อประท้วงโครงการของรัฐบาลจนแทบจะกลายเป็นจลาจล
พฤติกรรมของคนเหล่านั้นทำให้ฉันหันกลับมามองตัวเอง ก่อนที่จะอ่านและรู้จักกับ 042 ฉันก็ตัดสินค่าของเขาแบบเดียวกันกับคนเหล่านั้น ว่าเขาจะต้องเป็นตัวปัญหา และหากนี่ไม่ใช่เพียงการ์ตูน แต่เป็นเหตุการณ์จริง ฉันก็เชื่อว่าจะต้องมีคนทำอย่างนี้แน่ๆ หลายครั้งหลายหน การที่ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องกลับไปทำซ้ำแบบเดิมทั้งที่ไม่อยาก ก็มีผลเนื่องมาจากการไม่รู้จักให้อภัยและความรังเกียจที่สังคมแสดงต่อเขานั่นเอง
นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ฉันรู้สึกเห็นใจ 042...แม้จะรู้อยู่แล้วว่าการมีตัวตนอยู่ของตัวเองไม่เป็นที่ต้องการของใครเลย แต่การได้ยินและได้เห็นมันอย่างเป็นรูปธรรมต่อหน้าแบบนี้ ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกเสียใจด้วยกันทั้งนั้น
แต่ 042 เก็บความรู้สึกนี้ไว้ภายใต้สีหน้าที่เรียบเฉย เขาไม่ได้ต้องการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้ต้องการได้รับการอภัย เขาเพียงต้องการอิสรภาพที่จะได้มองท้องฟ้าและดวงอาทิตย์เท่านั้น แม้ว่านั่นจะเป็นเพียงอิสรภาพจอมปลอมที่มีกำหนดเวลาและผู้คุมคอยตามดูอยู่ทุกฝีก้าวก็ตาม
ด้วยความที่เอาใจช่วย 042 ไปแล้ว ฉันจึงคาดหวังว่าจะต้องมีตอนใดสักตอนที่เฉลยว่าที่จริงแล้ว 042 ไม่ได้เป็นฆาตกร หรือไม่มันก็ต้องเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือความบังเอิญ แต่เปล่าเลยค่ะ 042 ไม่ได้เป็นพระเอกน้ำเน่า เขาไม่เคยปฏิเสธเรื่องที่เขาฆ่าคน เขายอมรับมัน ยอมรับไปกระทั่งว่ามันไม่ได้เป็นความผิดพลาด มันเป็นความตั้งใจ และในเวลาที่ทำนั้นเขาไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เขามีเหตุผลของเขาเอง แต่เขาไม่ได้ยกมันขึ้นมาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบอกใครต่อใคร ในเมื่อตัวเขาเองยังยอมรับได้ คนอ่านอย่างฉันก็ต้องยอมรับให้ได้เหมือนกัน
นอกจากการยอมรับความผิดอย่างลูกผู้ชายแล้ว 042 ยังมีความอ่อนโยนแฝงไว้ในจิตใจ การได้กลับออกมาเห็นแสงตะวันอีกครั้งหลังการเข้าไปใช้ชีวิตในคุกที่มีแต่ความมืด อากาศอบอ้าว กลิ่นเหม็น และพันธนาการ ทำให้ 042 ตระหนักว่าก่อนที่จะเข้าคุก เขาไม่เคยมองเห็นโลกอย่างที่มันเป็น และเมื่อได้รู้จักกับยูเมะ เด็กสาวตาบอดซึ่งเป็นคนเดียวที่กล้าเข้ามาคุยกับเขา ทำให้ 042 ได้รู้เป็นครั้งแรกว่า ความรู้สึกผูกพันกับใครสักคน ความห่วงใย และคุณค่าของชีวิตเป็นอย่างไร
แม้ว่าบทสรุปสุดท้ายแล้ว 042 จะยังคงต้องเป็นในสิ่งที่เขาเป็นมาตั้งแต่ต้น นั่นคือนักโทษประหาร แต่สำหรับผู้อ่าน 042 ทำให้ความหมายของคำๆ นั้นเปลี่ยนไป จากจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยความระแวงแคลงใจ กลายเป็นความรู้สึกที่ว่า บางทีนั่นอาจจะเป็นคนๆ หนึ่งที่ต้องการความเข้าใจ เหมือนอย่างที่ด็อกเตอร์ชีนะ ผู้ควบคุมการทดลองกล่าวไว้ในช่วงท้ายก่อนที่การทดลองจะจบลง
‘พวกเขาเองก็เป็นมนุษย์ เกิดมาโดยมีพ่อแม่เหมือนกับพวกเธอ หัดเดิน เข้าเรียนประถม เข้าเรียนมัธยม พวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับคนที่ยืนอยู่ข้างๆ พวกเธอ บ้างก็เพราะถูกทำร้ายจากการที่มีความรู้สึกผิดแผกไปจากคนอื่น บ้างก็เพราะปัญหาทางบ้าน หรือเพราะความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จากชีวิตประจำวันเหล่านี้แหละ ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นก็เป็นได้ ดังนั้น ไม่ว่ายังไง ขอให้มองดูรอบข้างไว้ หากพบคนที่เหงาหงอยหรือท่าทางมีปัญหา ก็ขอให้อ่อนโยนกับเขา อย่าไล่ต้อนเขาไปอยู่ในมุมที่สังคมของเรามองไม่เห็น’
ฉันอยากแนะนำให้คุณอ่าน ‘นักโทษประหาร 042’ อยากให้คุณได้รู้จักทาจิมะ เรียวเฮย์ การออกจากคุกมืดของเขา ไม่ได้ทำให้เขาได้ตระหนักถึงความหมายของชีวิตที่เขาไม่เคยมองเห็นคุณค่าของมันเท่านั้น แต่เราทั้งหลายก็ได้ตระหนักในสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเข้าใจ’ และ ‘การให้โอกาส’ ด้วยเช่นกัน