คุณเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกเรียกว่าชีวิต มนุษย์ และความเป็นนิรันดร์บ้างไหมคะ?
เป็นเวลากว่าพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์เฝ้าขบคิดค้นหาตัวตน คำนิยาม ความหมาย และขอบเขตของสิ่งที่ตนเองมีและเป็น แต่ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณามากขึ้นเท่าไร คำถามก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และซับซ้อนขึ้นเป็นเงาตามตัว...แม้จะเฝ้าค้นหากันมาเนิ่นนาน ส่งผ่านกระบวนการคิดคนแล้วคนเล่า ยุคสมัยแล้วยุคสมัยเล่า แต่ก็ดูเหมือนว่า เราจะยังไม่เคยเข้าใกล้ผลลัพธ์มากพอที่จะทำให้รู้สึกพอใจได้เลย
และนั่นคือที่มาของวิหคเพลิง ฮิโนโทริเล่มนี้แหละค่ะ
ฮิโนโทริ คือหนึ่งในผลงานอันเป็นตำนานของอาจารย์ Tetsuka Osamu นักเขียนการ์ตูนชื่อดังผู้บุกเบิกวงการการ์ตูนแนวเนื้อหาของญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากฮิโนโทริแล้ว ท่านยังได้ฝากผลงานเรื่องเยี่ยมเอาไว้อีกมากมาย เป็นต้นว่า Black Jack, เจ้าหนูปรมาณู, สิงห์น้อยเจ้าป่า ฯลฯ
ฮิโนโทริเป็นการ์ตูนแนวปรัชญา ที่ว่าด้วยการค้นหาความหมายที่แท้จริงของชีวิตและความเป็นมนุษย์ เรื่องราวของฮิโนโทรินำเสนอแบบเป็นเรื่อง ๆ โดยแต่ละเรื่องจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มากบ้างน้อยบ้าง โดยกลวิธีต่าง ๆ กัน เช่นลูกหลานของตัวละครจากเรื่องหนึ่ง กลายไปเป็นตัวละครเอกหรือตัวประกอบของอีกเรื่องหนึ่ง หรือตัวละครจากเรื่องเดิม กลับชาติไปเกิดเป็นตัวละครในเรื่องใหม่...บางครั้ง ความสัมพันธ์จากเรื่องเดิมก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเนื้อเรื่องของเรื่องใหม่ และอีกบางครั้งก็ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
ท่ามกลางความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของเรื่องราวเหล่านั้น วิหคเพลิงตัวหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นเส้นด้ายสายบาง ที่คอยยึดโยงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ด้วยกัน โดยผ่านทางดวงตาของมันเอง
กล่าวกันว่า บนภูเขาไฟกลางป่าลึกที่แทบไม่มีใครบุกป่าฝ่าเข้าไปถึง มีวิหคเพลิงตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น วิหคเพลิงตัวนี้เป็นอมตะ เมื่อใดก็ตามที่บาดเจ็บหรือถึงอายุขัย มันจะทิ้งร่างของตนเองลงสู่ปากปล่องภูเขาไฟ ปล่อยให้เปลวไฟอันร้อนแรงแผดเผาร่างจนไหม้สลายกลายเป็นจุณ และจากเถ้าถ่านสังขารของนกตัวเก่า วิหคเพลิงตัวใหม่จะถือกำเนิดขึ้น อ่อนเยาว์ สดใส และเปี่ยมไปด้วยพลัง
เลือดของวิหคเพลิงมีคุณสมบัติยาอายุวัฒนะ ผู้ที่ได้ดื่มจะไม่มีวันตาย ด้วยคุณสมบัติพิเศษอันเป็นยอดปรารถนาของมรรตรัยชนนี้เอง ที่ดึงดูดมนุษย์จำนวนมากให้ออกตามล่ามัน โดยมิพักใส่ใจว่าจะลำบากยากเย็น หรือบางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต
วิหคเพลิงผู้ถูกตามล่ามิได้ตกเป็นรอง ตรงกันข้าม มันดำรงอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า ควบคุมได้ เหมือนผู้ชมที่นั่งอยู่ในโรงละคร เฝ้ามองบทบาทการแสดงของมนุษย์ที่เต้นเร่าอยู่บนเวทีที่เรียกว่าโลก คนแล้วคนเล่า ยุคสมัยแล้วยุคสมัยเล่า ไปจนกระทั่งภพแล้วภพเล่า รับรู้และจดจำเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ ด้วยสายตาของผู้สังเกตที่ไม่ปรารถนาจะยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว
บ่อยครั้งที่บทสรุปของเรื่องราวอันยาวนาน จบลงที่ความว่างเปล่า
เรื่องราวของฮิโนโทริไม่ได้จำกัดยุคสมัย และในบางครั้งก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่มนุษย์เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ยุคสมัยของจักพรรดินีฮิมิโกะแห่งยามาไต (กษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคโบราณ) ไปจนถึงโลกอนาคตที่มนุษย์นิยมซื้อดาวสักดวงจากนายหน้า แล้วย้ายบ้านออกไปอยู่ในดินแดนใหม่ด้วยอุดมการณ์ที่จะสร้างสวนสวรรค์อีเดนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง...จากมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวังเพียงลำพังเพราะดื่มเลือดของวิหคเพลิงจนเป็นอมตะบนโลกที่ปราศจากสิ่งมีชีวิตอันเป็นผลพวงของสงคราม รอคอยกระบวนการวิวัฒนาการผ่านนับพันล้านปี จนในที่สุดก็ถูกยกย่องให้เป็นพระเจ้าของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารแทนที่มนุษย์ และเฝ้ามองพวกมันเดินซ้ำย่ำรอยเดิมแบบเดียวกันกับที่มนุษย์ทำจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปอีกครั้งโดยไม่อาจยื่นมือเข้าแก้ไข
แม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปรัชญา อันเป็นยาขมสำหรับหลาย ๆ คน แต่ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบให้ผู้อ่านติดตามความเป็นไปของตัวละครแท้ ๆ โดยไม่มีการชี้นำความคิดอย่างชัดเจน ทำให้ฮิโนโทริเข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ในทุกบททุกตอน ในขณะที่อ่าน คำถามมากมายจะผุดขึ้นมา...คำถามที่บางครั้งเราคิดว่าเรารู้คำตอบดีอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกนำมาย้ำถามซ้ำอีกครั้งพร้อมกับตัวอย่างที่เห็นได้ในเรื่อง มันก็ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจมาตลอดนั้นถูกต้องดีอยู่แล้วจริง ๆ หรือ
อมตภาพเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาจริงหรือ หากเราได้รับมันแล้วต้องอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพังในโลกที่ปราศจากคนรู้จักมักคุ้น?
ความคิดที่ว่า เมื่อคนเราเกิดมาควรจะสร้างวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่เพื่อจารึกนามตนไม่ให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นั้น เป็นสิ่งสำคัญกว่าการใช้ชีวิตทุก ๆ วันอย่างเรียบง่ายแต่เข้มข้นไปด้วยความสุขจริงหรือ?
ผู้ที่ตั้งใจว่า พรุ่งนี้จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด แน่ใจได้อย่างไรว่าวันพรุ่งนี้จะมาถึง?
ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายเป็นมนุษย์ แต่มีจิตใจของหุ่นยนต์ กับสิ่งประดิษฐ์ที่มีร่างกายทำจากเหล็กกล้า แต่มีความรู้สึกนึกคิด และมีอารมณ์เช่นเดียวกับมนุษย์ หากเปรียบเทียบกันแล้ว อย่างไหนมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับคำว่ามนุษย์มากกว่ากัน?
หากมนุษย์ไม่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์อีกต่อไปแล้ว แต่ยังคงมีชีวิตจิตใจอยู่ข้างในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง จะยังคงเรียกว่ามนุษย์ได้อยู่อีกหรือไม่?
ในชั่วขณะหนึ่ง เราอาจรักชีวิตของตัวเองมากจนถึงขนาดยอมทำลายอะไรก็ได้เพื่อรักษามันไว้ แต่ในอีกชั่วขณะหนึ่ง เราก็อาจเกลียดชังมันมากจนถึงขนาดลงมือทำลายมันด้วยตัวเอง แล้วเช่นนี้ ด้วยตัวตนที่แท้จริงของมันเอง ชีวิตจะถือว่าเป็นสิ่งล้ำค่าจริงอย่างที่เคยเชื่อกันหรือไม่?
คำถามเหล่านี้ถูกนำมาย้ำถามซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องราวแต่ละเรื่องในฮิโนโทริ มันเป็นคำถามปลายเปิดซึ่งที่สุดแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ได้เติมเต็มคำตอบเอาไว้ให้ แต่ทิ้งเอาไว้ให้ผู้อ่านตั้งคำถามตัวเอง และตอบตัวเอง ซึ่งคำตอบนั้นจะเป็นอะไร ก็สุดแท้แต่ประสบการณ์พื้นฐานและการขบคิดของแต่ละคนจะสรุปตีความออกมา ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับการตัดสินของแต่ละคน
เมื่ออ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว ฉันมีข้อสรุปในใจของตัวเองประการหนึ่ง นั่นคือในขณะที่มนุษย์มุ่งหน้าเปลี่ยนแปลงโลกโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พิจารณาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยสายตาอันเฉียบคม ตัดสิน แยกแยะ และประเมินค่าของทุกสิ่งทุกอย่างอย่างฉลาดเฉลียวด้วยประสบการณ์ที่ล้ำลึก พวกเรากลับด้อยประสบการณ์และขลาดเขลาที่สุดเมื่อต้องมองย้อนกลับเข้าไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง