คุณชอบฟังดนตรีคลาสสิคหรือเปล่าคะ?
ถ้าพูดถึงการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค คงมีหลายคนนึกถึงการ์ตูนที่กลายมาเป็นซีรีส์เรื่องดัง อย่าง Nodame Cantabile (วุ่นรักนักดนตรี) แต่วันนี้ ฉันจะมาชวนคุณคุยถึงการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ดังเท่า แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวในดวงใจของนักอ่านหลายคนเลยละค่ะ
Piano-no Mori (ป่าแห่งเปียโน)
Piano-no Mori หรือชื่อในภาษาอังกฤษ ‘The Perfect World of KAI’ เป็นผลงานของอาจารย์ ISSHIKI MAKOTO (ผู้เขียน ‘ผีซ่าส์กับฮานาดะ’) จัดจำหน่ายในรูปแบบภาษาไทยโดย Nation Edutainment ในชื่อ ‘วัยกระเตาะ ตึ่ง ตึง ตึ๊ง’ ค่ะ
Piano-no Mori เป็นเรื่องราวของเด็กชายสองคนกับเปียโนสองสไตล์ อิชิโนะเซะ ไค กับเปียโนนอกคอกที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ และอามามิยะ ชูเฮ กับเปียโนอันเป็นสุดยอดแห่งความสมบูรณ์แบบ เรื่องราวของเด็กทั้งสองเริ่มต้นขึ้น เมื่อครอบครัวอามามิยะได้ย้ายจากเมืองหลวงมาอยู่ที่จังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลทางสุขภาพของคุณย่า และอามามิยะ ชูเฮ เด็กชายวัยสิบขวบ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของครอบครัว ก็ได้ย้ายติดตามมาเข้าเรียนในโรงเรียนเล็ก ๆ ที่จังหวัดนี้ด้วยเช่นกัน
ครอบครัวของอามามิยะเป็นครอบครัวนักดนตรี คุณพ่อของเขาเป็นนักเปียโนชื่อดังคนหนึ่งของญี่ปุ่น การที่อามามิยะตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นนักเปียโนเหมือนพ่อ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนในสังคมเมืองที่เขาจากมา แต่มันเป็นเรื่องแปลกสำหรับเด็กประถมในเมืองเล็ก ๆ เกือบเป็นชนบทซึ่งเขาย้ายเข้ามาอยู่ ความรู้สึกที่เหมือนอามามิยะมาจากอีกโลกหนึ่งซึ่งหรูหรากว่า ความสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทที่แปลกหูแปลกตา และการปกป้องมือตัวเองราวกับเป็นสิ่งล้ำค่า เป็นเรื่องชวนหัวสำหรับเด็ก ๆ จอมแก่นที่คุ้นเคยกับการเล่นซุกซนเปื้อนดินเปื้อนโคลนเป็นประจำเหล่านั้น ไม่ช้าความแตกต่างเหล่านี้ก็ทำให้อามามิยะถูกกลั่นแกล้ง และคนที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเขาก็คือ อิชิโนะเซะ ไค นั่นเอง
หากเปรียบเทียบโลกของอามามิยะเป็นโลกแห่งแสงสว่าง โลกของไคก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นโลกแห่งความมืด ในขณะที่อามามิยะมีบ้านที่อบอุ่นและครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม ไคกลับเป็นลูกไม่มีพ่อ แม่ของเขาขายบริการอยู่ในย่านสถานบันเทิงที่เรียกว่า ‘ชายป่า’ แหล่งอโคจรอันคนดี ๆ ทั่วไปไม่พึงย่างเท้าเข้าไปเหยียบ ในขณะที่อามามิยะมีคนคอยปกป้องห่วงใย ไคต้องดูแลตัวเองให้พ้นจากลูกค้าบ้ากามของสถานบันเทิง และในขณะที่อามามิยะเล่นเปียโนที่ได้รับการจูนเสียงไว้สมบูรณ์แบบในห้องฝึกซ้อมที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษโดยคำนึงถึงเสียงสะท้อน ไคก็เล่นแกรนด์เปียโนตัวใหญ่ที่ใครก็ไม่รู้เอามาทิ้งไว้ในป่าด้านหลังห้องพักของเขา ตากแดดตากฝนจนสนิมขึ้นสาย ถ้าไม่กระแทกจนกระดูกนิ้วแทบแตกก็ไม่ยอมมีเสียง
แต่เปียโนหลังนั้นก็มีเสียง เสียงที่มีแต่ไคเท่านั้นที่กลั่นมันออกมาจากเปียโนผุพังหลังนั้นได้
อามามิยะได้ฟังการบรรเลงของไค ครั้งแรกเขาเพียงแต่สะกิดใจกับบรรยากาศของความสุขที่เอ่อท้นออกมาจากเปียโนที่ไม่น่าจะมีเสียง แต่ในครั้งหลัง มันเปลี่ยนแปลงเป็นความเจ็บปวดและอิจฉาริษยา เมื่ออะจิโนะ โซสุเกะ อาจารย์สอนดนตรีประจำโรงเรียนที่มีอดีตเป็นถึงนักเปียโนดาวรุ่งพบว่าไคสามารถเล่นเปียโนของเขา ที่เคยทิ้งไปเมื่อสมัยที่เขาประสบอุบัติเหตุ มือบาดเจ็บจนไม่สามารถเล่นเปียโนอาชีพได้อีก เสียงเปียโนที่ไคเล่นเปี่ยมเสน่ห์ และหูของเด็กชายก็บรรจุไว้ด้วยพรสวรรค์ อะจิโนะได้สอนให้ไคเล่นเปียโนหลังอื่นนอกจากเปียโนที่อยู่ในป่า และกึ่งเกลี้ยกล่อมกึ่งบังคับส่งเขาเข้าแข่งขันระดับเขต
ไคไม่เข้ารอบในการแข่งขันครั้งนั้น เสียงเปียโนที่เปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์แต่ไร้ซึ่งหลักเกณฑ์ที่เหล่ากรรมการใช้ในการพิจารณาให้คะแนนไม่สามารถใช้ตัดสินได้ เมื่อกรรมการให้คะแนนไม่ถูก ไคจึงตกรอบ แต่อามามิยะที่ผ่านเข้ารอบด้วยคะแนนสูงสุดกลับรู้สึกว่าเขาพ่ายแพ้ เขาเล่นไม่ได้อย่างไค เสียงเปียโนของเขาถูกต้อง เข้าหลักเกณฑ์ เป็นเปียโนชั้นเลิศที่กรรมการจะไม่อับอายหากไม่สามารถหักได้เลยแม้สักคะแนน แต่มันได้แต่สมบูรณ์แบบ เหมือนตัวโน้ตที่ถูกกลั่นออกมาเป็นเสียงเท่านั้น มันไม่มีชีวิต ไม่มีความสุข ไม่มีสิ่งที่ไคสร้างสรรค์ขึ้นได้จากเปียโนตัวเดียวกันนั้น
อามามิยะจมลงไปในเสียงดนตรีของไคเสียแล้ว เขายอมรับความพ่ายแพ้นั้น กอบกำมันเอาไว้ แล้วหนีไปต่างประเทศ พยายามร่ำเรียนอย่างหนักเพื่อค้นหาเปียโนที่ตัวเองจะยอมรับได้ เปียโนที่ไม่แพ้เปียโนของไค สิ่งที่เขาได้กลับคืนมาจากการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงและการค้นหาที่ไม่สิ้นสุดคือเสียงเปียโนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ผิดเลยสักโน้ต ไม่แตกต่างเลยสักนิดกับเสียงดนตรีที่คอมพิวเตอร์บรรเลง เขาทำได้ อย่างที่แทบไม่มีนักเปียโนคนไหนทำได้
แต่อามามิยะก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองชนะไค จนในที่สุด เขาก็ต้องหันกลับมาเผชิญหน้า และตามหาเสียงของตัวเขาเอง โดยไม่หนีไคอีกต่อไป
ลองคิดดูเล่น ๆ หากคุณเป็นผู้บรรเลง หรือเป็นผู้ฟัง ระหว่างท่วงทำนองที่สมบูรณ์แบบ กับท่วงทำนองที่อยู่คนละเรื่องกับคำว่าสมบูรณ์แบบ แต่มีแนวทางเป็นของตัวเอง หากคุณต้องเลือก คุณคิดว่าคุณอยากจะเลือกแบบไหนมากกว่ากันคะ?
โดยส่วนตัว ฉันชอบอามามิยะมากกว่าไค เพราะเขาเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ที่ฉันรู้จัก ฉันไม่ได้หมายถึงไคมีพรสวรรค์ แต่อามามิยะมีพรแสวง แต่กำลังหมายถึงแนวทางในการเล่นเปียโนของเขา
หากจะเปรียบเทียบกัน ไคเริ่มเล่นเปียโนเป็นครั้งแรกจากการเล่น ‘เปียโนป่า’ เปียโนไม่ได้เป็นอะไรสำหรับเขานอกเหนือจากของเล่น พอใจก็เล่น ไม่พอใจก็ไม่เล่น ความรู้สึกทางบวกที่มีต่อการเล่นเปียโน เมื่อผนวกกับการเริ่มต้นที่ไร้แนวทาง ทำให้ไคค้นพบ ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของตัวเองที่ถ่ายทอดออกมาผ่านทางเสียงเปียโนได้โดยแทบไม่ต้องค้นหา (อาจมีเป๋ไปบ้างในช่วงที่ได้ฟังเสียงเปียโนของอาจารย์อะจิโนะ แต่นั่นก็ไม่ใช่จากเจตนาที่แท้จริงของเขาแต่อย่างใด) ในขณะเดียวกัน อามามิยะเป็นลูกของนักดนตรี เขาเริ่มต้นเล่นเปียโนเพราะแม่ตั้งบทเรียนขึ้นแล้วฝึกสอน เขามีตารางการฝึกซ้อมที่แน่นอน มีแบบอย่างการเล่นที่เป็นแบบแผน แม้จะชอบเปียโนเป็นทุนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่อามามิยะรู้สึกหฤหรรษ์ หากเราจะมองสภาพแวดล้อม แน่นอนอามามิยะอยู่ในฐานะที่น่าจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการเป็นนักเปียโนมากกว่าไค แต่เพราะกฎเกณฑ์ที่เขายึดถือไว้จนไม่เคยตระหนักว่า นอกจากถ่ายทอดเสียงตามตัวโน้ตแล้ว เปียโนยังมีมิติมากกว่านั้น มิติที่นักเปียโนแต่ละคนจะสร้างออกมาได้ไม่เหมือนกัน เขาประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ชม ‘ทึ่ง’ กับความสมบูรณ์แบบที่เหมือนเครื่องจักร แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสร้าง ‘ความรู้สึก’ ออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัส
จนกระทั่งเมื่ออามามิยะได้ฟังเปียโนของไคแล้วนั่นแหละ เขาจึงได้ตระหนักถึงสิ่งที่เขาขาดไป
ความรู้สึก ตัวตน และแนวทาง ที่เป็นของเขาเองเพียงคนเดียวเท่านั้น
อาจชัดเจนกว่าเมื่อกรณีศึกษาเป็นเรื่องของงานเชิงสร้างสรรค์ แต่ฉันคิดว่ามันไม่ได้ต่างกันเลยหากเราจะลองมองในมุมของการดำเนินชีวิต มีคนจำนวนมากที่เติบโตมากับความคิดที่ว่า ผู้ที่ทำได้สมบูรณ์แบบที่สุด บนเส้นทางที่มีผู้คิดค้นมาแล้วว่าดีที่สุด จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ...มีคนจำนวนไม่น้อยที่เดินไปตามทางนั้นโดยไม่เคยตระหนักว่ามีแนวทางอื่นให้เลือก ในจำนวนที่ตระหนัก บางส่วนอาจหาแนวทางของตัวเองไม่พบเหมือนอย่างอามามิยะ บางส่วนพบแต่ไม่กล้าพอที่จะนำเสนอมันออกมา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าพอที่จะเดินไปตามแนวทางของตัวเอง ถอดรองเท้าเฟี้ยว เขวี้ยงฟ้าว แล้วยืนเล่นเปียโนไปพร้อมกับกระโดดโลดเต้น ไม่ยี่หระต่อหลักเกณฑ์การตัดสินให้คะแนนของกรรมการเหมือนอย่างไค
หากโลกเราตอนนี้เต็มไปด้วยคนที่เหมือนอามามิยะตอนที่ยังหลงทาง มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายแห่งความสมบูรณ์แบบจนค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไม่พบ ก็เป็นเรื่องน่าสนุกที่จะได้จินตนาการถึงโลกที่เต็มไปด้วยคนที่เหมือนไค แต่ละคนมีวิธีคิดและแนวทางที่เป็นของตัวเองโดยไม่เหมือนใคร โลกแบบหลังอาจยุ่งเหยิงและควบคุมได้ยากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันคงเป็นโลกที่มีเสน่ห์สดใสและเต็มไปด้วยเสียงเพลง